Museum Core
ชมพุทธศิลป์แห่งศรัทธาผ่านพระพุทธรูปในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
Museum Core
04 ส.ค. 66 462
ประเทศไทย

ผู้เขียน : เตชวัน ปัญญาวุฒิธรรม

               พระพุทธรูป นับเป็นงานพุทธศิลป์ที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนา และเป็นหนึ่งองค์ประกอบของพระรัตนตรัย ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อประดับไว้ในบวรพระพุทธศาสนาและเป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป นอกจากวัดวาอารามแล้ว พิพิธภัณฑ์นับเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เรามักพบเห็นพระพุทธรูปอันเป็นโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่สำคัญของชาติ

              ทั่วประเทศไทยมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมากกว่า 40 แห่งที่มีพระพุทธรูปเป็นวัตถุจัดแสดงที่สำคัญและล้วนมีประวัติความเป็นมา ความงดงามที่แตกต่างกันไปตามการจัดสร้าง ช่วงสมัย และศิลปะที่ใช้ในการรังสรรค์ ซึ่งหากต้องการเยี่ยมชมให้ครบคงจำเป็นต้องใช้เวลาหลายวันเพื่อเดินทางไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้น ๆ เอง ทว่า เนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา ในปีนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” โดยรวบรวมพระพุทธรูปสำคัญจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศนำมาจัดแสดงไว้ให้ชมในนิทรรศการเดียว

 

 

ภาพที่ 1 บริเวณทางเข้านิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

 

               นิทรรศการเรื่องพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งภายในนิทรรศการได้มีการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่คตินิยมในการสร้างพระพุทธรูปแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตำนานการสร้างพระพุทธรูป ลำดับเหตุการณ์ของการเกิดพระพุทธรูปในห้วงสมัยต่าง ๆ ตลอดจนคติที่ปรากฏผ่านประติมานวิทยาขององค์พระพุทธรูปอย่างการแสดงมุทราหรือการแสดงท่าทางของมือ มหาบุรุษลักษณะ และการบอกเล่าเหตุการณ์ผ่านปางต่าง ๆ โดยนำเสนอผ่านพระพุทธรูปสำคัญ จำนวนกว่า 81 องค์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกว่า 25 แห่งจากทั่วประเทศ

               พระพุทธรูปที่ได้รับการคัดเลือกมาจัดแสดงเป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีความงดงามโดดเด่นสะท้อนถึงศิลปะแห่งสกุลช่างและช่วงยุคสมัยต่าง ๆ รวมถึงคติธรรมที่สอดแทรกไว้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของพระพุทธรูปในประเทศไทย ซึ่งลำดับเวลาตามประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ตั้งแต่พระพุทธรูปรุ่นเก่าในประเทศไทย (พระพุทธรูปรุ่นแรกที่พบในดินแดนประเทศไทย) พระพุทธรูปในศิลปะทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี (เขมรในประเทศไทย) ล้านนา ล้านช้าง สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตลอดจนพระพุทธรูปในศิลปะอื่นอย่างศิลปะศรีลังกาแบบอนุราชปุระ หรือพระพุทธรูปศิลปะท้องถิ่นอย่างศิลปะภาคใต้ก็พบได้ในนิทรรศการนี้เช่นกัน

 

 

ภาพที่ 2 กลุ่มพระพุทธรูปโบราณจัดแสดงบนฐานชุกชีจำลอง

 

               ภายในนิทรรศการนี้นอกจากจะได้ชมพระพุทธรูปจากหลายห้วงสมัยในรูปแบบศิลปะที่หลากหลายแสดงเป็นปางต่าง ๆ ซึ่งมักคุ้นชินและพบเห็นได้ทั่วไปอย่างปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางประทานพร ปางยืน หรือปางไสยาสน์แล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางอื่นที่ไม่ค่อยพบเห็นทั่วไปอีกด้วย เช่น “พระพุทธรูปปางลมหลาว” จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ซึ่งเป็นพระพุทธรูปในศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 22 - 23 เพียงแค่ชื่อก็สร้างความน่าสนใจเป็นอย่างมาก พระพุทธรูปปางนี้เป็นพุทธปฏิมาที่พบเห็นได้น้อย ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เนื่องด้วยทรงเสด็จพระราชสมภพในเดือนมกราคมที่อยู่ในช่วงฤดูหนาว หรือพระพุทธรูปอีกปางหนึ่งที่พบเห็นได้ไม่บ่อย คือ “พระเจ้าเข้านิพพาน” ซึ่งเป็นประติมากรรมรูปพระหีบประดิษฐานพระพุทธสรีระที่แสดงปาฐิหาริย์เหยียดพระบาททะลุออกมาภายนอกพระหีบเพื่อให้พระมหากัสสปะบูชา และแวดล้อมไปด้วยพระสาวก 5 องค์ คือ พระอนุรุทธ พระอุบาลี พระมหากัสสปะ พระสุภัททะ และพระอานนท์ ซึ่งเป็นการสร้างตามคติบูชาเนื่องในพิธีอัฐมีบูชา โดยพระเจ้าเข้านิพพานองค์นี้นำมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25

 

 

ภาพที่ 3 พระพุทธรูปปางที่พบเห็นได้น้อย

(ซ้าย) พระพุทธรูปปางลมหลาว ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 22 - 23

(ขวา) พระเจ้าเข้านิพพาน ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25

แหล่งที่มาภาพ: https://www.finearts.go.th/main/view/42389-รายการโบราณวัตถุนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญ?type1=0

 

               นอกจากพระพุทธรูปกว่า 77 องค์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกว่า 25 แห่งแล้ว ภายในนิทรรศการนี้ยังมีพระพุทธรูปอีก 4 องค์ที่หาชมได้ยากยิ่ง ไม่สามารถหาชมได้จากพิพิธภัณฑ์ใด เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่เก็บรักษาไว้ในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ 21 - 22 เป็นพระพุทธรูปที่มีประติมานวิทยาอันจัดเป็นศิลปะอยุธยาอย่างแท้จริง ซึ่งได้มาจากกรุพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส พ.ศ. 2507 พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะล้านช้างยุคหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 - 25 กลุ่มฝีมือช่างพื้นบ้าน ลักษณะพิเศษของช่างฝีมือพื้นถิ่นอุบลราชธานี โดยได้รับมอบมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อปีพ.ศ. 2522 พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะสัจนิยมที่เริ่มปรากฏในพุทธศิลป์ไทยมาตั้งแต่ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 และได้รับมอบมาจากคุณถนอม ไกรฤกษ์ และ พระพุทธรูปทรงเครื่องมหาจักรพรรดิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 ซึ่งคุณโทชิโกะ อุรุชิมะ ชาวญี่ปุ่นมอบคืนโบราณวัตถุให้แก่ประเทศไทยในปีพ.ศ. 2555 โดยพระพุทธรูปองค์นี้สะท้อนถึงเทคนิควิทยาการใหม่ ๆ ในการสร้างพระพุทธรูปในไทย ด้วยการใช้กรรมวิธีหล่อที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีการนำโลหะทองล่ำอู่เขียว ซึ่งเป็นโลหะที่ใช้หล่อเรือกลไฟมาใช้แทนสัมฤทธิ์ (ทองม้าล่อ) หรือทองเหลือง และการใช้เทคนิคแม่พิมพ์หินสบู่ที่ทำให้ลวดลายละเอียดคมชัดสวยงาม

 

 

ภาพที่ 4 พระพุทธรูปจากคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

(ซ้ายบน) พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ 21 - 22

(ขวาบน) พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะล้านช้างยุคหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 - 25

(ซ้ายล่าง) พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25

(ขวาล่าง) พระพุทธรูปทรงเครื่องมหาจักรพรรดิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25

แหล่งที่มาภาพ: https://www.finearts.go.th/main/view/42389-รายการโบราณวัตถุนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญ?type1=0

 

 

               นิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญนอกจากทำให้ผู้เยี่ยมชมได้เข้าใจถึงคติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธรูป และยังได้ชมความงามของพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะพิเศษที่พบเห็นได้น้อยซึ่งอาจเป็นพระพุทธรูปที่หลายคนไม่เคยได้พบเห็นหรือรู้จักมาก่อน รวมถึงยังได้ชมพระพุทธรูปที่เก็บรักษาไว้เป็นพิเศษอีกด้วย

              นับได้ว่านิทรรศการนี้เป็นโอกาสอันดีที่ผู้สนใจงานพุทธศิลป์หรืองานประติมากรรมไทยไม่ควรพลาดชม ไปเยี่ยมชมเพียงนิทรรศการเดียวก็สามารถได้ชื่นชมพุทธโบราณวัตถุจาก 25 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจากทั่วประเทศ และยังได้ชื่นชมวัตถุจากคลังซึ่งน้อยครั้งที่จะนำออกมาจัดแสดงให้ได้เห็นกัน

              ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน - 10 กันยายน 2566 ระหว่างเวลา 9.00 - 16.00 น. ในวันพุธ - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) หรือสามารถรับชมและศึกษาเรื่องราวของพระพุทธรูปทั้ง 81 องค์ ได้ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร รายการโบราณวัตถุนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญ 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ