ในช่วงยุคทศวรรษ 1990 ถึง 2000 มีภาพยนตร์นอกกระแสหลายสัญชาติได้รับความนิยมในกลุ่มคนดูที่ชื่นชอบภาพยนตร์ที่มีความหลากหลาย ไม่ใช้สูตรสำเร็จตามแบบฮอลลีวู้ด แต่หาชมได้ยากจากโรงฉายภาพยนตร์ทั่วไป มีเพียงร้านเช่าวิดีโอเพียงไม่กี่ร้านที่นำมาให้บริการ อาทิ ร้านเฟรมท่าพระจันทร์ และร้านแว่นวีดิโอ หนึ่งในกลุ่มภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นภาพยนตร์จากประเทศอิหร่าน ได้แก่ Children of Heaven, A Moment of Innocence, Taste of Cherry, The White Balloon, The Day I Became a Woman ซึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ที่เรียกว่า Iranian New Wave และหลายคนก็มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ เช่น อับบาส เคียรอสตามี (Abbas Kiarostami) จาฟาร์ ปานาฮี (Jafar Panahi) โมห์เซน มัคมัลบาฟ (Mohsen Makhmalbaf) มาจิด มาจิดี (Majid Majidi) เป็นต้น ภาพยนตร์กลุ่มนี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากนักวิจารณ์และผู้ชม อีกทั้งยังส่งอิทธิพลต่อภาพยนตร์ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียนเป็นแฟนคลับภาพยนตร์อิหร่านมานาน เมื่อมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศนี้จึงมีเป้าหมายหลักอยากไปเยี่ยมชมมิวเซียมภาพยนตร์อิหร่าน (Cinema Museum of Iran) ซึ่งมีความโดดเด่น สวยงาม และเหมาะแก่การเยี่ยมชมแม้ไม่ใช่ผู้ที่รู้จักมักคุ้นกับภาพยนตร์อิหร่านเลยก็ตาม มิวเซียมแห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจทางตอนเหนือเมืองหลวงของกรุงเตหะราน สามารถเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินไปที่สถานีจตุรัสทาจ์ริช (Tajrish Square) แล้วเดินไปตามถนนวาลี อัซร์ (Vali'asr) ประมาณ 10 นาที ซึ่งถนนสายนี้มีทางเท้าขนาดใหญ่ รื่นรมย์ด้วยต้นไม้สองข้างทาง และร้านค้ามากมาย
ที่นี่เป็นหนึ่งในมิวเซียมที่สวยที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยไปเยือน ตัวพื้นที่มีคฤหาสน์สองชั้นอยู่ตรงกลาง ห้อมล้อมด้วยสวนที่มีชื่อแปลว่าสรวงสวรรค์ (Ferdows) มีการจัดแต่งด้วยต้นไม้ ดอกไม้ น้ำพุอย่างสวยงามตามความสามารถที่โดดเด่นเรื่องการจัดสวนของชาวเปอร์เซีย นอกจากนี้ภายในบริเวณยังมีโรงภาพยนตร์ ร้านหนังสือ ร้านดีวีดี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขายของแฮนด์เมดตั้งอยู่รายรอบดึงดูดให้ผู้คนทั้งกลุ่มครอบครัว ฮิปสเตอร์ รวมถึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเดินเล่นและถ่ายรูปในพื้นที่ดังกล่าว
สวนและคฤหาสน์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1890 สมัยราชวงศ์กอญัร (Qajar dynasty) โดยเศรษฐีคนหนึ่ง ตลอดเวลากว่าร้อยปีมีการเปลี่ยนเจ้าของหลายครั้งและถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานอย่างหลากหลาย เช่น โรงเรียน ศูนย์ศิลปะ ที่ทำการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนา เป็นต้น หลังการปฏิวัติอิสลามในปีค.ศ. 1979 สถานที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นโรงเรียนสอนภาพยนตร์ และเปลี่ยนเป็นมิวเซียมภาพยนตร์อิหร่านตั้งแต่ปีค.ศ. 2002 จนถึงปัจจุบัน
ภาพที่ 1 ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์
ด้านในมิวเซียมแบ่งออกเป็นหลายโซน ได้แก่ โซนหนังเด็กและเยาวชน (นักสร้างภาพยนตร์อิหร่านชั้นยอดหลายคนเริ่มต้นการทำงานที่ศูนย์การสร้างภาพยนตร์สำหรับเด็ก) ภาพยนตร์กับภาพถ่ายสงคราม ห้อง
นักแสดง ห้องพากย์เสียง เป็นต้น รวมถึงมีโรงภาพยนตร์ความจุ 120 และ 200 ที่นั่ง ซึ่งจัดฉายภาพยนตร์อิหร่านทุกวันทั้งภาพยนตร์เก่าคลาสสิคและภาพยนตร์ใหม่
ความโดดเด่นของมิวเซียมปรากฏให้เห็นตั้งแต่ห้องแรก เริ่มจากห้องแสดงประวัติศาสตร์ 120 ปีของภาพยนตร์ที่มีจุดเริ่มต้นจากกษัตริย์โมซาฟฟาร์ อัลดิน ชาห์ (Mozaffar ad-Din Shah) เดินทางไปยุโรปในปีค.ศ.1900 และได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่อย่างกล้องถ่ายภาพยนตร์ จึงมีดำริให้นำสิ่งประดิษฐ์นี้เข้ามาในประเทศ (จุดกำเนิดของภาพยนตร์อิหร่านมีที่มาจากชนชั้นสูงเช่นเดียวกับไทย)
ต่อมา วงการภาพยนตร์อิหร่านได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้น มีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นมากมาย ภาพยนตร์อิหร่านได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกและถูกมองว่ามีความก้าวหน้าทางศิลปะ วงการภาพยนตร์อิหร่านตกต่ำลงหลังการปฏิวัติอิสลามและเกิดการฟื้นฟูในภายหลัง จนกระทั่งทศวรรษ 90 กลุ่มภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ (Iranian New Wave) โด่งดังระดับนานาชาติ และได้รับการจับตามอง รวมถึงได้รับโอกาสเข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน
เส้นทางที่ไม่ได้ราบรื่นของภาพยนตร์อิหร่านแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเอกเทศ แต่มีความเชื่อมโยงกับสังคม การเมือง ศาสนา วัฒนธรรมอย่างหลีกหนีไม่พ้น สำหรับผู้ที่ชื่นชอบวัตถุสะสมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์น่าจะถูกใจมิวเซียมแห่งนี้ที่เก็บรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุต่างๆ และวัตถุมากมายที่เกี่ยวข้องพร้อมคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ เช่น โปสเตอร์ ภาพจากภาพยนตร์ ภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมกระบวนการสร้างหนัง อุปกรณ์ประกอบฉากและเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ เอกสาร นิตยสารหนัง ตั๋ว เป็นต้น บางชิ้นมีอายุมากถึง 60 – 80 ปี
ภาพที่ 2 การจัดแสดงภายในนิทรรศการ
นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมและการตกแต่งอาคารก็มีความน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งผนัง เพดาน โคมไฟ บันได เสา และสิ่งประดับตกแต่ง ซึ่งเป็นสไตล์เปอร์เซียที่สวยงามตรึงตา โดยเฉพาะโซนไฮไลท์ที่เป็นห้องขนาดใหญ่ จัดแสดงประวัติและผลงานของผู้กำกับอิหร่านคนสำคัญนับสิบคนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถใช้เป็นไกด์ไลน์ได้ว่ามีผู้กำกับอิหร่านคนไหนบ้างที่มีผลงานโดดเด่น (อาจสนใจไปตามหาชมผลงานภาพยนตร์ของพวกเขาเหล่านั้นในภายหลัง)
ภาพที่ 3 การจัดแสดงภายในนิทรรศการ
ในห้องนี้มีการจัดแสดงรางวัลทางด้านภาพยนตร์อันล้ำค่าหลายชิ้นจากเวทีประกวดสำคัญระดับนานาชาติอาทิ ออสการ์ คานส์ เวนิซ เบอร์ลิน โลการ์โน ฯลฯ ซึ่งหนึ่งในรางวัลที่จัดวางอย่างโดดเด่นเป็นสง่าเป็นรางวัล “ปาล์มทองคำ” ของภาพยนตร์เรื่อง Taste of Cherry (1997) กำกับโดยอับบาส เคียรอสตามี ซึ่งเป็นภาพยนตร์อิหร่านเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่เคยได้รับรางวัลนี้ เล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ต้องการฆ่าตัวตาย และพยายามตามหาคนช่วยฝังศพของเขาแต่ถูกหลายคนปฏิเสธ ประเด็นของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ถ่ายทอดการฆ่า
ตัวตายในเชิงสำรวจพินิจอย่างลึกซึ้ง และทิ้งคำถามให้ผู้ชมคิดต่อเองโดยไม่ผูกขาดบทสรุปเพียงด้านเดียวตามอย่างภาพยนตร์อื่นๆ ที่มักนิยมนำเสนอในเชิงความรู้สึกผิดบาป ผิดหลักศาสนา หรือพยายามยัดเยียดมุมมองให้ผู้ชมเกี่ยวกับความสวยงามของชีวิตอย่างเกินพอดี ทำให้ผู้เขียนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งในช่วงที่อายุเพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งสามารถซึมซับและเข้าใจถึงสาระสำคัญที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อสารได้มากขึ้น
ภาพที่ 4 การจัดแสดงภายในนิทรรศการ
ผลงานของอับบาส เคียรอสตา ส่งอิทธิพลต่อภาพยนตร์ในกลุ่มคลื่นลูกใหม่อย่างมาก โดยนักวิชาการชื่อ คาเตเรห์ ชีบานี (Khatereh Sheibani) ผู้เขียนหนังสือ The Poetics of Iranian Cinema ได้ให้นิยามว่าภาพยนตร์ในกลุ่มนี้มีลักษณะเหมือน “บทกวี” และเสนอว่าการเขียนวรรณกรรมและบทกวีถือเป็นศิลปะชั้นสูงของชาวเปอร์เซียที่ได้รับการยกย่องมานาน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมทำให้ลักษณะกวีได้รับการแสดงออกผ่านทางภาพยนตร์ ส่งผลให้ภาพยนตร์อิหร่านมีความสุนทรีย์เชิงกวีนิพนธ์ด้วยการแฝงแนวคิดมานุษยนิยม การอุปมาถึงสิ่งที่มองไม่เห็น การมองชีวิตอย่างพินิจพิเคราะห์รอบด้าน ตลอดจนการแสวงหารูปแบบภาพยนตร์ใหม่
จุดเด่นและเสน่ห์ของภาพยนตร์อิหร่านที่มีสไตล์การถ่ายทอดที่เน้นความสมจริง เรียบนิ่ง เนิบช้าแบบกวี หลีกเลี่ยงการเร้าอารมณ์ (ภาพยนตร์ส่วนใหญ่นิยมตั้งกล้องถ่ายนิ่ง ตัดต่อไม่หวือหวา ไม่ใช้ดนตรีหรือเพลงประกอบ) เมื่อผสานเข้ากับเนื้อหาที่มักเกี่ยวข้องกับปรัชญา จิตวิญญาณ ศาสนา สังคม ชีวิต การเติบโต ความตาย ฯลฯ และมายาแห่งภาพยนตร์ที่เล่นกับเส้นแบ่งอันเลือนรางระหว่างเรื่องแต่ง-สารคดี รวมถึงความจริง-ความลวง สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพยนตร์อิหร่านมีความลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน และมีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ
การจัดตั้งมิวเซียมภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่าภาครัฐให้การยอมรับว่าภาพยนตร์เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สำคัญของประเทศ ซึ่งกว่าภาพยนตร์อิหร่านจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลังปฏิวัติอิสลามภาครัฐและกลุ่มมุสลิมสายเคร่งครัดมองว่าภาพยนตร์ขัดกับหลักศาสนา ทำให้ศีลธรรมเสื่อมทราม ต่อมาภายหลังรัฐเปลี่ยนมุมมองใหม่เห็นว่าภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญในการสร้างอุดมการณ์รัฐ ทำให้ภาพยนตร์เฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐจึงได้รับการส่งเสริม ขณะที่ภาพยนตร์ที่ต่อต้านและวิพากษ์รัฐมักถูกเซ็นเซอร์หรือโดนลงโทษอย่างรุนแรง เช่น ถูกห้ามฉาย จำคุกผู้สร้างภาพยนตร์ ห้ามผู้กำกับสร้างภาพยนตร์หลายปี ห้ามผู้กำกับเดินทางออกนอกประเทศ เป็นต้น
ดังกรณีของจาฟาร์ ปานาฮี ผู้กำกับที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกจากผลงานภาพยนตร์เรื่อง The White Balloon (1995) และ The Mirror (1997) ขณะเดียวกันเขาก็ถูกมองว่าเป็น “ศัตรูของรัฐ” ภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาถูกห้ามฉายในอิหร่าน เช่น เรื่อง Crimson Gold (2003) และ The Circle (2017) ในปีค.ศ.2009 เขาถูกตั้งข้อหาผลิตสื่อต่อต้านรัฐและศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุที่เขาถ่ายทำสารคดีการประท้วงผลการเลือกตั้งในปีดังกล่าวซึ่งเต็มไปด้วยข้อกังขา โดยศาลตัดสินสั่งห้ามไม่ให้เขาเดินทางออกนอกประเทศและห้ามสร้างภาพยนตร์เป็นเวลา 20 ปี ภายหลังเขายังแอบถ่ายทำภาพยนตร์อย่างลับๆ แล้วลักลอบนำออกนอกประเทศ และเข้าฉายงานเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมมากมาย อาทิ เรื่อง This Is Not a Film (2011) Taxi Tehran (2015) เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้กำกับอิหร่านอย่างมูฮัมหมัด ราซูรอฟ (Mohammad Rasoulof) ผู้เป็นเจ้าของรางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังเบอร์ลินจากภาพยนตร์เรื่อง There Is No Evil (2020) ก็ถูกลงโทษจำคุกและห้ามทำหนังในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นับเป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าหากผู้สร้างภาพยนตร์ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐ หรือสร้างภาพยนตร์ที่ต่อต้านหรือคิดต่างจากรัฐก็อาจทำให้มือของรัฐที่เคยโอบอุ้มกลายเป็นมือพิฆาตที่ลงโทษทัณฑ์ผู้สร้างภาพยนตร์ได้เช่นกัน
แม้รัฐบาลอิหร่านออกกฎบังคับยิบย่อยและเข้มงวดอย่างห้ามตัวละครทำผิดหลักศาสนารุนแรง ตัวละครหญิงต้องใส่ฮิญาบเสมอ กระนั้นภาพยนตร์อิหร่านโดยรวมกลับมีคุณลักษณะที่โดดเด่นและวิพากษ์สังคมได้อย่างน่าสนใจ แตกต่างจากประเทศเผด็จการอื่นที่การจำกัดเสรีภาพมักส่งผลต่อคุณภาพของภาพยนตร์ ทำให้ภาพยนตร์อิหร่านยิ่งเป็นกรณีที่น่าศึกษา
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ก้อง ฤทธิ์ดี. 13 พ.ค.2564. ทำความรู้จักหนังอิหร่านจากอดีตถึงปัจจุบัน. สืบค้นจาก https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/757
Cinema Museum. www.cinemamuseum.ir
https://apochi.com/attractions/tehran/cinema-museum-of-iran/