ปกติแล้วพวกนอร์ส (Norsemen/Norse people) มักมีชื่อเรียกสัตว์พาหนะของบรรดาเทพเจ้าของพวกเขาอยู่เสมอ โดยพวก ‘นอร์ส’ หมายถึงกลุ่มคนในช่วงยุคกลางของยุโรป (ราวช่วงระหว่าง พ.ศ. 950-1950) ที่พูดภาษาตระกูลนอร์สโบราณ (Old Norse Language) อันเป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มภาษาเจอร์แมนิกเหนือ (North Germanic) ที่แตกแขนงมาจากภาษาตระกูลสำคัญอย่างอินโดยูโรเปียน อันเป็นต้นกำเนิดของภาษาสำคัญของโลกอย่างภาษาสันสกฤต และภาษาละตินอีกทอดหนึ่ง
คนพวกนี้เป็นทั้งพ่อค้า เกษตรกร นักเดินเรือ และนักบุกเบิกตั้งถิ่นฐานในดินแดนต่างๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่แถบสแกนดิเนเวีย หรือดินแดนยุโรปเหนือ ดังนั้นจึงถือเป็นบรรพชนของพวกสแกนดิเวียนในปัจจุบันด้วย
แต่ก่อนที่จะกลายมาเป็นชาวสแกนดิเนเวียนอย่างปัจจุบันนั้น คนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของพวกนอร์สโบราณได้แผ่ขยายดินแดนของพวกเขาออกไปนอกเขตภูมิภาคยุโรปเหนือ ไปยังส่วนอื่นของทวีปยุโรป ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างพ.ศ. 1336-1609 โดยพวกนอร์สกลุ่มที่ว่านี้เป็นรู้จักกันในชื่อว่า ‘ไวกิ้ง’ (Vikings) ผู้ที่นอกจากจะเป็นพ่อค้า เกษตรกร นักเดินเรือ และนักตั้งถิ่นฐานอย่างพวกนอร์สปกติแล้วก็ยังเป็นนักรบนอกเวลาที่แผ่อำนาจไปทั่วยุโรปผ่านเส้นทางการเดินเรืออีกด้วย
มีปรัมปราคติที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าของพวกนอร์สที่เดินทางท่องเที่ยวไปยังดินแดนส่วนต่างๆ ของยุโรปพร้อมกับชื่อสัตว์พาหนะของเทพเจ้าแต่ละองค์จนทำให้ชื่อของสัตว์พาหนะของเทพเจ้านอร์สบางตัวได้กลายมาเป็นรากศัพท์ของคำในภาษาอื่น ดังตัวอย่างที่สำคัญคือ ‘สเลปนีร์’ (Sleipnir) ชื่อของม้าแปดขาที่สามารถเหาะเหินเดินอากาศและเป็นม้าพาหนะของราชาแห่งทวยเทพของชาวนอร์สอย่างโอดิน (Odin) เพราะชื่อเรียกยากๆ ของเจ้าม้าตัวนี้ ในภาษานอร์สโบราณหมายถึง 'ลื่น’ (Slippy) หรือ 'รองเท้ากันลื่น’ จนกลายเป็นรากศัพท์ของคำว่า ‘slippy’ และ ‘slipper' ในภาษาอังกฤษ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีเทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งของพวกนอร์สที่มีสัตว์พาหนะเป็นของตัวเองเช่นเดียวกับเทพเจ้าสำคัญองค์อื่นๆ แต่กลับไม่ปรากฏชื่อสัตว์พาหนะของพระองค์ในเอกสารโบราณเลย เทพองค์นั้นคือ ‘เทพีเฟรยา’ (Freyja)
ภาพที่ 1: ‘ชาวนอร์สเข้าสู่ไอซ์แลนด์’ (Norsemen Landing to Iceland) ภาพวาดจากจินตนาการของ
ออสการ์ เวอเกลันด์ (Oscar Wergeland) ศิลปินชาวนอร์เวย์ วาดเมื่อราว พ.ศ. 2428
แหล่งที่มา: https://en.m.wikipedia.org/wiki/File:Norsemen_Landing_in_Iceland.jpg
สัตว์พาหนะของเทพีเฟรยานั้นเป็น ‘แมว’ สองตัวทำหน้าที่ลากจูงราชรถของพระนางให้เหาะเหินเดินอากาศไปไหนมาไหน อันที่จริงผู้เขียนก็ไม่แน่ใจนักว่า ควรจัดให้เจ้าแมวทั้ง 2 ตัวนี้เป็นสัตว์พาหนะ หรือสัตว์เทียมยานพาหนะดี?
คำว่าสัตว์พาหนะ รวมถึงสัตว์เทียมรถในที่นี้แตกต่างกับคำว่า สัตว์เลี้ยงในโลกตะวันตกยุคโบราณ ตัวอย่างเช่น คำว่า ‘pet’ ในภาษาอังกฤษช่วงเริ่มแรกนั้น ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายถึง ‘สัตว์เลี้ยง’ เลยสักนิด เนื่องจากเป็นคำที่ใช้สำหรับเรียก ‘เด็กที่ถูกตามใจจนเสียคน’ ต่างหาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่คนยุโรปทั้งหลายในช่วงนั้น (รวมถึงพวกนอร์สด้วย) มีต่อสัตว์ที่พวกเขาเลี้ยงเอาไว้ โดยคำว่า pet เพิ่งถูกเปลี่ยนมาใช้ในความหมายว่าเป็น ‘สัตว์ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์’ คล้ายกับที่ใช้ในปัจจุบันเมื่อช่วงหลังปี พ.ศ. 2080 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงเวลานานหลายร้อยปีหลังยุคสมัยรุ่งเรืองของพวกนอร์สผ่านไปแล้ว
หลักฐานเรื่องแมวของเฟรยามีระบุอยู่ใน ‘โพรเส เอ็ดดา’ (Prose Edda) งานประพันธ์ของปราชญ์ผู้ควบตำแหน่งนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า สนอร์รี่ สเตอร์ลูสัน (Snorri Sturluson) ซึ่งเป็นเอกสารเก่าจากดินแดนใน
ประเทศไอซ์แลนด์ปัจจุบัน เขาเขียนขึ้นในช่วงก่อน พ.ศ. 1800 เล็กน้อย โดยเอกสารชิ้นนี้ถือเป็นเอกสารเก่าแก่ที่กล่าวถึงเทพปกรณ์ของชาวนอร์สไว้อย่างละเอียด และยืดยาวที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบัน
ข้อความในโพรเส เอ็ดดา ส่วนที่เล่าถึงความตายของเทพบัลด์ (Baldr แปลตรงตัวว่า กล้าหาญ เจ้าชาย หรือวีรบุรุษ) ซึ่งถือเป็นงานประพันธ์ประเภทโศกนาฏกรรมชิ้นเอกของวรรณกรรมนอร์ส ระบุว่า
“แรกสุดต้องเล่าถึงเทพโอดินว่า เทพีฟริกก์ (Frigg, ชายาของโอดิน) และเทพธิดาวาลคีรี (Valkyrja, เทพธิดารับใช้ของจอมเทพโอดิน) ร่วมทางกับพระองค์และอีกาของพระองค์ แต่เทพเฟรย์ (Freyr) ขับราชรถเทียมด้วยหมูป่าที่มีชื่อว่า กุลลินบุสติ (Gullinbursti, แปลตรงตัวว่า แผงคอทองคำ) หรือสลีรุกตานนิ (Slíðrugtanni, แปลตรงตัวว่า เขี้ยวแห่งความกลัว) ก็เรียก ส่วนเทพไฮล์มดาลล์ (Heimdallr) ขี่ม้าที่ชื่อกุลล์ท๊อปป์ (Gulltoppr, แปลว่า แผงคอทองคำเช่นกัน) และเฟรยาก็ขับราชรถเทียมด้วยบรรดาแมวของพระนาง”
(แปลจากต้นฉบับโบราณที่ปริวรรตเป็นภาษาอังกฤษมาอีกทอดโดยผู้เขียน)
(หนังสือ โพรเส เอ็ดดา ของสเตอร์ลูสันนั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก เฉพาะส่วนแรกที่เป็นส่วนที่มีข้อความที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นนั้น เรียกว่า “กิลฟาจินิง” [Gylfagining] ซึ่งเป็นส่วนที่เดินเรื่องด้วยการพูดคุยกันระหว่างกษัตริย์สวีดิชที่ชื่อ กิลฟี [Glyfi] กับชาย 3 คน ระหว่างประทับอยู่บนบัลลังก์ที่แอสการ์ด [Asgard] ดังนั้นข้อความในบทกวีจึงมีลักษณะเป็นการถาม-ตอบ และเล่าเรื่อง)
นอกจากนี้ยังพบเรื่องราชรถเทียมแมวของเทพีองค์นี้อีกในบท ‘ว่าด้วยเทพเฟรย์ กับเฟรยา’ (Of Freyr and Freya) ซึ่งอยู่ใน กิลฟาจินิง บทที่ 24 ดังมีข้อความระบุว่า
“ห้องโถงที่ชื่อ เซสสรูมนีร์ (Sessrúmnir, แปลว่า ห้องอันมีที่นั่งกว้างขวาง) ขององค์เทพี (หมายถึงเฟรยา) นั้น ยิ่งใหญ่และงดงามยิ่ง ยามเมื่อไท้เธอจะย่างกรายออกไปข้างนอกก็จะใช้ราชรถที่เทียมเอาไว้ด้วยพวกแมวของพระนาง เทพีนางนี้ช่างเป็นดั่งคำอ้อนวอนขับขานถึงพระนางเป็นที่สุด พระนามของพระนางได้กลายมาเป็นคำว่า ‘ฟรู’ (Frú) อันเป็นชื่อแห่งเกียรติยศสำหรับเรียกสตรีชั้นสูง บทเพลงรักเป็นสิ่งที่พระนางโปรดปราน จึงเป็นการดีที่เลือกให้พระนางส่งเสริมในความรัก”
ดังเห็นได้ว่า ข้อความทั้งสองตอนที่ผู้เขียนคัดมานั้นกล่าวถึงแมวทำหน้าที่เทียมราชรถให้กับเทพีเฟรยา แสดงให้เห็นว่าพวกนอร์สเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เทียมราชรถให้กับพระนางเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็อาจเห็นได้ชัดเจนด้วยว่าขณะที่สัตว์พาหนะของเทพเจ้าองค์อื่นถูกระบุชื่อเอาไว้อย่างชัดเจน แต่สำหรับเจ้าเหมียวทั้งสองตัวของพระนางกลับไม่ปรากฏชื่อเสียเลย
ชาวสแกนดิเนเวียนยุคปัจจุบันได้ตั้งชื่อสำหรับใช้เรียกแมวทั้งสองตัวนี้ว่า ‘เทรจ์กุล’ (Trjegul, แปลว่า ต้นไม้สีเหลือง) และ ‘บีกุล’ (Bygul, แปลว่า เมือง หรือหมู่บ้านสีเหลือง) แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าชื่อดังกล่าวเป็นชื่อดั้งเดิมของเจ้าแมวเทียมราชรถทั้งสองตัวของเทพีเฟรยาหรือไม่ ดังนั้นชื่อของแมวทั้งสองตัวนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ หรืออาจเป็นชื่อดั้งเดิมที่ไม่ถูกใส่ไว้ในโพรเส เอ็ดดา ด้วยเหตุผลบางประการ คำถามว่า ทำไมจึงไม่ปรากฏชื่อแมวทั้งสองตัวนี้อยู่ในโพรเส เอ็ดดา? จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่าความเก่าแก่ของชื่อของแมวเทียมราชรถเทพีเฟรยาทั้งสองเสียอีก
ภาพที่ 2: เทพีเฟรยา วาดโดย เจม ดอยล์ แพนโรส (Jame Doyle Panrose, พ.ศ. 2405-2475)
จิตรกรชาวไอริช
แหล่งที่มา: https://www.worldhistory.org/image/8090/freyja/
ภาพที่ 3: เทพีเฟรยาบนราชรถที่เทียมด้วยแมว ฝีมือวาดของคาร์ล เอมิล ดอปเลอร์ (Carl Emil Doepler)
จิตรกรชาวเยอรมัน เมื่อ พ.ศ. 2448
แหล่งที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Freyja_by_Emil_Doepler.JPG
ปกติแล้ว เทพี ‘เฟรยา’ (Freyja) ถูกนับถือบูชาในฐานะเทพีแห่งความรัก ความงาม กามารมณ์ ความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเป็นเทพีแห่งเวทมนตร์ที่พวกนอร์สเรียกว่า “เซียร์” (seiðr) ซึ่งมีญาณในการหยั่งรู้อนาคตอีกด้วย โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้เองที่เป็นประเด็นสำคัญเพราะโพรเส เอ็ดดา เป็นหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงปลายของยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคที่มีการ ‘ล่าแม่มด’ กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ยุคกลางในยุโรปเป็นสมัยที่คริสต์จักรเรืองอำนาจถึงขีดสุด ศาสนาของพวกนอร์สถูกมองว่าเป็นศาสนาของพวกนอกรีต ดังนั้นเทพีที่มีเวทมนตร์คาถาจึงถูกทำให้กลายเป็น ‘เทพีแห่งแม่มด’ และเป็นศัตรูตัวร้ายของคริสต์ศาสนาไปอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยโทษฐานที่ ‘แมว’ เป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับเทพีแห่งแม่มดโดยตรง ดังนั้นจึงโดนหางเลขว่าเป็นสัตว์ร้ายของแม่มดไปด้วย จนถึงกับทำให้มีนักประวัติศาสตร์ในยุคร่วมสมัยปัจจุบันหลายคนสันนิษฐานกันว่า การระบาดของ ‘กาฬโรค’ หรือ Black Death ในช่วงปลายของยุคกลางที่เป็นสาเหตุให้ผู้คนในยุโรปล้มตายกันไปหลายล้านคน มีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งมาจากการกวาดล้างแมวของคริสต์จักรเพียงเพราะเป็นสัตว์ที่ร่วมขบวนการอยู่กับแม่มด จนทำให้เชื้อของโรคห่ากาฬโรค (โรคห่า ศัพท์โบราณหมายถึง โรคระบาดที่ทำให้มีคนตายเป็นจำนวนมาก) ที่มี
‘ตัวหมัด’ ของหนูเป็นพาหะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่มีแมวที่เป็นศัตรูโดยธรรมชาติของหนูคอยกำจัด
อีกทั้ง สเตอร์ลูสัน ก็มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายของยุคกลาง (ก่อนหน้าการระบาดของกาฬโรคราวร้อยกว่าปี) นับเป็นช่วงเวลาที่คริสต์ศาสนาได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในพื้นที่ประเทศไอซ์แลนด์ในปัจจุบัน ทำให้มีนักวิชาการในโลกตะวันตกบางคนอธิบายว่า สเตอร์ลูสันเขียน โพรเส เอ็ดดา ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับปรัมปราคติของชาวนอร์สไว้ไม่ให้สูญหายไปด้วยอิทธิพลของคริสต์จักรเมื่อครั้งกระโน้น
บางทีการที่ไม่ปรากฏชื่อแมวทั้งสองตัวของเทพีเฟรยาก็อาจเป็นด้วยปัจจัยของยุคสมัย ทำให้คริสตจักรที่กำลังรุ่งโรจน์ มองเห็น ‘เฟรยา’ เป็นเทพีนอกรีตของพวกแม่มด โดยมีพวกแมวเป็นบริวาร ดังนั้นสเตอร์ลูสันอาจจำเป็นต้องเลี่ยงการกล่าวถึงรายละเอียดต่างๆ ของเทพีองค์นี้ รวมถึงชื่อ ‘แมว’ คู่สำคัญของพระนางด้วย
ภาพที่ 4: แม่มดและแมวดำ ภาพพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2437
ภาพในดิจิตอลคอลเล็คชั่นของ The Ner York Public Library
แหล่งที่มา: https://digitalcollections.nypl.org/items/510d47e1-0dba-a3d9-e040-e00a18064a99