ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยกระแสเทคโนโลยี แน่นอนว่าพิธีกรรมนับถือผีย่อมเป็นขั้วตรงข้ามกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งบริบทสังคมเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ผู้คนมักเร่งรีบไม่ค่อยมีเวลาเหลือให้กับการเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้พิธีกรรมและประเพณีการนับถือผีบรรพบุรุษเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ไม่ค่อยมีการถ่ายทอดไปสู่สังคมวงกว้างเท่าใดนัก ผู้เขียนจึงขออาสาพาไปสำรวจและทำความรู้จัก “ผีเจ้าพ่อ” ในชุมชนบ้านตองอุ๊ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายมอญ
ภาพที่ 1 : ธงหงส์ สัญลักษณ์ประจำชุมชนชาวมอญบ้านตองอุ๊
เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับชุมชนบ้านตองอุ๊ ตั้งอยู่ที่ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นหนึ่งใน16 ชุมชนชาวมอญที่หนีจากภัยสงครามอพยพเข้ามายังแผ่นดินสยามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงโปรดฯ ให้เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ย้ายชาวมอญในกลุ่มของตนเองจากเมืองสามโคก (จังหวัดปทุมธานี) มาตั้งถิ่นฐานใหม่ยังเมืองนครเขื่อนขันธ์ (อำเภอพระประแดงในปัจจุบัน) ทั้งนี้ จากข้อมูลการสัมภาษณ์ชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ที่นี่เล่าให้ข้อมูลว่า ชาวมอญกลุ่มนี้มีชื่อเรียกลำลองว่า “มอญเจ้า”เนื่องจากเป็นกลุ่มมอญที่นำโดยเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ผู้เป็นพระอนุชาในพญาทะละกษัตริย์มอญพระองค์สุดท้าย
นอกจากนี้การตั้งชื่อเรียกหมู่บ้าน เช่น บ้านเว่ขะราว บ้านแซ่ฮ์ บ้านดงฮะนอง และบ้านตองอุ๊ ก็เป็นชื่อเรียกที่ตั้งเพื่อระลึกถึงบ้านเกิดในอดีตเมืองมอญ รวมถึงการสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับถือผีบรรพบุรุษ หรือนิยมเรียกกันว่า “เจ้าพ่อ” ซึ่งเป็นสิ่งสักการะบูชาที่ชาวมอญให้ความเคารพและเชื่อว่าช่วยปกป้องคุ้มครองให้ลูกหลานภายในชุมชนมอญได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
ภาพที่ 2 : รูปเคารพเจ้าพ่อปลายคลอง (สร้างขึ้นใหม่แทนของเดิมที่สูญหายไป)
สำหรับชุมชนบ้านตองอุ๊มี “เจ้าพ่อปลายคลอง” หรือ “ปาโหน่กอะนดเกริง” เป็นผีบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีเรื่องเล่าความเป็นมาที่น่าสนใจ เพราะเจ้าพ่อองค์นี้ได้ถูกสถาปนาขึ้นไม่ได้เป็นผีบรรพบุรุษที่เชิญมาแต่ครั้งอพยพจากเมืองมอญ โดยชาวบ้านคนหนึ่งได้พบท่อนไม้แกะสลักรูปบุคคลลอยตามน้ำมา และจากการสื่อสารด้วยวิธี “ทรงเจ้า-เข้าผี” ทำให้ได้ความว่า “ท่าน” (สรรพนามแทนรูปแกะสลัก) เป็นชาวมอญที่จะเข้ามาช่วยปกปักษ์รักษาบ้านตองอุ๊ จึงมีการอัญเชิญท่านประดิษฐานที่ศาลบริเวณคลองลำประโดงเล็กๆ ของหมู่บ้าน และต่อมาได้กลายเป็นชื่อเรียกขานว่า “เจ้าพ่อปลายคลอง”
ในอดีต ทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว หรือหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ และก่อนวันแรม 15 ค่ำ เดือน 5 ชาวมอญที่นี่จะจัดพิธีกรรมเซ่นผี โดยนำรูปเคารพของผีเจ้าพ่อแห่ไปรอบหมู่บ้าน และอัญเชิญเจ้าพ่อให้ประทับร่างคนทรงเพื่อให้คำทำนายดวงชะตาตามที่ลูกหลานชาวมอญร้องขอ หลังจากนั้นร่างคนทรงจะร่ายรำไปมาพร้อมกับรับเครื่องเซ่นสังเวยจากชาวบ้าน
จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการห้ามการทรงเจ้าในแผ่นดินสยาม เนื่องจากร่างทรงบางกลุ่มปลุกปั่นหวังผลประโยชน์จากชาวบ้าน รวมถึงพยายามขัดขวางการพัฒนาโครงสร้างบ้านเมืองของรัฐบาลในขณะนั้น ทำให้พิธีกรรมนี้ถูกลดทอนรายละเอียดลงไปมาก โดยเฉพาะการทรงเจ้าเข้าผีจำต้องยุติลง
นอกจากนี้ความเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2500 ภายใต้การขับเคลื่อนประเทศโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีนโยบายและแผนพัฒนาเศษฐกิจให้พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ทำให้ชาวไทยเชื้อสายมอญเปลี่ยนอาชีพเข้าสู่ระบบแรงงานในภาคอุตสากรรมก็นับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พิธีกรรมและวัฒนธรรมความเชื่อถูกลดทอนความสำคัญลง
แม้ว่าวิถีชีวิตชาวมอญได้ผันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อราว 20-30 ปีก่อนหน้านี้ ชาวพระประแดงได้ร่วมแรงร่วมใจกันรื้อฟื้นประเพณีและพิธีกรรมเซ่นผีบรรพบุรุษเจ้าพ่อปลายคลองบ้านตองอุ๊ขึ้นอีกครั้งเฉกเช่นในอดีต มีการจัดขบวนแห่รูปเคารพไปรอบหมู่บ้าน รวมถึงการอัญเชิญเจ้าพ่อให้มาประทับผ่านร่างคนทรง โดยผู้ทำหน้าที่เป็นคนทรงจะเป็นใครก็ได้ที่เป็นทายาทตามสายตระกูลที่เคยเป็นคนทรงผีเจ้าพ่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมักเป็นเพศหญิง ทั้งนี้ มีคำอธิบายว่าชายชาวมอญถูกมอบบทบาทให้บวชพระในพุทธศาสนา อีกทั้งคนทรงผีเจ้าพ่อต้องร่ายรำ ซึ่งตามค่านิยมทางสังคมกำหนดให้การแสดงท่าร่ายรำที่มีความอ่อนช้อยเป็นบทบาทคู่กับเพศหญิง อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุผลเรื่องการอนุรักษ์พิธีกรรมไว้ไม่ให้สูญหาย ปัจจุบันชุมชนได้มีการอนุโลมให้ผู้เป็นคนทรงไม่จำเป็นต้องสืบทอดตามสายตระกูลเท่านั้น และเพศชายก็สามารถทำหน้าที่เป็นคนทรงให้ผีเจ้าพ่อได้
ภาพที่ 3 : ร่างทรงเจ้าพ่อปลายคลอง (ภาพถ่ายโดยผู้เขียนในปีพ.ศ. 2567)
ในการร่ายรำตามที่ชาวบ้านเรียกว่า “รำเจ้าพ่อ” หรือ “รำผีเจ้าพ่อ” คนทรงเจ้าพ่อปลายคลองจะมีคนช่วยแต่งตัวให้นุ่งห่มด้วยผ้าและสไบสีขาวเป็นสำคัญ หลังจากนั้นคนทรงจะเริ่มต้นการรำไปตามเสียงบรรเลงดนตรีจากวงปี่พาทย์มอญ (ไม่มีท่ารำตายตัว) ขณะที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายมอญจะนำน้ำอบมาสรงพร้อมคล้องพวงมาลัยให้คนทรงเพื่อแสดงความเคารพนับถือและสักการะเจ้าพ่อ ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพิธีเซ่นผี และเป็นหมุดหมายสำคัญของพิธีกรรมที่ทำให้ผู้คนในชุมชนได้พบปะกับผีบรรพบุรุษที่เฝ้าปกปักษ์รักษาหมู่บ้านมาโดยตลอด
หลังการสรงน้ำ คนทรงจะยกถาดเครื่องเซ่นผลไม้และขนมหวานขึ้นถวายแด่เจ้าพ่อ พร้อมกับร่ายรำประกอบกับอุปกรณ์ที่มีความหมายสื่อถึงพิธีกรรมรำผีมอญโบราณ ได้แก่ การรำกระสวยทอผ้า (อาชีพของชาวมอญและการทำมาหากิน) การรำใบขาไก่ดำ (การปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย) การรำดาบ (การคุ้มครอง) ตลอดจนการรำเหล้า (การเฉลิมฉลอง) เมื่อคนทรงร่ายรำจนเสร็จสิ้นพิธี ชาวบ้านจะทยอยนำเครื่องเซ่นสังเวยกลับบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่า การรื้อฟื้นประเพณีและพิธีกรรมผีบรรพบุรุษของชุมชนบ้านตองอุ๊ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นภาพสะท้อนที่แสดงถึงพลังศรัทธาของลูกหลานชาวไทยเชื้อสายมอญที่พยายามสืบทอด และรักษามรดกวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่ เพื่อย้ำเตือนให้รำลึกถึงรากเหง้าของบรรพบุรุษดั้งเดิมที่อพยพมาจากเมืองมอญ ขณะที่ลูกหลานรุ่นหลังได้ผสมผสานกลืนกลายจนเป็น “คนไทย” ในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงขอทิ้งท้ายด้วยคำถามชวนคิดที่เจือกลิ่นของความห่วงใยว่า ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ที่กำลังไหลล่องไปตามกระแสธารแห่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อย่างไม่อาจปฏิเสธ ความเชื่อถือในผีบรรพบุรุษจะยังคงความศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณของลูกหลานชาวไทยเชื้อสายมอญได้นานสักเท่าไร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Silpa-mag.com. “มอญพระประแดง” มาจากไหน?. เข้าถึงได้จาก
https://www.silpa-mag.com/history/article_131313
Silpa-mag.com. “ทรงเจ้า-ข่าวลือ” ทาไมเป็นเรื่องต้องห้ามในคดีไฟไหม้ สมัยรัชกาลที่ 5. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_11812
เล่าเรื่องนครเขื่อนขันธ์. (2567, 24 เมษายน). เจ้าพ่อปลายคลอง [Facebook]. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/NakhonKuankan/posts/741621208173215
รวีวัฒน์ รุ่งเรืองรอง, (สัมภาษณ์), การสื่อสารส่วนบุคคล, 29 เมษายน 2567.