Museum Core
อนุสรณ์สถานกำแพงเบอร์ลิน
Museum Core
21 ก.ค. 66 985
ประเทศเยอรมันนี

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

ภาพปก : หน้าต่างแห่งความทรงจำ (Window of Remembrance) เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตที่กำแพงเบอร์ลิน
มุมซ้ายบนสุดคือ อีด้า ซิกมันน์ (Ida Siekmann) ผู้เสียชีวิตคนแรก

 

               อนุสรณ์สถานกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall Memorial) ตั้งอยู่ที่ถนนแบร์เนาเออร์ (Bernauer Straße) ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมูลนิธิกำแพงเบอร์ลิน (The Berlin Wall Foundation) 

               หลังจากกำแพงเบอร์ลินเริ่มปรากฏขึ้นในคืนวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1961 ถนนแบร์เนาเออร์ถูกกำหนดให้เป็นแนวกำแพง และกลายเป็นถนนที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ช่วงแรกๆ โดยตัวถนนอยู่ในเขตเบอร์ลินตะวันตก อาคารที่ตั้งอยู่ริมถนนจึงถูกตัดไปอยู่ในเขตเบอร์ลินตะวันออก มีประตูหน้าบ้านเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพง เท่ากับว่าคนที่เดินออกจากประตูหน้าบ้านของตัวเองก็ข้ามไปยังเบอร์ลินตะวันตกได้เลย จึงได้มีการก่ออิฐปิดช่องประตูหน้าต่าง รวมทั้งประตูห้องใต้ดิน เพียงไม่กี่วันถนนก็ได้เป็นข่าวชวนสลดไปทั่วโลกจากการที่มีนางพยาบาลวัยกลางคนกระโดดจากหน้าต่างชั้น 3 ของอาคารลงไปยังถนนและเสียชีวิต

               เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเขตชุมชนจึงไม่อาจจินตนาการโศกนาฏกรรมนี้เป็นการตายอย่างโดดเดี่ยว แท้จริงแล้วในช่วงวันแรกๆ มีผู้หลบหนีที่โดดลงมาเช่นนี้มากมายทำให้หน่วยดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยของเบอร์ลินตะวันตกไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากมาคอยกางเบาะ หรือตาข่ายรองรับผู้ที่กระโดดลงมา กรณีการเสียชีวิตของอีด้า ซิกมันน์ (Ida Siekmann) เป็นความพลาดพลั้ง ประวัติศาสตร์จารึกว่าเธอเป็นคนแรก (ที่ทราบชื่อ) ที่เสียชีวิตจากการหลบหนีข้ามกำแพงเบอร์ลิน

                ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เคยคิดว่ากำแพงเบอร์ลินเป็นกำแพง ก่อนหน้าที่จะมายังอนุสรณ์สถานแห่งนี้ และนึกว่ามันเป็นกำแพงยาวที่มีช่องเปิดผ่านแดน มีบังเกอร์และทหารเฝ้าเป็นจุด  อันที่จริงในวันแรกของการแบ่งเขตอย่างเร่งด่วนมีการวางแนวลวดหนามแล้วต่อมาจึงกั้นแบริเออร์หรือก่อกำแพงขึ้น แต่ข่าวการกระโดดจากตึกลงมายังถนนที่แพร่ไปทั่วโลกทำให้รัฐบาลเยอรมันตะวันออกทนไม่ได้ จึงสั่งให้ทุบบ้านและอาคารตามแนวกำแพงทิ้ง เกิดเป็นแถบพื้นที่ว่างคล้ายแนวกันชน (No man’s land) ในสนามรบ  สิ่งที่เรียกรวมกันว่ากำแพงเบอร์ลินจึงประกอบด้วยกำแพงชั้นนอก (outer wall) คือกำแพงด้านที่ติดกับเบอร์ลินตะวันตก, แถบพื้นที่ว่างซึ่งมีแนวทางเดินลาดตระเวนของทหารและสุนัขทหาร, หอสังเกตการณ์, ไฟแสงสว่าง, สิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น ขวาก พรมเหล็กแหลม กับระเบิด ปิดท้ายด้วยกำแพงชั้นใน (inner wall) กั้นด้านเบอร์ลินตะวันออก แถบแนวกันชนของกำแพงเบอร์ลินมีความกว้างไม่สม่ำเสมอกันตั้งแต่ 70 เมตร ไปจนถึง 500 เมตร สภาพในแนวกันชนนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะเพื่อพัฒนาความสามารถในการกีดขวางและกำจัดผู้หลบหนี

 

 

ภาพที่ 1 : แนวกำแพง หรือ แถบแห่งความตาย (The Death Strip) ด้านซ้ายคือหอสังเกตการณ์

ด้านหลังจะเห็นว่าเป็นสุสานซึ่งอยู่มาก่อนจะเกิดกำแพง ภาพนี้ถ่ายจากหอสูงที่สร้างขึ้นข้าง

ศูนย์เอกสาร เพื่อให้ขึ้นไปชมภาพมุมกว้างของอนุสรณ์สถาน 

 

อนุสรณ์สถาน

              อนุสรณ์สถานกำแพงเบอร์ลินตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ขนานไปกับถนนแบร์เนาเออร์ การอนุรักษ์พื้นที่และสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นได้จากการรณรงค์ของนักวิชาการจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เยอรมัน (German Historical Museum) และศิษยาภิบาลมันเฟรด ฟิชเชอร์ (Manfred Fischer ค.ศ. 1948-2013 ศิษยาภิบาลเป็นคำในนิกายโปรเตสแตนต์หมายถึงผู้นำของคริสตจักร คริสตจักรคือชุมชนหรือที่ชุมนุมของผู้นับถือ มีความหมายคล้ายกับโบสถ์หนึ่งในนิกายโรมันคาทอลิก มันเฟรด ฟิชเชอร์เลือกมาเป็นผู้นำของโบสถ์แห่งการคืนดีในปีค.ศ. 1977 ตอนนั้นโบสถ์อยู่ในแนวกันชนและไม่อาจเข้าไปประกอบพิธีได้แล้ว) ในปี ค.ศ.1990 ฟิชเชอร์ได้นำการประท้วงเพื่อป้องกันไม่ให้รถดันดินพังกำแพงริมถนนแบร์เนาเออร์ การกระทำของเขาสร้างความโกรธเคืองให้กับเบอร์ลินทั้งสองฝั่ง ในช่วงเวลาที่มหาชนพากันไปทุบทำลายกำแพงและสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องเป็นช่วงที่ผู้คนมีความรู้สึกรุนแรงไม่ว่าเพื่อระบายความโกรธแค้นและเกลียดชัง ชำระล้างความอับอาย ฉลองชัยชนะ หรือตั้งใจแสวงหาประโยชน์จากการขายชิ้นส่วนเป็นที่ระลึกก็ตาม ทุกคนเห็นตรงกันว่ากำแพงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกและการกดขี่ควรถูกกำจัดให้หมดสิ้น ยังดีที่การรณรงค์โดยคนกลุ่มน้อยนี้เป็นผล เมื่อศาลของเบอร์ลินตะวันออกรับฟังและออกคำสั่งพิทักษ์แนวเขตและพื้นที่บริเวณนี้เพื่อเป็นสวนอนุสรณ์กำแพงเบอร์ลิน (Gedenkstätte Berliner Mauer) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1990 เพียงวันเดียวก่อนการรวมประเทศ

               นับจากวันนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนได้รวมตัวกันเป็นสมาคมอนุสรณ์กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall Memorial Association) ท่ามกลางเสียงต่อต้านของผู้ไม่เห็นด้วย พวกเขาต้องใช้เวลาและความพยายามหลายสิบปีเพื่อพัฒนาสถานที่ สิ่งก่อสร้าง และการตกแต่งต่างๆ ภายในพื้นที่ 4.4 เฮคเตอร์ (27.5 ไร่) ของอนุสรณ์สถานจนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สมาคมอนุสรณ์กำแพงเบอร์ลินได้เปลี่ยนสถานะเป็นมูลนิธิกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ.2008

 

ฐานรากแห่งความทรงจำ

               ภายใต้สนามหญ้าเขียวขจีของอนุสรณ์สถานมีความทรงจำถูกกลบฝังอยู่มากมาย โครงการของอนุสรณ์สถานพลิกฟื้นมันขึ้นมาให้ปรากฎแก่สายตาในหลากหลายรูปแบบ เช่น การขุดแต่งฐานรากของอาคารบ้านเรือนบางหลังและจัดแสดงร่วมกับนิทรรศการที่อธิบายถึงผลกระทบที่กำแพงมีต่อชีวิตของผู้คน การวางเครื่องหมายแทนจุดที่เคยเป็นหลุมฝังศพซึ่งในบริเวณใกล้เคียงจะให้ข้อมูลประวัติของสุสานและหลุมฝังศพที่รื้อออก มีแนวเส้นทางของอุโมงค์ลี้ภัยที่ขุดลอดแนวกันชน เฉพาะบนถนนแบร์เนาเออร์มีการขุดอุโมงค์อย่างน้อยสิบแห่งแต่มีเพียงสามอุโมงค์ที่ใช้การได้  มีการจัดแสดงชิ้นส่วนของกำแพงที่ตัดเป็นท่อน โดยย้ายจากที่ตั้งเดิมแล้วนำมาวางแบบ
หันข้างเพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อาจทนเห็นมันตรงๆ

 

 

ภาพที่ 2 : ฐานรากของอาคารที่พักอาศัยและนิทรรศการ

 

               ตรงกลางสนามมีบล็อกโลหะแบ่งเป็นช่องเล็กๆ เรียกว่า “หน้าต่างแห่งความทรงจำ” ในแต่ละช่องแสดงรูปภาพ ชื่อ วันเกิดและวันตายของผู้ที่เสียชีวิตที่กำแพงเบอร์ลิน เมื่อพูดถึงจำนวนคนเสียชีวิตเราอาจเห็นข้อมูลในที่ต่างๆ ไม่ตรงกัน เช่น 136 คน 138 คน หรือ 140 คน นั่นเพราะยังมีข้อถกเถียงกันว่าควรนับใครเป็น ”เหยื่อ” ที่จะรำลึกถึง และหน้าต่างแห่งความทรงจำก็ยังมีช่องที่ว่างไว้เผื่อหากพบข้อมูลผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม

               สมาคมอนุสรณ์กำแพงเบอร์ลินร่วมกับวุฒิสภาแห่งนครเบอร์ลินยังได้ก่อตั้งศูนย์เอกสาร เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นเอกสาร ข้อเท็จจริงจากปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ และทำงานศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์และการเมืองที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้นำมาผลิตเป็นสื่อจัดแสดงต่างๆ เพื่อช่วยเสริมความทรงจำ ช่วยให้ผู้คนได้เข้าใกล้สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และเข้าใจผลกระทบของระบบกำแพงที่ส่งทอดลงมายังปัจจุบันในหลากหลายรูปแบบ

 

โบสถ์น้อยแห่งการคืนดี (Chapel of Reconciliation)

               เมื่อผู้เขียนเดินที่สนามหญ้าของอนุสรณ์สถานและชะโงกข้าม “กำแพงชั้นใน” ซึ่งปัจจุบันทำเป็นรั้วต้นไม้เตี้ยๆ ไปยัง “ฝั่งโน้น” ก็รู้สึกใจหายเมื่อพบว่ามันเป็นสุสาน กำแพงนี้ไม่เพียงแบ่งแยกผู้คนที่เคยอยู่ร่วมเป็นชุมชนเดียวกัน แต่ได้แบ่งแยกมิให้คนเป็นไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วอีกด้วย ภายใต้พื้นที่เดินเหยียบอยู่นั้นเดิมเป็นหลุมฝังศพที่ย้ายออกไปเพื่อทำแนวกันชน และไม่ไกลจากตรงนั้นก็มีโบสถ์

 

 

ภาพที่ 3 : อาคารทรงกลมทางซ้ายคือโบสถ์น้อยแห่งการคืนดี ตรงสุดทางแยกที่เยื้องมาด้านหน้าเล็กน้อย

คือซากกางเขนของโบสถ์หลังเดิมที่ถูกระเบิดทิ้ง

 

 

               โบสถ์แห่งการคืนดี (Church of Reconciliation) เป็นโบสถ์ในนิกายโปรเตสแตนต์ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1894 ตั้งอยู่บนถนนแบร์เนาเออร์ เมื่อมีการเคลียร์พื้นที่เพื่อทำแนวกันชนโบสถ์ได้รับการยกเว้นให้ตั้งอยู่ได้ แต่ไม่อนุญาตให้สมาชิกกว่าร้อยละ 90 ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตตะวันตกมาทำพิธีที่โบสถ์ เมื่อสร้างกำแพงทั้งสองด้านแล้วโบสถ์ก็ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงชั้นนอกและชั้นในพอดี จึงไม่มีใครเข้าถึงโบสถ์ได้นอกจากทหารรักษาการณ์ หอระฆังทรงโกธิคของโบสถ์กลายเป็นหอสังเกตการณ์ซึ่งมีสไนเปอร์คอยเฝ้ายิงผู้หลบหนี มีการก่อกำแพงปิดประตูห้องใต้ดินเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการใช้ห้องใต้ดินเป็นเส้นทางลับ  ในที่สุดก็มีการระเบิดโบสถ์หลังนี้ทิ้งในปี ค.ศ.1985 เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาเขตแดน เมื่อหอระฆังโค่นลง กางเขนโลหะบนยอดตกลงมาพังยับเยิน มีผู้นำซากกางเขนไปเก็บไว้

               ในปี ค.ศ.1999 สิบปีหลังจากทลายกำแพงเบอร์ลิน โดยความร่วมมือของสถาปนิกและศิลปินจากนานาชาติในยุโรป จึงมีการสร้างโบสถ์น้อย (Chapel) ขึ้นทับบนฐานรากเดิมของโบสถ์ ในปัจจุบันโบสถ์น้อยแห่งการคืนดีเป็นส่วนหนึ่งของอนุสรณ์สถานและใช้ประกอบพิธีทางศาสนา  ซากกางเขนที่หงิกงอตั้งอยู่ที่ด้านข้างของโบสถ์

 

สถานีผี

              นิทรรศการ “สถานีชายแดนและสถานีผีในเบอร์ลินที่ถูกแบ่งแยก” (Border stations and ‘ghost stations’ in divided Berlin) อยู่ในสถานีนอร์ดบาห์นฮอฟ  (Nordbahnhof S-Bahn station) ไม่ไกลจากจุดตัดของถนนการ์เท็น (Gartenstraße) และถนนแบร์เนาเออร์ ( Bernauer Straße) จัดแสดงรูปภาพและบอกเล่าเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นว่าในทางกายภาพกำแพงซึ่งแบ่งแยกเมืองและผู้คนออกจากกันไม่ได้มีแต่เฉพาะบนดิน แต่ยังยื่นมือลงไปในอุโมงค์ใต้ดินของระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นชีวิตประจำวันอีกหน้าหนึ่งของชาวเบอร์ลิน  ต่างกันตรงที่ว่ากำแพงบนดินนั้นทำให้จำได้มากกว่ากำแพงใต้ดินที่เป็นเครื่องมือในการทำให้ลืม

 

 

ภาพที่ 4 : นิทรรศการสถานีผี

 

               มีทางรถไฟ 3 สายที่ลอดเข้าไปใต้ดินแดนที่กลายเป็นเบอร์ลินตะวันออกเป็นระยะทางสั้นๆ ได้แก่ รถไฟฟ้าใต้ดิน (U-Bahn) สาย U6 และ U8 และรถไฟชานเมือง (S-Bahn) ซึ่งมุดลงไปใต้ดินเมื่อเข้ามาในกรุงเบอร์ลิน มีสถานีใต้ดิน 15 สถานีที่กลายเป็นสถานีผี อย่างสถานีนอร์ดบาห์นฮอฟก็เป็นหนึ่งในนั้น และมีสถานี
ฟรีดรีชทราสเซ (Friedrichstraße) เพียงสถานีเดียวที่ได้รับการยกเว้นเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อ (Interchange) ของ
สาย U6 กับ S-Bahn ที่นี่รถจอดให้ผู้โดยสารเปลี่ยนสายได้

              “สถานีที่รถไฟไม่จอด” คือคำที่ทางการใช้  ส่วน “สถานีผี” หรือ “ไกสเตอร์บาห์นฮอฟ” (Geisterbahnhof) เป็นคำเรียกของผู้โดยสารชาวเบอร์ลินตะวันตกที่นั่งรถผ่านสถานีเหล่านี้ด้วยความรู้สึกแปลกประหลาดแม้ว่าต้องผ่านมาเป็นประจำ รถจะชะลอความเร็วและผู้โดยสารจะมองเห็นทหารยามหรือตำรวจรถไฟยืนนิ่งอยู่ในแสงไฟที่เปิดอย่างสลัวๆ 

              ชาวเบอร์ลินตะวันออกไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้สถานีเหล่านี้ ซุ้มทางเข้าและสถานีที่เคยปรากฎให้เห็นบนพื้นดินในเขตเบอร์ลินตะวันออกหายสาบสูญไปจากภูมิทัศน์ของเมืองรวมถึงการรับรู้ของสาธารณะโดยสิ้นเชิง มีการก่อกำแพงปิด รื้อสัญลักษณ์แสดงที่ตั้งของสถานี เพราะมันสร้างความรับรู้แก่ผู้คนว่านี่เป็นเส้นทางที่พวกเขาอาจใช้หลบหนีไปยังฝั่งตะวันตกได้ มาตรการเหล่านี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อลบความทรงจำเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เมืองไม่มีการแบ่งแยกและคนเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างอิสระ เหล่าผู้ปกครองมองว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนก็ไม่สังเกตเห็นการปิดกั้นทางเข้าเหล่านี้อีกต่อไปและในที่สุดพวกเขาและคนรุ่นใหม่ก็จะลืมว่ามันเคยมีอยู่

              เรื่องที่เล่ามานี้ก็ยังไม่ครบทุกอย่างที่มีอยู่ในบริเวณอนุสรณ์สถานที่ถนนแบร์เนาเออร์ นอกจากอนุสรณ์สถานแล้ว มูลนิธิกำแพงเบอร์ลินยังดูแลหน่วยงานอีกหลายแห่งที่เกี่ยวข้องในการรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของกำแพงเบอร์ลินซึ่งล้วนแต่น่าไปเยี่ยมชม ติดตามต่อไปได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธิ https://www.stiftung-berliner-mauer.de/en/about-us/foundation  และในเว็บไซต์นี้ในส่วน About Us ที่กล่าวถึงพันธกิจและแนวทางการทำงานของมูลนิธิก็เขียนไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ