Museum Core
ออร์ซานมิเกเล ยุ้งฉางที่กลายเป็นโบสถ์
Museum Core
03 ก.ย. 67 182
ประเทศอิตาลี

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

ภาพปก ภายในโบสถ์ออร์ซานมิเกเล ไม่มีแท่นบูชากลาง เพราะอาคารเดิมเป็นศาลาที่มีสองช่องทางเดิน ด้านซ้ายเป็นแท่นบูชานักบุญอันนา ด้านขวาเป็นพลับพลาพระแม่มารี

 

               ออร์ซานมิเกเล (Orsanmichele) สำหรับผู้เขียนเป็นสถานที่ที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งในฟลอเรนซ์ และเป็นสถานที่ที่แปลกประหลาด นอกจากเคยเป็นตลาด ยุ้งฉางที่เก็บธัญพืชแล้วยังเป็นโบสถ์ที่รูปร่างไม่เหมือนโบสถ์ทั่วไป ทั้งด้านในที่ไม่มีแท่นบูชากลาง และด้านนอกเป็นตึกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียบๆ เหมือนอาคารสำนักงาน ไม่มีโดม ไม่มีหอระฆัง ผนังโดยรอบเป็นที่ชุมนุมของประติมากรรมเหล่านักบุญที่เป็นฝีมือของศิลปินชื่อดัง อีกทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีทางเข้าไม่เหมือนใคร และเป็นจุดชมวิวที่อันซีนของฟลอเรนซ์  ตลอดจนมีชื่อเรียกที่เก๋ไก๋ไพเราะ และทำให้นึกไม่ออกว่าเป็นชื่อของอะไรกันแน่

               ขณะที่ผู้เขียนอ่านข้อมูลเรื่องเมืองฟลอเรนซ์เพื่อเตรียมตัวไปเที่ยว ออร์ซานมิเกเลเป็นชื่อหนึ่งที่ผุดขึ้นมาบ่อยและมักเชื่อมโยงกับประติมากรชื่อดังในช่วงต้นยุคเรเนซองส์ เช่น ลอเรนโซ กีแบร์ติ (Lorenzo Ghiberti) นันนี ดิ บังโก (Nanni di Banco) โดนาเทลโล (Donatello) เวอร์รอคคิโอ (Verrocchio) ดูเหมือนว่าพวกเขาประกวดประชันฝีมือกันในการสร้างรูปนักบุญติดตั้งในซุ้มรอบอาคาร  ข้อมูลบอกว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 รูปปั้นตัวจริงถูกนำเข้าไปเก็บรักษาไว้ในอาคารและนำรูปจำลองมาติดตั้งไว้แทน

               หลายปีที่ผ่านมาโบสถ์เปิดให้เข้าชมสัปดาห์ละหนึ่งวัน การตกแต่งภายในโบสถ์นั้นสวยมากแต่ประติมากรรมที่มีผู้ถ่ายภาพไว้มีลักษณะหมองคล้ายคนเป็นโรคผิวหนัง จนกระทั่งปี ค.ศ. 2023 โบสถ์ก็ปิดปรับปรุง ผู้เขียนจึงคาดหวังเพียงการเดินวนดูโดยรอบก็พอ แต่ปรากฎว่าเมื่อไปถึงก็โชคดีมากที่พิพิธภัณฑ์เพิ่งเปิดให้เข้าชมได้หลังจากจัดแสดงใหม่เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2024

               บริเวณที่ตั้งออร์ซานมิเกเลเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางคริสต์ศาสนาแห่งแรกของเมืองฟลอเรนซ์ ในปี ค.ศ. 895 มีเจ้าอาวาสจากอารามในเมืองตอนเหนือของอิตาลีมาสร้างคอนแวนต์และโบสถ์เล็กๆ ในบริเวณนี้ โดยอุทิศให้เซนต์ไมเคิล (St. Michale หรือซาน มิเกเล ในภาษาอิตาลี) โบสถ์จึงมีฐานะเป็นสาขาของอารามซึ่งได้จัดส่งพระครูมาดูแล ตามเรื่องเล่าว่าตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในสวนผัก (orto แปลว่า vegetable garden) Orto San Michele จึงเป็นชื่อเรียกที่ปรากฎในหลักฐานเอกสารปีค.ศ. 1239 แต่คำว่า Orsanmichele เกิดขึ้นทีหลัง โดยคนส่วนใหญ่มักเล่าว่าชื่อนี้มีที่มาจาก Orto San Michele แต่มีคนส่วนน้อยค้านว่า Or นั้นเพี้ยนมาจากภาษาละตินที่ใช้เรียก ยุ้งฉางของพวกโรมัน (horreum ออกเสียงว่า ออเรอุม)

               จากคริสต์ศตวรรษที่ 9 ผ่านมาหลายร้อยปี เมืองฟลอเรนซ์เติบโตขึ้นอย่างมาก กลายเป็นเมืองค้าขายร่ำรวยที่ปกครองตนเองด้วยระบอบสาธารณรัฐ คอนแวนต์และโบสถ์ก็โรยราไป บริเวณสวนผักกลายเป็นที่ใจกลางเมืองที่มีการค้าขาย ในปี ค.ศ. 1239 สภาเมืองจึงรื้อออกเพื่อปรับพื้นที่เป็นจัตุรัส มีการสร้างศาลาขนาดใหญ่เป็นตลาดซื้อขายธัญพืช การค้าขายคงรุ่งเรืองมาก หลายสิบปีต่อมาในปี ค.ศ. 1290 จึงมีการต่อเติมศาลาขึ้นเป็นยุ้งฉางที่ใช้เก็บธัญพืชข้างบน ไม่ใช่ยุ้งฉางแบบขี้เหร่แต่ถูกออกแบบโดยอาร์โนลโฟ ดิ แคมบิโอ (Arnolfo di Cambio) ผู้รับงานออกแบบอาสนวิหารฟลอเรนซ์และวังเวคคิโอในอีกไม่กี่ปีถัดมา พงศาวดารของเมืองกล่าวถึงตลาดและยุ้งฉางนี้ว่าเป็นสถานที่ทั้งงดงามและมีประโยชน์ใช้สอย ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นดังสัญลักษณ์และผลงานที่โดดเด่นชิ้นแรกๆ ของคณะผู้บริหารที่เป็นตัวแทนจากสมาคมการค้า (guild กิลด์)

 

ภาพที่ 1 ออร์ซานมิเกเลคืออาคารตรงกลางภาพที่เห็นมีหน้าต่างสูงสามบาน อาคารที่มีหอคอยสูงคือ

วังเวคคิโอ อาคารหลังใหญ่ที่เห็นอยู่ไกลๆ ทางมุมขวาบนคือวังปิตติ

ภาพนี้ถ่ายจากหอระฆังของอาสนวิหารฟลอเรนซ์

 

               ท่ามกลางตลาดการค้าที่คึกคัก ล้อมรอบไปด้วยสำนักงานกิลด์หลายแห่ง เพียงหนึ่งปีให้หลังในปี ค.ศ.1291 บทบาททับซ้อนของออร์ซานมิเกเลก็เกิดขึ้นจากการที่มีผู้วาดภาพพระแม่มารีอันงดงามบนเสาต้นหนึ่ง ทำให้ที่นี่กลายเป็นที่สวดมนต์และค้าขายไปพร้อมกัน จำนวนผู้ศรัทธาเพิ่มขึ้นมากหลังจากตลาดเช้าวายลง ตอนบ่ายก็กลายเป็นที่ชุมนุมของเหล่าภารดรผู้ศรัทธา

               แต่แล้วในปี ค.ศ.1304 เกิดไฟไหม้ใหญ่ในเมืองฟลอเรนซ์ ศาลาและยุ้งฉางก็ถูกไฟไหม้เสียหาย สภาเมืองจึงตั้งใจสร้างใหม่ให้สวยงามยิ่งกว่าเดิม โดยขอให้ศิลปินหลายคนมาช่วยกันออกแบบ ค่าก่อสร้างมาจากกิลด์ต่างๆ งบประมาณของเมือง และเงินบริจาคจากคริสต์ศาสนิกชน การสร้างใหม่นี้ใช้เวลายาวนานกว่าอาคารเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1380 (การตกแต่งเช่นจิตรกรรมฝาผนังยังคงดำเนินต่อไป มีการวาดภาพนักบุญเพิ่มเติมในที่ว่างจนถึงศตวรรษที่ 19) ระหว่างที่สร้างก็ใช้งานอาคารไปด้วย ฟังก์ชันก็ยังคงเหมือนเดิมคือเป็นตลาด ยุ้งฉาง และโบสถ์ อันที่จริงบทบาทอันอลวนของอาคารหลังนี้เป็นสิ่งสะท้อนพลังต่างๆ ที่แข่งขัน ขับเคลื่อนและครอบครองพื้นที่ของเมืองในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

               ในปี ค.ศ. 1347 มีการวาดภาพชื่อว่า พระแม่มารีและพระบุตรกับนางฟ้าทั้งแปด (Virgin and Child with eight Angels) ผลงานมาสเตอร์พีซของ เบอร์นาโด แดดดี (Bernardo Daddi ศิลปินชั้นนำแห่งยุค) และได้ประดิษฐานอยู่ในออร์ซานมิเกเลมาจนถึงปัจจุบัน ภาพนี้สวยงามมากจนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามากขึ้นเรื่อย ๆ และสร้างปาฏิหาริย์แก่ผู้เจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่มีกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในฟลอเรนซ์และทั่วยุโรปในปีค.ศ. 1347-1348 ในที่สุดความศรัทธาที่ล้นหลามนี้ก็ทำให้ตลาดต้องยอมล่าถอยย้ายไปที่อื่นในปี ค.ศ.1361 แต่การใช้พื้นที่ชั้นบนสำหรับเก็บธัญพืชยังคงอยู่ หลังจากตลาดย้ายออกไปก็มีการก่อผนังปิดล้อมศาลาที่แต่เดิมเปิดโล่ง มีการสร้างประตูแล้วเสร็จประมาณปี ค.ศ. 1410 ศาลาก็กลายเป็นอาคารปิดโดยสมบูรณ์

 

ภาพที่ 2 กรอบรูปพระแม่มารีเป็นส่วนหนึ่งของพลับพลาที่ออกแบบโดยออร์กานญา

ทำด้วยหินอ่อนแกะสลักเป็นรูปเทพธิดาจับผ้าม่านเผยออก

ส่วนที่เป็นผ้าม่านฝังลวดลายละเอียดอ่อนช้อยมาก

 

               พลับพลาหินอ่อน งานมาสเตอร์พีซของออร์กานญา (Orcagna หรือ Andrea di Cione di Arcangelo ประติมากรชาวฟลอเรนซ์) สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1352-59 เพื่อปกป้องรูปพระแม่มารี พลับพลานี้สวยงามมากและมีองค์ประกอบซับซ้อนหรูหราจนผู้เขียนไม่อาจบรรยายได้ ทำให้บรรยากาศโดยรอบภาพพระแม่ดูขลังอลังการยิ่งนัก ขอชวนเชิญให้ไปดูด้วยตาของตนเอง แม้ว่าเราอาจไม่สามารถมองเห็นลวดลายที่ละเอียดในหลายจุดได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็โชคดีที่กล้องถ่ายรูปสมัยนี้มีกำลังขยายสูงมาก

               ในอีกช่วงเสาคู่กันกับพลับพลาพระแม่มารีมีแท่นบูชานักบุญอันนา (Saint Anna แม่ของพระแม่มารี และเป็นนักบุญผู้พิทักษ์เมืองฟลอเรนซ์) แต่เดิมเป็นรูปแกะสลักจากไม้ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1343 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันขับไล่ทรราชออกจากเมือง  ซึ่งบังเอิญเป็นวันเดียวกันกับวันฉลองนักบุญอันนา (ทรราชผู้นั้นชาวฟลอเรนซ์จ้างมาปกครองเอง แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ทนไม่ไหว ซึ่งมีเรื่องราวที่ต้องเล่ากันยาว) หมู่ประติมากรรมหินอ่อนรูปนักบุญอันนาและพระแม่มารีอุ้มพระบุตรดังที่เห็นในปัจจุบันทำขึ้นทดแทนของเดิมในปี ค.ศ.1526 โดยฝีมือของฟรานเชสโก เดอ ซันกาลโล (Francesco da Sangallo)

 

ภาพที่ 3 ช่องสำหรับปล่อยธัญพืชลงมาอยู่ที่โคนเสาสองต้นนี้

 

               ภายในโบสถ์มีอะไรให้ดูทุกจุดทุกพื้นที่ มีแท่นคำบรรยายตั้งอยู่เป็นระยะเพื่อให้ผู้สนใจอ่านพร้อมดูไปในแต่ละช่วงเสา หากเงยหน้าขึ้นมองบนเพดานรูปโค้งมองเห็นห่วงเหล็กห้อยอยู่ทั่วไป มีหลายแหล่งข้อมูลเล่าว่าสมัยก่อนใช้เกี่ยวยกธัญพืช ทว่าพิพิธภัณฑ์และข้อมูลอีกหลายแห่งยืนยันตรงกันว่าห่วงเหล็กใช้แขวนโคมไฟแสงสว่าง ร่องรอยของยุ้งฉางอยู่ที่โคนเสาสองต้นตรงผนังด้านซ้าย (เมื่อหันหน้าเข้าหาพลับพลาและแท่นบูชา) มีช่องที่เจาะไว้สำหรับปล่อยธัญพืชจากยุ้งฉางข้างบนลงมา แล้วธัญพืชขึ้นไปเก็บข้างบนอย่างไร? บนซุ้มโค้งใกล้ประตูทางเข้ามองเห็นช่องที่ใช้ขนธัญพืช ที่โคนเสาตรงกับช่องนั้นจะเห็นบันไดสามสี่ขั้นขึ้นไปยังประตูบานเล็ก สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเสาหลังประตูนั้นเป็นบันไดเวียนที่เป็นหนทางเดียวที่ขึ้นไปข้างบนได้ จนกระทั่งอีกหลายร้อยปีต่อมาจึงมีการสร้างทางขึ้นอื่นเพิ่ม หากว่าเดินออกไปข้างนอกโบสถ์และสังเกตซุ้มด้านนอกที่จัดแสดงประติมากรรมนักบุญที่อยู่ตรงมุมเดียวกันกับบันไดนี้ก็เห็นว่าซุ้มทั้งสองตื้นกว่าซุ้มอื่นมาก ด้วยเหตุว่าต้องเผื่อเนื้อที่ให้บันไดเวียนด้านใน

 

ภาพที่ 4  ช่องที่ใช้ลำเลียงธัญพืชขึ้นไปเก็บ ประตูที่ข้างในเป็นบันไดเวียน

และห่วงเหล็กบนเพดานใช้แขวนโคมไฟ

 

               ตั้งแต่ปีค.ศ. 1339 กิลด์ผู้ทอและค้าผ้าไหม (Arte della Seta) เจ้าภาพหลักในการสร้างอาคารได้เชิญ
ชวนกิลด์อื่นๆ สร้างรูปนักบุญผู้พิทักษ์ประจำกิลด์ของตนประดับซุ้มอยู่ในเสาโดยรอบ ด้านกว้าง (ทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก) ด้านละ 3 ซุ้ม และด้านยาว (ทิศเหนือจรดทิศใต้) ด้านละ 4 ซุ้ม รวมเป็น 14 ซุ้ม ทั้งนี้ กิลด์ในฟลอเรนซ์มีถึง 21 กิลด์ แต่ไม่ได้มีสถานะเท่าเทียมกัน มีการจัดลำดับชั้นจากอิทธิพลและความมั่งคั่ง กิลด์ที่ได้รับสิทธิ์จะเรียงซุ้มตามลำดับ เริ่มจากกิลด์อันดับหนึ่งไล่ลงไป โดยกิลด์ใหญ่จะได้พื้นที่ด้านตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเป็นด้านหน้าและด้านหลังของโบสถ์ นักบุญประจำแต่ละกิลด์มักมีประวัติที่สอดคล้องกับอาชีพของแต่ละกิลด์

               หลังการประกาศ มีเพียง 3 กิลด์ใหญ่ที่สั่งทำประติมากรรมเสร็จในปีค.ศ. 1340 (ประติมากรรมปัจจุบันเป็นงานสั่งทำรุ่นที่สอง) จนกระทั่งหลายสิบปีต่อมาจึงมีรูปพระแม่แห่งดอกกุหลาบ (Madonna della Rosa) ของ
กิลด์แพทย์และเภสัชกร (Arte dei Medici e Speziali) ในปีค.ศ. 1399 และรูปเซนต์ลุค (Saint Luke the Evangelist) ของกิลด์ผู้พิพากษาและนักกฎหมาย (Arte dei Giudici e Notai) ในปีค.ศ. 1406 อาจกล่าวได้ว่ารูปพระแม่แห่งดอกกุหลาบเป็นรูปเก่าที่สุดที่ยังคงอยู่ในชุดประติมากรรมในซุ้มรอบโบสถ์ออร์ซานมิเกเลในปัจจุบัน

               ในปี ค.ศ.1407 รัฐฟลอเรนซ์ได้ออกกฎหมายระบุว่าหากกิลด์ใดยังไม่สามารถติดตั้งรูปปั้นภายในสิบปีจะสูญเสียสิทธิ์ในซุ้มของตน ประติมากรรมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันจึงทำขึ้นระหว่างปีค.ศ. 1410-1420 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประชันฝีมือระหว่างกีแบร์ตี นันนี ดิ บังโก และโดนาเทลโล เวทีนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นรูปแบบประติมากรรมยุคเรอรเนซองส์ตอนต้น โดยกีแบร์ตี ผู้เป็นศิลปินใหญ่มักได้งานจากกิลด์ใหญ่ที่มีเงินทุนหนา จึงเป็นคนเดียวที่ได้ทำรูปหล่อสำริดที่มีราคาแพงกว่าหินอ่อนในยุคสมัยนั้น

 

ภาพที่ 5 (จากซ้ายไปขวา) เซนต์สตีเฟน โดย กีแบร์ตี, เซนต์ปีเตอร์ โดย โดนาเทลโล,

 ผู้พลีชีพทั้งสี่ โดย แนนนี ดิ บังโก, ความกังขาของเซนต์โทมัส โดย เวอร์รอคคิโอ

 

               โดนาเทลโลได้ทำงานประติมากรรมสำริดในปีค.ศ. 1423-25 เป็นรูปเซนต์หลุยส์ (Saint Louis of Toulouse) ซึ่งเป็นงานหล่อสำริดขนาดใหญ่ชิ้นแรกของโดนาเทลโล หากแต่ติดตั้งอยู่ได้ไม่กี่สิบปีก็ถูกถอดออกเพราะซุ้มโดนซื้อไปโดยเจ้าของใหม่ Court of Mercanzia องค์กรตุลาการที่ดูแลข้อพิพาทของกิลด์ต่างๆ ได้ว่าจ้างเวอร์รอคคิโอ มาสร้างรูปความกังขาของโทมัส (Incredulity of Saint Thomas) อันเป็นเหตุการณ์ตอนที่เซนต์โทมัสตรวจสอบรอยแผลที่สีข้างของพระเยซูในวันที่แปดของการฟื้นคืนพระชนม์ ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของตุลาการในการพิสูจน์หลักฐาน นับเป็นประติมากรรมสำริดที่สวยงามมากและจัดเป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งทีเดียว งานชิ้นนี้วางไว้ในซุ้มกลางทิศตะวันออก ส่วนงานของโดนาเทลโลก็ใช่ว่าไม่งาม ปัจจุบันไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของโบสถ์ซานตาโครเซ

               ในปี ค.ศ.1569 สมัยของโคซิโมที่ 1 แห่งเมดิซี มีการเปลี่ยนยุ้งฉางให้เป็นหอเก็บเอกสารและสัญญาทางกฎหมายต่างๆ ของเมือง มีการทำทางเข้าเป็นสะพานเชื่อมต่อจากอาคารด้านข้าง ซึ่งเดิมเป็นสำนักงานของกิลด์
ผ้าทอขนสัตว์ (Arte della Lana) ในปัจจุบันสะพานนี้ใช้เป็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์ โดยต้องเดินออกจากโบสถ์ข้ามถนนมายังอาคารฝั่งตรงข้าม ขึ้นบันไดภายในอาคารนั้นเพื่อไปยังสะพานเชื่อม แม้จะเปิดเพียงโถงบันไดแคบให้ผ่าน แต่ก็ยังเห็นร่องรอยการตกแต่งภายในที่สวยงามประณีตของอาคารที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกันกับออร์ซานมิเกเล ปัจจุบันอาคารนี้เป็นของสมาคมดันเต (Italian Dante Society (SDI)) ไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม ยกเว้นมีการจัดงานสัมมนาหรือนิทรรศการทางวิชาการ

 

ภาพที่ 6 พิพิธภัณฑ์จัดวางประติมากรรมในตำแหน่งเดียวกับซุ้มรอบโบสถ์

 

               พิพิธภัณฑ์จัดแสดงประติมากรรมของจริงที่ได้รับการบูรณะแล้วเป็นอย่างดี จัดวางตามตำแหน่งเดียวกันกับที่เคยอยู่ในซุ้มนอกอาคาร รูปที่จัดแสดงมาจาก 13 ซุ้ม ขาดไป 1 ซุ้มที่เป็นซุ้มของเซนต์จอร์จ (Saint George) ของโดนาเทลโลที่ย้ายไปจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์บาร์เจลโล (Bargello) ที่ห่างไปไม่ไกล การยกฐานขึ้นสูงเกือบเมตรเพื่อสร้างให้เกิดมุมมองและความรู้สึกที่ใกล้เคียงเมื่อมองดูจากถนน หรืออาจไม่เกิดความรู้สึกนั้นเพราะประติมากรรมไม่ได้อยู่ในซุ้ม แต่ความรู้สึกที่ได้กลับมาเป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่เกิดจากความขรึมขลังของการจัดแสง มีเพดานสูงทำด้วยอิฐเปลือยทรงโค้งแบบโกธิกเป็นฉากหลัง และความรู้สึกที่ได้อยู่ใกล้ๆ ในมวลอากาศเดียวกันกับประติมากรรมอันทรงพลังอายุกว่า 600 ปี  คิดแล้วผู้เขียนก็เสียดาย อยากมีเวลาหยุดนิ่งยืนดูนานๆ กว่าวันนั้นหลายเท่า

                มีบันไดเวียนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ข้างบนเป็นห้องโถงที่มีหน้าต่างบานใหญ่ สามารถชมวิวเมืองฟลอเรนซ์ได้รอบทิศ พิพิธภัณฑ์และโบสถ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร ค่าเข้าชม 8 ยูโร เพื่อช่วยค่าบูรณะและปรับปรุงการจัดแสดง โดยพิพิธภัณฑ์ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบัตร Firenzecard ที่ใช้ผ่านเข้าชมได้เกือบทุกพิพิธภัณฑ์ในเมือง

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

คำบรรยายนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ออร์ซานมิเกเล

Paatz, Walter and Elisabeth. The Churches of Florence: An Art History Handbook. Vol IV: M-P. Frankfurt am Main: Vittorio Klostermann, 1952. 480-558.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ