แม่ซื้อ ตามความเชื่อของคนโบราณ หมายถึง เทวดาหรือผีประจำทารก ทำหน้าที่คอยดูแลปกปักรักษา ป้องกัน หลอกหลอน หรือเย้าแหย่ ตามแต่ลักษณะของแม่ซื้อที่อยู่กับเด็กทารก นับแต่แรกคลอดออกจากครรภ์มารดาจนถึงอายุ 12 เดือนหรือ 1 ขวบ แม่ซื้อจึงจะไปจากเด็กคนนั้น
ในสมัยก่อนความเชื่อเรื่องแม่ซื้อเป็นความเชื่อหลักในสังคม เห็นได้จากหลักฐานที่มีบันทึกโองการแม่ซื้อ จารึกอยู่ที่วัดโพธิ์ในหมวดเกี่ยวกับยาด้วยเพราะคนโบราณเชื่อว่า สาเหตุที่เด็กป่วย ไข้ ไม่สบาย เป็นเพราะแม่ซื้อต้องการนำตัวเด็กกลับไปนั่นเอง
ภาคกลางและภาคเหนือ จะมีความเชื่อคล้ายๆ กันว่า มีแม่ซื้อทั้งหมด 7 นาง ที่คอยดูแลทารกตามวันเกิด ดังนี้
วันอาทิตย์ ชื่อว่า "วิจิตรมาวรรณ" มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง
วันจันทร์ ชื่อว่า "วรรณนงคราญ" มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล
วันอังคาร ชื่อว่า "ยักษบริสุทธิ์ มีหัวเป็นมหิงสา(ควาย)" ผิวกายสีชมพู
วันพุธ ชื่อว่า "สามลทัศ" มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว
วันพฤหัสบดี ชื่อว่า "กาโลทุกข์" มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน
วันศุกร์ ชื่อว่า "ยักษ์นงเยาว์" มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน
วันเสาร์ ชื่อว่า "เอกาไลย์" มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ ทุกตนทรงอาภรณ์ (เสื้อผ้า) สีทอง
ภาคใต้ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า "แม่ซื้อ" เป็นสิ่งเร้นลับ จะมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูตผีก็ไม่ปรากฏชัด ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 12 ขวบ มีด้วยกัน 4 ตนเป็นผู้หญิงชื่อ ผุด ผัด พัดและผล
ส่วนภาคอีสาน ได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับแม่ซื้อจากเขมร จึงมีความเชื่อว่า แม่ซื้อคือแม่คนเก่า ที่มีหน้าที่สร้างทารกในครรภ์ขึ้นมา จากนั้นก็คอยเฝ้าเลี้ยงดูจนกระทั่งคลอด แล้วก็ยังตามมาดูแลด้วยความรัก แม่ผีพรายนี้เมื่อเห็นเด็กทารกมีแม่ใหม่ก็เกิดความหวงแหน อยากได้ลูกกลับไปอยู่เมืองผีกับตน จึงดลบันดาลให้เด็กเกิดอาการเจ็บป่วย เป็นต้น
จากความเชื่อโบราณที่ว่านั้นเอง พอเด็กคลอดจากท้องแม่เพียงวันสองวันจะเห็นว่าเด็กจะยิ้มทั้งเวลาหลับและเวลาตื่นให้เห็นกันเป็นประจำ เมื่อเด็กเกิดได้สามสี่วันพ่อแม่ของเด็กก็จะกลัวว่าแม่ซื้อจะเบื่อเด็ก ไม่คอยดูแลเอาใจใส่หรือจะมารับเด็กกลับไป จึงมีพิธีรับขวัญรับทารกเป็นลูกคนเสีย ป้องกันเทวดาหรือผีที่ไม่ใช่เทวดาหรือผีประจำตัวเด็กคนนั้นมาเอาชีวิตหรือรบกวนได้
พิธีรับขวัญทารกในแต่ละภาค
จากความเชื่อที่แตกต่างกัน ทำให้ในแต่ละภูมิภาคมีพิธีเกี่ยวกับแม่ซื้อแตกต่างกันออกไปด้วย โดยในภาคกลาง จะมีการทำพิธีที่ชื่อว่า "พิธีบัตรพลีแม่ซื้อ" โดยผู้ทำพิธีจะทำบัตรขึ้นมาใบหนึ่ง (ลักษณะเป็นกาบกล้วยสี่เหลี่ยม แล้วปูพื้นด้วยใบตอง ขนาดประมาณ 1 คืบ) ในบัตรจะใส่ของกินต่างๆ เช่น ข้าว น้ำ กุ้งพล่า ปลา ฯลฯ และตุ๊กตาดินรูปผู้หญิงนั่งพับเพียบประคองเด็กอยู่ในตัก เมื่อเจ้าพิธีกล่าวคำในพิธีจบก็จะหักหัวตุ๊กตาให้หลุดออก เสมือนให้แม่ซื้อเอาไปเล่นแทนได้ เชื่อกันว่า ทารกจะไม่เจ็บป่วยจากการรบกวนของแม่ซื้ออีก
ส่วนของภาคใต้ เด็กทารกเกิดใหม่จะมีพิธีชื่อว่า "ทำแม่ซื้อ" หรือ "เสียแม่ซื้อ" โดยเชื่อว่าพิธีดังกล่าวเป็นสิริมงคลแก่ตัวเด็ก และจะได้รับการดูแลรักษาด้วยดีจากแม่ซื้อ การทำพิธีมักจะทำในวันเกิดของเด็ก หากเป็นวันข้างขึ้นก็ให้ใช้วันคี่ ข้างแรมให้ใช้วันคู่
สำหรับภาคอีสาน จะมีพิธีรับขวัญเด็กอ่อน ด้วยการนำเด็กทารกมาใส่กระด้งร่อน แล้วกล่าวว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ" ฝ่ายพ่อแม่ก็จะรับว่าเป็นลูกตน คนทำพิธีก็จะส่งลูกให้ แม่ซื้อเดิมก็จะรู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกคนแล้ว และจะไม่มารบกวนอีก
พิธีกรรมตามความเชื่อโบราณส่วนใหญ่มักเป็นไปเพื่อความสบายใจ และมีความสวยงามทางอารยะธรรม ปัจจุบันความเชื่อเรื่องแม่ซื้อไม่มีอิทธิพลเท่าในอดีต เพราะการรักษาแต่โบราณถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน, วิกิพีเดีย
ภาพประกอบจาก http://www.watpho.com/th/article/detail/284 และ http://oknation.nationtv.tv/blog/supawan/2012/06/12/entry-2
#MuseumSiam
#museumsiamfromhome
#ให้ทุกการเรียนรู้ไม่ห่างอย่างที่คิด