ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่บ่อยนักที่จะได้ยินคนพูดว่า “ไปญี่ปุ่นเพื่อไปสวนสัตว์” เป็นเป้าหมายหลักในการเดินทางท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ทว่า เมื่อย้อนกลับไปช่วงกลางปีค.ศ. 2023 ผู้เขียนเพลิดเพลินกับการดูรูปของเจ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนสีเทา หน้าตาเหมือนตุ๊กตาหมีผ่านแพลตฟอร์มอินสตราแกรม (Instagram) พบว่าโคอาลาหลายตัวที่ผู้เขียนชื่นชอบอาศัยอยู่ที่สวนสัตว์แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น นั่นจึงกลายเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของการเดินทางข้ามประเทศของผู้เขียนที่ได้นำมาบอกเล่าประสบการณ์ในบทความนี้
สวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ฮิกาชิยามะ (Higashiyama Zoo and Botanical Gardens) ตั้งอยู่ที่เมืองนาโกยา จังหวัดไอจิ (Aichi) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ 1937 หรืออายุมากกว่า 80 ปีแล้ว มีพื้นที่รวม 375 ไร่ มีสวนพฤกษศาสตร์ที่แสดงและจัดเก็บพืชและดอกไม้ไว้ 7,000 สายพันธุ์ มีเรือนกระจกขนาดใหญ่ และต้นซากุระทอดยาวเกือบ 1,000 ต้น และต้นเมเปิลญี่ปุ่นอีก 500 ต้น ทว่า บทความนี้ผู้เขียนเน้นรายละเอียดถึงโซนสวนสัตว์เป็นหลัก
การเดินทางไปยังสวนสัตว์นั้นสะดวกมาก เมื่อเดินออกจากสถานีฮิกาชิยามะโคเอ็น (Higashiyama Koen) ก็เห็นภาพวาดสัตว์ตามเสาภายในสถานี โปสเตอร์กิจกรรมพิเศษต่างๆ ของสวนสัตว์บนกำแพงตลอดทาง ทางเข้าออกของสถานีมีรูปแม่ลูกโคอาลาปูด้วยแผ่นกระเบื้องโมเสก และมีจุดสังเกตนำทางเป็นรูปปั้นโคอาลาตั้งอยู่เป็นระยะตลอดเส้นทางกว่าสองร้อยเมตรก่อนถึงประตูทางเข้าสวน
ภาพที่ 1 : กระเบื้องปูลายโคอาลาสถานีและรูปปั้นโคอาลาก่อนถึงทางเข้า
แนวคิดหลักสำคัญของสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ฮิกาชิยามะ คือ สะพานเชื่อมโยงผู้คนและธรรมชาติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้คนทุกเพศทุกช่วงวัย ราคาตั๋วเป็นมาตรฐานเดียวกันไม่แบ่งแยกราคาสำหรับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มต้นสำหรับผู้ใหญ่เพียง 500 เยน และเพิ่มเป็น 640 เยน สำหรับการชมวิวที่หอคอยด้วย ส่วนเด็กเล็กจนถึงวัยเรียนระดับมัธยมต้นยังได้รับสิทธิ์เข้าชมฟรี
เมื่อก้าวผ่านพ้นรั้วประตูทางเข้าหลักก็มีกระดานแผนที่ขนาดใหญ่แสดงข้อมูลโซนร้านค้า ร้านอาหาร นิทรรศการที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณสวนสัตว์ พร้อมภาพอินโฟกราฟฟิกน่ารักที่ระบุพิกัดของสัตว์แต่ละชนิด หากใครที่ต้องการใช้แผนที่ระหว่างเดินชมสวนสัตว์ก็มีบริการแจกแผ่นพับให้ฟรี ในวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้เป็นวันอาทิตย์ จึงสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่ครึกครื้นกว่าปกติ ด้วยมีครอบครัวลูกเล็กเด็กแดง คู่รักหนุ่มสาวที่ควงแขนกันมาเดต กลุ่มเด็กประถมที่มาทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน นักศึกษาภาควิชาศิลปะที่ขนสมุดวาดรูปมาเพื่อขัดเกลาลายเส้น รวมถึงผู้สูงอายุที่มาพร้อมกับอุปกรณ์กล้องและเลนส์ครบมือเพื่อเฝ้าเก็บภาพของสัตว์ตัวโปรด
ภาพที่ 2 : ตั๋วของสวนสัตว์ และกระดานแผนที่
ภายในสวนสัตว์มีสัตว์มากกว่า 550 สายพันธุ์ และถูกจัดแบ่งตามพื้นที่ของสวนที่มีทั้งหมด 8 โซน ไม่ไกลจากกระดานแผนที่เป็นโซนฝูงช้างป่าเอเชียในคอกขนาดใหญ่ที่ออกแบบตามลักษณะรูปแบบบ้านเรือนดั้งเดิมของประเทศศรีลังกา ขณะที่ฝั่งตรงข้ามเป็นคอกของคู่รักสิงโต หนึ่งในดาวเด่นของสวนสัตว์แห่งนี้ สิงโตเพศผู้ชื่อ ซัน (Sun) และเพศเมีย ชื่อ ลูน่า (Luna) ทั้งคู่นอนแผ่บนหญ้าแห้งอย่างสบายใจ และหยอกล้อเล่นกันอย่างน่าเอ็นดู
นอกจากสิงโตแล้วก็มีสัตว์ชนิดอื่นจากโซนแอฟริกา เช่น จิงโจ้แดง กวางดาว และม้าลายแชพแมน ถัดมาเป็นโซนสระโคไดอิเคะ (Kodaiike pond) บริเวณนี้มีเหล่าฝูงฟลามิงโกสีสดใส นกกระทุง เพนกวิน หมีขาว และสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนียกำลังดำน้ำผลุบ ๆ โผล่ ๆ พลางส่งเสียงร้องก้องไปทั่วบริเวณ จากนั้นทางเดินลาดชันขึ้นไปบนเนินพาไปยังที่อยู่ของยีราฟ เสือโคร่งสุมาตรา เลียงผาญี่ปุ่น (Kamoshika) ต่อมามีอาคารขนาดเล็กที่มีคนยืนต่อคิวจนแถวยาวล้นออกมานอกอาคารเพื่อรอชมแพนด้าแดง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีหน้าตาเหมือนแรคคูนผสมกระรอก ปุยขนสีส้มอมแดง หางฟูฟ่อง แพนด้าแดงจัดเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์จึงเป็นหนึ่งในดาวเด่นของสวนสัตว์ที่มีแพนด้าแดง 2 สายพันธุ์ คือ แพนด้าแดงจีนและแพนด้าแดงหิมาลัยที่หน้าตาไม่ต่างกันแต่มีถิ่นกำเนิดคนละประเทศ
ภาพ 3 : แพนด้าแดง
ด้วยความน่ารักของเจ้าแพนด้าแดง ทั้งหน้าตา ท่าเดิน หรือแม้กระทั่งท่าทางเวลายืนสองขาเพื่ออ้อนขออาหารจากผู้ดูแล ทำให้มีผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างต่อแถวรอชมความน่ารักไม่ขาดสาย แต่จุดหมายหลักของการเดินทางในครั้งนี้ของผู้เขียน คือ โซนหมีโคอาลา ด้านนอกอาคารมีป้ายให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโคอาลา เช่น วิถีชีวิตของโคอาลา ในหนึ่งวันโคอาลานอนประมาณ 18-20 ชม. ใช้เวลาตื่นนอนและกินประมาณ 2- 4 ชม. นอกจากนี้ยังมีการจำลองน้ำหนักโคอาลาตัวโตเต็มวัยให้ผู้ชมทดลองยกน้ำหนัก และมีเกมให้ทดลองดมกลิ่นใบยูคาลิปตัสที่มีมากมายกว่า 600 ชนิด แต่โคอาลาเลือกกินมีแค่ 35 ชนิดเท่านั้น
ภาพที่ 4 : (บนซ้าย) การใช้ชีวิตของโคอาลา, (บนขวา) ระบบย่อยอาหารของโคอาลา
(ล่างซ้าย) ทดลองดมใบยูคาลิปตัสที่โคอาลาเลือก (ล่างขวา) จำลองยกน้ำหนักโคอาลาตัวเต็มวัย
เนื่องจากโคอาลาเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อเสียง เมื่อเดินเข้าไปภายในอาคารจะมีป้ายเตือนให้งดส่งเสียงดัง และปิดแฟลชกล้องถ่ายรูปขณะเยี่ยมชม โคอาลาทั้งหมดอยู่ในห้องที่มีกระจกใสกั้นและมีการเว้นระยะห่างจากฝั่งผู้ชม มีเจ้าหน้าที่คอยสลับเวรกันมาดูแลตลอดวัน โดยมีหน้าที่สำคัญที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง คือ การจับแยกโคอาลาเวลาพวกมันทะเลาะกันเพื่อแย่งต้นไม้ที่มีความรุนแรงขั้นเลือดตกยางออก ซึ่งขัดแย้งกับหน้าตาที่ดูน่ารักไม่มีพิษภัย (โคอาลาเพศผู้จะสร้างอาณาเขตบนต้นไม้ด้วยสารคัดหลั่งบริเวณอก หากมีโคอาลาเพศผู้สองตัวในบริเวณเดียวกันมักมีตัวใดตัวนึงโดนข่มเสมอ)
สวนสัตว์ได้จัดทำประวัติรายชื่อพร้อมรูปถ่ายของโคอาลาทุกตัวติดไว้บนหน้ากระจกกั้นให้ผู้ชมสามารถศึกษาแยกแยะและจดจำใบหน้าของโคอาลาแต่ละตัวได้ หนึ่งในโคอาลาที่ได้รับนิยม คือ เจ้าโอโมจิ (Omochi) ด้วยลักษณะใบหน้าและดวงตากลมโต สัดส่วนของใบหูขนาดใหญ่ปกคลุมด้วยขนฟูกับนิสัยที่ค่อนข้างซุกซนกว่าโคอาลาตัวอื่นทำให้โอโมจิมักมีแฟนคลับมาเก็บภาพน่ารัก ๆ ของมันบ่อยครั้ง ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับหญิงสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ชื่นชอบโคอาลามากถึงกับมีบัตรรายปีของสวนสัตว์ เพื่อความสะดวกในการเฝ้าดูพวกมันเกือบทุกสัปดาห์ ในแต่ละครั้งเธอใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงในการชมและถ่ายภาพจนถึงเวลาพักผ่อนของโคอาลา จากนั้นก็แวะไปดูสัตว์ชนิดอื่นและวนกลับมาอีกครั้งก่อนสวนสัตว์ปิดจึงนับว่าเสร็จสิ้นภารกิจ
ภาพที่ 5 : บริเวณภายในอาคารโคอาลา
แม้ผู้เขียนจะบรรลุเป้าหมายหลักของการมาเที่ยวที่สวนสัตว์ฮิกาชิยามะแล้วก็อดไม่ได้ที่จะไปเยี่ยมชมสัตว์โซนอื่นให้ครบ อย่างอีกฟากของสวนสัตว์มีสัตว์ประเภทอื่นอีกมากมาย อาทิ ทานุกิ สุนัขจิ้งจอกแดงญี่ปุ่น เสือดาวทซึชิมะ รวมถึงโซนเมดากะเวิล์ด (Medaka World) นิทรรศการที่รวบรวมสายพันธุ์ของปลาซิวข้าวสารญี่ปุ่น 150 สายพันธุ์ทั่วโลกมารวมไว้ที่นี่ และอีกหนึ่งไฮไลท์ที่ห้ามพลาดเป็นการไปเยี่ยมชาบานี (Shabani) กอริลลาเพศผู้ที่เป็นไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ต หน้าตาและบุคลิกที่มีเสน่ห์ราวกับบุรุษรูปงามทำให้มีผู้ชมยอมทนยืนต่อแถวเป็นชั่วโมงเพื่อรอชมชาบานีที่ได้รับความนิยมสูงมากถึงกับมีหนังสือภาพถ่ายพิมพ์ออกมาหลายเล่ม และมีมุมขายของที่ระลึกขนาดใหญ่ที่เป็นสินค้าเกี่ยวกับเจ้ากอริลลาชาบานีโดยเฉพาะ
ภาพที่ 6 : กอริลลาชาบานี และโซนขายของที่ระลึก
หลังจากเดินชมสวนสัตว์แห่งนี้ตลอดทั้งวัน ความประทับใจที่ปรากฎชัดขึ้นมาเป็นลำดับแรกสำหรับผู้เขียนเป็นเรื่องแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมของสวนสัตว์ ตัวอย่างเช่น โซนลิงชิมแปนซีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งพร้อมเสาไม้หลายต้นที่มีเชือกระโยงระยางราวกับสนามเด็กเล่น โซนลิงอุรังอุตังกับกอริลลาที่แม้จะอยู่ในห้องปิดเหมือนกัน แต่การจัดวางสิ่งของและรูปแบบแปลนภายในห้องก็แตกต่างกันไปตามอุปนิสัยและการเคลื่อนไหวของลิงแต่ละสายพันธุ์ เช่นเดียวกับสุนัขจิ้งจอกแดงและทานุกิที่มักพบได้ตามหุบเขาก็ถูกออกแบบเป็นทางลาดชันราวกับจำลองพื้นป่าขนาดย่อม ซึ่งความใส่ใจในการออกแบบพื้นที่ของสวนสัตว์เป็นส่วนเสริมให้ผู้มาเยือนมองเห็นสภาพวิถีชีวิตของสัตว์แต่ละชนิดได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด
ภาพที่ 7 : การออกแบบพื้นที่สำหรับสัตว์แต่ละสายพันธุ์
(บนซ้าย) ภายในห้องของกอริลลา, (บนขวา) ภายในห้องของลิงอุรังอุตัง
(ล่างซ้าย) พื้นที่ของโซนลิงชิมแปนซี (ล่างขวา) พื้นที่จำลองหุบเขาและที่ซ่อนของทานุกิ
นับว่าสวนสัตว์ฮิกาชิยามะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มากกว่าสวนสัตว์เปิดให้ผู้คนเข้ามาชมสัตว์เพียงผิวเผิน แต่เชื่อมโยงโลกของสัตว์ป่าและมนุษย์ผ่านวิสัยทัศน์และแนวคิดที่ละเอียดอ่อน เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักรู้ต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อนร่วมโลกหลากสายพันธุ์เหล่านี้ให้อยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินเดียวกันนี้ไปอีกนาน
แหล่งค้นคว้าอ้างอิง
ข้อมูลสัตว์ใน HigashiyamaZoo. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2567,
จาก https://www.higashiyama.city.nagoya.jp/04_zoo/
แผนที่ HigashiyamaZoo. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2567,
จาก https://www2.higashiyama.city.nagoya.jp/pdf/map_en.pdf