ใครที่เคยมามิวเซียมสยามอาจนึกสงสัยลวดลายประดับตกแต่งที่ดูคุ้นตา และอาจเคยเห็นที่ตึกเก่าอื่นๆ ลายแบบนี้มีชื่อเรียกไหมนะ?
ก่อนหน้านี้เคยเล่าแล้วว่าตึกมิวเซียมสยามเป็นตึกฝรั่งสไตล์ Classic Revival แน่นอนว่าลวดลายปูนปั้นที่ใช้ประดับตกแต่งก็ย่อมเป็นแบบคลาสสิกที่สง่างามกลมกลืนกันไป อย่างแรกที่มองเห็นโดดเด่นมาแต่ไกลคงเป็นแนวผนังเชิงเทิน (parapet) ที่มีชื่อมิวเซียมสยามติดอยู่ด้านหน้า แต่เดิมเป็นป้ายปูนหล่อถอดพิมพ์ (cast concreate) ตัวอักษรไทยชื่อกระทรวงพาณิชย์บนพื้นหลังสีฟ้าคราม (สีประจำกระทรวง) ป้ายนี้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับตึกนี้และมีอายุมากกว่าร้อยปีแล้ว
ผนังเชิงเทิน (Parapet) คืออะไร?
“ผนังเชิงเทิน” เป็นแนวกั้นที่เป็นส่วนต่อขยายผนังที่ขอบหลังคาเพื่อช่วยลดแรงลมปะทะบนหลังคา และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไฟ (กรณีไฟไหม้) ซึ่งมีความนิยมสร้างในยุคการฟื้นฟูเรอเนซองส์ของอิตาลี (Italian Renaissance Revival) โดยทั่วไปมักใช้บนหลังคาเรียบ (flat roof) ตัวอย่างอาคารที่มีผนังเชิงเทิน ได้แก่
หอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชชินีนาถ) สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังและสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งออกแบบโดย
มาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกคนเดียวกันกับที่ออกแบบตึกมิวเซียมสยาม เป็นต้น
ลายปั้นตกแต่งรูปฟัน (Dentils) คืออะไร?
ถัดลงมาจากหลังคาเป็นคิ้วบัว (cornice) และมองเห็นลายตกแต่งเป็นรูปบล็อกสี่เหลี่ยมต่อกันเป็นแนวยาวลักษณะคล้ายฟันเรียงเป็นแถว ส่วนนี้จึงเรียกว่า “เดนทิล” (Dentils) ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า dentes จัดเป็นลายตกแต่งแบบคลาสสิกที่ได้รับความนิยมมากในสถาปัตยกรรมกรีก- โรมันโบราณ ปรากฏอยู่บน
วิหารพาร์เธนอน (Parthenon) และยุคสมัยต่อมาทั้งสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) จอร์เจียนรีไววัล (Georgian Revival) และสถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์ (Beaux Arts Architecture) นอกจากตึกมิวเซียมสยามแล้วตึกที่มีการตกแต่งลายเดนทิล ได้แก่ ตึกหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ตึกกรมแผนที่ทหาร เป็นต้น
ภาพที่ 1 แนวผนังเชิงเทินบนหลังคาส่วนหน้าของอาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ
ทำเป็นแผงลูกกรงปูนหล่อซีเมนต์
ภาพที่ 2 ลายเดนทิลของตึกมิวเซียมสยาม
ภาพที่ 3 ลายเดนทิลที่ประดับบนหน้าจั่วของตึกกรมแผนที่ทหาร
แห่งข้อมูลอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Dentil