เรื่องการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการที่เป็นแบบแผนอย่างปัจจุบันนี้ ถูกวางรากฐานมาในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ใช่การสอบคัดเลือกครั้งแรก
แต่การสอบคัดเลือกเข้ารับราชการครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำเนินการสอบโดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เพื่อคัดเลือกข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถตรงกับงานมาปฏิบัติหน้าที่ในกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์
ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ ฉบับวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2458 ลงแจ้งความของกรมพาณิชย์แลสถิติพยากรณ์ไว้ว่ามีประกาศสอบคัดเลือกเพื่อเป็นข้าราชการกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ จำนวน 5 ตำแหน่ง โดยคัดเลือกผู้ที่สอบได้ลำดับคะแนนสูงสุด กำหนดสอบวันที่ 24 ถึง 27 เมษายน 2459 ค่าสมัครสอบคนละ 10 บาท ผู้สมัครต้องเป็นคนบังคับในสยาม และอายุไม่เกิน 25 ปี สถานที่สอบคือ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ตำบลประทุมวัน การสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่ในสยาม นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการ
หลังจากกระทรวงพาณิชย์มีตึกที่ทำการใหม่ริมถนนสนามไชย กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ยังคงขาดแคลนข้าราชการในหลายตำแหน่ง พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นรองเสนาบดีก็ยังคงใช้วิธีการสอบคัดเลือกหาคนเข้ามาทำงานและใช้พื้นที่ของตึกกระทรวงพาณิชย์เป็นพื้นที่สอบคัดเลือก
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ข้าราชการเกษียณ กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการสอบคัดเลือกข้าราชการไว้ในหนังสือ 80 ปี ในชีวิตของข้าพเจ้า “เฮง เพื่อนเก่าโรงเรียนสวนกุหลาบชักชวนให้ไปสอบเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ มีประกาศปิดไว้ที่กระทรวง วิชาสอบมี 3 อย่าง คือภาษาอังกฤษ มีแปลไทยเป็นอังกฤษ แปลอังกฤษเป็นไทย กฎหมายอาญาและกฎหมายชั่งตวงวัด และวิชาพิเศษภาษาต่างๆ ให้เลือกสอบภาษาใดภาษาหนึ่ง มีฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน มลายู ฮินดูสตานี เมื่อไปขอใบสมัครที่กระทรวงฯ ให้บอกเจ้าหน้าที่ว่าจะสอบว่าพิเศษอะไร กับให้ซื้อหนังสือกฎหมายชั่งตวงวัดมาด้วย
วันสอบคัดเลือกมีคนมาสอบจำนวน 80 คน ส่วนสถานที่สอบคัดเลือกใช้พื้นที่ตึกกระทรวงพาณิชย์ชั้นล่างทั้งหมด กั้นเป็นห้องแต่สามารถเปิดทะลุถึงกัน จัดตั้งโต๊ะเดี่ยวกระจายกันไปเต็มจำนวน รวมพื้นที่ระเบียงด้านหน้าตึก และระเบียงด้านหลัง ก็ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการสอบคัดเลือกด้วย”
การสอบคัดเลือกเข้ารับราชการครั้งนี้ ก็ยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสยาม ซึ่งอาจจะมีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน แต่แนวความคิดการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ ก็เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามารับราชการ