Museum Core
เกาะแกร์ เมืองมรดกโลกของกัมพูชาที่สร้างล้อมรอบ ‘รหาล’ บึงน้ำศักดิ์สิทธิ์
Museum Core
09 ต.ค. 67 226

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

               ‘เกาะแกร์’ เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่กลางป่าดงอันเขียวขจี ระหว่างเทือกเขาพนมดงเร็ก (คำนี้ออกเสียงตามสำเนียงเขมร แปลว่า เขาไม้คาน ส่วนคนไทยเรียก พนมดงรัก) กับเทือกเขาพนมกุเลน (แปลตรงตัวว่า ลิ้นจี่ป่า) ในเขตประเทศกัมพูชา

               มีการกล่าวอ้างกันว่าเมืองแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1464-1487) โดยพระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงมาจากเมืองยโสธรปุระ หรือชาวกัมพูชามักเรียกอย่างติดปากว่า
‘อังกอร์’ (ไทยเรียกเมืองพระนคร) ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1432-1453)

               อันที่จริงแล้ว ‘พระเจ้ายโศวรมันที่ 1’ เป็นเครือญาติที่มีความใกล้ชิดกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ด้วยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ควรมีศักดิ์เป็นพระภาคิไนย (หลาน) ซึ่งเป็นลูกของเชษฐภคินี (พี่สาว) หรือพระขนิษฐา (น้องสาว) ของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (แม้ว่าเป็นพี่สาว หรือน้องสาวต่างพระราชมารดาก็ตาม) แต่สายสัมพันธ์ทางเครือญาติกษัตริย์โบราณในอุษาคเนย์ ซึ่งมักผูกดองกันโดยเกี่ยวข้องกับพื้นฐานอำนาจผ่านทางผู้หญิงกลับซับซ้อนกว่านั้นมาก

               ในกรณีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ได้เสกสมรสกับพระปิตุจฉา (ป้าหรืออาหญิง กรณีนี้คือ ป้า) ที่มีพระนามว่า ‘พระนางชัยเทวี’ ซึ่งเป็นพระพี่นาง หรือพระน้องนางอีกองค์หนึ่ง (ไม่ทราบชัดอีกเช่นกัน) ของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 การไล่เรียงลำดับเฉพาะศักดิ์ฐานะนี้ก็ถือได้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 เป็นพระปิตุลา (ลุง หรืออา ผู้ชาย) เขย ของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น หากจะนับลำดับเครือญาติระหว่างกษัตริย์เขมรโบราณทั้ง 2 พระองค์นี้จึงเป็นเรื่องที่สับสนอลหม่าน สรุปสั้นได้แค่ว่าทั้งสองพระองค์นั้นเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน

               ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 พระราชโอรสคือ พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1453-1466)  และพระเจ้าอิศานวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1466-1471)  ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนครตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ศิลาจารึกบางหลักกลับได้ระบุว่า มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของราชวงศ์เขมรโบราณเกิดขึ้นในปีศักราชที่ตรงกับ พ.ศ. 1464 ดังปรากฏความในจารึกว่า

                 “พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 เสด็จออกจากเมืองยโศธรปุระ เพื่อครองราชย์ที่ ‘โฉก ครรคยรร’ โดยทรงได้นำ ‘เทวราช’ มาไว้ด้วย”

               คำว่า ‘โฉก ครรคยรร’ เป็นชื่อโบราณของเมืองกลางป่า หรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘เกาะแกร์’ ซึ่งหมายความว่าในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ขณะกำลังเสวยราชย์อยู่ที่ราชเมืองพระนคร พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ก็ได้ไปครองราชย์ที่เมืองเกาะแกร์เรียบร้อย ซึ่งคำว่า ‘เทวราช’ ก็คือ ‘อำนาจ’ อันเป็นนามธรรมของความเป็น ‘จักรพรรดิราช’ เหนือทั้งโลกมนุษย์ และรวมไปถึงโลกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ หลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ที่ได้ผ่านการประกอบพิธีกรรมในลัทธิเทวราช เพื่อให้ดวงพระวิญญาณของกษัตริย์หลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้า ผู้เป็นราชาเหนือทวยเทพทั้งหลาย

               ดังนั้น การนำเทวราชไปยังราชธานีที่สร้างขึ้นใหม่ของ ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 4’ จึงเป็นการประกาศความเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลายในโลกมนุษย์ (แน่นอนว่า เหนือกษัตริย์แห่งเมืองพระนครด้วย) ในกรณีเมืองเกาะแกร์นั้นได้มีการประดิษฐานเทวราชไว้ที่ ‘ปราสาทธม’ นั่นเอง

 

ภาพที่ 1: ปราสาทธม ที่ประดิษฐาน ‘’ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 เทวราชแห่งเมืองเกาะแกร์

แหล่งที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:0505280017PThompyramid.jpg

 

               แม้ลัทธิเทวราชจะมีทั้งการสถาปนา ศิวลึงค์ เทวรูปพระนารายณ์ หรือพระพุทธรูป เพื่อเป็นสื่อหลอมรวมดวงพระวิญญาณของกษัตริย์ให้เป็น “ราชา ผู้อยู่เหนือเทพเจ้า” รวมถึงผู้คนทั้งหลาย (เทวราช ในที่นี้แปลได้ทั้ง ราชาของหมู่เทพเทวดา และ ราชาผู้เป็นเทวะ) ทว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ‘ลัทธิเทวราช’ ก็คือ แนวคิดเรื่องผีบรรพชนที่นำเข้าเทพเจ้าจากอินเดียและพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาใช้เป็นหน้าฉากต่างหาก

               ปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่าง อ. ​นิธิ  เอียวศรีวงศ์ เคยให้คำจำกัดความถึงลัทธิดังกล่าวไว้อย่างกระชับ และได้ใจความเอาไว้ในบทความที่ชื่อ ‘The Devaraja Cult and Khmer Kingship at Angkor’ (ลัทธิเทวราชและความเป็นกษัตริย์ของเขมร ที่เมืองพระนคร, ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.​2519) ว่า ลัทธิเทวราชเป็นอุดมการณ์ร่วมของชนชั้นนำและประชาชนเกี่ยวกับเรื่องความอุดมสมบูรณ์และผีบรรพชนโดยแสดงออกผ่านพิธีศพ

               อ. นิธิ ได้อธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นเดียวกันด้วยว่า ‘ผีบรรพชน’ คือแหล่งที่มาของ ‘อำนาจแห่งชีวิต’ ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงให้แก่ชุมชน และผู้คนทั้งหลายได้ โดยผู้ที่จะนำพาและส่งถ่ายอำนาจแห่งชีวิตไปสู่ชุมชน หรือผู้คนอื่นๆ ได้คือ ‘กษัตริย์’ แต่กษัตริย์เมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้นยังไม่ได้เป็น ‘เทวราช’ จนกว่าจะเสียชีวิตลง

               ดังนั้นพิธีศพตามความเชื่อนี้จึงต้องเป็นสัญลักษณ์ของ ‘เขาพระสุเมรุ’ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อของทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ โดยแสดงออกผ่านทางการสร้าง ‘ปราสาท’ ที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพคือ ‘ศิวลึงค์’ ที่กษัตริย์ผู้ล่วงลับจะกลับเข้าไปรวมเข้ากับเทพเจ้า คืออำนาจแห่งชีวิตที่ช่วยสร้างความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชน หรือราชอาณาจักร (ทั้งนี้ รูปเคารพอาจเป็นรูปพระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้า ขึ้นอยู่กับกษัตริย์องค์นั้นเลือกนับถือลัทธินิกายใดเป็นสำคัญ)

               ตามความเชื่อนี้ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 จำเป็นต้องสร้างปราสาทธมสำหรับประดิษฐาน ‘ตรีภูวเนศวร’ อันเป็นศิวลึงค์ที่มีสถานะเป็น ‘เทวราช’ หรือเรียกเป็นภาษาเขมรโบราณว่า ‘กมรเตง ชคต ราชะ’ เพื่อสร้างความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์ให้กับราชอาณาจักรที่เมืองเกาะแกร์

               อย่างไรก็ตาม เมืองเกาะแกร์ไม่ได้มีเพียงแค่ปราสาทธมอยู่เพียงหลังเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปราสาทหลังอื่นอยู่อีกมาก ซึ่งล้วนแต่สร้างขึ้นด้วยการวางแผนผังอย่างมีนัยยะสำคัญบางอย่าง

 

ภาพที่ 2: ภาพถ่ายดาวเทียมของเมืองเกาะแกร์ มี ‘รหาล’ บึงน้ำธรรมชาติที่ถูกปรับแต่งรูปร่างโดยฝีมือมนุษย์เป็นศูนย์กลางของเมือง ภาพถ่ายจากดาวเทียมสอดแนมโคโรนา (Corona) เมื่อ พ.ศ. 2510 แหล่งที่มาภาพ: https://www.researchgate.net/figure/Corona-spy-satellite-image-from-1967-top-compared-to-the-aerial-photo-coverage-from_fig1_286620139

 

ภาพที่ 3: แผนผังเมืองเกาะแกร์ มีรฮาลเป็นศูนย์กลางของเมือง วาดโดย อองรี ปาร์มองติเย่ร์ (Henri Parmentier) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2482

แหล่งที่มาภาพ: https://www.researchgate.net/figure/Parmentiers-1939-map-of-Koh-Ker-which-has-remained-the-standard-map-for-70-years_fig4_286620139

 

               ปราสาทหลายหลังในเมืองเกาะแกร์เกือบทั้งหมดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โดยเฉพาะกลุ่มปราสาทหลังที่สร้างอยู่ล้อมรอบบึงน้ำธรรมชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปราสาทที่มีสัดส่วนใหญ่มหึมาเมื่อเทียบกับปราสาทเขมรที่เมืองอื่นๆ ทั้งหมด โดยมีปราสาทธมเป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมือง (ธม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่ ทั้งนี้ มีจารึกปราสาทดำเรยที่เกาะแกร์ ซึ่งนับเป็นปราสาทหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ล้อมรอบบึงน้ำเดียวกันนี้ มีข้อความระบุว่า ตรีภูวเนศวร หรือองค์ศิวลึงค์ประธานที่ปราสาทธมมีความสูงถึง 4.5 เมตร ทว่าสูญหายไปแล้ว) นอกจากนี้ กลุ่มปราสาทที่สร้างล้อมรอบบึงน้ำทั้งหมดสร้างให้หันหน้าเข้าหาบึงน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับบึงน้ำแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

               ในปัจจุบันบึงน้ำดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘รหาล’ (Rahal) (เป็นคำเดียวกับคำว่า ‘ละหาน’ คำในคำไทยที่ยืมมาจากภาษาเขมร โดยพจนานุกรมไทยหลายฉบับให้ความหมายไว้ตรงกันว่า ห้วงน้ำ ธารน้ำ เช่น ห้วยละหาน) เป็นบึงน้ำธรรมชาติที่ถูกปรับแต่งรูปร่างโดยฝีมือมนุษย์ มีร่องรอยการทำฝายกั้นน้ำด้านทิศต่างๆ แสดงถึงการจัดการทรัพยากรน้ำในบึง และยังมีโขดหินระเกะระกะอยู่รายรอบขอบบึง มีการแกะสลักรูปของเทพเจ้าสำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น พระอิศวร (พระศิวะ) พระพรหม พระนารายณ์ (พระวิษณุ) พระอินทร์ เป็นต้น ควบคู่ไปกับรูปเทวดา นางฟ้า หรือนางอัปสรทั้งหลาย โดยเฉพาะบริเวณที่เป็น ‘ตาน้ำ’ จะมีภาพสลักอยู่มากเป็นพิเศษ

               ภาพสลักเทพเจ้าเหล่านี้สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือร่วมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 และควรสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับกลุ่มปราสาทที่สร้างล้อมรอบและหันหน้าเข้าสู่รหาล แสดงให้เห็นว่า ‘รหาล’ คือบึงน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการสลักรูปสัตว์บางชนิดไว้ที่โขดหินด้วย เช่น รูปสัตว์เลื้อยคลานที่อาจเป็นตะกวด ซึ่งมีการอ้างในพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่าตะกวดเคยเป็นพระชาติเก่าก่อนของ ‘พระทอง’ กษัตริย์ต้นวงกัมพูชา

               แม้ว่าพงศาวดารเขียนขึ้นในยุคหลังของการสร้างปราสาทหินแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นร่องรอยการนับถือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เป็นบรรพชน ดังศัพท์ที่นักวิชาการเรียกว่า ลัทธิโทเทม (Totemism) ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ รูปสลักสัตว์ต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามคติดั้งเดิมในศาสนาผีโบราณของชนชาวเขมรที่มีมาก่อนการยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือพุทธศาสนาจากอินเดีย

               ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่ารูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกสลักโดยรอบรหาลอาจสร้างขึ้นก่อนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 จะสถาปนาเมืองเกาะแกร์เป็นราชธานีของพระองค์เพราะรหาลเป็นบึงศักดิ์สิทธิ์มาแต่เก่าก่อน หรืออาจถูกสลักขึ้นพร้อมกับรูปสลักเทพเจ้าในช่วงยุคเมืองเกาะแกร์เป็นราชธานี เพราะศาสนาผีเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ยังคงนับถือมาตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน

               พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 อาจสถาปนาเมืองเกาะแกร์เป็นราชธานี เพราะมีชัยภูมิที่เหมาะสมตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาสำคัญอย่างพนมดงเร็ก และพนมกุเลน เอื้อกับการตั้งเป็นสถานีสินค้าที่สำคัญ ด้วยเป็นจุดที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งในศาสนาผี และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อีกด้วย จึงไม่แปลกอะไรที่จารึกบางหลักที่ค้นพบในเมืองเกาะแกร์ได้อ้างว่า เมืองแห่งนี้ (เมื่อครั้งเป็นราชธานี) มีประชากรอยู่รวมกันถึง 10,000 คนเลยทีเดียว

               ปัจจุบันองค์กรยูเนสโกได้ประกาศให้เมืองเกาะแกร์เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา

 

ภาพที่ 4: ภาพสลักรูปเทพเจ้า และเทวดาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

บนก้อนหินใหญ่ที่ขอบรฮาล ทางด้านซ้ายมือเป็นรูปพระอิศวรทรงโคนนทิ

 

ภาพที่ 5: ภาพสลักรูปสัตว์เลื้อยคลาน (ตะกวด?) บนโขดหินใหญ่ ริมขอบรหาล

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ