Museum Core
มังงะญี่ปุ่นหลังสงครามโลก: ความเป็นเสรีนิยมในสังคมอนุรักษ์นิยม
Museum Core
02 ก.ย. 67 513

ผู้เขียน : ชลธิศ เข้มแข็ง

               แน่นอนว่าในช่วงวัยเด็กและเยาวชน หลายคนอาจเคยผ่านตา หรือเคยอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่เรียกว่า “มังงะ” (Manga) หรือการ์ตูนที่วาดอยู่ในกรอบ แบ่งเป็นช่องๆ  วรรณกรรมประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น การ์ตูนมังงะถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่สหรัฐอเมริกายึดครองประเทศหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1945 - 1952) ซึ่งยุคหลังการยึดครองเป็นช่วงเวลาที่เกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นตามแนวทางหลัก คือ การสลายกองทัพและการปลูกฝังประชาธิปไตย การเปิดเสรีทางการเมืองและเศรษฐกิจ

 

ภาพที่ 1 ภาพปกมังงะเรื่อง “เจ้าหนูปรมาณู” และ “ซาซาเอะซัง”

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/File:Astro_Boy-08.jpg และ https://the-comics-journal.sfo3.digitaloceanspaces.com/wp-content/uploads/2022/08/SazaeJP-e1660508005808.jpg

 

               การยึดครองของอเมริกายังคงมีนโยบายเซ็นเซอร์ห้ามการเขียนและแสดงภาพศิลปะที่แสดงถึงการเชิดชูสงครามและลัทธิทหารญี่ปุ่น แต่นโยบายนี้ไม่ได้ครอบคลุมการตีพิมพ์งานเขียนอื่นๆ รวมถึงมังงะด้วย ต่อมารัฐธรรมนูญญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1947 มาตรา 21 ได้ห้ามการเซ็นเซอร์ทุกรูปแบบ (Japan : profile of a nation, 1999, p.697) จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานสร้างสรรค์การ์ตูนมังงะได้ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ อาทิเช่น เจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy) ของเท็ตซึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ในปีค.ศ. 1951 และ ซาซาเอะซัง (Sazae-san) ของนักวาดหญิง มาชิโกะ ฮะเซะงะวะ (Machiko Hasegawa) ในปีค.ศ. 1946 มังงะทั้งสองเรื่องนี้มีอิทธิพลอย่างมากในวงการมังงะญี่ปุ่น

               โครงเรื่องของเจ้าหนูปรมาณูได้สะท้อนสภาพสังคมญี่ปุ่นที่มีลักษณะสังคมเน้นความเป็นชาย แต่ก็มีความแตกต่างจากคติเดิม ไม่มีการบูชาสมเด็จพระจักรพรรดิและลัทธิการเชื่อฟังทหารดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และมีการนำกระบวนการและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ประกอบในการ์ตูนที่นับเป็นสิ่งสะท้อนสภาพสังคมยุคหลังสงครามได้เป็นอย่างดี เนื้อหาในเรื่องเจ้าหนูอะตอมเกี่ยวข้องกับการผดุงรักษาสันติภาพแก่โลกด้วยการปราบเหล่าร้ายผู้ฝักใฝ่สงคราม ต่อสู้กับอาชญากรรม ความรุนแรง การรุกรานจากมนุษย์ต่างดาว และหุ่นยนต์วายร้าย

               ขณะที่การ์ตูนมังงะเรื่องซาซาเอะซังเป็นเรื่องราวที่สะท้อนภาพสังคมครอบครัวญี่ปุ่นยุคหลังสงครามที่มีเนื้อหาสวนทางกับสังคมญี่ปุ่นดั้งเดิมที่มีลักษณะผู้ชายเป็นใหญ่ (Male-dominate Society) โดยมีตัวเอกเป็นซาซาเอะซัง ผู้หญิงที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม ต่อต้านหลักการลัทธิขงจื๊อใหม่ที่ปลูกฝังความคิดว่าผู้หญิงควรมีลักษณะที่อ่อนโยนและเชื่อฟังสามี อยู่ในกรอบคิด “ภรรยาที่ดี แม่ที่ชาญฉลาด” ซึ่งเป็นแนวคิดที่แพร่หลายโดยลัทธิทหารในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

               จากความเปลี่ยนแปลงของเนื้อหามังงะทั้งสองเรื่องข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นที่อาจมีสาเหตุจากแนวคิดของนักเขียนการ์ตูนที่มีช่วงชีวิตผ่านการอบรมปลูกฝังในช่วงยุคก่อนสงครามโลก และต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ภายหลังสงครามที่ถูกยึดครองโดยอเมริกา การผ่านประสบการณ์ได้รับรู้และเห็นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากสงครามและลัทธิทหารนำไปสู่การถ่ายทอดความคิด
ผ่านการ์ตูนมังงะจึงเป็นสิ่งที่นักเขียนอย่างเท็ตซึกะ โอซามุ หรือมาชิโกะ ฮะเซะงะวะ พึงกระทำได้ ซึ่งเป็นผลที่สอดคล้องกันกับแนวคิดของผู้อ่านที่ได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ทำให้มังงะได้รับความนิยมสูงมาก

               หลังจากมังงะสองเรื่องนี้ได้บุกเบิกวงการมังงะญี่ปุ่นแล้วทำให้มีการ์ตูนมังงะเกิดขึ้นมากมายจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมของผู้คนในสมัยนั้น (Pop Culture) นอกจากนี้ การตลาดด้านวัฒนธรรมความบันเทิงมีการแข่งขันทางด้านธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ช่วงทศวรรษ 1950-1960 มีการกระจายตลาดมังงะในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยแบ่งประเภทตลาดได้ 2 ประเภท ได้แก่ “โชเน็น มังงะ” หรือกลุ่มการ์ตูนที่พุ่งเป้าไปที่เด็กผู้ชาย และ “โชโจ มังงะ” หรือกลุ่มการ์ตูนที่พุ่งเป้าไปที่เด็กผู้หญิง และต่อมามีการยกระดับกลุ่มเป้าหมายไปที่วัยรุ่นชายหญิง และตั้งแต่ปีค.ศ. 1969 เป็นต้นไป อุตสาหกรรมมังงะญี่ปุ่นได้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และลักษณะของการ์ตูนก็มีความโดดเด่นกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของญี่ปุ่นที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก

 

ภาพที่ 2 ภาพปกมังงะ “โดราเอมอน” และ “กุหลาบแวร์ซายส์”

ที่มา: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/c/c8/Doraemon_volume_1_cover.jpg  และ https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/f/f9/Rose_0f_Versailles.jpg

 

               จากเนื้อหามังงะยุคบุกเบิกได้ส่งอิทธิพลต่อมังงะเรื่องอื่นๆ ที่ตามมา อาทิเช่น โดราเอมอน (Doraemon) ผลงานของฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ (Fujiko A. Fujio) ในปีค.ศ. 1969 เสนอเรื่องหุ่นยนต์แมวที่มาจากโลกอนาคตเพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ชายด้วยของวิเศษมากมาย เรื่องราวของโดราเอมอนได้สะท้อนภาพสังคมที่ไม่ค่อยพบเห็นในสังคมญี่ปุ่นช่วงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กที่มีนิสัยขี้เกียจ โดดเรียน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ชอบการผจญภัยไปในที่ต่างๆ รวมถึงในบางครั้งใช้ของวิเศษทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นโครงเรื่องที่แตกต่างกับค่านิยมดั้งเดิมของญี่ปุ่นทั่วไปที่มีแบบแผนสูง มีระเบียบ มีความเคารพเชื่อฟัง หรือมีแนวคิดในทำนองเดียวกัน และไม่สร้างความวุ่นวาย

                ทั้งเรื่องเจ้าหนูปรมาณูและโดราเอมอนต่างก็มีโครงเรื่องที่มีลักษณะทางวิทยาศาสตร์ และหุ่นยนต์ ซึ่งนับเป็นลักษณะเด่นของรูปแบบการ์ตูนมังงะสำหรับเด็กผู้ชายยุคแรกที่มีหุ่นยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องในองค์ประกอบ เช่นเดียวกับเรื่อง “เทตสึจิน หุ่นเหล็กหมายเลข 28” (Tetsujin 28 gō) ของมิตสึเทรุ โยโกยามา (Mitsuteru Yokoyama) ในปีค.ศ.1956 ที่มีพื้นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงหลังสงคราม โดยตัวเอกของเรื่องต้องเอาชนะศัตรู เรียนรู้การควบคุมตัวเอง และร่วมมือกับหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วย นับเป็นเรื่องแนววิทยาศาสตร์ในมังงะที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับชาวญี่ปุ่นในช่วงการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม ทำให้เด็กผู้ชายและชายวัยรุ่นกลายเป็นกลุ่มผู้อ่านมังงะกลุ่มแรกๆ 

               การ์ตูนมังงะแนวหุ่นยนต์ดังกล่าวนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงสังคมญี่ปุ่นเข้ากับบริบทสังคมโลก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการก้าวเข้าสู่สงครามเย็น (Cold War) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคสมัยที่การเมืองโลกแบ่งออกเป็นสองขั้วอุดมการณ์ตรงข้ามกันชัดเจนระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต มีการแข่งขันกันพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง การชิงไหวพริบด้านอุปกรณ์สอดแนม รวมถึงการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อแสดงศักยภาพและอำนาจนอกขอบเขตโลก

               แน่นอนข่าวการแข่งขันเหล่านี้ได้แผ่กระจายไปทั่วโลกและอาจส่งอิทธิพลต่อนักเขียนการ์ตูนมังงะที่มุ่งเน้นไปในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น แตกต่างจากอดีตที่เน้นเรื่องค่านิยมทางวัฒนธรรมและการทหาร สังคมโลกได้เข้ามามีบทบาทในมังงะญี่ปุ่น ลักษณะความเป็นวิทยาศาสตร์ เสรีนิยมที่หลุดจากค่านิยมดั้งเดิมจึงถูกนำเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในเนื้อเรื่องมังงะมากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา มังงะโชเน็นมุ่งเน้นโครงเรื่องไปยังหัวข้อที่เด็กหนุ่มให้ความสนใจ ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หุ่นยนต์และการเดินทางในอวกาศ และการผจญภัยที่กล้าหาญ อาทิการ์ตูนเรื่อง “ตำรวจกาลเวลา” (T.P Bon) ของฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ในปีค.ศ. 1978 มีเนื้อเรื่องเป็นตำรวจกาลเวลาที่ต้องใช้ไทม์แมชชีน (Time Machine) เดินทางย้อนเวลาไปช่วยเหลือผู้คนในประวัติศาสตร์ โดยนำความรู้จากยุคสมัยใหม่ย้อนไปช่วยเหลืออดีตที่ล้าหลังแม้ว่าการทำเช่นนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการตีความและกำหนดคุณค่าของสังคมอดีตด้วยความรู้และวิทยาการสมัยใหม่

               นอกจากนี้การ์ตูนมังงะเรื่อง “2001 Nights” ของ โยชิโนบุ โฮชิโนะ (Yukinobu Hoshino) ในปีค.ศ. 1984 ก็เล่าเรื่องราวของการสำรวจอวกาศที่ลึกลับ ซึ่งผู้เขียนได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของมนุษย์ที่ต้องการสำรวจอวกาศที่เป็นการเรียนอย่างไม่รู้จบ ซึ่งสอดคล้องกับการแข่งขันในการสำรวจอวกาศของมหาอำนาจทั้งสองในช่วงยุคสงครามเย็น การ์ตูนทั้งสองเรื่องนี้สามารถสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมโลกที่ส่งอิทธิพลต่อมังงะญี่ปุ่นในแนววิทยาศาสตร์

               อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์แล้ว มังงะญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับกีฬาที่มีแนวเรื่องสอดแทรกเรื่องความมีวินัยในตนเอง นอกจากความตื่นเต้นในการแข่งขันกีฬาแล้วยังแทรกคุณลักษณะนิสัยของตัวเอกที่ต้องก้าวข้ามข้อจำกัด และนำไปสู่ชัยชนะด้วย ได้แก่ สแลมดังก์ (Slam-dunk) ของทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ (Takehiko Inoue) ในปีค.ศ. 1990  โจ สิงห์สังเวียน (Tomorrow's Joe)  ของทัตสึยะ ชิบะ (Shiba Tatsuya) เผยแพร่ตั้งแต่ค.ศ.1968-1973 เป็นต้น ตลอดจนการ์ตูนมังงะโชเน็นแบบการผจญภัยที่กล้าหาญและการต่อสู้แบบเหนือธรรมชาติก็เร้าใจผู้อ่านให้มีความเพลิดเพลินโดยหลีกหนีจากสภาพความเป็นจริงในสังคมช่วงฟื้นฟูหลังสงครามอย่างเรื่อง ดราก้อนบอล (Dragon balls) ของโทริยามา อะกิระ (Toriyama Akira) ในปีค.ศ. 1986 ที่มีเรื่องราวเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถสัมผัสได้ในชีวิตจริงของคนญี่ปุ่น

 

ภาพที่ 3 ภาพปกมังงะเรื่อง “2001 Nights” “เมจิกไนท์ เรย์เอิร์ธ” และ “ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่”

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/2001_Nights#/media/File:2001_Nights_Japanese_Vol_1_Cover.jpg  https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/a/ac/MagicKnightRayearth.jpg  และ https://en.wikipedia.org/wiki/Dr._Slump#/media/File:DrSlump1.jpg

 

               ด้านการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิง หรือโชโจมังงะก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นเคียงคู่กับโชเน็นมังงะ ในช่วงแรกมีลักษณะเป็นแนวรักโรแมนติกเป็นเส้นเรื่องหลัก และมุ่งเน้นความเข้มข้นทางอารมณ์ แฝงไปด้วยการผจญภัยในเรื่องที่ตื่นเต้น มีตอนจบเรื่องทั้งแบบมีความสุขและโศกนาฏกรรม ซึ่งเป็นลักษณะการ์ตูนตามจินตนาการเพื่อความเพลิดเพลินใจของชาวญี่ปุ่นในช่วงความบอบช้ำหลังสงคราม เรื่องที่มีความโดดเด่นมาก ได้แก่ เรื่องกุหลาบแวร์ซายส์ (The Rose of Versailles) เขียนโดยริโยโกะ อิเคดะ (Riyoko Ikeda) ในปีค.ศ. 1971 ดำเนินเรื่องราวในยุคการปฏิวัติและจลาจลภายในประเทศฝรั่งเศส โดยมีออสการ์ ฟรังซัวส์ เดอ จาร์เจ ตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นสตรีที่แต่งตัวเป็นบุรุษ และได้เป็นองครักษ์ของพระนางมารี อ็องตัวแนตต์ (Marie Antoinette) และจบเรื่องราวด้วยโศกนาฏกรรม

               อีกตัวอย่างหนึ่งของการ์ตูนโชโจมังงะที่มีเส้นเรื่องที่ตัวเอกมีลักษณะแปลกแยกจากบรรทัดฐานของค่านิยมสังคมญี่ปุ่นเดิมอย่างสิ้นเชิง รวมถึงความมีเสรีภาพของผู้หญิงที่ไม่พบเห็นในสังคมญี่ปุ่น คือ เรื่อง เซเลอร์มูน (Sailor Moon) ของนาโอโกะ ทาเกอูจิ (Naoko Takeuchi) ในปีค.ศ. 1991 หรือเรื่อง เมจิกไนท์ เรย์เอิร์ธ (Magic Knight Rayearth) ของแคลมป์ (CLAMP) ในปีค.ศ. 1993 ซึ่งแสดงภาพตัวเอกหญิงที่มีทั้งความกล้าหาญ ใคร่ครวญ กระตือรือร้น แสดงออกทางอารมณ์ ตลอดจนมีความรับผิดชอบและทะเยอทะยานไปพร้อมกัน โดยไม่ได้จำกัดแต่เพียงว่าต้องเป็นค่านิยมของตัวเอกชาย

               นอกจากนี้การ์ตูนโชเน็น เรื่อง ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ (Dr .Slump And Arale) ของโทริยามา อะกิระ (Toriyama Akira) ในปีค.ศ. 1980 ก็สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงที่พัฒนาเพิ่มขึ้นในการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย โดยสร้างให้อาราเล่ โนริมากิ (Arare Norimaki) หรือหุ่นยนต์เด็กหญิงผู้ทรงพลัง และแข็งแกร่งเหนือเพศชาย และเป็นตัวละครหลักของเรื่องแทนตัวเอกที่เป็นชาย โดยไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเป็น “บิโชโจะ” หรือ “ผู้หญิงสวย” ตามลักษณะมังงะโชโจแบบเดิมที่มีค่านิยมว่าตัวละครผู้หญิงต้องมีลักษณะเป็นสาวงามและดึงดูดความสนใจของพระเอก

               ดังนั้น ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า การ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นหลังยุคสงครามนั้นมีลักษณะสวนกระแสกับรูปแบบสังคมญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของชาวญี่ปุ่นที่เปิดกว้างและมีเสรี (Liberal) มากขึ้น ซึ่งความผิดแผกนี้ย้อนแย้งจากสภาพสังคมญี่ปุ่นที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง ทว่าสภาพสังคมในการ์ตูนมังงะกลับเต็มไปด้วยอรรถรสที่มีความสนุกสนาน ขบขัน สร้างความเพลิดเพลินให้กับจินตนาการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสรีภาพในการงานเขียนการ์ตูนมังงะของชาวญี่ปุ่นไม่ได้ถูกกีดกัน อีกทั้งผลงานต่างๆ ก็สะท้อนความคิดของนักเขียนไปสู่
ผู้อ่านเสมอ ทั้งคนญี่ปุ่นและคนทั่วโลกที่อ่านการ์ตูนมังงะต่างก็รับรู้ได้ถึงโลกเสรีนิยมผ่านวรรณกรรมรูปแบบนี้เช่นกัน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

คริสโตเฟอร์ โกโต-โจนส์. ญี่ปุ่นสมัยใหม่:ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ: Openworlds. 2554.

Schodt, Frederik L. 1988. "Robots of the Imagination". In Inside the Robot Kingdom: Japan, Mechatronics, and the Coming Robotopia. Chapter 4, pp. 73–90.

Tokyo:Kodansha International. The Japanese constitution is in the Kodansha encyclopedia "Japan: Profile of a Nation, Revised Edition" (1999, Tokyo: Kodansha) on pp. 692-715. Article 9: page 695; article 21.

Grigsby, Mary 1999 "The social production of gender as reflected in two Japanese culture industry products: Sailormoon and Crayon Shinchan." In: John A. Lent, editor Themes and Issues in Asian Cartooning: Cute, Cheap, Mad, and Sexy. Bowling Green, OH: Bowling Green State University Popular Press.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ