สมัยประถมผู้เขียนมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาที่สำนักงานไปรษณีย์สาขาหนึ่ง (หรืออาจเป็นพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน ผู้เขียนไม่แน่ใจนัก) เด็กทุกคนได้เขียนไปรษณียบัตรส่งถึงตัวเองคนละใบ จากนั้นการ์ดจะถูกรวบรวมไปยังสายพานคัดแยก แล้วก็ราวกับว่ามีเวทมนตร์เสก! ฟึ่บ! การ์ดแต่ละใบถูกแยกส่งไปตามรหัสไปรษณีย์ของแต่ละแห่งแล้วหล่นลงในช่องอย่างสวยงาม ยิ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแยกพัสดุในปัจจุบันนับว่าน่าทึ่งมาก
ความประทับใจในตอนนั้นฝังจิตฝังใจผู้เขียนอยู่มาก ยิ่งเมื่อโตขึ้นได้อ่านนิยายจีนโบราณกับดูซีรีส์จีนย้อนยุคได้เห็นกองทัพส่งสารด้วยม้าเร็วก็เริ่มสงสัยว่าชาวบ้านสามัญในอดีตส่งจดหมายกันอย่างไรในยุคที่ไม่มีเครื่องทุ่นแรงใดๆ รวมกับอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของจีน การส่งพัสดุไปถึงผู้รับในยุคโบราณนั้นคงน่าทึ่งยิ่งกว่า!
ด้วยความสนใจนี้เป็นเหตุให้ผู้เขียนลิสต์ให้ 'พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ไต้หวัน (Chunghwa Postal Museum)' ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงไทเปเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ต้องไปดูให้ได้ นอกจากนี้จากข้อสังเกตหลังตะลอนชมพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของไต้หวันใช้วิธีกำหนดยุคสมัยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นราชวงศ์ชิงเป็นรูปแบบเดียวกับจีน ทำให้พิพิธภัณฑ์ค่อนข้างตอบโจทย์ความสนใจของผู้เขียน
ในการจัดแสดงนิทรรศการเริ่มตั้งแต่ชั้น 2-6 โดยชั้น 3 เล่าถึงพัฒนาการของระบบไปรษณีย์ตั้งแต่จีนยังเป็นนครรัฐไปจนถึงการปรับสู่สมัยใหม่ตามแบบตะวันตก ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เขียนไปหาคำตอบข้อที่สงสัย
ภาพที่ 1 วิดีโอการ์ตูนสาธิตการคัดแยกพัสดุโซนนิทรรศการเด็ก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนตามหาอยู่นั้นกลับไม่มีในนิทรรศการ เพราะระบบไปรษณีย์สงวนไว้สำหรับกิจของราชการ และการทหารเท่านั้น กว่าจะเปิดให้สาธารณชนใช้บริการอย่างเป็นทางการก็เป็นปี ค.ศ. 1896 แล้ว! ส่วนสาระความรู้ที่ผู้เขียนได้กลับมาแบบเต็มแน่นเอี๊ยดกลับเป็นเรื่องรูปแบบการส่งสาร และลักษณะของจดหมายในอดีตแทน
ทุกคนอาจทราบว่าในสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 B.C.) ซึ่งมีจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นปฐมจักรพรรดินั้นเป็นจุดเริ่มต้นของจีนยุคจักรวรรดิ แต่ระบบไปรษณีย์เก่าแก่โบราณกว่านั้นนับพันปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ส่งสาร
ผู้ทำหน้าที่กระจายคำสั่งจากบนลงล่าง และส่งรายงานจากล่างขึ้นบนมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหยา (Emperor Yao) พระเจ้าชุ่น (Emperor Shun) และพระเจ้าอวี่ (Yu the Great) ทั้งสามเป็นผู้ปกครองจีนยุคโบราณตามตำนาน ก่อนพระเจ้าอวี่ผู้ได้รับการสรรเสริญจากการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของแม่น้ำเหลือง หรือแม่น้ำฮวงโห (Yellow River, Huang He River) จะก่อตั้งราชวงศ์เซี่ย (Xie, 2,070-1,600 B.C.) ราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีนเสียอีก
ถัดมาในสมัยราชวงศ์ซาง (Shang, 1,766-1,122 B.C. - ช่วงเวลาของยุคสมัยนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน
ผู้เขียนจึงใช้ข้อมูลตามพิพิธภัณฑ์) การสื่อสารอาศัยวิธีดั้งเดิมอย่างการใช้สัญญาณควันในช่วงกลางวัน และการจุดคบเพลิงยามกลางคืนในการส่งสารทางการทหารจากหอสัญญาณ (Beacon tower) ระหว่างการเฝ้าระวังชายแดนไปจนถึงเตือนภัยข้าศึกบุก
ภาพที่ 2 (ซ้าย) ม้วนไม้ไผ่ (ขวา) การปิดผนึกด้วยดินเหนียวประทับตรา
ขณะเดียวกันก็นับเป็นยุคแรกๆ ที่มีการค้นพบว่าชาวจีนจดบันทึกลงบนซีกไม้ไผ่ (Jian) และแผ่นไม้ (Du) ก่อนนำมามัดร้อยรวมกันเป็นม้วน (Ce) โดยเรียกรวมกันเป็นภาษาจีนว่า 'เจี่ยนตู๋ (Jiandu, 簡牘)' หรือ 'เจี่ยนเช่อ (Jiance, 簡冊)' ในการส่งสารที่ต้องรักษาความลับ และป้องกันการปลอมแปลงจะประกบสารด้วยแผ่นไม้ แล้วคาดเชือกปิดผนึกด้วยดินเหนียวประทับตราที่เรียกว่า 'เฟิงหนี (Feng ni, 封泥)'
ต่อมาในสมัยราชวงศ์โจว (Zhou, 1,046-256 B.C.) รูปแบบการส่งสัญญาณข้างต้นได้ถูกใช้ควบคู่กับเจ้าหน้าที่ส่งสารที่อาจเดินเท้า ขี่ม้า หรือเดินทางด้วยรถเทียมเพื่อไปถึงปลายทาง และทำให้มีการสร้างศาลาพักม้า (โหยวอี้, 郵驛) ให้ทั้งคนและสัตว์ได้มีที่พักแรมเป็นครั้งแรก ส่วนการใช้รถเทียมซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าก็มีอันยกเลิกไป
ม้วนไม้ไผ่ และม้วนแผ่นไม้นั้นมีน้ำหนักมาก ทั้งกว่าจะเขียนจบเท่าที่ต้องการก็ต้องเอาซีกไม้แต่ละอันมาร้อยเรียงกันอีก จึงเริ่มมีการนำผ้าไหมมาใช้จดบันทึกเพื่อแก้ปัญหา 2 ข้อนี้ จารึกม้วนผ้าไหมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีชื่อว่า 'ตำราฉู่ (Chu Silk Manuscript)' จากยุคสงครามเจ็ดอาณาจักร หรือยุคจั้นกั๋ว (Warring States Period, 475-221 B.C.) ในสุสานช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล ย่านซือต้านคู่ เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน (Zidanku, Changsha, Hunan) ซึ่งเป็นอดีตที่ตั้งรัฐฉู่ ("ตำราจีนบนผ้าไหม อายุ 2,300 ปี," 2561) ด้วยราคาที่แพงของผ้าไหมจึงสงวนไว้ใช้สำหรับวรรณกรรมคลาสสิก ตำรา และเอกสารสำคัญเท่านั้น
ยุคจั้นกั๋วจบลงเมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้สามารถรวมแผ่นดินจีนได้เป็นปึกแผ่น ถนนหนทางและศาลาพักม้าได้ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อการไปรษณีย์ รวมถึงมีการตรา 'พระราชกฤษฎีกาการส่งสาร (Postal Code of Qin, 秦郵律)' ขึ้น โดยมีเนื้อหาระบุว่าพระราชโองการจากฮ่องเต้ถือเป็นสารด่วน ด่วนที่สุด! ต้องส่งในทันทีทันใด และเอกสารอื่นๆ ให้ส่งให้หมดภายในวันเดียวกันโดยมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดมาก ต้องบันทึกวันนำเอกสารเข้าระบบ และวันที่นำจ่ายสำเร็จ (ประหนึ่งการเช็กรหัสพัสดุของไปรษณีย์ไทย) ถ้าพัสดุไปรษณีย์หายก็ต้องแจ้งทางการด้วย มิฉะนั้นก็รอรับการลงทัณฑ์ตามการบังคับใช้กฎหมายของจิ๋นซีฮ่องเต้ (Xie, 2022)
อย่างไรก็ตาม ก่อนยุคฉิน ไม่ว่าเจ้าของตราประทับจะเป็นใครก็เรียกด้วยคำเดียวกัน ทว่าจิ๋นซีฮ่องเต้กำหนดให้เรียกพระราชลัญจกรจักรพรรดิว่า 'สี่ (Xi, 璽)' ส่วนตราประทับของพวกขุนนางที่เรียกว่า 'อวิ้น (Yin, 印)' มักแกะสลักส่วนมือจับเป็นรูปต่างๆ แล้วร้อยแขวนประดับเครื่องแต่งกายเพื่อบอกฐานะ คำเรียกตราประทับเปลี่ยนแปลงตลอดประวัติศาสตร์จีนอย่างในสมัยถังมาเรียกว่า 'จี้ (Ji, 記)' อีกทั้งยังมีการแบ่งประเภทตราประทับอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อเห็นศิลปินประทับตราบนภาพวาด หรือบทกวีก็เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตราประทับในงานราชการด้วยเช่นกัน
ต่อมากระดาษเริ่มเข้ามามีบทบาทในอารยธรรมจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (Eastern Han, 25-220 C.E.) เมื่อไช่ หลุน (Cai Lun) คิดค้นกรรมวิธีการผลิตกระดาษได้ แต่ความแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปเริ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่สมัยราชวงศ์จิ้น (Jin, 265-420 C.E.) แล้ว เมื่อมีกระดาษมีซองจดหมายก็ไม่จำเป็นต้องปิดผนึกด้วยดินเหนียวอีกต่อไป ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการสืบทอดธรรมเนียมของการ 'ผนึก' ผ่านการจ่าคำว่า 'เฟิง (Feng, 封)' ลงบนซองจดหมาย ส่วนตราประทับที่เดิมใช้ปั๊มลงบนดินเหนียวก็เปลี่ยนมาประทับชาดแดงบนกระดาษแทน
ภาพที่ 3 (บนซ้าย) ซองจดหมาย ‘ผนึก’, (บนขวา) จดหมายม้วนผ้าไหม,
(ล่างซ้าย) ซองจดหมายแนบขนนก, (ล่างขวา) ซองจดหมายเผามุม
ในปัจจุบันเมื่อนำพัสดุไปส่งที่ไปรษณีย์เจ้าหน้าที่จะแปะรหัสติดตามและแบ่งประเภทพัสดุด้วยว่าเป็นพัสดุธรรมดา พัสดุลงทะเบียน หรือพัสดุด่วนพิเศษ ในยุคจีนโบราณก็มีระบบที่คล้ายกัน เช่น หากต้องการส่งด้วยความเร็วราวกับนกบินก็ให้แนบ 'ขนไก่' ไว้ที่ซอง แต่ถ้าอยากให้เร็วขึ้นไปอีกก็แนบขนไก่ 4 เส้น หรือหากรีบมากแบบด่วนที่สุด! ประหนึ่งถูกไฟลนก้นก็ให้เผามุมซองจดหมายกันเลย
ในยุคถัดมาระบบไปรษณีย์ก็ยังคงใช้ระบบศาลาพักม้า แม้แต่บนเส้นทางสายไหมก็ยังมีที่ทำการไปรษณีย์ เช่น ซากโบราณเสวียนเฉวียนจื้อ ในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ ((Xuanquanzhi Ruins, Dunhuang, Gansu) ซึ่งจีนกำลังบูรณะ ("จีนบูรณะ 'ที่ทำการไปรษณีย์'," 2565)) ขณะเดียวกันเส้นทางการขนส่งทางน้ำก็พัฒนาอย่างมากในยุคหกราชวงศ์ (Six Dynasties, 222-589 C.E.) จนกระทั่งสมัยยุคราชวงศ์สุย (Sui, 581-618 C.E.) และถัง (Tang, 618-907 C.E.) ท่าเรือส่งสารในเมืองทางใต้ที่อยู่บริเวณตอนล่างของแม่น้ำแยงซี (Yangtze River) จึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน
ภาพที่ 4 โมเดลจำลองการส่งสารด้วยแพหนังแกะ
พาหนะขนส่งถูกปรับตามลักษณะภูมิประเทศ ทางบกใช้ม้า ลา วัว และอูฐ การขนส่งทางน้ำใช้เรืออ่างไม้ (มณฑลอานฮุย, Anhui) และแพหนังแกะ (แม่น้ำฮวงโห) ในแถบแมนจูเรีย (Manchuria) ใช้เลื่อนหิมะ ในมณฑลเสฉวน (Sichuan) ที่เป็นหุบผาชัน การขนส่งก็ยังดั้นด้นใช้วิธีไต่เชือกไปส่งจนได้ เจ้าหน้าที่ส่งสารจึงเปรียบเสมือนกองกำลังพิเศษที่เชี่ยวชาญวิทยายุทธทุกแขนง (Yang, 2021)
นอกจากโซนนี้ที่ทำให้ผู้เขียนกระตือรือร้นเป็นพิเศษ พิพิธภัณฑ์ยังเล่าถึงระบบไปรษณีย์สมัยใหม่ที่มีการขนนำเครื่องจักร อุปกรณ์ และพาหนะที่ใช้ในงานไปรษณีย์จำนวนมากมาตั้งโชว์ อีกทั้งยังอุทิศพื้นที่บริเวณชั้นที่ 5 ให้กับคนรักแสตมป์โดยเฉพาะ มีรายละเอียดยิบย่อยที่นึกไม่ถึง ประเภทของแสตมป์ หรือกระบวนการผลิต รวมถึงมีแสตมป์จากทั่วโลก (มีแสตมป์จากไทยด้วย) และพิเศษยิ่งกว่านั้นคือมีโซนเด็กที่ชั้น 4 ผู้เขียนเองก็แอบไปปั๊มตราน้องนกพิราบมาด้วย ฉะนั้นไม่ว่าใครจะสนใจแง่มุมไหนของประวัติศาสตร์ไปรษณีย์ก็มาเรียนรู้ได้ที่นี่!
พิพิธภัณฑ์เปิดตั้งแต่ 9.00-17.00 น. และปิดทุกวันจันทร์ ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์แค่ 30 ดอลลาร์ไต้หวันเท่านั้น สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ก (Chaing Kai-shek Memorial Hall) แล้วเดินต่ออีก 5 นาที หรือนั่งรถประจำทางโดยใช้แอป Google Maps เป็นตัวช่วยหาสายรถประจำทาง (แนะนำวิธีนี้สำหรับใครที่อยากเดินระยะใกล้ และอยากสัมผัสประสบการณ์รถเมล์ในต่างแดน)
ภาพที่ 5 พาหนะของบุรุษไปรษณีย์ในระบบไปรษณีย์สมัยใหม่
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ตำราจีนบนผ้าไหม อายุ 2,300 ปี ไปโผล่อยู่ในอเมริกา. (18 มิถุนายน 2561). ข่าวสดออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_1213227
Xie, C. (2021, June 11). 世界上最早的邮政法 (The world's earliest postal law). In Zhang, C. (Ed.). Retrieved from https://m.sohu.com/a/585946343_121123845/?pvid=000115_3w_a
จีนบูรณะ 'ที่ทำการไปรษณีย์' เก่านับพันปี บนเส้นทางสายไหมโบราณ (4 กันยายน 2565). ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นจาก https://mgronline.com/china/detail/9650000084326
Yang, R. (2021, June 11). 防疫在家也能逛奇美、羅浮宮 6個國內外博物館線上免費看. Retrieved from https://www.parenting.com.tw/article/5089844