Muse Pop Culture
เรื่องผีผี ที่มิวเซียมสยาม
Muse Pop Culture
25 พ.ย. 65 822

ผู้เขียน : Administrator

“นายกบแดง” ขอทักทายเอฟซีมิวเซียมสยามทุกท่าน
ในเช้าของวันที่ 31 ตุลาคม นี้ นะครับ
เป็นวันสำคัญอะไรเหรอ?
 
สำหรับสังคมไทยทุกวันนี้ ก็ต้องยอมรับว่า เรารับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มๆ
หลายคนคงเตรียมตัวว่า คืนนี้จะแต่งผี ไปปาร์ตี้ที่ไหนดี?
ใช่ครับ วันนี้คือวัน “ฮาโลวีน” นั่นเอง!
 
ไม่สลักสำคัญสำหรับนายกบแดงเท่าไหร่ครับ
แต่เรามีเรื่องผีๆ จะมาเล่า
จะน่ากลัวขนหัวลุกขนาดไหน ตามต่อในตับต่อไปได้เลยงับ
 
แบร่!!!
 
 
ขนหัวลุกเรื่องแรก
เหตุเกิดเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว
เมื่อมีการซ่อมแซมตึกเก่าอันทรุดโทรมของกระทรวงพาณิชย์
เพื่อให้พร้อมสำหรับใช้งานใหม่เป็นมิวเซียม
โครงการอนุรักษ์และบูรณะตึกขนานใหญ่จึงเกิดขึ้น
มีคนงานก่อสร้างเข้ามาทำงานมากมาย หลายฝ่าย หลายทีม
บางส่วนค้างอ้างแรมที่อาคารศาลาแยกธาตุ อาคารร้าง ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง

กลางดึกคืนหนึ่ง คนงานครึ้มใจ ตั้งวงดื่มกัน
เมื่อเหล้าเข้าปาก มีหรือจะหยุดได้
ความผ่อนคลายจากการกรำงานหนัก จึงกลายเป็นความเมามายไร้สติ
ส่งเสียงดังฟังไม่รู้ความไปทั่วบริเวณในคืนนั้น
คงดังจนไปรบกวน “ท่าน”
“ท่าน” จึงปรากฏตัว เพื่อมาเตือน

จากคำบอกเล่าของคนงานในคืนนั้น ให้การว่า
ชายนิรนามผู้นั้น เป็นลุงแก่ๆ หน้าตาเป็นแขก เหมือนชาวอินเดีย
โพกหัว และนุ่งผ้าโจงสีขาว
ออกมาแสดงท่าทางฉุนเฉียวไม่พอใจ ดุด่าพวกผม
ท่านคงมาเพื่อตักเตือนให้รักษาความสงบ ไม่กินเหล้าในสถานที่ราชการ
เท่านั้นแหละ สร่างเมาเลยครับ

“ท่าน” เป็นใครกัน?
 
 
ขนหัวลุกเรื่องสอง
ไม่กี่ปีต่อมา
เมื่อมิวเซียมสยามเริ่มติดตั้งนิทรรศการถาวรชุดแรก “เรียงความประเทศไทย”
เอฟซีมิวเซียมสยามรุ่นบุกเบิกคงยังพอจำได้นะ

ย่ำค่ำคืนนั้น ช่างระบบจากบริษัท ปิโก้ กำลังง่วนกับการติดตั้งเครื่องฉายวิดีทัศน์ หรือโปรเจคเตอร์ จำนวนถึง 3-4 ตัว บนเพดานห้องนิทรรศการห้องหนึ่ง
เราต้องการ Map ภาพวิดีโอให้ฉายต่อเนื่องกันไปบนจอภาพขนาดยาว
เรียกว่าใหม่สุดแล้วในสมัยนั้น ผู้ชมต้องทึ่งในเทคนิคนี้แน่นวล
พวกเราฝันไปไกล
การติดตั้งต้องใช้เวลานานในการปรับภาพแต่ละจุดให้แนบกันสนิท

พวกเราคุมงานอยู่สักพัก ก็เดินออกไปรับลมกันที่ระเบียงหน้า ปล่อยช่างให้ทำไป
ขณะนั้นราวทุ่มนึง ลมกำลังตึง
เราเม้าท์มอยกันไปสักพัก ก็เดินกลับเข้ามาดูว่าพี่ช่างทำไปถึงไหนแล้ว

ขณะที่พวกเรากำลังสาวเท้าเข้าห้องไปนั้นเอง
น้องช่างคนหนึ่งก็ถามขึ้นมาว่า
“ที่นี่เค้าจ้างแขกเป็น รปภ. เหรอครับ?”

เรามองหน้ากันเลิ่กลั่ก ประสานเสียงตอบพร้อมกันว่า “ไม่นะ”
ด้วยความจริงที่ว่า เราจ้างองค์การทหารผ่านศึกให้เป็น รปภ. อยู่โยงเฝ้าทั้งวัน และคืน
เราถามต่อว่า “น้องเห็นอะไร?”

“ผมเห็นแขกคนนึง ผิวคล้ำ แต่งตัวแบบแขกอะครับ นุ่งโจงกระเบนยาวๆ สีขาว โพกหัว
ลุงแขกนั้นแก่แล้ว มายืนดูพวกผมขณะปีนบันไดขึ้นไปติดตั้งโปรเจ็กเตอร์บนเพดาน
แกยืนดูพวกเราอยู่นาน ไม่พูดไม่จาอะไร
ผมก็คิดว่าแกคงเป็น รปภ. มาตรวจความเรียบร้อยตอนกลางคืน
แล้วแกก็เดินจากไป ตอนพวกพี่ๆ เข้ามานี่หล่ะครับ”

ใช่ครับ พวกเราขนหัวลุกแบบลุกแล้วลุกเลย ไม่มีลง
“ท่าน” เป็นแขก คราวนี้มาแบบไม่มีบทเจรจา
ท่านมาสำรวจความเรียบร้อยอีกครั้ง ด้วยความรักความหวังดีที่มีต่ออาคารแห่งนี้

“ท่าน” เป็นใครกัน?
“ท่าน” จะเป็นเหมือน “คุณ” งูเจ้าผู้ปกปักษ์รักษา “เมขลา” ไม่ให้ซุกซน ในนวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย”
แบบนั้นใช่หรือเปล่า?
 
 
แขกยามจากอุตตรประเทศ
ที่ประเทศอินเดีย หากสืบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไปในสมัยปลายคริศต์ศตวรรษที่ 19 หรือตรงกับสมัย ร.5
ตอนนั้นอินเดียเป็นอาณานิคมอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ
เกิดทุพภิกขภัย ภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น
จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการอพยพของแขกจากรัฐอุตตรประเทศ เพื่อแสวงหาทำกินในต่างแดน

อุตตรประเทศ (Uttar Pradesh หรือ UP) ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็น “ประเทศ” ทาง “อุดร”
เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ทางเหนือของอินเดีย แถบลุ่มน้ำคงคา/ฆาฆรา (Ghaghara)
ถือเป็นรัฐที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นที่สุด และเป็นรัฐหนึ่งที่ยากจนที่สุดของประเทศอีกด้วย

ระลอกแรกๆ ที่เข้ามา ในสมัย ร.5 แขกเหล่านี้ยังเป็นคนในบังคับอังกฤษอยู่
การเดินทางล้วนมีจุดหมายที่กรุงเทพเป็นหลัก
เพราะสยามเป็นเมืองที่ปลอดอิทธิพลของอังกฤษ
ไม่เหมือนย่างกุ้งของพม่า หรือสิงคโปร์ บนคาบสมุทรมลายู ที่ต่างอยู่ในอาณัติของอังกฤษด้วยกันทั้งคู่

อาชีพยอดนิยมของแขกจากอุตตรประเทศก็คือใช้แรงงาน เป็น รปภ. หรือ “แขกยาม” นั่นเอง
เป็นเวรยามให้กับห้างร้านต่างๆ ทั้งของอังกฤษเอง และของบริษัทต่างชาติอื่นๆ
ที่มักตั้งเรียงรายในย่านฝรั่ง ทางตอนใต้ของกรุงเทพ แถบสาทร ยานนาวา อันไม่ไกลมากนักจากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นท่าเรือและโกดังเก็บสินค้า

แขกยาม คนตัวเล็กตัวน้อย ไร้อำนาจวาสนา
จึงไม่ถูกจารจารึกในประวัติศาสตร์ให้เราได้ทราบเรื่องราวกันมากนัก
ที่พอสืบค้นได้ก็คือ บริษัท อีสต์เอเชียติก ของเดนมาร์ก ซึ่งมีตึกสำนักงานริมน้ำเจ้าพระยา มีการจ้างแขกมาเฝ้ายาม

หรือเมื่อตอนก่อสร้างโรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง ในราวปี 2473-75 ก็ใช้บริการ “แขกยาม”
ดังปรากฏภาพแขกยามยืนตะเบ๊ะ คราว ร.7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ ตรวจเยี่ยมการก่อสร้าง

ส่วน “ท่านแขกยาม” ที่กระทรวงพาณิชย์แห่งนี้
นายกบแดงไม่ทราบแน่ชัด ว่าท่านเข้ามาทำงานเมื่อใด
ทำตั้งแต่แรกสร้างตึกในสมัย ร.6 เลยหรือไม่ หรืออาจมาในยุคหลังจากนั้น
และทำจนถึงเมื่อไหร่ ก็ไม่อาจสืบค้นได้
แต่ที่แน่ๆ คือท่านยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็น รปภ ดูแลรักษาตึกแห่งนี้
ไม่ชอบให้ที่นี่สกปรกไม่น่ามอง หรือมีคนเกกมะเหรกเกเรมายุ่มย่ามในตึกเรา 
 
 
“แขกยาม” หรือ “แขกบาบู”
คนไทยเรียกขานแขกยาม จากอุตตรประเทศ กันว่า “แขกบาบู” (Babu)
บาบู เป็นภาษาฮินดี แปลว่า พ่อ พี่ นาย หรือ คุณ (Mister)
แขกบาบู เป็นแขกฮินดู ไม่ใช่แขกมุสลิม
มักโพกหัว
ใส่เสื้อสวมหัว ตัดจากผ้าฝ้าย ตัวยาวคลุมหน้าตัก
นุ่งโจงกระเบนแบบแขก ที่เป็นผ้าป่านบางๆ สีขาว ยาวถึงตาตุ่ม
เรียกกันว่า “โดตี” (Dhoti ถอดรูปได้เป็น โธตี)

ในคราวปฏิวัติ 2475 ก็มีบันทึกไว้ว่ามีแขกยามเฝ้าอยู่ที่ ที่ทำการไปรษณีย์โทรศัพท์กลาง วัดเลียบ
ราว 2480 ก็มีแขกยามเฝ้าหน้าประตูสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งแถววิสุทธิ์กษัตริย์
หรือในราว 2500 เมื่อคราวเซ็นทรัลวังบูรพาเพิ่งเปิดใหม่ๆ
‘ปุ๊ กรุงเกษม’ เคยเล่าให้ฟังว่า จะมีแขกยามนอนเฝ้าหน้าประตูห้างทุกคืน
ล่าออกมาหน่อย คือในราวปี 2520 โรงเรียนวัฒนาก็ยังคงจ้างบาบูนุ่งโจง มาเป็นแขกยาม ทำหน้าที่เป็น รปภ. อยู่เลย

แขกบาบู ใช่จะมาเป็นแขกยามเท่านั้น
บ้างก็ขายนมวัว (คนอายุขึ้นเลขเจ็ด คนคุ้นกัน ด้วยแต่ก่อนมีแขกเร่ขายนมให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ)
บาบูยังส่งหนังสือพิมพ์
และที่ดูจะคุ้นตาเรามากที่สุดก็คือ “แขกขายถั่ว” นั่นเอง
นี่แหละแขกบาบูขนานแท้

ถ้านึกถึงใครไม่ออกจริงๆ ก็ให้นึกถึงบาบู “เบอร์นาร์ด” เซเล็บขายถั่วแห่ง มธ นั่นแหละ
ดังนั้นจะมาเรียกเบอร์นาร์ดว่า “บัง” ไม่ได้นะ เพราะบังเป็นคำมาเลย์ หมายถึง พี่
มักใข้เรียกพี่ชายชาวมุสลิมกัน
สำหรับพ่อใหญ่เบอร์นาร์ด ต้องเรียก “บาบู” ที่แปลว่า พ่อ พี่ หรือคุณ เท่านั้นคร้าบบบ

ปล. วันเสาร์ที่ 5 พย. ที่จะถึงนี้ มิวเซียมสยามจะมีกิจกรรม “เสาร์สนามไชย” เป็นครั้งสุดท้ายนะงับ
เสาร์สนามไชย เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกเสาร์แรกของเดือน
มีกิจกรรมมากมายให้ร่วมตลอดทั้งวัน
ทั้งทัวร์ ทั้งทอล์ค ทั้งเวิร์คช็อป เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาส “ร้อยปีตึกเรา”
แถมอาหารดี ดนตรีไพเราะ ด้วยนะงับ
นายกบแดงจึงขอเรียนเชิญเอฟซีมิวเซียมสยามทุกท่านมาร่วมเจิมกันในเสาร์นี้
เผื่อโชคดี ได้เจอ “ท่านแขกยาม” ด้วยนะ
สวัสดี 
 
แกลเลอรี่


ย้อนกลับ