หลายคนอาจพอทราบอยู่บ้างว่าตัวอาคารก็มีฐานานุศักดิ์ที่บ่งบอกถึงสถานะภาพทั้งทางเศรฐกิจและสังคมของผู้เป็นเจ้าของ หรือผู้ใช้งานอาคารหลังนั้น โดยพิจารณาจากการออกแบบโครงสร้าง ชนิดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และตกแต่ง ซึ่งตึกมิวเซียมสยามก็สร้างขึ้นตามธรรมเนียมนี้เช่นกัน
แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีอาคารถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สอยเป็นสำนักงานของกระทรวงพาณิชย์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นออฟฟิศข้าราชการทำงานให้บริการแก่ผู้มาติดต่อธุระกับกระทรวงฯ มาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกจึงออกแบบโครงสร้างแบบเรียบ ประดับตกแต่งน้อยแต่ดูงามตา ไม่น้อยหน้าอาคารร่วมยุคสมัยเดียวกัน แต่เน้นเรื่องการใช้สอยและให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนฝนชุก
แต่ดีเทลที่ซ่อนอยู่ต่างหากที่บอกให้เรารู้ว่าตึกนี้มีฐานานุศักดิ์อย่างคลาสสิก หากยืนอยู่ด้านหน้าสิ่งที่สะดุดตาเห็นเด่นมาแต่ไกลนั้นคงเป็นต้นเสาขนาดใหญ่ (Colossal Order) สูงชะลูดที่ชั้นสองคร่อมขึ้นไปถึงชั้นสาม และเพดานชั้นสองแลดูมีความสูงกว่าชั้นอื่นๆ ของอาคาร มีการตกแต่งด้วยซุ้มวงโค้งและลายปูนปั้นประดับเยอะที่สุด เช่นเดียวกับมุขระเบียงเพียงแห่งเดียวที่ชั้นสองเมื่อเดินอ้อมไปด้านหลังตึก ประกอบกับมุขกลางมีโถงบันไดขนาดใหญ่ที่ทอดตัวขึ้นไปยังชั้นสองสู่ห้องรับแขกและห้องทำงานของเสนาบดี (รัฐมนตรีว่าการฯ ในสมัยหลัง) ประจำกระทรวงฯ ที่กรุด้วยไม้เป็นช่องสี่เหลี่ยมให้ดูสวยงามกว่าห้องอื่นๆ เพื่อซ่อนฝ้าซีเมนต์
ตามไวยากรณ์ทางสถาปัตยกรรมเรียกลักษณะรูปแบบความหรูหราที่มีจำเพาะชั้นสองที่เป็นหัวใจหลักของอาคารด้วยคำศัพท์ในภาษาอิตาเลียน เรียกว่า “ชั้นระดับขุนนาง” (Piano Nobile) ซึ่งเป็นรูปแบบคลาสสิกที่นิยมมากในสมัยเรอเนซองส์จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 สอดคล้องกับเรื่องสถานภาพ หรือฐานานุศักดิ์ด้วยเหตุผลที่ว่าชั้นสองมีมุมมองทิวทัศน์ได้สวยงามมากกว่าชั้นล่างระดับผิวดิน หรือชั้นใต้ดินที่มักมีความชื้นและกลิ่นอับ และมักถูกใช้เป็นห้องพักของคนรับใช้ หรือคนงานของพระราชวัง บ้านคหบดีในยุโรปจำนวนนับไม่ถ้วนที่ใช้การออกแบบนี้
แหล่งที่มาข้อมูลอ้างอิง
https://www.britannica.com/technology/piano-nobile
https://en.wikipedia.org/wiki/Piano_nobile