พิพิธภัณฑ์ฮันชินเพ็ตซู (Han Chin Pet Soo) ตั้งอยู่ในเมืองอิโปห์ (Ipoh หรือชื่อเดิมคือหมู่บ้านปาโลห์ (Paloh)) เมืองหลวงของรัฐเปรัค (Perak) ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอแง่มุมหนึ่งของชีวิตชาวเหมืองดีบุกในยุคที่การทำเหมืองรุ่งเรืองเฟื่องฟูในเขตคินตา (Kinta District)
ฮันชินเพ็ตซู หรือฮันชินวิลล่า (Han Chin Villa) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1893 เจ้าของคือ เหลียง ฟี (Leong Fee (1857-1912)) คหบดีชาวจีนฮากกา (Hakka หรือ จีนแคะ) ใครจะนึกว่าเพียงไม่กี่สิบปีก่อนหน้า เมืองอิโปห์ยังไม่เป็นอะไรเลยนอกจากชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำคินตา (Kinta river) ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้หนาทึบ และมีคนอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับไทผิง (Taiping) เมืองหลวงของรัฐเปรัคในขณะนั้น
ในปลายทศวรรษที่ 1870 เมื่อเหลียง ฟี กับพวกพ้องชาวจีนสิบกว่าชีวิตเดินทางอย่างยากลำบากจากเมืองปีนังมาถึงอิโปห์ ในตอนนั้นรัฐเปรัคเพิ่งกลับมาอยู่ในความสงบหลังจากซีรีส์ของการวิวาทสู้รบระหว่างกลุ่มสมาคมลับของชาวเหมืองจีนสองกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างมากในลารุต (Larut อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของคินตา) และยังมีอิทธิพลในเมืองสำคัญอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายูด้วย การจลาจลวุ่นวายนี้เรียกว่า สงครามลารุต (Larut Wars 1861-1874) แล้วต่อด้วยสงครามย่อยระหว่างอังกฤษกับผู้ปกครองท้องถิ่นของเปรัค (Perak War 1875-1876) ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของการเข้ามาครอบงำรัฐต่างๆ ในมลายูของอังกฤษ เมื่อยุติสงครามแล้วอังกฤษก็ใช้เมืองไทผิงซึ่งตั้งอยู่ในลารุตเป็นศูนย์กลางในการบริหารงาน และในปีค.ศ. 1876 นั้น เมืองอิโปห์ก็ปรากฏในแผนที่ของพวกอังกฤษเป็นครั้งแรกในชื่อ Epu
ในช่วงนั้นแหล่งแร่ดีบุกอันอุดมสมบูรณ์ในหุบเขาคินตา (Kinta Valley) ก็เช่นเดียวกับเมืองอิโปห์ คือแทบไม่เป็นที่รู้จัก กิจกรรมเหมืองแร่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในลารุตและในรัฐสลังงอร์ (Selangor) การขุดหาแร่กระจายเป็นหย่อมควบคุมกิจการโดยชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ในตอนนั้นจำนวนชาวเหมืองคนจีนในบริเวณหุบเขาคินตามีประมาณ 2,000 คน น้อยกว่าที่ลารุตถึง 10 เท่า เหลียง ฟีเริ่มงานเป็นเสมียนของเหมืองแห่งหนึ่ง ต่อมาก็มีเหมืองของตนเองอยู่ที่อัมปัง (Ampang) ไม่ไกลจากอิโปห์นัก กิจการเหมืองนี้ทำให้เขามีฐานะดีขึ้นมาก แต่โชคชะตาของเขาไม่ได้หยุดอยู่เท่านั้น
ภาพที่ 1 พิพิธภัณฑ์ใช้พื้นที่แคบๆ นำเสนอภาพการทำเหมืองในยุคนั้นได้ดีมาก
เนื่องจากมีดินดีพื้นที่ส่วนหนึ่งของหุบเขาคินตาก็มีการทำการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสซึ่งมาเผยแผ่ศาสนาก็ชักชวนชาวจีนทำสวนผักที่ชาวจีนมีความชำนาญอยู่แล้ว ต่อมาอังกฤษก็มาส่งเสริมให้ปลูกพืชเพื่อการพาณิชย์ เช่น พริกไทย ชา กาแฟ มะพร้าว และยางพารา มีผู้บันทึกไว้ว่าก่อนที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุกกันอย่างขนานใหญ่นั้น แถบนี้มีพืชผักที่อุดมสมบูรณ์และชีวิตก็ดำเนินไปอย่างสงบแบบสังคมเกษตรกรรม เมื่อมีการพบแร่มีค่า เกษตรกรจำนวนมากก็ร่ำรวยจากการขายที่ดินให้แก่คนทำเหมือง ส่วนพืชผักที่ใช้บริโภคก็ลดน้อยลงและมีราคาแพงขึ้น
ในปีค.ศ.1896 เหลียง ฟี ร่วมหุ้นกับ เอฟ เจ บี ไดค์ (F.J.B. Dykes) ชาวอังกฤษ ซื้อที่ดิน 358 เอเคอร์ (ประมาณ 905 ไร่) ที่ตัมบุน (Tumbun อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับอัมปังที่เขาทำเหมืองอยู่) เพื่อทำไร่กาแฟ ผ่านไปหลายปีไร่กาแฟไม่สร้างผลตอบแทนเท่าที่ควร ผู้ร่วมหุ้นชาวอังกฤษจึงขายหุ้นส่วนของตนให้แก่เหลียง ฟี มีคนทำเหมืองมาขอซื้อที่ดินเกษตรกรรมผืนนี้ แต่เหลียง ฟีผู้มองการณ์ไกลไม่ขาย ในปี ค.ศ.1900 เขาเริ่มสำรวจหาแร่ดีบุกในที่ดินและเปิดเหมืองขึ้นในปี ค.ศ.1902 ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี เหมืองแห่งนี้ของเหลียง ฟี ได้สร้างสถิติการผลิตแร่ได้สูงที่สุดจากเหมืองเดียว เมื่อยิ่งร่ำรวยขึ้น เหลียง ฟี ผู้มีจิตใจกว้างขวางไม่เพียงแต่สร้างสถานบันเทิงเท่านั้น เขายังสร้างสาธารณะประโยชน์อีกมาก เช่น ศาลเจ้า โรงเรียน โรงละคร และสนับสนุนงานด้านศิลปะวัฒนธรรม
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1880 เป็นต้นมา การทำเหมืองดีบุกในคินตาก็เจริญขึ้นเป็นลำดับ ชาวเหมืองเคลื่อนย้ายจากเหมืองที่ลารุตลงมายังหุบเขาคินตามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับชาวจีน ชาวยุโรป และชาวอินเดียที่เข้ามาจากภายนอกจนเมืองอิโปห์กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ในปีค.ศ. 1892 เกิดไฟไหม้ใหญ่ในเมืองอิโปห์ ทำให้เป็นโอกาสในการปรับผังเมืองใหม่ ตัดถนนให้เป็นบล็อกดังที่เห็นในปัจจุบัน ตัวเมืองและอาคารไม่ได้เนรมิตขึ้นมาในขณะนั้น อาคารส่วนใหญ่ค่อยๆ สร้างขึ้นภายหลังทศวรรษที่ 1900 แต่คลับเฮาส์ชาวเหมืองของเหลียง ฟี นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1893 บนถนนเทรชเชอร์ (Treacher Street ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นถนนจาลัน บิจิห์ ทิมาห์ Jalan Bijih Timah) เหลียง ฟี ระดมทุนจากชาวเหมืองที่มั่งคั่งเพื่อสร้างฮันชินเพ็ตซู (แปลว่า วิลล่าแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริง) เขาใช้เงินทุนของตัวเองในการจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด และยังให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ มาโดยตลอด
ภาพที่ 2 ห้องครัวที่ทำอาหารให้แก่สมาชิกคลับเฮาส์
ฮันชินเพ็ตซูเป็นคลับที่เปิดให้บริการแก่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ชาวเหมืองผู้มั่งคั่ง ต่อมาได้อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือในสาขาอาชีพอื่นๆ เข้าเป็นสมาชิกได้ด้วย หลังจากเหลียง ฟี ถึงแก่กรรมลง ลูกชายของเขาได้ดูแลต่อมาจนถึงปี ค.ศ.1927 จึงได้ขายกิจการในราคามิตรภาพให้แก่สมาชิกรับไปบริหารจัดการ มีการปรับปรุงและขยายเนื้อที่ของอาคารจาก 2 ชั้นเป็น 3 ชั้น และแม้ว่าผ่านช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี ค.ศ.1930 กิจการของคลับเฮาส์ก็ยังดำเนินไปได้ด้วยดี
ครั้นถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองคาบสมุทรมลายู ช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองอิโปห์ได้ใช้อาคารนี้เป็นสโมสรสำหรับทหารญี่ปุ่น หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดสมาชิกได้กลับมารวมตัวกันและระดมทุนเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมคลับเฮาส์ที่ทรุดโทรมไปมากให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม ในปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่อราคาดีบุกตกต่ำลงมากจนเหมืองต่างๆ ต้องปิดกิจการลง สมาชิกก็เริ่มลดลงจำนวนลงด้วย คนรุ่นใหม่ก็มีวิถีชีวิตที่ต่างออกไป ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 มีผู้จดบันทึกข้อมูลว่ามีสมาชิกหลงเหลืออยู่ประมาณ 60 คน และคลับเฮาส์ที่เคยฟู่ฟ่าก็กลายเป็นสถานที่ที่เหล่าผู้สูงอายุใช้เป็นที่พักผ่อนพูดคุยกับเพื่อนๆ เงินที่ใช้ดำเนินการมาจากการบริจาคของสมาชิกเป็นรายเดือน
ในปี ค.ศ.2013 สมาชิกที่เหลือน้อยไม่พอที่จะบำรุงคลับเฮาส์ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงตกลงกันว่าควรปล่อยพื้นที่ให้เช่า โดยผู้เข้ามาเช่าคือ บริษัทอิโปห์เวิลด์ (Ipoh World) ได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการในปีค.ศ. 2015 มีอยู่ 3 ชั้นด้วยกัน
ภาพที่ 3 ลานด้านหลัง จำลองร้านรับซื้อแร่ดีบุก ซึ่งหญิงที่หาร่อนแร่ตามลุ่มน้ำก็นำมาขายได้
ชั้นล่าง (ground floor) เมื่อเข้าไปจะพบกับห้องโถงที่มีโต๊ะยาวตั้งอยู่กลางห้อง เป็นที่ที่สมาชิกพบปะสังสรรค์และรับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อเข้ามาในห้องนี้แล้วอย่าลืมชื่นชมกับเฟอร์นิเจอร์ กระจก โคมไฟ โดยเฉพาะพื้นห้องที่เก่าแก่และสวยงาม ห้องถัดไปจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการทำเหมืองที่นายเหมืองชาวจีนในยุคก่อน ในห้องเล็กด้านซ้ายมือจัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำเหมืองและมีสารคดีสั้นให้ดูด้วย ห้องถัดไปจัดแสดงเป็นห้องครัวในสมัยปีค.ศ. 1929 ส่วนลานด้านหลังอาคารจำลองสภาพชีวิตในจัตุรัสที่มีร้านรับซื้อดีบุกและการค้าขายต่างๆ รวมถึงภาพวาดจินตนาการทิวทัศน์รอบเมือง
ชั้นที่หนึ่ง (1st floor) จัดแสดงการพักผ่อนหย่อนใจในคลับเฮาส์ ในส่วนนี้เขาทำเป็นหุ่นจำลองบรรยากาศของกิจกรรมในสมัยนั้น ซึ่งนิทรรศการเรียกว่า ปิศาจทั้ง 4 ดูคล้ายกับอบายมุข 4 คือ การสูบฝิ่น หญิงงามเมือง การซ่องสุมของสมาคมลับ และการพนัน (ที่นี่ได้รับใบอนุญาตให้เปิดบ่อนได้) มีโต๊ะกำถั่วซึ่งเขายอมให้เราลองเล่นดูได้ พอเล่นไปครั้งหนึ่งก็เริ่มรู้สึกสนุกจนต้องรีบเดินหนี คนเราช่างสรรหาสิ่งง่ายๆ ที่เสพติดได้เร็วเหลือเกิน
ภาพที่ 4 นักร้องสาวชาวญี่ปุ่นที่เบื้องหลังคือการค้าประเวณี คารายูกิซัง (Karayuki-san) เธอมาถึงที่นี่
(และเมืองท่าทั่วเอเชียแปซิฟิค) ได้ด้วยการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19
จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นก้าวสู่สมัยใหม่และมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ชั้นที่สอง (2nd floor) สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ของชาวจีนเชื้อสายฮากกา ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นยิวแห่งเอเชีย มีนิทรรศการที่เล่าถึงการอพยพย้ายถิ่น 5 ครั้งของชาวฮากกาตั้งแต่คริสตวรรษที่ 2 และมีภาพถ่ายเก่าของถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวฮากกาในรูปแบบต่างๆ รวมถึง ถู่โหล่ว (Tulou) หรือตึกดินแห่งมณฑลฝู่เจี้ยน (Fujian คนไทยมักคุ้นกับคำว่า ฮกเกี้ยน มากกว่า) ซึ่งเป็นหมู่บ้านรูปทรงกลมที่สร้างบ้านซ้อนกันหลายชั้นคล้ายเป็นป้อมปราการในตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากผู้รุกราน กลุ่มของถู่โหลวที่ฝูเจี้ยนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย อันนี้ทำให้ผู้เขียนนึกอยากไปฝูเจี้ยนขึ้นมาทีเดียว นอกจากนั้นก็มีการจำลองห้องพักแขก และนิทรรศการภาพถ่ายรถยนต์ซึ่งสะท้อนไลฟ์สไตล์ของเศรษฐีในยุคนั้น และความเจริญของเมืองที่มีไฟถนน และไฟจราจรเป็นแห่งแรกของมาลายา
ก่อนออกจากพิพิธภัณฑ์ มีนิทรรศการขนาดเล็กเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของอาคาร และคติความเชื่อของการตกแต่งซุ้มประตูทางเข้าด้วยรูปนกยูง เมื่อเดินออกมาแล้วอย่าลืมถ่ายรูปเสานกยูงและด้านหน้าอาคารที่สวยงาม (อาจสวยงามกว่านี้ถ้าปรับปรุงป้ายพิพิธภัณฑ์)
ผู้เขียนรู้สึกว่าการเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นการแนะนำให้เราเริ่มทำความรู้จักเมืองอิโปห์ได้เป็นอย่างดี การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ต้องจองรอบเข้าชมล่วงหน้า โดยเข้าไปจองได้ในเว็บไซต์ของบริษัทอิโปห์เวิลด์ ซึ่งมีคนนำชมให้ด้วย https://www.ipohworld.org