Museum Core
ปราสาทนิโจ สถานที่บอกเล่าความยิ่งใหญ่ของโชกุน
Museum Core
14 ส.ค. 67 306
ประเทศญี่ปุ่น

ผู้เขียน : ธนทัต ศุภวรรธนางกูร

               ปราสาทนิโจ (Nijo – jo Castle) เมืองเกียวโต (Kyoto) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) อีกทั้งยังขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติประจำชาติของญี่ปุ่นด้วย ที่นี่เป็นหนึ่งในปราสาทที่สะท้อนความรุ่งเรือง มั่งคั่ง และอำนาจของโชกุนจากตระกูลโทกูงาวะ (Tokugawa) ผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมแว่นแคว้นอาณาจักรภายหลังสงครามภายในประเทศที่ยาวนาน และเริ่มต้นปกครองประเทศโดยรัฐบาลโชกุนที่บริหารแผ่นดินญี่ปุ่นต่อเนื่องมาถึง 15 รุ่น เป็นเวลาหลายร้อยปี นำมาซึ่งความสงบสุขของบ้านเมือง ทำให้งานด้านศิลปะวัฒนธรรมได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์

               ใครที่ได้มาเยือนปราสาทแห่งนี้อาจรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลาสู่เหตุการณ์สำคัญในอดีต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการประกาศเข้าสู่อำนาจการปกครอง จวบจนกระทั่งการสละอำนาจของโชกุนคืนสู่พระจักรพรรดิ อันเป็นจุดสิ้นสุดการปกครองยุคขุนนางศักดินาเปลี่ยนสู่การปกครองสมัยใหม่ และญี่ปุ่นเปิดประเทศติดต่อนานาชาติอีกครั้งหลังการปิดประเทศมาอย่างยาวนาน ในภายหลังปราสาทแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นสถานที่พระราชทานเลี้ยง (a banquet) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิไทโช (Emperor Taishō) รวมถึงเคยใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิในช่วงเวลาหนึ่งด้วย

 

ภาพที่ 1 ซุ้มประตูทางเข้าปราสาทประดับด้วยสัญลักษณ์ดอกเบญจมาศ

ตราประทับประจำองค์สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น

 

               ปราสาทนิโจมีแผนผังเช่นเดียวกับปราสาทอื่นของญี่ปุ่นที่มีคูน้ำล้อมรอบ บริเวณพื้นที่ปราสาทมีหมู่เรือนแบ่งเป็นบริเวณชั้นนอก (Ninomaru) และชั้นใน (Honmaru) สิ่งที่สร้างความประทับใจแก่ผู้เยี่ยมชม คือสถาปัตยกรรมภายในอาคารได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีและเปิดให้ผู้เยี่ยมชมได้เข้าชมห้องจำนวนมากที่ในอดีตนั้นสงวนไว้เฉพาะสำหรับโชกุนและเหล่าขุนนาง พื้นแต่ละห้องปูด้วยเสื่อทะตะมิ (tatami) กั้นด้วยฉาก และประตูหลายร้อยบานเพื่อแบ่งพื้นที่การใช้งานห้องเป็นสัดส่วน เรียงลึกเข้าไปในแนวเส้นทแยงมุม อาทิ ห้องรอเข้าพบโชกุน ห้องประชุม ห้องออกว่าราชการ จนกระทั่งห้องพักอาศัยชั้นใน โดยการจัดแสดงแต่ละห้องจะจำลองบรรยากาศในอดีตด้วยหุ่นจำลองที่ประหนึ่งมีชีวิต เช่น สวมเสื้อผ้าตามยศศักดิ์ ประดับตราประจำตระกูลหลากหลาย เพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบความเป็นอยู่ของโชกุนกับเหล่าขุนนางที่มีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย

               ประสบการณ์การเยี่ยมชมแต่ละห้องแทบไม่ต่างไปจากการเดินชมงานศิลปะแห่งยุค ผู้มาเยือนจะได้ประจักษ์กับผลงานศิลปะที่ล้วนรังสรรค์อย่างงดงามจากฝีมือของจิตรกรที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น  โดยเฉพาะภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่นโบราณนับร้อยพันที่บรรจงเขียนลงบนฉากกั้นและประตูสีทองทั่วปราสาท เช่น รูปสัตว์อย่างเสือถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงพลังอำนาจ รูปต้นไม้หลากหลายพันธุ์ถูกวาดประดับไว้ ภาพเขียนเหล่านี้มีทั้งความสวยงามและละเอียดประณีตเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองด้านศิลปะวัฒนธรรมของชาติและฝีมือของศิลปิน ตลอดจนทรัพยากรและความร่ำรวยของโชกุนผู้เป็นเจ้าของปราสาทได้เป็นอย่างดี

 

ภาพที่ 2 บริเวณเรือนชั้นนอกที่มีภาพเขียนโบราณตกแต่งและเชื่อมด้วยทางเดินระเบียงไม้

 

               นอกจากนี้ระเบียงทางเดินไม้ที่เชื่อมห้องแต่ละห้องเข้าด้วยกันกลายเป็นเรือนใหญ่ สร้างด้วยแผ่นไม้ขนาดใหญ่อายุหลายสิบปีเรียงรายทอดยาวต่อเนื่องกันทั้งปราสาท พื้นผิวไม้มีความลื่นเป็นมันวาวสะท้อนถึงอายุการใช้งานยืนยาว หากแต่เมื่อเดินผ่านระเบียงไม้เหล่านี้ก็ต้องพบความประหลาดใจ ทุกฝีเท้าที่ก้าวเหยียบบนผืนไม้แผ่นกระดานล้วนก่อเกิดเสียงที่อาจเผลอคิดไปว่าเป็นเสียงลั่นของไม้เก่าคร่ำที่ใช้งานมานาน แต่ทว่าปราสาทของโชกุนที่สร้างด้วยช่างฝีมือและวัสดุชั้นยอดจะปล่อยให้เกิดเสียงไม้ลั่นยามเดินผ่านตลอดเส้นทางเดินได้อย่างไรกัน

               ความสงสัยถูกคลี่คลายลงเมื่อก้มดูโครงสร้างใต้พื้นจากด้านนอก ภายใต้แผ่นพื้นระเบียงเหล่านี้มีเดือยโลหะยึดไขว้เป็นคู่ ๆ เมื่อก้าวเท้าลงบนระเบียงน้ำหนักตัวจะกดไม้กระดานให้ยุบตัวลงเล็กน้อยดันให้คู่ไขว้เดือยขยับมาเสียดสีกัน เกิดเป็นเสียงเจี๊ยวจ๊าวคล้ายเสียงนก อันเป็นที่มาของชื่อ “พื้นไนติงเกล” (Nightingale Floor) ซึ่ง
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ากลไกนี้มีไว้เพื่อส่งสัญญาณเตือนแก่ผู้อาศัยภายในปราสาทให้รับรู้ถึงการมาเยือนของผู้บุกรุก นับเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่ชาญฉลาดและแยบยลที่สุดในยุคสมัยที่ไม่มีกล้องวงจรปิดดังเช่นปัจจุบัน นอกจากปราสาทนิโจแล้วมีสถานที่อีกเพียงไม่กี่แห่งที่มีกลไกแบบนี้ นับเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่หาชมได้เฉพาะเมืองเกียวโตเท่านั้น

               คุณค่าของปราสาทแห่งนี้ จึงไม่ใช่เพียงการเยี่ยมชมงานสถาปัตยกรรมและภาพเขียนศิลปะญี่ปุ่นเท่านั้น การได้เรียนรู้กลไกการก่อสร้างแบบโบราณนี้ก็ชวนกระตุกความคิดให้แขกผู้มาเยือนได้วิเคราะห์และจินตนาการต่อไปอีกขั้นหนึ่งว่า กรณีเป็นฝ่ายผู้บุกรุกต้องใช้วิธีการและความพยายามขนาดไหนในการเดินผ่านระเบียงไม้ให้เกิดเสียงเบาที่สุด เพราะไม่ว่าผู้ใดที่เดินผ่านระเบียงนี้จะย่องเท้า หรือระมัดระวังฝีเท้ามากเพียงใด แต่พื้นระเบียงไม้นี้ก็ส่งเสียงประหนึ่งนกไนติงเกลที่หลบซ่อนตามพุ่มไม้ที่จะร้องเพลงเมื่อพบเห็นผู้มาเยือน หรือกรณีผู้อาศัยในปราสาทใช้วิธีการใดในการจำแนกเสียงฝีเท้าระหว่างผู้บุกรุกและผู้อาศัยในปราสาท แค่เริ่มคิดก็สนุกแล้ว!

               ไม่เพียงแต่การซึมซับงานศิลป์ภายในปราสาทเท่านั้น สวนด้านนอกที่รายล้อมรอบปราสาทยังปลูกต้นไม้นานาพันธุ์เฉกเช่นเดียวกับในภาพเขียนบนฉากกั้น เช่น ต้นซากุระ ต้นสน ต้นไผ่ และต้นแปะก๊วย เป็นต้น  ความหลากหลายของพันธุ์ไม้ถูกจัดเรียงสลับกันอย่างงดงามเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ต้นไม้เหล่านี้ต่างพร้อมใจกันผลัดใบสลับสีเหลืองบ้างแดงบ้างยิ่งทวีความงามตามธรรมชาติที่ตราตรึงควรค่าแก่การแวะชม

 

ภาพที่ 3 บรรยากาศโดยรอบ ถ่ายจากมุมสูงจากป้อมปราการที่หลงเหลือจากเหตุเพลิงไหม้ในอดีต

 

                จากที่ผู้เขียนเล่ามาจะเห็นได้ว่าปราสาทนิโจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และนับเป็นไฮไลท์ของเมืองเกียวโตที่ไม่ค่อยพบเห็นในโปรแกรมของบริษัทจัดทัวร์ทั่วไปนัก จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจไปศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นโบราณไปเยี่ยมที่ปราสาทนิโจที่สามารถเดินทางเข้าถึงได้สะดวกทั้งรถประจำทางและรถไฟฟ้าใต้ดิน และปราสาทเปิดให้เยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี หากต้องการเที่ยวชมให้ได้ครบถ้วนแนะนำว่าควรเผื่อเวลาอย่างน้อยครึ่งวัน ทั้งนี้ มีข้อแนะนำสำหรับใครที่มีแผนไปเยี่ยมในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ควรสวมใส่เสื้อผ้าและถุงเท้าที่ให้ความอบอุ่นเนื่องจากอากาศค่อนข้างเย็น หากมีผู้ใหญ่สูงอายุเดินทางไปด้วยสามารถนำรถเข็นวีลแชร์เข้าเยี่ยมชมได้ อย่างไรก็ตาม ในการเยี่ยมชมมีข้อห้ามเรื่องการถ่ายรูปภายในอาคาร แต่สามารถแวะร้านขายของที่ระลึกหาซื้อหนังสือนำเที่ยวปราสาทที่ได้รวบรวมรูปภาพและประวัติไว้พร้อม และมีสินค้าอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ