Museum Core
จาก “ระทม” สู่ “ลีลาวดี”: การสะท้อนความเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ของดอกลั่นทมผ่านบทเพลงไทย
Museum Core
05 ก.ค. 67 6K

ผู้เขียน : Koh Jun Ming

               กลิ่นดอกไม้ลั่นทมเจ้าหอมรื่นรมย์ เคยชื่นเคยชมดอมดมให้ชื่นใจ ท่อนนี้จากเพลง “ลั่นทม” ผลงานของวงค็อกเทล ได้พรรณนาถึงความอลังการงดงามของดอกลั่นทมอย่างซาบซึ้งใจ ดอกลั่นทมที่ถูกพูดถึงในทั้งเนื้อเพลงและมิวสิควิดีโอมีรูปลักษณ์สวยบริสุทธิ์ ประกอบด้วยกลีบดอกโคนสีขาวที่เชื่อมกันเป็นหลอดและปลายแยกเป็น 5 กลีบที่ทับซ้อนกัน นอกจากรูปร่างหน้าตาที่จับจิตจับใจผู้ชม ดอกลั่นทมยังส่งกลิ่นหอมโชยชายผ่านสายลมให้แก่ผู้อยู่ใกล้และไกล ด้วยลักษณะนี้มันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักอันสวยงามและหอมหวาน แต่น้อยคนจะรู้กว่าจะถึงจุดนี้ได้ เจ้าดอกลั่นทมต้องทนอยู่กับความระทมเป็นเวลานานเท่าไหร่

               บทความนี้มุ่งวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อดอกลั่นทมผ่านกรณีศึกษาเพลงไทย 3 เพลงที่ล้วนมีดอกลั่นทมเป็นตัวละครเอก ไม่รู้เป็นเรื่องบังเอิญหรือความตั้งใจของผู้แต่งเพลง ทั้ง 3 เพลงได้ตั้งชื่อเดียวกันว่า “ลั่นทม” โดยมีเทียรี่ เมฆวัฒนา ปาน ธนพร และวงค็อกเทลเป็นนักร้อง

 

ภาพที่ 1 ดอกลั่นทม

แหล่งที่มาภาพ: อุทยานหลวงราชพฤกษ์.​ “ดอกลั่นทม” กับความเป็นชาติลาว.​ (2020). [Online]. Accessed 2024 May 2. Available from: https://www.royalparkrajapruek.org/Knowledge/view/126

 

 

ดอกไม้แห่งความระทม: ความเชื่อของสังคมไทยในต้นลั่นทม

               ในอดีตลั่นทมเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่อาจพบเห็นได้เฉพาะบริเวณวังและวัดเท่านั้น มีผู้เชื่อว่าดอกลั่นทมปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงยกทัพพิชิตเมืองพระนคร (นครธม) ในปี พ.ศ. 1974 และทรงนำดอกลั่นทมจากนครธมมาปลูกไว้ในไทย โดยตั้งข้อสันนิษฐานว่า ลั่นทม เพี้ยนรูปมาจากคำว่า ลั่นธม (“ลั่น” แปลว่าตี และ “ธม” ย่อมาจากนครธม) ดอกลั่นทมจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของสยามต่อกัมพูชาในครั้งนั้น และยังได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบันจึงปรากฏเห็นว่ามีการปลูกต้นลั่นทมภายในเขตพระราชฐานหลายแห่ง เช่น พระราชวังจุฑาธุชราชฐานบนเกาะสีชัง เขาวังพระนครคีรี พระราชวังสนามจันทร์ เป็นต้น

               นอกเขตรั้วพระราชฐานแล้ว วัดเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่พบเห็นต้นลั่นทม ซึ่งอาจสัมพันธ์กับความเชื่อว่าเรื่องชื่อที่มีความหมายเป็นอัปมงคล หรือพ้องกับสิ่งที่ไม่ดี ด้วยเหตุว่าชื่อ “ลั่นทม” ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ระทม” (แปลว่า ทำให้เกิดความเศร้าหรือความเจ็บปวด เศร้าโศก) คนไทยจึงไม่นิยมนำต้นไม้ชนิดนี้มาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน หรือที่อยู่อาศัย ทว่า วัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมในการปลงศพ การปลูกต้นลั่นทมไว้ในพื้นที่วัดเมื่อต้นลั่นทมออกดอกอาจมีส่วนช่วยส่งกลิ่นหอมกลบเกลื่อนกลิ่นเหม็นเน่าจากศพในยุคที่ยังไม่มีการฉีด
ฟอร์มารีนรักษาสภาพศพ เช่นเดียวกับการใช้ดอกซ่อนกลิ่นประดับในงานศพก็เป็นได้

               ความเชื่อเรื่องความอัปมงคลของลั่นทมยังสะท้อนในสังคมประเทศเพื่อนบ้านของไทยอีกด้วย ดังเห็นได้จากชื่อที่คนสิงคโปร์เรียกขานว่า Singapore Graveyard Flower หรือดอกไม้สุสานสิงคโปร์ ซึ่งพบอย่างแพร่หลายตามสุสานและงานศพ การเชื่อมโยงลั่นทมเข้ากับความตายมีข้อสันนิษฐานที่ถูกอ้างอิงบ่อยครั้งอยู่ 2 ประการ คือ ข้อแรกจากมุมมองของคนสิงคโปร์เชื้อสายมาลายูคิดว่าดอกลั่นทมมักร่วงโรยลงพื้นในยามเช้าตรู่เป็นสัญลักษณ์ของการเคารพผู้ล่วงลับที่ฝังอยู่ใต้ดิน และอีกข้อหนึ่ง คือ คนสิงคโปร์นิยมใช้ดอกไม้สีขาวในการเคารพศพ ดอกลั่นทมซึ่งมีสีขาวจึงถูกเชื่อมโยงกับความตาย

               อนึ่ง ในโลกทัศน์ของชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ยังเลื่องลือเรื่องความสยองขวัญของกลิ่นดอกลั่นทม มีหลายคนเชื่อกันว่ากลิ่นหอมเย้ายวนใจของดอกลั่นทมเป็นกลิ่นกายของปอนเตียนัค (Pontianak) หรือผีตายทั้งกลม การได้กลิ่นดอกลั่นทมย่อมแสดงว่าปอนเตียนัคอยู่ใกล้ตัวผู้ได้กลิ่นไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกลต้นลั่นทมก็ตาม แสดงให้เห็นว่าทั้งในไทยและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านต่างยอมรับว่าลั่นทมเป็นสัญลักษณ์ของความตาย

 

ดอกไม้แห่งความรักต่างเพศ: เส้นทางชีวิตแสนยากลำบากของสาวลั่นทม

               ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2547- 2548 นับเป็นจุดเปลี่ยนของความนิยมดอกลั่นทม เมื่อผู้คนจำนวนมากเริ่มหันมาปลูกดอกลั่นทมภายในบ้านเพื่อการประดับตกแต่ง มีข้อสันนิษฐานว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคตินี้ในสังคมไทยมีผลมาจากการเปลี่ยนชื่อลั่นทมเป็น​ “ลีลาวดี” (ท่วงท่าที่สวยงามอ่อนช้อย) ซึ่งมีความหมายเชิงบวก อีกทั้ง
มีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยพยายามแปลความหมายให้คำว่า “ลั่นทม” หมายถึง การสาบสูญของความทุกข์ความโศกเศร้าทั้งหลาย (“ลั่น” หมายถึง ตีแตกหรือละทิ้ง และ “ทม” หมายถึง ความทุกข์โศก) ซึ่งร่องรอยของดอกลั่นทมที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นปรากฏในบทเพลงชื่อ “ลั่นทม” ขับร้องโดยเทียรี่ เมฆวัฒนา ในปีพ.ศ. 2550 ในผลงานอัลบั้ม “เพลงผ่านชีวิต” และต่อมาปีพ.ศ. 2557 ปาน ธนพร ก็เผยแพร่เพลงชื่อเดียวกัน

               ทั้งสองเพลงนี้เป็นเพลงรักที่มีการฉายฉากความทุกข์โศกเป็นพื้นหลังในมิวสิกวิดีโอ ด้วยการเริ่มต้นภาพฉากต้นลั่นทมที่ปลูกไว้ภายในรั้วบ้านของนางเอกทั้ง 2 คนที่ต่างชื่อ​ “ลั่นทม” เหมือนกัน และเค้าโครงเรื่องของ
มิวสิกวิดีโอเป็นการติดตามบันทึกชีวิตของตัวละครหญิง 2 คนผ่านการต่อสู้กับอุปสรรคนานามากมายระหว่างทางเพื่อบรรลุความสำเร็จของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งเรื่องครอบครัว การเงิน ความรัก ทั้งนี้คนทั้งคู่มีหน้าตาสวยงาม (Beauty Privilege) เป็นต้นทุนใช้เป็นใบเบิกทาง โดยหญิงคนแรกลาออกจากโรงเรียนเพื่อประกอบอาชีพโสเภณีมุ่งหาเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลของคุณยายที่ป่วยติดเตียงและค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ส่วนหญิงสาวอีกคนหนึ่งเดินทางมาแสวงหาโอกาสทำงานในกรุงเทพฯ และได้แต่งงานกับชายผู้มีอันจะกิน แต่ก็ต้องยอมเสียสละด้วยการยอมมีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าของสามี เพื่อแลกกับชีวิตอันสุขสบายในคฤหาสน์ แม้ว่าเรื่องราวของทั้งสองคนเอนเอียงไปทิศทาง “ระทม” แต่ท้ายที่สุดทั้งสองคนก็ได้พบกับผู้ชายที่มีความรักแท้จริง ยอมรับได้กับอดีตที่ไม่สวยงามของหญิงสาว

               จากข้อมูลข้างต้นที่นำเสนอจะเห็นได้ว่า ฉากแรกในมิวสิกวิดีโอยังคงเน้นย้ำถึงความอัปมงคลของดอกลั่นทมและชีวิตที่ไม่ราบรื่นในช่วงแรกของนางเอกทั้งคู่  แต่สุดท้ายเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นก็สิ้นสุดลงเมื่อได้พบความรักที่แท้จริง ผลิบานสวยงามดั่งดอกลั่นทม จึงเห็นได้ว่าดอกลั่นทมนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามและความมงคลแล้ว ลั่นทมยังกลายเป็นเครื่องหมายของความรักที่สมหวังระหว่างหญิงและชาย นับเป็นความพยายามแก้ไข หรือลดทอนอคติเรื่องความอัปมงคลของดอกลั่นทมที่ฝังรากลึกในสังคมไทยให้ดีขึ้นระดับหนึ่ง

 

ภาพที่ 2 สัญลักษณ์ความรักระหว่างชายแบะหญิงในมิสิควิดีโอ เพลง “ลั่นทม” ของ ปาน ธนพร

แหล่งที่มาภาพ: ลั่นทม : ปาน ธนพร [Official MV] The Man City Lion Project ชาย เมืองสิงห์. (2015). [Online]. Accessed 2024 May 2. Available from: https://www.youtube.com/watch?v=rOg42ZXBPMU

 

 

 

ดอกไม้แห่งความรักร่วมเพศ: ความรักชายรักชายในสังคมไทยยุคปัจจุบัน

               สัญลักษณ์ของดอกลั่นทมยังคงถูกหล่อหลอมตามพลวัตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ดังเช่นบทบาทของลั่นทมในยุคสมัยใหม่ที่สะท้อนผ่านมิกสิกวิดีโอเพลง “ลั่นทม” โดยวงค็อกเทลที่เผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2566) ซึ่งเพลงนี้ถูกนำเสนออย่างแตกต่างจากเพลงลั่นทมทั้งสองเพลงในช่วงทศวรรษ 2550 อย่างสุดขั้ว เนื่องจากเพลงนี้เป็นเพลงประกอบซีรีส์วาย (ชายรักชาย) เรื่องหนึ่ง ผู้แต่งจึงได้หยิบยกดอกลั่นทมมาใช้เป็นสัญลักษณ์ถ่ายทอดอารมณ์ความรักของตัวละคร โดยการเปรียบเปรยว่าดอกลั่นทมเป็นดอกไม้ที่รูปลักษณ์สวยงามและมีกลิ่นหอมคล้ายกับความรักที่มักมีวันหมดอายุเช่นเดียวกับดอกลั่นทมที่เบ่งบาน เหี่ยวเฉาก่อนร่วงโรยไป แต่ความรักชายรักชายของพระเอกจะยืนนานไม่มีวันสิ้นสุดลง

 

 

ภาพที่ 3 สัญลักษณ์ความรักระหว่างพระเอกทั้งสองคนในมิวสิควิดีโอ เพลง “ลั่นทม” ของวงค็อกเทล

แหล่งที่มาภาพ: ลั่นทม-COCKTAIL |Official MV| เพลงประกอบซีรีส์ หอมกลิ่นความรัก.​ (2023). [Online]. Accessed 2024 May 2. Available from: https://www.youtube.com/watch?v=Mra0MJnMHh0

 

 

 

             ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายใต้สภาพแวดล้อมของสังคมแต่ละยุคสมัยมีการส่งอิทธิพลทางความนึกคิดของคนในสังคม จากดอกไม้ที่สังคมไทยเคยเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอัปมงคลก็เริ่มปรับเปลี่ยนตามชื่อที่เปลี่ยนใหม่ในช่วงประมาณปีพ.ศ.2547-2548 คนไทยเริ่มหันมาปลูกต้นลั่นทมในพื้นที่บริเวณบ้าน หรือที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น จนถึงการแปรเปลี่ยนดอกลั่นทมไปสู่สัญลักษณ์ของความรักแท้ ทั้งความรักต่างเพศและความรักในเพศเดียวกันที่ถูกตีความและสื่อสารผ่านมิวสิกวิดีโอเพลงในยุคปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าทัศนคติของสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และไม่ได้ยึดติดกับกรอบสังคมแบบเดิม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้เชิงอคติต่อ
ดอกลั่นทมในสังคมไทยนั้นยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทัศนคติส่วนบุคคลว่ายึดมั่นมากแค่ไหน     

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

องค์ บรรจุน. จำปา (ลั่นทมสยาม) เข้าสู่ไทยอย่างไร ค้นหลักฐาน ไฉนกลายเป็น “ลีลาวดี”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2560. เผยแพร่วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2566. เข้าถึงได้ที่ https://www.silpa-mag.com/culture/article_48780

museum Siam. 26 กันยายน 2021. ทำไม? ห้ามปลูกต้นลั่นทมไว้ในบริเวณบ้าน. Status updated. Facebook. เข้าถึงได้ที่ https://www.facebook.com/museumsiamfan/posts/ทำไม-ห้ามปลูกต้นลั่นทมไว้ในบริเวณบ้าน-ในสมัยก่อนคนโบราณมีความเชื่ออยู่มากมายหลาย/10165793611755215/

Smart Herb Platform. ลีลาวดี. https://pharmoffice.kku.ac.th/iss/smhcontrol/herb/303

RsiamMusic. 14 ก.ค. 2015 . เพลง ลั่นทม ขับร้องโดยปาน ธนพร [Official MV] อัลบั้ม The Man City Lion Project ชาย เมืองสิงห์. [วิดีโอ]. ยูทูบ. https://www.youtube.com/watch?v=rOg42ZXBPMU

RsiamMusic. 15 ก.ค. 2021. เพลงลั่นทม ขับร้องโดยเทียรี่ เมฆวัฒนา [Official MV]. [วิดีโอ]. ยูทูบ.

https://www.youtube.com/watch?v=Ewea041jtN8

GeneLab. 16 ส.ค. 2023. เพลงลั่นทม ขับร้องโดยวง COCKTAIL |Official MV| เพลงประกอบซีรีส์ หอมกลิ่นความรัก. [วิดีโอ]. ยูทูบ. https://www.youtube.com/watch?v=Mra0MJnMHh0

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ