ทาสแมว... วงการที่เข้าแล้วออกไม่ได้ ไม่ว่าใครก็หลงใหลในความน่ารักปุ๊กปิ๊กของเจ้าเหมียวกันทั้งสิ้น ทว่าแท้จริงแล้ว สัตว์ตระกูลแมวไม่ได้มีแค่เหมียวน้อยเสมอไป ในโลกนี้ยังมีเหล่า “แมวใหญ่ (Large Cat)” ที่เป็นญาติห่างๆ กับน้องแมวที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นสิงโต เสือโคร่ง เสือดาว หรือแม้แต่ยอดนักล่าอย่างชีตาห์ก็ตาม แมวใหญ่เหล่านี้ล้วนมีภาพลักษณ์ติดตาน่าเกรงขาม ทว่าในหลายวัฒนธรรม ผู้คนพากันนับถือแมวยักษ์โดยเชื่อว่าสัตว์ป่ามีอำนาจปกปักษ์รักษาหมู่ชน และในวันนี้ผู้เขียนจะพาไปรู้จักกับคติบูชา “วาโฆบา (Waghoba)” เทพเจ้าแมวใหญ่ในชมพูทวีป วาโฆบาคืออะไร เพราะเหตุใดภารตชนจึงสืบทอดความเชื่อนี้กันมากว่าพันปีนั้น มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ดังที่หลายคนทราบกันดี ชมพูทวีปมีความผูกพันกับแมวยักษ์มาแสนนาน แม้แต่สัตว์ประจำชาติอินเดียยังเป็น “เสือโคร่งเบงกอล (Bengal Tiger)” ที่อาศัยในผืนป่าอนุทวีป และนอกจากเสือโคร่งแล้ว ป่าไม้ภารตะยังเต็มไปด้วยเสือดาว เสือดำ และสัตว์ตระกูลแมวอีกมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่คติบูชาแมวใหญ่ถือกำเนิดในชุมชนหลายแห่งตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตำนานวาโฆบาเองก็เช่นกัน วาโฆบาเป็นที่เคารพนับถือทางตะวันตกของประเทศ บริเวณรัฐกัว (Goa) มหาราษฏระ (Maharashtra) และคุชราต (Gujarat) ดินแดนแห่งเทือกเขาฆาตตะวันตก (Western Ghats) ที่ทอดยาวลดหลั่นกันลงมา ผืนป่านานาพรรณในหุบเขาเป็นที่อยู่ของเหล่าสรรพสัตว์ รวมถึงเจ้าแมวใหญ่ พระเอกในวันนี้
ชื่อวาโฆบาเป็นคำสนธิภาษามราฐี (Marathi) มาจากคำว่า “วาฆ (Wagh)” ที่แปลว่า เสือหรือแมวใหญ่ และ “บา (Ba)” ที่เป็นคำต่อท้ายบุคคลที่เคารพ เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “เทพเจ้าแมวใหญ่ที่เคารพ” เหตุผลที่ผู้เขียนเรียกวาโฆบาว่าแมวใหญ่ ไม่ใช่เสือหรือสิงโตนั้น เป็นเพราะรูปลักษณ์ของวาโฆบาไม่จำเป็นต้องเป็นเสือสิงห์เสมอไป รูปเคารพวาโฆบาในเทวาลัยอาจเป็นได้ทั้งเสือโคร่ง เสือดาว สิงโต หรือสัตว์เหล่านี้ผสมกัน นอกจากชื่อวาโฆบาแล้ว เทพแมวใหญ่ยังถูกเรียกขานด้วยหลายนาม ไม่ว่าจะเป็นวาฆยเทพ (Waghya Dev) วาฆชัย (Wagh Jai) บาเฆศวร (Bagheshwar) หรือวาฆโร (Waghro) ในภาษาโกนกณี (Konkani) แห่งรัฐกัว และเช่นเดียวกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูทั้งหลาย วาโฆบาสามารถปรากฏกายในรูปลักษณ์อิตถีเพศไม่แตกต่าง โดยมีชื่อเรียกว่า “วาฆชัยมาตา (Wagh Jai Mata)” ที่แปลว่า “พระแม่แมวใหญ่แห่งชัยชนะ”
ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดถึงที่มาคติบูชาแมวใหญ่ แต่ละชุมชนล้วนมีเรื่องเล่าวาโฆบาที่ต่างกัน ใน “ชุมชน
วารลี (Warli)” หนึ่งในกลุ่ม “อาทิวาสี (Adivasi)” หรือชาวเผ่าที่อาศัยทางตะวันตกของรัฐมหาราษฏระมีตำนานกำเนิดวาโฆบาเล่าสืบทอดกันมาว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเด็กสาวเผ่าวารลีที่ตั้งครรภ์โดยมิได้สมรสกับคนรัก ความผิดบาปของมารดาแต่ครั้งหลังยังผลให้ทารกชายที่เกิดมาต้องคำสาป วันหนึ่งขณะที่มารดากำลังง่วนอยู่กับงานบ้าน เด็กชายได้เปลี่ยนร่างเป็นเสือป่าออกเข่นฆ่าผู้คน หมู่ชนจึงรวมตัวกันหมายสังหารเสือร้ายให้ตายดับ ผู้เป็นแม่โศกเศร้ากับเรื่องราวที่เกิดขึ้น นางจึงขอร้องให้บุตรชายหนีเข้าป่าและอยู่ให้ห่างจากชุมชน ในขณะเดียวกัน หนึ่งนารีก็วิงวอนให้ชาวบ้านอภัยแก่สัตว์ร้าย ชาววารลีทั้งหลายต่างตกลงทำตามคำขอของมารดา พวกเขาสร้างเทวาลัยขึ้นมาเพื่อบูชาแมวใหญ่ ก่อนนำเนื้อไก่และแพะที่เพิ่งฆ่ามาเซ่นสังเวยวิญญาณสัตว์ร้าย และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาววารลีก็นับถือเด็กชายผู้กลายเป็นสัตว์ป่าในฐานะวาโฆบา เทพเจ้าแมวใหญ่สืบต่อมา
ภาพที่ 1 เทวาลัยวาโฆบาในชุมชนวารลี
แหล่งที่มาภาพ: Nair, Ramya. The Warli and the Waghoba: How a Large Cat Deity Helps People to Share Space with Leopards in India. (2021). [Online]. Accessed 2023 Mar 16. Available from: https://newsroom.wcs.org/News-Releases/articleType/ArticleView/articleId/16351/The-Warli-and-the-Waghoba-How-a-Large-Cat-Deity-Helps-People-to-Share-Space-with-Leopards-in-India.aspx
จากลำนำประจำเผ่าวารลี แสดงให้เห็นว่าชาวอาทิวาสีเข้าใจในธรรมชาติของสัตว์ป่าและยอมรับเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกัน การตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กับผืนป่าส่งผลให้ชาวบ้านเผชิญปัญหากับเดรัจฉานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนั้นพวกเขาจึงบูชาวาโฆบาในฐานะเจ้าป่า โดยเชื่อว่าหากสักการะเทวาลัยวาโฆบาเป็นประจำ เทพแมวใหญ่จะคุ้มกันฝูงปศุสัตว์และหมู่ชนให้พ้นภัยจากสัตว์ร้าย
เทวาลัยวาโฆบามักตั้งอยู่ใกล้ชายป่าไม่ไกลจากหมู่บ้าน สมาชิกในชุมชนจะช่วยกันสลักหินหรือไม้เป็นรูปแมวใหญ่ บางครั้งอาจวาดลวยลายวาโฆบาบนแผ่นหินและแต่งแต้มสีสันให้เหมือนจริง ชาวบ้านมักก่ออิฐหรือก้อนหินครอบรูปเคารพเป็นอาคารอย่างง่ายๆ อาจมีการสลักภาพสัญลักษณ์มงคลอย่างพันธุ์พฤกษาและสุริยันจันทราบนผนังเทวาลัยเพื่อทวีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศรัทธาจะนำผงชาดและน้ำมันมาชโลมรูปเคารพเป็นประจำ และเช่นเดียวกับตำนานที่กล่าวถึงในข้างต้น คนในชุมชนจะทำพิธีบูชาวาโฆบาครั้งใหญ่ปีละ 2 ครั้งในเดือนเมษายนและตุลาคม พิธีกรรมมักจัดขึ้นหลังเวลา 2 ทุ่มเป็นต้นไปเพราะเชื่อว่าเป็นเวลาที่แมวใหญ่ออกหากิน ครั้นผู้คนมารวมตัวกันหน้าเทวาลัยวาโฆบา พราหมณ์ประจำหมู่บ้านจะบริกรรมคาถาบูชาวาโฆบาและเทพเจ้าองค์ต่างๆ ก่อนถวายเนื้อสัตว์ที่เพิ่งฆ่าเซ่นไหว้ให้องค์เทพพอใจ พิธีบูชาวาโฆบากินเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น และในระหว่างนั้น ชาวอาทิวาสีมักได้ยินเสียงคำรามของเสือป่าคลอเสียงสวดภาวนาของชาวบ้าน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของทุกคนในชุมชน
ภาพที่ 2 รูปเคารพวาโฆบาในรัฐมหาราษฏระ
แหล่งที่มาภาพ: Nair, Ramya. A Waghoba shrine at Varwade in Talasari, Maharashtra. (2021). [Online]. Accessed 2023 Mar 16. Available from: https://india.mongabay.com/2021/10/worshipping-waghoba-faith-meets-conservation-in-maharashtra-where-humans-and-leopards-share-space/
นอกจากชาววารลีแล้ว การบูชาวาโฆบายังปรากฏให้เห็นในชุมชนอาทิวาสีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวเวลิป (Velip) แห่งรัฐกัว ชาวฑางคี (Dangi) แห่งรัฐคุชราต และชาวธันคาร์ (Dhangar) แห่งรัฐมหาราษฏระ ในอดีตเหล่าพรานไพรล้วนกราบไหว้เทพแมวใหญ่ก่อนเข้าป่า โดยเชื่อว่าวาโฆบาจะคุ้มภัยจากสัตว์ร้ายแก่พวกตน ในขณะเดียวกัน วาโฆบายังถูกบูชาในฐานะเทพเจ้าแห่งการเยียวยา ชาวบ้านที่บาดเจ็บมักนำแผ่นไม้มาแกะสลักเป็นรูปมือ เท้า หรืออวัยวะที่มีปัญหา ก่อนนำไปวางด้านนอกเทวาลัยวาโฆบา พวกเขาเชื่อว่าเจ้าป่าจะปัดเป่าความเจ็บปวดให้หายไป บริเวณหน้าเทวาลัยจึงเต็มไปด้วยมือเท้าไม้แกะสลักมากมาย ไม่ต่างอะไรกับไก่แก้บนหน้าศาลตายายในประเทศไทยเรา
ภาพที่ 3 มือเท้าไม้แกะสลักข้างเทวาลัยวาโฆบา
แหล่งที่มาภาพ: Athreya, Vidya. The wooden hands and legs are kept near the deity in belief that ailments would be cured. (2018). [Online]. Accessed 2023 Mar 16. Available from: https://www.deccanherald.com/national/worship-waghoba-symbol-tolerance-675265.html
อย่างไรก็ดี แม้ว่าชาวอาทิวาสีจะเคารพนบนอบเทพแมวใหญ่ ทว่าการใช้ชีวิตในพงไพรก่อให้เกิดปัญหาระหว่างคนและสัตว์ป่าอย่างห้ามไม่ได้ หลายครั้งที่ชาวบ้านพลั้งมือสังหารเสือป่าที่เข้ามาบุกรุกที่ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พราหมณ์หรือ “ภคัต (Bhagat)” คนทรงวาโฆบาประจำหมู่บ้านจะนำคนในชุมชนไปขอขมาหน้า
เทวาลัยวาโฆบา ชาวอาทิวาสีเชื่อว่าหากแมวใหญ่ถูกฆ่าไม่ว่าจะเป็นเพราะความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วิญญาณ
วาโฆบาจะสาปส่งคนทั้งชุมชน ด้วยเหตุนี้การขอขมาเจ้าป่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น ก่อนที่เทพแมวใหญ่จะอาละวาดเข่นฆ่าคนในหมู่บ้านดังเช่นในตำนานที่เล่าขานกันสืบมา
นอกเหนือจากตำนานวาโฆบาทางตะวันตกของประเทศ ชาวอาทิวาสีในพื้นที่ต่างๆ ล้วนมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับแมวใหญ่ “ชาวคาโร (Garo)” ในรัฐอัสสัมและเมฆาลัย (Meghalaya) นิยมสวมใส่จี้ทองคำรูปเล็บเสือ โดยเชื่อว่ากรงเล็บของเสือป่ามีอำนาจในการคุ้มภัย เช่นเดียวกับ “ชาวเผ่าอิรุลา (Irula)” ในรัฐทมิฬนาฑูที่เชื่อว่าการบูชาแมวใหญ่จะช่วยปกปักษ์หมู่ชนจากผีร้าย ความเชื่อดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้ในอดีตการบูชาแมวใหญ่จะก่อเกิดจากความหวาดกลัวสัตว์ป่าของผู้คน ทว่าเมื่อเวลาผ่านพ้น ความครั่นคร้ามก็กลับกลายเป็นความผูกพัน หากชีวิตของชาวป่าไม่อาจแยกจากธรรมชาติ พวกเขาก็จำเป็นต้องยอมรับการมีอยู่ของสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร หรือแม้แต่สัตว์นักล่าก็ตาม ด้วยเหตุนี้เทพเจ้าวาโฆบาและคติบูชาแมวใหญ่จึงยังคงปรากฏให้เห็นในชมพูทวีปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นหลักฐานของความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกจากระหว่างนราและสัตว์ป่าที่ยังคงยืนยงสืบไปตราบนานเท่านาน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Athreya, Vidya et al. Monsters or Gods? Narratives of large cat worship in western India, Cat News
Vol. 67: 23 – 26. Bern: Stämpfli Publikationen AG, 2018
Athreya, Vidya et al. Waghoba tales: Adventures in Leopard Land. Trondheim: Norwegian Institute
for Nature Research (NINA), 2014.
Nair, Ramya et al. Sharing Spaces and Entanglements with Big Cats: The Warli and Their Waghoba
in Maharashtra, India, Frontiers in Conservation Science Vol. 2. Lausanne: Frontiers in Conservation Science, 2021.