“คุก” หรือเรือนจำคงเป็นภาพจำที่ลอยขึ้นมาหากจะเชิญชวนใครไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ หลายคนอาจนึกภาพแห่งการจองจำและการลงโทษ แต่กาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ณ พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์แห่งใหม่กลับสร้างความประทับใจให้ผู้ไปเยือนได้อย่างดีเพราะไม่ได้จัดแสดงแค่เรื่องเล่าในอดีต หากแต่พยายามทำให้ผู้เยี่ยมชมและสังคมได้รับรู้ถึงการสร้างโอกาสและภาพลักษณ์ใหม่เกี่ยวกับงานราชทัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าน้ำนนท์และมีที่จอดรถให้ การเยี่ยมชมก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ มีอาคาร 3 หลังที่จัดแสดงเรื่องราวแตกต่างกัน คือ อาคารหลังแรก จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยรวบรวมวัตถุเกี่ยวกับการลงโทษและวัตถุโบราณจากเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศมาจัดแสดงที่เรือนจำกลางบางขวาง จากนั้นในปีพ.ศ.2542 ได้ย้ายไปจัดแสดงที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมานคร หรือคุกเก่าภายในสวนรมณีนาถ แล้วปิดทำการไปนานกว่า 8 ปี เพื่อย้ายมายังภายในบริเวณสถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เรือนจำราชทัณฑ์เปิดให้ประชาชนเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
ภาพที่ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์หลังที่สอง
อาคารหลังที่ 2 จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องพันธนาการ วิวัฒนาการการลงโทษของไทย กิจวัตรประจำวันของนักโทษ การฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขัง และพัฒนาการแก้ไขผู้ต้องขัง เมื่อเดินเข้าไปภายในอาคารชั้นแรกผู้เขียนได้เห็นเครื่องพันธนาการต่าง ๆ เช่น ขื่อ ตะโหงก กลังหรือคลัง คาไม้ไผ่ ค้อนตอกเล็บ ตรวนชนิดต่าง ๆ รูปแบบและขั้นตอนการประหารชีวิต รวมถึงเครื่องแบบของเพชฌฆาต เครื่องพันธนาการในการลงโทษหลายชนิดไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และชวนหดหู่ใจไม่น้อย
ในการจัดแสดงเล่าเรื่องวิวัฒนาการของการลงโทษตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน เริ่มจากลงโทษอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อตอบแทนให้สาสมกับความแค้น และเพื่อข่มขู่ยับยั้งให้กลัวและเข็ดหลาบ แล้วค่อยปรับไปตามหลักมนุษยธรรม ก่อนพัฒนาสู่การฟื้นฟูอบรมแก้ไขเพื่อคืนคนดีกลับสู่สังคม รูปแบบเครื่องมือที่ใช้ในการลงโทษในอดีตจึงมีลักษณะทารุณโหดร้ายหลากหลายรูปแบบที่สร้างความทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจจนถึงการประหารชีวิต
ภาพที่ 2 ภาพการลงโทษโดยใช้ตะขอเกี่ยวปาก
ภาพที่ 3 เสื้อเครื่องแบบเพชฌฆาตประหารด้วยปืนคนสุดท้าย นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์
หลังจากนั้นเมื่อขึ้นไปที่ชั้น 2 นิทรรศการเล่าเรื่องยุคที่สองของการลงโทษในไทย คือ ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการปรับปรุงระบบงานราชทัณฑ์ให้มีความก้าวหน้าขึ้น ด้วยการยกเลิกจารีตอันโหดร้ายและจัดระเบียบการคุกตะรางใหม่ มีการบัญญัติวิธีลงโทษผู้กระทำผิดอาญาแผ่นดินต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการจัดตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2458 นอกจากนี้ นิทรรศการยังบอกเล่าเรื่องราวกิจวัตรประจำวันของนักโทษ ตั้งแต่การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ การทำภารกิจส่วนตัว การพยาบาล และการเข้านอน ทั้งนี้ ในสมัยโบราณนอกจากนักโทษไม่ได้รับการดูแลเรื่องอาหารการกิน ไม่ได้รับเครื่องนุ่งห่มหลับนอนจากทางราชการแล้วยังถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนักโทษเพื่อนำไปจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่เจ้าพนักงานคุกด้วย
ภาพที่ 4 ลายพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
ภาพที่ 5 คุกพยาบาล
โซนถัดมาของชั้นที่ 2 เป็นนิทรรศการว่าด้วยยุคสมัยใหม่ของงานราชทัณฑ์ หรือยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 การราชทัณฑ์ไทยได้วิวัฒนาการเข้าสู่ยุคปัจจุบัน เริ่มจากการสร้างเรือนจำกลางบางขวางให้เป็นเรือนจำที่ทันสมัยในปี พ.ศ. 2477 แก้ไขเปลี่ยนแปลงการประหารชีวิตด้วยดาบเป็นการประหารชีวิตโดยใช้อาวุธปืน กำหนดหลักการลงทัณฑ์ให้สอดคล้องกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมและตามหลักการของอารยประเทศยิ่งขึ้น อีกทั้งได้กำหนดหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟูอบรมแก้ไขผู้กระทำผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้ โดยพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงทั้งผลงานจากการฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขังอย่างการประดิษฐ์ตะกร้าหวายและเครื่องจักรสานต่าง ๆ และการแสดงภาพถ่ายกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมละเล่นม้าส่งเมืองเพื่อผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้ต้องขังในปี พ.ศ. 2506 การขุดลอกท่อสาธารณะครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2523 และการแจกประกาศนียบัตรแก่ผู้ต้องขังที่สำเร็จการศึกษาผู้ใหญ่ภาคปลายในปี พ.ศ. 2506 ทำให้เห็นได้ชัดว่าวิวัฒนาการราชทัณฑ์ของไทยมีการเปลี่ยนผ่านจากการลงทัณฑ์อย่างทารุณเป็นการมุ่งเน้นแก้ไขเพื่อคืนคนดีกลับสู่สังคม
ภาพที่ 6 ผลงานการฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขัง และผลสำเร็จของการแก้ไขผู้ต้องขัง
เสร็จสิ้นโหมดวิชาการที่อัดแน่นไปด้วยความรู้และเรื่องราววิวัฒนาการของราชทัณฑ์แล้วอาคารสุดท้ายเป็นโซนร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ “หับเผย” ที่มีแนวคิดตามสโลแกนว่า “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ชั้นล่างเป็นร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานจากการฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขังจากราชทัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เครื่องจักรสาน สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ ที่ฝีมือสวยงามจนผู้เขียนต้องอุดหนุนซื้อสินค้าติดไม้ติดมือก่อนกลับบ้าน และเมื่อขึ้นไปบนชั้น 2 เป็นร้าน “หับเผย คาเฟ่” จำหน่ายเครื่องดื่ม และอาหารทานเล่น พร้อมที่นั่งชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นร้านกาแฟโดยผู้ต้องขังเพื่อเพิ่มโอกาสหลังการพ้นโทษ
ในการเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ผู้เขียนได้รับทั้งความรู้และแง่คิด แถมยังอิ่มกายจากคาเฟ่ และอิ่มใจจากการอุดหนุนสินค้า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้มุมมองต่องานราชทัณฑ์เปลี่ยนไปเพราะเรือนจำต้องไม่ใช่สถานที่ในการคุมขังเพื่อลงโทษเท่านั้น หากเป็นสถานที่เพื่อแก้ไขและให้โอกาสเพื่อนมนุษย์ในการกลับคืนสู่สังคมอีกด้วย
ภาพที่ 7 ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ “หับเผย”
ภาพที่ 8 แสดงสินค้าภายในร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ “หับเผย”