Museum Core
แง้มดูระหว่างทาง ปั้น-เผา-เคลือบ ที่พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาอิงเกอ
Museum Core
11 มี.ค. 67 698
ประเทศไต้หวัน

ผู้เขียน : ศิรดา ชิตวัฒนานนท์

               เครื่องปั้นดินเผาเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่โบราณโดยเฉพาะสำหรับชนชั้นสูง เครื่องปั้น
ดินเผาเป็นมากกว่าภาชนะใช้สอย ด้วยคุณค่าทางความงามทำให้เครื่องปั้นดินเผากลายเป็นชิ้นงานศิลปะที่เป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยมและฐานะในเวลาเดียวกัน แม้ว่าเทคโนโลยียุคปัจจุบันช่วยให้กระบวนการผลิตง่ายขึ้นในราคาที่จับต้องได้ กระนั้นคนก็ยังคงมองหาอะไรที่มากกว่าชิ้นงานสำเร็จรูปจากโรงงาน หรือการรังสรรค์ของศิลปิน

               ผู้เขียนเคยสงสัยว่าลายเคลือบที่ดูหวือหวามีวิธีการทำอย่างไร และงุนงงกับปริศนาว่าทำไมชิ้นงานก่อนเผากับหลังเผาจึงมีสีที่แตกต่างกันอย่างมาก รวมถึงมีความใคร่รู้ว่ายามขึ้นรูปดินบนแป้นหมุนนั้นให้ความรู้สึกอย่างไร ด้วยความอยากสัมผัสความรู้สึกของการใช้สิ่งของที่ทำเองกับมือเป็นเหตุผลให้ผู้เขียนสมัครเรียนเวิร์กช้อปปั้นเซรามิก และได้เห็นภาพรวมของกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาทั้งหมดเท่านั้น จนกระทั่งผู้เขียนได้พบว่าในพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาอิงเกอ (Yingge Ceramics Museum) ที่ไต้หวันได้นำเสนอเรื่องราว ‘ระหว่างทาง’ ที่ไม่ปรากฎให้เห็นในเวิร์กช็อปสั้นๆ มาคลี่คลายให้ดูตั้งแต่ชั้นแรกเลย ช่วยเติมเต็มความอยากรู้อยากเห็นขั้นสุดของ
ผู้เขียนได้เป็นอย่างดี และปลื้มปริ่มถูกใจกับประสบการณ์สุดว้าวนี้เป็นอย่างมาก

 

ภาพที่ 1 ทางเข้าด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาอิงเกอ

 

               ปกติทั่วไปเมื่อไปเรียนปั้นเซรามิก สตูดิโอมักเตรียมดินไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ผู้เรียนอาจได้ฝึกนวดดินนิดหน่อยและได้ลองปั้นด้วยเทคนิคต่างๆ พร้อมลงสี จากนั้นรอสตูดิโอเผากับเคลือบงานเสร็จเรียบร้อยจึงค่อยมารับชิ้นงานกลับไป ทว่า พิพิธภัณฑ์ไม่เป็นแบบนั้น การเรียนรู้เริ่มตั้งแต่พาไปดูวิธีนำดินจากท้องทุ่งมากรอง นวดจนดินละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน มีหุ่นดินเผาตัวเล็กตัวน้อยช่วยให้เห็นกรรมวิธีในจุดที่อาจนึกไม่ถึงโดยเฉพาะในยุคอดีตที่ยังไม่มีเครื่องทุ่นแรงเครื่องปั้นดินเผานั้นทำกันอย่างไร เช่น ไม่มีแป้นหมุนอัตโนมัติช่างปั้นยืนปั้นหรือนั่งปั้นท่าไหน ลักษณะเตาเผาแบบใช้ถ่านใช้ฟืนมีแบบไหนบ้าง ความรู้ที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนี้ยิ่งช่วยให้รู้สึกเข้าถึงจิตวิญญาณของช่างปั้นที่กำลังรังสรรค์บางอย่างที่วิเศษมากๆ ออกมาเลย

               มีคนที่เคยสอนผู้เขียนกล่าวเอาไว้ว่า 'เราไม่มีทางรู้ได้ว่างานจะออกมาเป็นยังไงจนกว่าจะเปิดเตา' บางครั้งชิ้นงานก็อาจเกิดรอยร้าว สีที่ได้ผลออกมาไม่ตรงกับความคิด หรือผลงานอาจเสียหายทั้งหมดหากการนวดดินไม่ดีพอ การปั้นจึงเป็นการรวมตัวของศาสตร์และศิลป์ที่ไม่ได้ใช้แค่ความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่มีความรู้มากมายที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจ อย่างเช่น ต้องรู้จักดินที่ใช้ อุณหภูมิเท่าไหร่ที่ต้องใช้ในการเผา การทำปฏิกิริยาเคมีของแร่ธาตุในน้ำเคลือบกับความร้อน นอกจากความรู้ด้านประวัติศาสตร์แล้ว พิพิธภัณฑ์ยังให้ข้อมูลที่เป็นหลักการและประสบการณ์ลองจับสัมผัสกระเบื้องจากผลลัพธ์แต่ละแบบด้วย (ผู้เขียนรู้สึกฟินมาก)

 

ภาพที่ 2 โมเดลจำลองลักษณะเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา

 

               ชั้นที่ 2 นิทรรศการแสดงให้ถึงมุมมองความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผามากขึ้น ดังที่เคยทราบกันดีว่าในหลุมศพคนสมัยโบราณมักพบถ้วยโถโอชามฝังรวมอยู่ด้วย เครื่องปั้นดินเผาจึงไม่ได้ตอบสนองแค่การใช้งานทางโลกแต่รวมถึงมิติทางจิตวิญญาณและพิธีกรรม ชนพื้นเมืองในไต้หวันเชื่อว่าพวกเขาถือกำเนิดจากไข่ที่ดวงอาทิตย์ไข่ไว้ในโถ บ้างก็เชื่อว่าโถคือหนึ่งในของขวัญที่พระเจ้ามอบให้ เครื่องปั้นดินเผาจึงเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ของเผ่า ในครอบครัวชนชั้นสูงโถถูกใช้เป็นสินสอดแสดงถึงการสืบต่อวงศ์ตระกูล นอกเหนือจากเทวตำนานความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายก็ทำให้เครื่องปั้นดินเผาเป็นที่เคารพในฐานะสิ่งเชื่อมโยงคนเป็นกับวิญญาณบรรพบุรุษ ถือเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวทำให้ยังพอมีหลักฐานหลงเหลือให้ได้เรียนรู้กัน

               ในอีกแง่มุมหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผาชี้ให้เห็นถึงบทบาททางเพศของคนในเผ่า บางเผ่าสงวนการงานปั้นไว้สำหรับผู้ชาย ขณะที่บางเผ่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง แม้แต่การประดับลวดลายบนโถก็ยังเป็นตัวแบ่งเพศของเครื่องปั้นดินเผา โถเพศชายตกแต่งด้วยลายงู (Hundred-pace snake, งูพิษที่ตำนานเล่าว่าเมื่อโดนกัดเดินได้แค่ 100 ก้าวก่อนตาย ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้เขียนไปเยี่ยมชมที่ ‘ศูนย์วัฒนธรรมชนเผ่าไคทาเก๋อลั๋น (Ketagalan Culture Center)’ จึงได้ข้อมูลเพิ่มว่าในสมัยก่อนมีแค่ชนชั้นสูงและผู้นำเท่านั้นที่สามารถใส่ชุดปักลายงูได้) ส่วนโถเพศหญิงตกแต่งด้วยลายดวงอาทิตย์ ผู้เขียนจึงเดาว่าน่าจะเชื่อมโยงกับตำนานต้นกำเนิดของชนพื้นเมือง

               เนื่องด้วยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ที่เมืองอิงเกอ ผู้เขียนจึงขอเล่าเกี่ยวกับเมืองนี้สักเล็กน้อย อิงเกอถือเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเซรามิก โดยเฉพาะเมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามายึดครองไต้หวันและนำเทคโนโลยีการผลิตมาเผยแพร่และพัฒนายิ่งทำให้อุตสาหกรรมเซรามิกเติบโตขึ้น ในช่วงรุ่งเรืองสุดขีดมีเตาเผามากถึง 800 เตากระจุกตัวอยู่ในเมืองนี้ ปล่องไฟอิฐแดงแทงขึ้นบนฟ้าเป็นทิวแถวพร้อมพ่นฝุ่นควันสีดำออกมาด้วย ครั้งหนึ่งเมืองนี้จึงประสบกับความรุ่งโรจน์และมีปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ตอนที่ผู้เขียนนั่งชมสารคดีในพิพิธภัณฑ์ คุณลุงอดีตเจ้าของโรงงานเล่าให้ฟังถึงความเสียดายที่ต้องทุบเตาเผาทิ้งไปเมื่ออุตสาหกรรมนี้มาถึงจุดอิ่มตัว ทุกอย่างเกิดขึ้นและหายไปในเวลาแค่ 1 ศตวรรษเท่านั้นเอง

               แม้เป็นเรื่องชวนใจหายแต่เมืองอิงเกอก็ยังเหลือกลิ่นอายของอดีตอยู่ ตามถนนสายเก่า (Yingge Historic Ceramics Street) มีร้านขายเซรามิกกระจุกกระจิก ชุดถ้วยน้ำชาหลากหลายสไตล์ มีสตูดิโอเล็กๆ หลบอยู่ตามมุมต่างๆ นอกจากนี้ภาพตึกอิฐแดงที่ชวนให้รำลึกความหลังบนถนนชงชิง (Chongqing) มีเตาเผาเก่าแก่ (Guzao Kiln) ให้เข้าชมได้ฟรีด้วย ปัจจุบันเตาแห่งนี้เลิกใช้งานแล้ว ช่องภายในเตาใช้จัดแสดงงานศิลปะจากเซรามิกแทน

               ถัดมาบริเวณชั้น 3 และสวนกลางแจ้งของพิพิธภัณฑ์เป็นจุดจัดแสดงผลงานของศิลปินยุคปัจจุบัน นอกจากประโยชน์ใช้สอยแล้วเครื่องปั้นดินเผายังเป็นสื่ออีกรูปแบบหนึ่งที่ศิลปินใช้สื่อสารแนวคิดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ และสื่อสารความงามในตัวเอง ทั้งนี้ มีอีกส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญมาก คือ นิทรรศการเกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตของอุตสาหกรรมเซรามิกที่คนทั่วไปอาจมองข้าม หรือไม่ทราบมาก่อน เช่น โถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้าที่ใช้เป็นประจำ ชิ้นส่วนในโทรศัพท์ หรือวงจรคอมพิวเตอร์ที่มองไม่เห็น นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์นับพันปีของคนในอดีต ในอนาคตอาจมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีเซรามิกเป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ในส่วนที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้

 

ภาพที่ 3 ประติมากรรมเซรามิกในสวนกลางแจ้งของพิพิธภัณฑ์

 

             หากใครมาเที่ยวไต้หวันแล้วในแพลนยังมีวันว่าง อยากชวนให้ออกนอกเมืองมาเที่ยวที่อิงเกอ ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงจากสถานีไทเปเมน มาสัมผัสร่องรอยอุตสาหกรรมเซรามิกที่แปรเปลี่ยนเป็นชุมชนงานฝีมืออย่างในปัจจุบันด้วยกัน

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ