Museum Core
พิพิธภัณฑ์นวัตกรรมดนตรี ที่เราทุกคนเป็นนักดนตรีได้
Museum Core
20 พ.ค. 67 1K
ประเทศญี่ปุ่น

ผู้เขียน : ทัศนีย์ ยาวะประภาษ

               บทความนี้ผู้เขียนอยากเขียนถึงความประทับใจแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่เผอิญจับพลัดจับผลูเข้าไปชมโดยไม่ได้ตั้งใจ

               ยามเช้าฤดูใบไม้ร่วงปีพ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์สถานีรถไฟฮามามัตสึ (Hamamatsu) จังหวัดชิสึโอกะ (Shizuoka) ประเทศญี่ปุ่น ตั้งใจแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ๆ สามารถเดินทางไปได้สะดวกในเวลาไม่เกิน 20 นาทีให้แก่ผู้เขียน เพื่อเดินทางกลับมาขึ้นรถไฟในช่วงบ่ายทันเวลาไปชมคอนเสิร์ตครบรอบ 20 ปีของไอดอลชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นวงหนึ่ง

               สถานที่ที่แนะนำพร้อมกับโทรศัพท์ไปจองรอบเข้าชมให้เสร็จสรรพ คือ YAMAHA Corporate Museum Innovation Road หรือ พิพิธภัณฑ์นวัตกรรมดนตรียามาฮ่า ซึ่งต้องจองก่อนล่วงหน้าเท่านั้น แถมเจ้าหน้าที่คนนั้นยังอาสาพาผู้เขียนกับเพื่อนไปส่งถึงทางเข้าสถานีรถไฟสาย Enshu Railway อีกด้วย เดินทางไปเพียง 2-3 ป้ายก็ถึงสถานีฮาจิมัง (Hachiman) สถานีกะทัดรัดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจ ใช้วิธีหย่อนตั๋วลงในกล่องแล้วเดินออกไปตามป้ายบอกทาง แค่ไม่ถึง 5 นาที ก็พบอาคารขนาดใหญ่ในรั้วรอบขอบชิด หน่วยรักษาความปลอดภัยตรวจเช็คชื่อที่จองไปเสร็จก็โค้งให้เข้าชมภายในโดยไม่มีค่าเข้าชม

 

 

ภาพที่ 1 Musical instruments exhibit area จัดแสดงเครื่องดนตรีอันหลากหลาย

ตั้งแต่ผลงานที่โดดเด่นในอดีตจนถึงรุ่นล่าสุด

 

               YAMAHA Corporate Museum Innovation Road เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานใหญ่ยามาฮ่าในเมือง
ฮามามัตสึ ซึ่งได้รับสมญาว่า “เมืองแห่งดนตรี” มีอาณาบริเวณตลอดทั้งชั้น 1 ที่ดูโปร่งโล่งสะอาดตา ผู้เขียนห้อยป้ายผู้มาเยือนแล้วก้าวเข้าไปพบแม่หมีขั้วโลกขาวบริสุทธิ์กำลังงีบหลับอยู่กับลูกน้อยอย่างสบายอกสบายใจ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางสั้น ๆ แต่นำพาความประทับใจยิ่งยวด

 

 

ภาพที่ 2 แม่หมีลูกหมีสีขาวบริสุทธิ์กำลังหลับสบายดูท่าว่าหลับฝันดี ภายใต้เสียงดนตรีของตัวเอง

 

               มีข้อความไม่กี่บรรทัดวางไว้ใกล้ ๆ หมีแม่ลูก สื่อถึงการนอนหลับฝันดีเมื่อใช้เวลาผ่อนคลายไปกับเสียงที่จะได้ฟังเพียงลำพังในสถานที่แห่งนี้ เพียงหยิบเฮดโฟน ปล่อยใจให้ล่องลอย ตั้งใจฟังเสียงกระจ่างใสที่ค่อย ๆ รินไหลสู่โสตทั้งปวงและจะได้รับความอิ่มเอมใจผ่องใสเช่นเดียวกับแม่หมีลูกหมีคู่นี้แล้ว

               นิทรรศการแบ่งออกเป็น 12 โซน สิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้าไปด้านในคือ Key Between People เปียโนสีขาวแห่งอนาคตพร้อมภาพสดใสส่องฉายบนพื้นผิว สีสันของภาพจะเปลี่ยนไปเมื่อเรากดคีย์บอร์ด  ดังเช่นผู้เขียนมาเข้าชมในฤดูใบไม้ร่วง จึงมีใบกิงโกะและเมเปิลแดงส้มทองจัดจ้านโปรยปราย

 

 

ภาพที่ 3 ผนังที่ฉายความเป็นมาของนวัตกรรมดนตรี เต็มไปด้วยสีสันและเปี่ยมชีวิตชีวา

 

               ฝั่งตรงข้ามเครื่องเปียโนสีขาวคือผนังที่ฉายความเป็นมาของนวัตกรรมดนตรียามาฮ่า ผ่านชิ้นส่วน อุปกรณ์ดนตรี จนไปสู่การแสดงในฮอลล์ขนาดใหญ่ จากนั้นเดินไปตามเส้นทางที่ชื่อว่า Musical instruments exhibit area จัดแสดงเครื่องดนตรีอันหลากหลาย ตั้งแต่ผลงานที่โดดเด่นในอดีตจนถึงรุ่นล่าสุด ชมเครื่องดนตรีแยกชิ้นส่วน ผสมผสานทักษะ เครื่องจักร และงานฝีมือแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ผู้ชมจะเห็นการชำแหละไม้แต่ละชิ้นที่น่าทึ่งก่อนนำเข้ามาประกอบเป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงสัมผัสโสตทั้งห้า

 

 

ภาพที่ 4 ชิ้นส่วนเครื่องดนตรีเมื่อนำมาชำแหละออกจากกัน

 

               สุดทางเดินเป็น Innovation road map และ History Walk ไทม์ไลน์บนฝาผนังเต็มผืนที่ดูอลังการ ผู้เขียนชอบวิธีการเล่าด้วยใจความสำคัญสั้น ๆ คั่นด้วยตัวการ์ตูนน่ารักสดใส เชื่อมโยงภาพให้เข้าใจได้ง่าย เส้นทางนี้เล่าถึงการเริ่มต้นแนวคิด ปีที่ก่อตั้งบริษัท เครื่องเล่นเปียโนที่ออกจำหน่ายในปี ค.ศ. 1913 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทยามาฮ่าหันมาผลิตรถจักรยานยนต์ด้วยอุปกรณ์การผลิตใบพัดที่เหลือจากสงคราม สิ่งที่จัดแสดงเป็นรถจักรยานยนต์รุ่นแรกคือ 1955 YA-1 และสกีพลาสติกเสริมเส้นใย (FRP) รวมถึงอุปกรณ์กีฬาอื่น ๆ ที่จำหน่ายในช่วงทศวรรษ 1960

               ส่วนจัดแสดงนี้ทำให้รู้ว่ายามาฮ่ามิได้มีแต่เครื่องดนตรีเท่านั้น แต่ยังมีเครื่องใช้ไม้สอยอื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งบางชิ้นแทบนึกไม่ถึงเลยว่ามาจากบริษัทผู้ผลิตนวัตกรรมด้านเครื่องดนตรี

               ครึ่งหลังของโซน History Walk เน้นเกี่ยวกับเครื่องมือดิจิทัลโดยเฉพาะ ผู้เขียนได้ทำความรู้จักเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesizer) ที่โดดเด่น อาทิ รุ่น DX7  ที่เปิดศักราชเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยเครื่องกำเนิดโทนเสียง FM ทำให้เครื่องสังเคราะห์เสียงนี้เป็นตัวเลือกสำหรับศิลปินยอดนิยมทั่วโลก หรือ Miburi เครื่องดนตรีดิจิทัลที่สร้างขึ้นจากแนวคิดใหม่ในการควบคุมเสียงโดยตรงผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่กับเสื้อผ้าที่สวมใส่ช่วยให้ผู้เล่นสามารถใช้เพียงแค่ท่าทางก็สร้างเป็นเพลงได้

 

 

ภาพที่ 5 Innovation road map และ History Walk เล่าได้สนุกสนาน เข้าใจง่ายมาก

 

               นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังเปิดโอกาสในการเล่นแกรนด์เปียโน ได้สัมผัสและเพลิดเพลินกับเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของแกรนด์เปียโนหลายรุ่น ผู้เข้าชมสามารถนั่งทำท่าพรมนิ้วบนเปียโนระดับโลกเหล่านี้อย่างมืออาชีพโดยไม่ต้องกลัวเกรงสายตาใคร เพราะที่นี่ทุกคนต่างมีความฝันของตัวเอง และไม่มีใครเหยียดหยันความฝันนั้น

               ผู้เขียนเองก็ได้ลิ้มลองการนั่งเล่นเชลโล่ เครื่องดนตรีที่แอบฝันมาเนิ่นนาน โดยไม่ต้องกังวลว่าเสียงบาดหูที่สร้างสรรค์ขึ้นเองตามความพึงพอใจนั้นจะไปรบกวนโสตประสาทของใคร เพราะผู้เล่นจะต้องสวมเฮดโฟน เล่นเอง ฟังเอง ปวดหูเอง นักเลงจริงๆ

 

 

ภาพที่ 6 มีเครื่องดนตรีมากมายให้เราได้ลองโลดแล่นอยู่ในความฝันแสนดีตามลำพัง

 

               พลังเสียงและนวัตกรรมดนตรีของยามาฮ่าอัดแน่นอยู่ในลานขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก แต่ใช้เวลานานกว่าที่คิดแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของการออกแบบพื้นที่เป็นซอกซอย กระตุ้นให้ผู้ชมเดินค้นเหมือนเล่นซ่อนหา โดยเฉพาะมุม Innovation Lab และ Acoustic exhibition area ได้สัมผัสกับความหลากหลายและพลังรวมของยามาฮ่าที่ยึดติดกับ "เสียง" เช่นเดียวกับห้องลับอย่าง Virtual Stage ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์การแสดงสดที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ตด้วยการฟังจากเล่นเครื่องดนตรีอัตโนมัติและชมการแสดงเสมือนจริงอยู่ในโลกตามลำพังแสนวิเศษ

               นวัตกรรมของยามาฮ่าในห้องเกือบท้ายสุดยังทำให้เห็นว่า AI รังสรรค์ให้เกิดดนตรีในอีกมิติหนึ่งอย่างไร น่าทึ่งและฟังเพลินมาก 

 

 

ภาพที่ 7 ทั้งหมดนี้คือการสร้างสรรค์ดนตรีด้วย AI ล้วน ๆ ฟังไพเราะมาก

 

               ส่วนสุดท้ายเป็นบอร์ดต้นไม้ความคิดเห็นหลากสีจากผู้เข้าชม แต่ละความเห็นล้วนชื่นชม ทึ่ง ได้รับแรงบันดาลใจ และพลังผลักดันอย่างไร้ขีดจำกัดเมื่อได้เข้ามาในสถานที่แห่งนี้ เช่นเดียวกับหลายครอบครัวที่พาลูกมาสัมผัสดนตรีแต่ละชนิด เด็ก ๆ ดูตื่นตาตื่นใจ ลองเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้นชิ้นนี้ไม่มีหยุด เป็นวันที่ครอบครัวได้มาใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน และต่อยอดจินตนาการของเด็กอย่างไร้ขอบเขต

              สำหรับชาวต่างชาติมีคำอธิบายภาษาอังกฤษในทุกโซน หากต้องการไกด์ส่วนตัวก็สามารถขอเครื่องนำทางหรือออดิโอไกด์จากเจ้าหน้าที่แผนกต้อนรับได้ฟรี หรือติดตั้งแอปพลิเคชันไกด์เสียง "My Guide" ดาวน์โหลดข้อมูลเสียงเพื่อใช้นำทางระหว่างการเยี่ยมชม (ทั้งแอปและข้อมูลเสียงไม่มีค่าใช้จ่าย)

              ผู้เขียนใช้เวลาสองชั่วโมงอย่างมีคุณภาพในพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ที่คาดไม่ถึงว่าจะส่งผลสะท้อนกลับมาให้ได้ฉุกคิดว่าพลังความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่เพียงไร และสามารถซึมซับพลังที่หลั่งไหลดุจสายธารเข้ามาเก็บกักในตัวตนและหัวใจได้อย่างไร

 

YAMAHA Corporate Museum Innovation Road

เปิดทำการเวลา 9.30-17.00 น. หยุดวันอาทิตย์ วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ต้องโทรจองเข้าชมล่วงหน้า โทรศัพท์ +81 53-460-2010

การเดินทาง : จากสถานี Hamamatsu ขึ้นรถไฟเอกชนสาย Enshu ลงป้ายสถานี Hachiman เดิน 2 นาที (มีป้ายบอกทางชัดเจน)

*หมายเหตุ* ภายในพิพิธภัณฑ์ห้ามนำอาหารเครื่องดื่มเข้าไป ห้ามถ่ายคลิปวิดีโอ ห้ามพูดคุยโทรศัพท์ และไม่ควรใช้เสียงดัง

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ