Museum Core
ชีวิตนักเรียนพยาบาล โรงพยาบาลมิชชั่นเมื่อ 50 ปีก่อน
Museum Core
26 พ.ย. 67 186

ผู้เขียน : รมย์ฤดี เวสน์

               โรงพยาบาลมิชชั่น (ชื่อเดิม Bangkok Adventist Hospital) เป็นโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งในปี พ.ศ.2480 โดยดอกเตอร์ราล์ฟ วอดแดล (Dr. Ralph Waddell) แรกเริ่มโรงพยาบาลตั้งอยู่ที่พลับพลาไชย ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่แยกหัวมุมถนนพิษณุโลกกับถนนหลานหลวง (ตรงข้ามอดีตสนามม้านางเลิ้ง) ซึ่งเคยเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของบ้านบรรทมสินธุ์ของพลตรี พระยาอนิรุทธเทวา อันเป็นบ้านพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 และในปีพ.ศ.2485 พระยาอนิรุทธเทวาได้แบ่งที่ดินขายให้กับโรงพยาบาล

               ในปี พ.ศ. 2490 โรงพยาบาลได้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลขึ้น โดยใช้หลักสูตรตามแบบสหรัฐอเมริกาและมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษหลักสูตรพยาบาลและหลักสูตรด้านเทคนิคการแพทย์และรังสีวิทยา (Lab & X-ray) มีนักศึกษาจากต่างชาติเข้าเรียนด้วย เรียกว่า “นักเรียนโอเวอร์ซี (Oversea)” มาจากหลากหลายเชื้อชาติในเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
บังคลาเทศและอินเดีย (ปัจจุบันโรงเรียนพยาบาลได้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก และมีการเรียนการสอนหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มเติมนอกจากการพยาบาล)

               ผู้เขียนเคยเป็นนักเรียนพยาบาลที่โรงพยาบาลมิชชั่นเมื่อปีพ.ศ. 2518 มีนักเรียนในรุ่นเดียวกัน 26 คนและมีนักเรียนต่างชาติ 3 คน มาจากมาเลเซียและสิงคโปร์ นักเรียนทุกคนต้องพักอยู่ที่หอพัก หรือดอร์ม (Dorm) เป็นอาคาร 3 ชั้น มีชั้นล่างสุดเป็นห้องเรียนของโรงเรียนพยาบาล ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จฯ มาเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2501 โดย มีดอกเตอร์ราล์ฟ วอดแดล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และภรรยามิสซิส เอเลน วอดแดล (Mrs. Ellen Waddell) ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลเป็นผู้ถวายการต้อนรับ

 

ภาพที่ 1 (ซ้ายและขวา) ดอกเตอร์ราล์ฟ วอดแดล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และภรรยา

มิสซิส เอเลน วอดแดลผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลเป็นผู้ถวายการต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งทรงเสด็จฯ มาเปิดอาคารโรงเรียนพยาบาล พ.ศ.2501

แหล่งที่มาภาพ : https://bit.ly/3CHHHM1

 

               ด้านหลังของหอพักนักเรียนพยาบาลหญิงจะเป็นหอพักของนักเรียนชาย ซึ่งอยู่ใกล้กับห้องเก็บศพ ดังนั้นหากห้องพักของใครตั้งอยู่ฝั่งด้านหลัง ในช่วงเวลาดึกเมื่อได้ยินเสียงดังแก๊กๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของล้อเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Stretcher) ก็รับรู้ได้ทันทีว่าผู้ช่วยพยาบาลกำลังเข็นย้ายคนไข้ที่เสียชีวิตแล้วกำลังนำไปที่ห้องเก็บศพ

               ชีวิตของนักเรียนพยาบาลที่โรงพยาบาลมิชชั่นเมื่อราว 50 ปีก่อนแตกต่างกับสมัยปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง หอพักของนักเรียนพยาบาลสมัยนั้นมีกฎระเบียบที่เข้มงวด เช่น ห้ามนักเรียนออกนอกเขตโรงพยาบาลโดยเด็ดขาด และหากเดินเล่นอยู่ภายในบริเวณโรงพยาบาลก็ต้องกลับเข้าหอพักก่อนเวลา 3 ทุ่มตรง ซึ่งหลังจากเวลานั้นเป็นเวลาห้ามออก และนักเรียนได้รับอนุญาตให้สามารถกลับไปนอนที่บ้านได้เพียงเดือนละ 1 คืนเท่านั้น ทว่าต้องมี
ผู้ปกครองมาลงชื่อรับรองจึงกลับบ้านได้ ดังนั้น นักเรียนจากต่างจังหวัดและนักเรียนต่างชาติก็ต้องอยู่เฝ้าหอพักไปโดยปริยาย

               การเป็นนักเรียนพยาบาลมีเรื่องราวตื่นเต้นสนุกสนานและได้รับประสบการณ์มากมาย ด้วยตลอดระยะเวลาการเรียนต้องเผชิญและเรียนรู้วัฏจักรชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ตลอดเวลา อย่างเรื่องน่าตื่นเต้นเรื่องแรกเป็นการไปดูการผ่าศพเพื่อชันสูตร (Autopsy) โดยพยาธิแพทย์ (Pathologist หรือแพทย์เฉพาะทางในการตรวจวินิจฉัยโรค) กรณีศึกษาแรกที่ผู้เขียนได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์เป็นศพของเด็กหนุ่มอายุเพียง 15 ปีที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ฝ่ายญาติจึงขอให้ผ่าศพเพื่อทราบสาเหตุการตาย แต่ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าผลสรุปคนไข้รายนี้เสียชีวิตเพราะอะไร จำได้แต่เพียงว่าในคืนนั้นพวกนักเรียนหลายคนต่างพากันมากระจุกตัว 4 - 5 คน นอนรวมกันในห้องเดียวกันแทนจากปกติที่นอนห้องละ 2 คนเพราะมีอาการหลอนกลัวจากภาพติดตาการผ่าศพ

               นอกจากนี้ นักเรียนพยาบาลต้องเรียนวิธีการบรรจุ หรือแพ็คศพด้วยการอุดทวารต่างๆ ด้วยสำลี และวิธีการห่อศพด้วยผ้าขาวมัดเป็นเปลาะๆ คล้ายการมัดตราสัง เพียงแต่ไม่ได้มีพิธีกรรมเท่านั้น และถูกสอนให้เคารพ
ผู้วายชนม์ เมื่อมีการเข็นศพผ่านก็ต้องหยุดยืนเพื่อแสดงการให้เกียรติแก่ศพ ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐบางแห่งมีเจ้าหน้าที่ หรือทีมงานทำหน้าที่จัดการศพโดยเฉพาะ อีกทั้ง โรงเรียนพยาบาลยังมีโครงกระดูกของมนุษย์จริงเพื่อใช้ในการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) หรือร่างกายของมนุษย์ ทราบแต่เพียงชื่อผู้บริจาคว่า นายโรเบิร์ต
(Mr. Robert) เป็นชาวตะวันตกที่มีโครงกระดูกสูงใหญ่มาก และผู้เขียนยังจำเหตุการณ์ที่มายังห้องเรียนกับเพื่อนอีกคนหนึ่งในตอนกลางคืน เพื่อมานั่งจับมือนายโรเบิร์ต ท่องจำชื่อกระดูกนิ้วมือทีละข้อโดยไม่ได้มีความรู้สึกกลัว จนสามารถจดจำชื่อกระดูกร่างกายมนุษย์ทั้ง 206 ชิ้นทั้งหมด และผู้เขียนก็รู้สึกขอบคุณนายโรเบิร์ต ผู้อุทิศร่างให้ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา

 

ภาพที่ 2 นักเรียนพยาบาล และโครงกระดูกของนายโรเบิร์ต ผู้อุทิศร่างให้ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา

(แหล่งที่มาภาพ : ผู้เขียนถ่ายภาพจากหนังสือรุ่นนักเรียนพยาบาลโรงพยาบาลมิชชั่น Class 1976)

 

               งานสำคัญอีกงานหนึ่งที่นักเรียนพยาบาลต้องเรียนรู้เป็นงานในห้องผ่าตัด OR (Operating Room) ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายและตื่นเต้นระทึกใจในทุกขั้นตอน ด้วยทุกวินาทีที่ผ่านไปมีความสำคัญกับชีวิตของคนไข้ ยิ่งในช่วงเวลาที่ฝึกช่วยส่งเครื่องมือผ่าตัดให้หมอต้องมีปฏิภาณไหวพริบ และต้องเรียนรู้ว่าในแต่ละขั้นตอนหมอต้องใช้เครื่องมืออะไร จึงต้องท่องจำชื่อเครื่องมือผ่าตัดให้ได้ทั้งหมดทุกชิ้น

               ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีคุณหมอที่เป็นอาสาสมัครมิชชันนารีจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาประจำการ จึงมีธรรมเนียมว่านักเรียนจะมีครอบครัวของคุณหมอต่างชาติที่ประจำอยู่โรงพยาบาลเป็น
ผู้อุปถัมภ์ชั้นเรียน (Class Sponsor) เพื่อคอยดูแลและให้คำปรึกษานักเรียนพยาบาล นักเรียน Lab & X-ray และ
รุ่นของผู้เขียนได้ครอบครัวของดอกเตอร์โรนัล โบรดี้ (Dr. Ronald Brody) ศัลยแพทย์มือดีจากออสเตรเลียเป็นผู้อุปถัมภ์ ในภายหลังท่านได้เป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลอยู่หลายปีก่อนเกษียณแล้วเดินทางกลับไปบ้านเกิดที่ออสเตรเลีย

                การมีคุณหมอต่างชาติหมุนเวียนมาประจำการที่โรงพยาบาลก็ได้นำเทคโนโลยีและความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่มาใช้ ทำให้บุคลากรของโรงพยาบาลได้เรียนรู้ไปด้วย ทำให้โรงพยาบาลมิชชั่นที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะดอกเตอร์โรเจอร์ ที เนลสัน (Dr. Roger T. Nelson) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและชำนาญโรคด้านทรวงอก รวมทั้งอายุรแพทย์ของโรงพยาบาลมิชชั่นที่ควรเอ่ยนามถึง

                โดยมีเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 50 ปีก่อนเกี่ยวกับคุณหมอเนลสันว่า มีคนไข้ที่ห้องฉุกเฉินเกิดอาการหัวใจวาย และในเวลานั้นยังไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ทันสมัย คุณหมอได้ตัดสินใจใส่ถุงมือเอามีดกรีดช่องอกและใช้มือล้วงเข้าไปบีบนวดหัวใจคนไข้จนกลับมาเต้นอีกครั้งแล้วรีบนำเข้าห้องผ่าตัด ทั้งนี้ ระหว่างทางคุณหมอก็ยังคงใช้มือบีบนวดหัวใจคนไข้ไปตลอดทาง จนในที่สุดก็สามารถช่วยชีวิตคนไข้รายนี้ไว้ได้ นับว่าเป็นเรื่องเล่าขานระดับตำนานของโรงพยาบาลเลยทีเดียว

                ปัจจุบันโรงพยาบาลมิชชั่นเปิดให้บริการก้าวเข้าสู่ปีที่ 87 แล้ว แม้มีการเปลี่ยนกลุ่มผู้บริหารไปตามยุคสมัย อย่างไรก็ตามเจ้าของโรงพยาบาลเป็นมูลนิธิคริสเตียนเมดิคอล (Christian Medical) ที่นับถือนิกายเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ (Seventh-day Adventists (SDA)) ที่มีวัตรปฏิบัติไปโบสถ์วันเสาร์และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งได้กลายเป็นแนวทางที่โรงพยาบาลนำมาใช้เป็นหลักการดูแลสุขภาพให้ทั้งผู้ป่วยและบุคคลภายนอกรับประทานอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian) ตลอดมาไม่เคยเปลี่ยนตราบจนทุกวันนี้

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ