Museum Core
“ไม้จิ้มฟัน” สำคัญไฉน ?
Museum Core
31 ต.ค. 66 2K

ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ แสงพันธ์

               วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ในหลายภูมิภาคของไทยมีการจัดงานวันเข้าพรรษาที่บางแห่งอาจใช้ระยะเวลาหลายวัน ก่อนถึงวันเข้าพรรษาพุทธศาสนิกชนจะนิยมนำสิ่งของไปถวายให้พระสงฆ์เพื่อใช้ในช่วงระหว่างการเข้าพรรษา ได้แก่ ผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษา รวมถึงอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างอย่างหลอดไฟ แผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น ทั้งนี้ มีอีกสิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะชาวอีสานและชาวเหนือนิยมนำไปถวายพระสงฆ์ นั่นก็คือ “ไม้จิ้มฟัน”

 

ภาพที่ 1 ไม้เจียฟัน

แหล่งที่มาภาพ: เพจโค้วตังเซียงสังฆภัณฑ์ https://web.facebook.com/photo?fbid=1673688152713851&set=pcb.1673688812713785&locale=th_TH

 

               “ไม้จิ้มฟัน หรือ “ไม้เจียฟัน” ที่นิยมถวายให้พระนั้น โดยเฉพาะพระสายกรรมฐานและวัดป่า ไม่ได้มีลักษณะเหมือนไม้จิ้มฟันที่ขายทั่วไป หากแต่ทำมาจากลำต้นของ “ต้นคนทา” บางถิ่นเรียก “โกนทา” โดยนำมาเหลาจนเห็นเนื้อไม้สีขาว เรียวยาว ประมาณ 4-6 นิ้ว ปลายด้านหนึ่งแหลมเพื่อใช้แคะฟัน ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งทำเป็นพู่ขนาดเล็ก สำหรับใช้เช็ดและขัดฟัน สันนิษฐานว่าด้วยลักษณะการใช้สอยดังกล่าวจึงเรียกว่าไม้ “เจีย” ซึ่งน่าจะมีนัยยะเช่นเดียวกับการเจียโลหะที่เป็นลักษณะทำให้ผิวของโลหะเรียบด้วยวิธีขัดหรือกลึง เพราะพู่ของไม้เจียก็ใช้ขัดฟันให้สะอาดได้เช่นกัน

 

ภาพที่ 2 ไม้คนทา

แหล่งที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Stems_and_%27cat%27s_claw%27_spines_in_Cat_tien_National_Park.jpg?fbclid=IwAR03NFP_gSFb8XMpe-tiNggrlYQN5ER_kWKuL-EeSHZQR8hQRVpft5zTOYs

 

               จากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า “คนทา” เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายประการ โดยเฉพาะส่วนของลำต้นที่นำมาทำไม้เจียฟันนั้นมีรสขมเฝื่อน และมีฤทธิ์ในการแก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ และแก้ท้องเสีย นับว่าเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ได้เลือกนำเอาไม้คนทามาประดิษฐ์เป็นไม้จิ้มฟันสำหรับใช้ทำความสะอาดฟัน และยังมีสรรพคุณทางยาในตัว ดังนั้น ไม้จิ้มฟันจึงนับเป็นสิ่งใช้สอยที่สำคัญมากสำหรับพระสายกรรมฐานหรือพระธุดงค์ที่ออกเดินทางไปปฏิบัติธรรมในป่า เพื่อใช้รักษาสุขภาพฟันและช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ

               “ไม้จิ้มฟัน” เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง หากภิกษุรูปใดไม่รักษาความสะอาดของช่องปาก ปล่อยให้มีกลิ่นปากนั้นถือว่ามีโทษ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุใดที่ไม่เคี้ยว “ไม้ชำระฟัน” (ทันตกัฏฐ) ย่อมมีโทษ 5 ประการ ได้แก่ ตาฝ้าฟาง ปากเหม็น ประสาทรับรสของลิ้นไม่ดี น้ำดีและเสมหะหุ้มห่ออาหาร และเบื่ออาหาร ในขณะเดียวกันภิกษุใดที่เคี้ยวไม้ชำระฟันย่อมได้รับประโยชน์ทั้ง 5 ประการนั้น  

               กลิ่นปากเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะกิจกรรมของพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ต้อง
“สังฆกรรม” คือร่วมกันทำเป็นกลุ่ม ตั้งแต่การสวดมนต์เจริญจิตภาวนาไปจนถึงวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ดังนั้น การไม่รักษาความสะอาดของช่องปาก ปล่อยให้ตัวเองมีกลิ่นปากย่อมทำให้เกิดอุปสรรคในการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างแน่นอน ดังที่สมัยหนึ่งมีพระภิกษุไปทูลฟ้องพระพุทธเจ้าว่ามีพระบางรูปไม่เคี้ยวไม้ชำระฟัน ทำให้มีกลิ่นปาก พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติให้ภิกษุต้องเคี้ยวไม้ชำระฟันหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว

               ไม่น่าเชื่อว่าแม้กระทั่งการสอนให้ภิกษุรู้จักรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องสอนเช่นกัน เสมือนครูอนุบาลสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักการแปรงฟันให้ถูกต้องอย่างไรอย่างนั้น แต่การประกาศให้ภิกษุต้องเคี้ยวไม้ชำระฟันก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไป แต่นำมาสู่ปัญหาใหม่ คือ ไม้ชำระฟันติดคอ ดังที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก จูฬวรรค ขุททกวัตถุ ว่า วันหนึ่งมีพระภิกษุเคี้ยวไม้ชำระฟันขนาดสั้นเกินไป ทำให้ในระหว่างเคี้ยวนั้นไม้หลุดลงไปติดคอ พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติว่าห้ามภิกษุเคี้ยวฟันด้วยไม้ที่มีขนาดสั้นกว่า 4 องคุลีเป็นอย่างน้อย รูปใดเคี้ยวไม้สั้นกว่า 4 องคุลีย่อมอาบัติทุกกฎ (สำนักงานราชบัณฑิตยสภาอธิบายความหมายว่า “องคุลี” เป็นหน่วยวัดความยาวในสมัยโบราณที่ใช้ระยะของข้อปลายนิ้วชี้หรือข้อปลายนิ้วกลางก็ได้ในการวัด)

               กระนั้นปัญหาก็ยังมิวาย ด้วยพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เพียงความสั้นของไม้ชำระฟัน แต่มิได้บัญญัติถึงความยาวของไม้ชำระฟัน ทำให้วันหนึ่งภิกษุกลุ่ม “ฉัพพัคคีย์” ซึ่งเป็นกลุ่มภิกษุ 6 รูป ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ตัวตึง” ในสมัยพุทธกาล ผู้มักทำให้พระพุทธเจ้าเดือนร้อนใจอยู่เสมอได้เคี้ยวไม้ชำระฟันที่ยาวถึง 8 นิ้ว เคี้ยวเสร็จก็เที่ยวเอาไม้นั้นไล่ตีสามเณร จนสามเณรต้องวิ่งหนีไปทูลฟ้องพระพุทธเจ้า ทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ห้ามมิให้ภิกษุใช้ไม้เคี้ยวชำระฟันที่ยาวเกิน 8 นิ้ว และห้ามใช้ตีผู้อื่น รูปใดละเมิดต้องอาบัติทุกกฎ

               จากการเคี้ยวไม้ชำระฟันสู่การประดิษฐ์ไม้จิ้มฟันหรือไม้เจียฟันถวายพระในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำให้มีขนาดยาวตั้งแต่ 4 นิ้วแต่ไม่เกิน 8 นิ้ว ตามพระธรรมวินัย ด้วยเหตุนี้ ไม้จิ้มฟันจึงมีความสำคัญสำหรับพระภิกษุในการช่วยทำความสะอาดฟันและช่องปาก ซึ่งมีขั้นตอนการทำที่ต้องประณีตพิถีพิถัน ทั้งขนาดและคุณลักษณะไม้ที่มีสรรพคุณทางยา

               “ไม้จิ้มฟัน” อาจเป็นสิ่งที่ดูไม่สำคัญแต่มีเบื้องหลังเต็มไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรม ทั้งเรื่องเล่าทางพุทธศาสนา ภูมิปัญญาและประเพณีไทย หากใครที่สนใจสังเกตและศึกษาสิ่งรอบตัวในสังคมและวัฒนธรรมไทยเพิ่มขึ้น ก็อาจได้ค้นพบองค์ความรู้หรือเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย พร้อมกับความเข้าใจที่มาของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างดียิ่งขึ้น เฉกเช่นการศึกษาสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ไม้จิ้มฟัน” ก็เป็นได้

 

แหล่งอ้างอิง

- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  จาก https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=312

 

- สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=องคุลี-๒๗-เมษายน-๒๕๕๔


- โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม 7 หน้า 69-70 จาก https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=07&siri=19

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ