หลายคนเคยเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ว่า นาซีเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในค.ศ. 1945 และอาชญากรสงครามอย่างผู้นำพรรคนาซีและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรับโทษหลังการพิจารณาคดีเนิร์นแบร์ก (Nuremberg Trials) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานกฎหมายอาญาระหว่างประเทศในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพิจารณคดีคือ “หลักฐาน” เพื่อเอาผิดจำเลย โดยในการพิจารณาคดีเนิร์นแบร์ก ผู้พิพากษาได้พิจารณาหลักฐานหลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับพรรคนาซี ประจักษ์พยานอย่างผู้รอดชีวิตจากการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) รวมถึง “ภาพถ่าย” ที่สะท้อนความโหดร้ายของค่ายกักกันนาซีได้โดยไม่ต้องใช้จินตนาการ
ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากพาทุกคนมารู้จักฟรานซิสโก บัวซ์ (Francisco Boix) ช่างภาพชาวสเปนในค่ายเมาท์เฮาเซน (Mauthausen) ผู้เสี่ยงชีวิตขโมยฟิล์มเนกาทีฟนับพันออกมา และม้วนฟิล์มเหล่านี้เอง คือหลักฐานที่พิพากษาลงโทษผู้นำนาซี รวมถึงคืนความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิต ผู้รอดชีวิต และผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
จากทหารผ่านศึกสเปนวัย 19 ปี สู่ผู้ลี้ภัยในค่ายกักกันฝรั่งเศส-นักโทษในค่ายกักกันนาซีเยอรมนี
แผ่นป้ายหน้าอาคารซึ่งเป็นสถานที่เกิดของบัวซ์ในนครบาร์เซโลนา เมืองหลวงแคว้นกาตาลุญญา (Catalunya) ประเทศสเปน ได้สรุปชีวิตอันแสนสั้นของบัวซ์อย่างกระชับว่า
“Francesc Boix I Campo (บาร์เซโลนา 1920 - ปารีส 1951) ช่างภาพ นักสู้ต่อต้านฟาสซิสต์ นักโทษของเมาท์เฮาเซน และชาวสเปนหนึ่งเดียวที่ถูกเรียกให้เป็นพยาน เพื่อมอบหลักฐานเอาผิดผู้นำทหารของไรช์ที่สาม (Drittes Reich) ณ การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก”
บัวซ์เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงาน โดยคุณพ่อเปิดร้านตัดเสื้อที่เมื่อตกเย็นจะกลายเป็นที่ประชุมของชาวกาตาลันที่ฝักใฝ่ฝ่ายซ้าย นอกจากนี้พ่อของเขายังสะสมกล้องเก่าทำให้ตั้งแต่เด็กบัวซ์เติบโตมากับการใช้กล้องของพ่อถ่ายรูปสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แล้วนำฟิล์มมาล้าง-อัดในห้องครัวที่ถูกจัดให้เป็นห้องมืดจำเป็น เรียกได้ว่าเขาเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นเลยแม้แต่น้อย
สงครามกลางเมืองสเปนปะทุขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1936 ขณะนั้นบัวซ์อายุ 15 ปีและมีความชำนาญในการถ่ายรูปมากพอสมควร เขาเข้าร่วมกลุ่มเยาวชนสังคมนิยม (Unified Socialist Youth) แล้วทำหน้าที่เป็นช่างภาพให้กับนิตยสารคอมมิวนิสต์ที่แนวหน้าของสงคราม หลังทำงานในฐานะสื่อได้ราว 1 ปี บัวซ์ตัดสินใจจับอาวุธและสมัครเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพฝ่ายนิยมสาธารณรัฐเพื่อต่อสู้กับกองกำลังชาตินิยมฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโก (Francisco Franco) แต่พวกเขาก็พ่ายแพ้ให้กับฝ่ายชาตินิยมในค.ศ. 1939 ส่งผลให้ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐกว่า 440,000 คน รวมถึงบัวซ์ในวัย 19 ปี ต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศส
แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับส่งพวกเขาไปอยู่รวมกันในค่ายกักกันซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตเพราะความหิวโหย ความหนาว และโรคบิด โดยบัวซ์และสหายชาวสเปนต้องการหาทางออกจากค่ายและหลีกเลี่ยงชะตากรรมเช่นนั้นจึงยอมสมัครเป็นแรงงานต่างชาติไปช่วยสร้างป้อมปราการ ณ แนวป้องกันมาฌีโน (Ligne Maginot) เพื่อรับมือกับกองทัพนาซีเยอรมนีที่เตรียมบุกฝรั่งเศส
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด นาซีเยอรมนีบุกฝรั่งเศสได้สำเร็จ กลุ่มแรงงานต่างชาติที่บัวซ์เป็นส่วนหนึ่งถูกจับกุมอย่างรวดเร็ว และด้วยอุดมการณ์ที่เอนเอียงไปทางฝ่ายซ้ายของผู้ลี้ภัยชาวสเปน พวกเขาจึงถูกมองว่าเป็น “ศัตรูทางการเมือง” ของพรรคนาซี ทั้งซ้ำร้ายรัฐมนตรีต่างประเทศสเปนภายใต้ระบอบเผด็จการฟรังโกยังเข้าพบพรรคนาซีเพื่อประกาศถอนสัญชาติสเปนของพวกเขาทั้งหมด และกำชับพรรคนาซีให้ใช้แรงงานพวกเขาอย่างหนักจนถึงแก่ความตาย
บัวซ์ถูกส่งตัวไปยังค่ายต่าง ๆ ของนาซี ก่อนถูกส่งมายังค่ายเมาท์เฮาเซน ประเทศออสเตรีย ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1941 เมาท์เฮาเซนถูกจัดประเภทให้เป็นค่ายสำหรับ “ศัตรูทางการเมืองที่เกินเยียวยาของอาณาจักรไรช์” และนักโทษในค่ายต้องถูกกำจัดทิ้งผ่านการบังคับใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองหิน หรือประกอบชิ้นส่วนเพื่อผลิตอาวุธให้แก่นาซี ซึ่งพวกเขาต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ตะวันโผล่พ้นขอบฟ้าจนตะวันลับขอบฟ้า ด้วยสภาพการทำงานเช่นนี้ทำให้จำนวนนักโทษกว่า 200,000 คนที่ต้องเดินผ่านประตูค่ายแห่งนี้เข้าไป กว่าครึ่งของทั้งหมดไม่มีชีวิตรอดออกมา
จากงานอดิเรกในวัยเด็ก สู่อาชีพหนึ่งเดียวในค่ายที่บันทึกความจริงอันแสนโหดร้ายได้
แต่โชคยังพอเข้าข้าง บัวซ์ได้เรียนรู้ภาษาเยอรมันระดับพื้นฐานระหว่างที่ถูกส่งไปค่ายต่าง ๆ ของนาซี เขาจึงได้เริ่มทำงานเป็นล่ามในค่ายแทนการใช้แรงงานอย่างหนัก และโยกมาทำงานที่ห้องมืด ภายใต้แผนกบริการระบุตัวตนของเมาท์เฮาเซนด้วยทักษะการถ่ายรูปที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก
ภายในค่ายเจ้าหน้าที่หน่วย SS (Schutzstaffel) จะถ่ายรูปเพื่อบันทึกสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งใบหน้าของนักโทษทุกคนที่เข้ามาอยู่ในค่ายนี้ ทุกการตาย และทุกการเยือนค่ายของเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูง ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นรูปภาพสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อของพรรค ซึ่งบัวซ์มีหน้าที่ในการล้างฟิล์มเนกาทีฟที่บันทึกภาพเหล่านี้
แต่แล้วก็มีคำสั่งจากทางพรรคให้ทำลายหลักฐานภาพถ่ายทุกชิ้นที่สะท้อนถึงอาชญากรรมอันเหี้ยมโหดในค่ายกักกัน หลังกองทัพนาซีเยอรมนีเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ณ ศึกสตาลินกราด (Stalingrad) เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 นับเป็น “จุดเปลี่ยน” ของสงครามที่นำพาพรรคนาซีไปสู่ความพ่ายแพ้ในค.ศ. 1945 ในที่สุด
ภาพที่ 2: ค่ายเมาท์เฮาเซนได้รับการปลดปล่อยจากนาซีเยอรมนี
แหล่งที่มาภาพ: https://collections.ushmm.org/search/catalog/pa5632
ถึงกระนั้นบัวซ์และเพื่อนนักโทษชาวสเปนก็ปฏิเสธทำตามคำสั่ง และเริ่มปฏิบัติการแอบขโมยฟิล์มเนกาทีฟเพื่อเก็บรักษาหลักฐานของความจริงอันแสนเลวร้ายที่เกิดขึ้นในค่าย พวกเขาทำสำเนาของฟิล์มเนกาทีฟไว้มากที่สุดเท่าที่ทำได้แล้วนำไปเย็บติดกับเสื้อของนักโทษอายุน้อยที่ต้องออกไปใช้แรงงานนอกค่าย นักโทษหนุ่มเหล่านี้จึงเอาฟิล์มเนกาทีฟไปให้กับแอนนา พอยท์เนอร์ (Anna Pointner) หญิงชาวออสเตรียที่ร่วมมือกับพวกเขา โดยเธอได้ซ่อนฟิล์มไว้หลังก้อนหินในสวนของบ้านเพื่อไม่ให้ถูกจับได้หากเจ้าหน้าที่หน่วย SS เข้ามาตรวจค้น โชคดีที่พวกเขาไม่เคยถูกจับได้ และในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1945 หลังสหรัฐฯ ปลดปล่อยค่ายเมาท์เฮาเซน ฟิล์มเนกาทีฟกว่า 3,000 ชิ้นมีชีวิตรอดออกมาจากค่ายมรณะแห่งนี้ได้ด้วยความกล้าหาญของทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาความจริง
จากนักโทษหลังกล้อง สู่พยานศาลที่ยืนประจันหน้าอาชญากรสงคราม
การพิจารณคดีเนิร์นแบร์กเริ่มขึ้นในช่วงปลายปีค.ศ. 1945 โดยศาลได้ส่งหมายเรียกให้บัวซ์ไปเป็นพยานในเดือนมกราคม ค.ศ. 1946 บัวซ์เดินทางไปเป็นพยานศาลพร้อมกับฟิล์มเนกาทีฟที่มี เขาอธิบายการใช้แรงงานเยี่ยงทาส การที่เจ้าหน้าที่หน่วย SS ได้เงินโบนัสหากยิงคนยิวได้ การประหารต่อหน้าสาธารณะที่บังคับให้นักโทษชาวยิปซีมาเล่นดนตรีเพื่อทำให้การประหารดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
ภาพถ่ายของเขาเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูง (1) ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) มือขวาฮิตเลอร์ ผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงในการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (2) แอ็นสท์ คัลเทินบรุนเนอร์ (Ernst Kaltenbrunner) เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้มีส่วนสำคัญในการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ และ (3) อัลแบร์ท ชแปร์ (Albert Speer) สถาปนิกมือหนึ่งของนาซีเคยปรากฏตัวที่ค่ายเมาท์เฮาเซน
ภาพที่ 3: หลักฐานว่าเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูงเคยมาที่ค่ายเมาท์เฮาเซน
คัลเทินบรุนเนอร์อ้างว่าเขาไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของค่ายกักกัน ภาพถ่ายที่บัวซ์ขโมยนำออกมาจากค่ายจึงเป็นหลักฐานสำคัญสะท้อนว่าคัลเทินบรุนเนอร์ให้การเท็จ และเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูงรับรู้ถึงการมีอยู่ของค่ายเหล่านี้ ท้ายที่สุด คัลเทินบรุนเนอร์ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต และชแปร์ถูกตัดสินให้จำคุก 20 ปีด้วยความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
แม้ตัวจากไปแต่มรดกที่ทิ้งไว้ยังอยู่ตลอดกาล
เนื่องจากนายพลฟรังโกผู้นำเผด็จการสเปนยังคงอยู่ในอำนาจต่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บัวซ์ และชาวสเปนฝ่ายนิยมสาธารณรัฐจึงไม่สามารถกลับบ้านเกิดของตนได้ จึงย้ายไปตั้งถิ่นฐานในกรุงปารีสแทน ในครั้งนี้พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นต่างจากครั้งก่อนในปีค.ศ. 1939 ที่ถูกส่งไปยังค่ายกักกัน
แม้ผ่านอะไรมากมาย แต่บัวซ์ยังไม่วางมือจากการถ่ายภาพและไม่ละทิ้งอุดมการณ์ของตนเอง เขาทำงานเป็นช่างภาพที่ทำข่าวให้กับหนังสือพิมพ์หลายเจ้า ได้แก่ เรอการ์ (Regards) ลูมานิเต้ (L’Humanité) และเซอซัวร์ (Ce Soir) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส นอกจากนี้เขายังถ่ายภาพเพื่อทำข่าวเกี่ยวกับสหายคอมมิวนิสต์ชาวสเปนในฝรั่งเศสที่ระดมเสียงสนับสนุนเพื่อต่อต้านนายพลฟรังโก สะท้อนให้เห็นว่าบัวซ์ในวัย 20 กว่าปีก็ยังคงมุ่งมั่นต่อสู้กับระบอบฟาสซิสต์ต่อไปผ่านการถ่ายภาพเช่นเดียวกับตอนอายุ 15 ปี
บัวซ์เสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1951 ในวัยเพียง 30 ปี จากวัณโรคที่เขาน่าจะติดเชื้อมาจากช่วงชีวิตในค่ายเมาท์เฮาเซน แม้วีรบุรุษผู้นี้จากโลกไปก่อนวัยอันควร แต่มรดกที่เขาทิ้งไว้ ซึ่งก็คือภาพถ่ายที่ถูกขโมยออกมาเพื่อเปิดโปงความจริง และเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการพิพากษาผู้นำนาซีถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีโดยสมาคมมิตรแห่งเมาท์เฮาเซน (Amical de Mauthausen) ที่ตั้งขึ้นโดยอดีตนักโทษเมาท์เฮาเซนชาวสเปน และเป็นเครื่องเตือนใจให้กับคนรุ่นหลังว่าจงอย่าลืมอาชญากรรมโหดร้ายเหล่านี้ที่เคยเกิดขึ้น และต่อสู้ในทางของตนเองเพื่อไม่ให้มันซ้ำรอยเช่นเดียวกับที่บัวซ์ทำ
แหล่งค้นคว้าอ้างอิง
Alice Moldovan, “Photo Album that Helped Convict Mauthausen’s Nazi War Criminals Unearthed in Australia,” ABC News, April 28, 2019, https://www.abc.net.au/news/2019-04-28/secret-photo-album-that-caught-a-nazi/11043236.
Andrew Ruppenstein, “Francesc Boix i Campo,” The Historical Marker Database, February 3, 2023, https://www.hmdb.org/m.asp?m=197616.
Ben Mannings, “Francesc Boix: The Man Who Stole Photographs from the Nazis,” History Right Now, October 26, 2018, https://historyrightnow.com/francesc-boix/.
Daily Sabah, “Mauthausen: The ‘Camp of No Return’ that Built the Third Reich,” May 1, 2015, https://www.dailysabah.com/history/2015/05/01/mauthausen-the-camp-of-no-return-that-built-the-third-reich.
Federico Giannini and Ilaria Baratta, “The music that accompanied the horror of Mauthausen and the photographer who saved it,” Finestre sull’ Arte, January 27, 2018, https://www.finestresullarte.info/en/works-and-artists/the-music-that-accompanied-the-horror-of-mauthausen-and-the-photographer-who-saved-it.
Nick Lloyd, “Capturing Evil – Francesc Boix,” Metropolitan Barcelona, November 30, 2010, https://www.barcelona-metropolitan.com/features/capturing-evil/.
Tereixa Constenla, “The Spanish Photographer Who Captured the Horrors of Mauthausen,” El Pais, May 12, 2015, https://english.elpais.com/elpais/2015/05/11/inenglish/1431348909_486618.html.