Museum Core
Emmeline Pankhurst พลังอันไม่ย่อท้อ สตรีผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิง
Museum Core
27 ส.ค. 67 248

ผู้เขียน : ปภานลิน ลีลาจารุพงศ์

               “การกระทำ หาใช่คำพูดไม่“ หรือ deeds not words คติพจน์ประจำสหภาพสังคมและการเมืองสตรี (Women’s Social and Political Union หรือ WSPU; กลุ่มสตรีผู้ต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิอันเท่าเทียมแก่ผู้หญิง) คำกล่าวนี้มีที่มาจากบทหนึ่งของสุนทรพจน์ที่ เอ็มมิลิน แพงค์เฮิร์สต์ (Emmeline Pankhurst) ผู้ก่อตั้งขบวนการนี้ได้กล่าวขึ้นเมื่อครั้งไปปราศรัย ณ เมืองฮาร์ตฟอร์ด (Hartford) รัฐคอนเนคทิคัต (Connecticut) สหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ.1913 และต่อมาได้กลายเป็นคติพจน์ประจำสหภาพที่เหล่าสมาชิกยึดถือ มีความเชื่อมั่นว่าการกระทำคือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนโลกได้มากกว่าคำพูดสวยหรู และคำกล่าวสั้น ๆ หากแต่ทรงพลังและเปี่ยมความหมายนี้เองที่นำไปสู่ชัยชนะในสิทธิทางการเมืองของเหล่าสตรี และการต่อสู้ของเธอยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับขบวนการสตรีนิยมสมัยใหม่ทั่วโลก

 

ภาพที่ 1 เอ็มมิลิน แพงค์เฮิร์สต์

แหล่งที่มาภาพ: Encyclopædia Britannica, Inc. [online]

Available from: https://cdn.britannica.com/35/134235-050-0F227F0E/Emmeline-Pankhurst.jpg

 

               เอ็มมิลิน เกิดที่เมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) สหราชอาณาจักร ปีค.ศ.1858 ในครอบครัวที่กระตือรือร้นในการเมือง บิดาของเธอเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่น ด้านมารดาก็มีพื้นเพมาจากครอบครัวที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม และมีส่วนร่วมในขบวนการต่อต้านระบบทาส จึงกล่าวได้ว่าเอ็มมิลินได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่ และเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่มีการอภิปรายพูดคุยหัวข้อทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา ส่งผลให้เธอมีแนวคิดก้าวหน้าตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งพ่อแม่ก็ให้ความสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ลูกสาวเป็นอย่างดี เธอเรียนในโรงเรียนเอกชนที่แมนเชสเตอร์ และศึกษาต่อในระดับสูงที่ เอกอล นอร์มาล ซูว์เปรีเยอร์ (École Normale Supérieure) ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปีค.ศ.1872 ซึ่งนอกจากการศึกษาตามหลักสูตรดั้งเดิมสำหรับผู้หญิงแล้ว เอ็มมิลินยังได้เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการบัญชีด้วย ทำให้เธอเป็นสตรีหัวสมัยใหม่ที่เปี่ยมด้วยความรู้ และตื่นรู้ทางการเมืองด้วยปัจจัยเหล่านี้

               แม้ว่าเอ็มมิลินตระหนักดีถึงข้อจำกัดหลังการแต่งงานของผู้หญิงตามที่ระบุในกฎหมายอังกฤษว่า ทรัพย์สินเงินทอง สมบัติ และสิทธิของฝ่ายหญิงจะตกเป็นของผู้เป็นสามีทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เอ็มมิลินก็ตัดสินใจสมรสกับริชาร์ด ทนายความและนักสังคมนิยม ผู้สนับสนุนสิทธิสตรีอย่างเข้มแข็งและเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของเธอในการปฏิรูปสังคมและก่อตั้งขบวนการเพื่อสตรี ทั้งสองมีลูกด้วยกันห้าคน ในจำนวนนี้มีสามคนที่สืบทอดเจตนารมย์ผู้เป็นแม่ และกลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมือง

               ในปีค.ศ.1889 เอ็มมิลินได้ร่วมก่อตั้ง วีเมนแฟรนไชส์ลีก (Women’s Franchise League) องค์กรที่มุ่งรักษาสิทธิในการลงคะแนนเสียงให้กับสตรีในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งมีแนวทางการเคลื่อนไหวที่ประนีประนอม
ต่อมาในปีค.ศ.1903 เธอพร้อมลูกสาวสองคนได้ก่อตั้งและเป็นผู้นำสหภาพสังคมและการเมืองสตรี (Women’s Social and Political Union; WSPU) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการต่อสู้ให้ตรงประเด็นและเข้มแข็งมากขึ้น

 

ภาพที่ 2 การประชุมของสหภาพสังคมและการเมืองสตรี (Women’s Social and Political Union)

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Women%27s_Social_and_Political_Union#/media/File:Suffragettes,_England,_1908.JPG

 

               การต่อสู้ของเหล่าสตรีดำเนินไปอย่างดุเดือด เอ็มมิลินและสมาชิกสหภาพยึดถือคติพจน์ประจำใจ ที่มุ่งเน้นการแสดงออกมากกว่าคำพูดโดยใช้กลยุทธ์การประท้วงที่ดึงดูดความสนใจของสังคม ไม่ว่าจะเป็น การเดินขบวนในที่สาธารณะ การอดอาหารประท้วง รวมถึงการกระทำที่รุนแรงและอุกอาจอย่างการทำลายหน้าต่างของสถานที่ราชการ หรือผูกมัดตนเองไว้กับราวบันไดเพื่อสื่อถึงการถูกลิดรอนสิทธิ นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิทางการเมืองสตรีอยู่ในกระแสความสนใจ และกลายเป็นหัวข้อสนทนาของสาธารณชน

               เอ็มมิลินและผองเพื่อนถูกจับกุมหลายครั้งในข้อหาการเคลื่อนไหวประท้วง ช่วงระหว่างการประท้วงอดอาหารในคุก เหล่าสมาชิกสหภาพได้รับการปฏิบัติที่รุนแรงอย่างการถูกบังคับกรอกอาหารเข้าปากโดยผู้คุม ซึ่งการถูกกระทำนี้ก่อให้เกิดคลื่นความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณชน แล้วค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นความตระหนักถึงสิทธิที่สตรีทั้งหลายพึงมี

               ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทแทนที่ผู้ชายที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ยิ่งเป็นการพิสูจน์ความสามารถและคุณค่าของสตรีที่ไม่ด้อยไปกว่าบุรุษเพศในฐานะพลเมือง
ผู้ควรมีสิทธิมีเสียง

 

ภาพที่ 3 เอ็มมิลิน แพงค์เฮิร์ส ขณะกล่าวสุนทรพจน์ ณ เมืองฮาร์ตฟอร์ด รัฐคอนเนคทิคัต ปีค.ศ. 1913

แหล่งที่มาภาพ: Time Life Pictures, Getty Images

Available from: https://www.theguardian.com/theguardian/2007/apr/27/greatspeeches

 

               ในที่สุดปี ค.ศ.1918 ผลสัมฤทธิ์จากความพยายามอย่างไม่ลดละของเอ็มมิลินและพรรคพวกก็ผลิดอกออกผล โดยการเสนอร่างกฎหมายของประชาชนได้ผ่านพระราชบัญญัติ ทำให้ผู้หญิงอายุเกิน 30 ปีที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนดได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ และเป็นหมุดหมายสำคัญ

               หนึ่งทศวรรษต่อมา มีการออกพระราชบัญญัติความเสมอภาคในสิทธิเลือกตั้ง (Equal Franchise Act 1928) ในครั้งนี้มีการขยายสิทธิในการลงคะแนนเสียงที่เท่าเทียมกันแก่ผู้หญิงทุกคนที่อายุเกิน 21 ปี ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายที่บรรลุผลสำหรับเอ็มมิลินที่ต่อสู้ด้วยกายและจิตวิญญาณอย่างไม่ย่อท้อมาตลอดชีวิต ทว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เธอเสียชีวิตลงในวัย 69 ปี เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนชัยชนะครั้งสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่นี้

               จิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของเอ็มมิลินได้ถูกจารึกเป็นอมตะในรูปปั้นและอนุสรณ์สถาน อาทิ รูปปั้นที่โดดเด่นในสวนวิกตอเรีย ทาวเวอร์ การ์เดน (Victoria Tower Gardens) ในลอนดอน เรื่องราวชีวิตของเธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังสือ ภาพยนตร์ และบทความนับไม่ถ้วนที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเรียกร้องของสตรีนิยมรุ่นต่อรุ่น นอกจากนี้รูปแบบการเคลื่อนไหวที่กล้าหาญและการเผชิญหน้าท้าทายของเธอได้กำหนดนิยามใหม่ของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี โดยแสดงให้เห็นว่าการลงมือทำสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญได้อย่างแท้จริง และยังคงเป็นแบบอย่างที่สืบทอดต่อมาสำหรับขบวนการร่วมสมัยที่แสวงหาความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน

               เรื่องราวของเอ็มมิลิน แพงค์เฮิร์สต์ เป็นต้นแบบของพลังแห่งการปฏิวัติด้วยจิตวิญญาณที่แน่วแน่และมุ่งมั่นอย่างไม่หวั่นเกรงผู้ใด และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ด้วยความอุตสาหะ และกล้าที่จะลงมือทำ จนสามารถเปลี่ยนวิถีแห่งประวัติศาสตร์ และสร้างรากฐานใหม่ให้สังคมเคารพสิทธิและไม่เพิกเฉยเสียงของผู้หญิง

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Women's suffrage campaigners: Emmeline Pankhurst: https://www.parliament.uk/about/living-heritage/transformingsociety/electionsvoting/womenvote/parliamentary-collections/speakers-conference/emmeline-pankhurst/

 

“Emmeline Pankhurst” by Iowa State University: Archives of Women’s Political and Communication:  https://awpc.cattcenter.iastate.edu/directory/emmeline-pankhurst/

 

Emmeline Pankhurst: https://www.biography.com/activists/emmeline-pankhurst

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ