ปกติเมื่อเราไปชมอาคารสไตล์ตะวันตก นอกจากหน้าตาหรือรูปทรงของอาคารแล้ว สิ่งที่มักสะดุดตาคงหนีไม่พ้นบานประตูหน้าต่าง โดยเฉพาะตึกรามบ้านช่องที่มีอายุเก่าแก่มักมีรูปลักษณ์ หรือสไตล์ที่ถูกออกแบบให้มีเอกลักษณ์ ดูสวยงามสอดคล้องลงตัวกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคาร
ในช่วงการฟื้นฟูศิลปะคลาสสิกสมัยเรเนซองส์ (Renaissance) ก่อให้เกิดการพัฒนางานศิลปะหลายแขนง โดยเฉพาะการตกแต่งกรอบหน้าต่างด้านบนด้วยปูนปั้นที่หยิบยืมจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของวิหารกรีกโรมันโบราณมาใช้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีคำศัพท์ทางสถาปัตยกรรมเรียกว่า “หน้าจั่วตกแต่ง” (ornamental pediment) จึงไม่น่าแปลกใจที่พบเห็นการตกแต่งหน้าจั่วแบบนี้อยู่คู่กันกับอาคารสไตล์คลาสสิก
ลวดลายหน้าจั่วตกแต่งที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้นมีทั้งแบบหน้าจั่วสามเหลี่ยมธรรมดา (triangular) ซึ่งได้รับอิทธิพลการออกแบบจากสถาปนิกยุคเรอเรสซองส์อย่าง แอนเดรีย พัลลาดิโอ (Andrea Palladio) และ และไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ดังเห็นตัวอย่างได้จากแบบจำลองไม้งานออกแบบด้านหน้าอาคารของมหาวิหารซาน ลอเรนโซ (Basilica San Lorenzo) แห่งฟลอเรนซ์ เมื่อปี ค.ศ.1517 ความนิยมหน้าจั่วตกแต่งยังคงสืบต่อเนื่องจนถึงสมัยบาโรกและโรโกโก (Baroque and Rococo) โดยเฉพาะรูปแบบหน้าจั่วโค้ง (segmental) รวมถึงการออกแบบหน้าจั่วตกแต่งรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้น เช่น หน้าจั่วสามเหลี่ยมแยกตรงกลาง (broken pediment) หน้าจั่วสามเหลี่ยมแบบฐานเปิด (open pediment) เป็นต้น
กลับมาที่ตึกมิวเซียมสยามหากสังเกตก็เห็นได้ว่าตามบานหน้าต่างมีการตกแต่งกรอบหน้าต่างด้านบนด้วยหน้าจั่วปูนปั้นเป็นลักษณะต่างๆ ทั้งแบบเส้นตรงธรรมดา (straight) และแบบหน้าจั่วโค้ง นอกจากเพิ่มความสวยงามแล้ว ส่วนหน้าจั่วตกแต่งนี้ยังมีฟังก์ชันช่วยป้องกันน้ำฝนที่ไหลลงมาตามผนังไม่ให้ย้อยเข้าไปเกาะตามช่องว่างหน้าต่าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการผุผังของวงกบที่ทำจากไม้
ครั้งต่อไปที่คุณเดินเที่ยวชมตึกเก่าๆ ลองสังเกตเหนือกรอบประตู หน้าต่างว่ามีการประดับตกแต่งหรือไม่ หรือมีการใช้หน้าจั่วตกแต่งแบบใดบ้าง เชื่อว่าการสังเกตเล็กๆ น้อยๆ นี้จะช่วยให้คุณสนุกกับการเดินดูตึกเก่าขึ้นไม่มากก็น้อย
ภาพที่ 1 ตัวอย่างปูนปั้นประดับเหนือกรอบหน้าต่างแบบเส้นตรงและแบบหน้าจั่วโค้ง
กระทรวงกลาโหม ถนนกัลยาณไมตรี
ภาพที่ 2 ตัวอย่างปูนปั้นประดับกรอบหน้าต่างแบบหน้าจั่วสามเหลี่ยมและแบบหน้าจั่วโค้ง
กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (เดิม) ถนนกัลยาณไมตรี
ภาพที่ 3 ตัวอย่างปูนปั้นประดับหน้าต่างแบบหน้าจั่วสามเหลี่ยมแยกตรงกลาง
อาคารตึกแถวย่านบ้านหม้อ ถนนอัษฎางค์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.institute-of-traditional-architecture.org/pediments/