Museum Core
วิถีแห่งศรัทธาชนคนสายมูในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
Museum Core
28 มิ.ย. 66 2K
ประเทศไทย

ผู้เขียน : เตชวัน ปัญญาวุฒิธรรม

               ในความคิดของคุณ พิพิธภัณฑ์เป็นอะไรได้บ้าง ?

               สำหรับปัจเจกชนและคนแต่ละกลุ่ม พิพิธภัณฑ์เป็นอะไรต่าง ๆ ได้มากมาย ทั้งแหล่งเรียนรู้ สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งบันเทิง พื้นที่เสพศิลป์ พื้นที่แสดงออกถึงสถานะบางอย่าง และบางคนอาจใช้พิพิธภัณฑ์เป็นที่พักผ่อนใจกาย นัดหมายกับเพื่อนพ้อง ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม หรือแม้แต่การเป็นที่ทำงานของคนกลุ่มหนึ่ง

               พิพิธภัณฑ์ยังเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์นานาเพื่อตอบสนองต่อรสนิยม ความต้องการหรือเป้าหมายของแต่ละบุคคล ซึ่งความศรัทธาก็เป็นอีกวิถีทางของกลุ่มศรัทธาชนจำนวนหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความเชื่อแบบมูเตลูของตนเอง ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นในหลายพิพิธภัณฑ์ แต่บทความนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

               ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงและเก็บรวบรวมโบราณวัตถุแต่ละยุคสมัยไว้เป็นจำนวนมาก และมีวัตถุจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ ทั้งพระพุทธรูป เทวรูป และรูปเคารพ ซึ่งสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู และศาสนาผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่วัตถุเหล่านั้นจะกลายมาเป็นวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ วัตถุทุกชิ้นล้วนเคยเป็นวัตถุที่ได้รับการสักการะบูชามาก่อน จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่คนในกรมศิลป์ หรือแวดวงพิพิธภัณฑ์ให้ความเคารพนับถือโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ รวมถึงผู้เยี่ยมชมชาวไทยที่คุ้นเคยกับกรอบสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แวดล้อมรอบตัว ในปัจจุบันวิถีแห่งศรัทธาและการสักการะในพิพิธภัณฑ์ได้แผ่กระจายไปในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการทำคอนเทนต์และรีวิวเกี่ยวกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่ถูกเผยแพร่ส่งต่อกันผ่านสังคมออนไลน์ และมีผู้คนเดินทางมาเพื่อตามรอยเรื่องราวแห่งความเชื่อนี้

               ผู้เขียนอยากพาไปดูวิถีความเชื่อแบบมูเตลูในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งตั้งอยู่บนฐานความเชื่อเรื่อง “พุทธ พราหมณ์-ฮินดู และผี”

 

พุทธ: พระพุทธสิหิงค์

               เริ่มต้นจาก“พระพุทธสิหิงค์” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งมีรูปแบบศิลปะสุโขทัย - ล้านนา หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีเรื่องเล่าตามตำนานกล่าวว่า มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานเป็นสิริมงคลยังพระนครหลวงและเมืองสำคัญของไทยหลายแห่ง ทั้งเมืองนครศรีธรรมราช สุโขทัย กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2338 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 ได้อัญเชิญองค์พระจากเชียงใหม่มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อว่า “เมื่อพระพุทธสิหิงค์ประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนา ณ ที่นั้น รุ่งเรืองประดุจดวงประทีปชัชวาล เสมือนประหนึ่งว่าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่” อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่ทรงอานุภาพสามารถอำนวยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นที่เคารพสักการะมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เปิดให้สามารถเข้าสักการะ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในวันทำการปกติของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผู้คนเดินทางมากราบไหว้มักเตรียมพร้อมด้วยการนำดอกไม้หรือพวงมาลัยมาถวายเป็นเครื่องสักการบูชาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

 

 

ภาพที่ 1 พระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

 

พราหมณ์-ฮินดู: พระคเณศ

               แวดวงของผู้ที่มีวิถีศรัทธาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในหมู่ชาวไทยพุทธจำนวนไม่น้อยที่ต่างเคารพนับถือพระคเณศ อย่างไรก็ดี ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีวัตถุสะสมที่เป็นประติมากรรมรูปพระคเณศจำนวนมากจากหลายยุคสมัย ทั้งรูปแกะสลักจากหินและรูปหล่อด้วยโลหะ ทว่า ประติมากรรมรูปพระคเณศที่ได้รับการบอกเล่าบอกต่อกันถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็น “พระคเณศ” ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ห้อง 406 จัดแสดงศิลปะสมัยศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พระคเณศองค์นี้เป็นประติมากรรมในศิลปะชวาตะวันออก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 นำมาจากจันทิสิงหส่าหรี (Candi Singhasari) เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยผู้สำเร็จราชการเกาะชวาซึ่งเป็นชาวฮอลันดาได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสชวาเมื่อ พ.ศ.2439 จำหลักศิลาลอยตัวเป็นรูปพระคเณศ 4 กร ประทับนั่งบนบัลลังก์หัวกะโหลกมนุษย์ พระหัตถ์ขวาบนถือขวาน พระหัตถ์ซ้ายบนถือพวงลูกประคำ พระหัตถ์ขวาและซ้ายล่างถือถ้วยขนม มีศิราภรณ์เป็นเครื่องประดับตกแต่ง เช่น กุณฑล พาหุรัด เข็มขัด รัดองค์ ทรงพระกร ทรงพระบาท และภูษาทรงล้วนเป็นลายหัวกะโหลกมนุษย์ และทรงสวมสายยัชโญปวีตรูปงู พระคเณศเป็นเทพเจ้าฮินดูผู้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งอุปสรรค ผู้ขจัดอุปสรรคทั้งมวลและประทานความสำเร็จทั้งหลายให้แก่ผู้สักการะ ทั้งเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ ผู้เข้าชม รวมถึงผู้ที่มีศรัทธาในพระคเณศต่างก็มากราบไหว้บูชาอย่างไม่ขาดสาย ดังเช่นวันที่ผู้เขียนเข้าไปเยี่ยมชมก็มีผู้ที่ได้รับพรจากพระองค์นำเอาบายศรีใบตองดอกไม้คู่หนึ่งมาสักการะ และมีผู้คนนำพวงมาลัยและเงินมาบูชาด้วย

 

 

ภาพที่ 2 พระคเณศ ณ ห้องศรีวิชัย

 

ผี: พระภูมิเจ้าที่

               หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาผีที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือ “พระภูมิเจ้าที่” หรือเทพารักษ์ ผู้ปกปักรักษาบ้านเรือนจากสิ่งชั่วร้าย ซึ่งชาวไทยนับถือพุทธศาสนามักนิยมตั้งศาล หรือสิ่งก่อสร้างรูปทรงอาคารขนาดเล็กขึ้นเพื่อให้เป็นที่สถิตของเทพารักษ์ ภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ที่ในอดีตเคยเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ก็มีศาลพระภูมิเช่นเดียวกัน เรียกว่า “หอแก้วศาลพระภูมิพระราชวังบวรสถานมงคล” สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวังหน้าเมื่อ พ.ศ.2325 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ลักษณะศาลพระภูมิวังหน้ามีความพิเศษที่แตกต่างจากศาลทั่วไป คือ สร้างเป็นหอแก้วเหนือเขามอ ซึ่งเป็นการจำลองภูเขาขนาดย่อม ก่อด้วยศิลาเลียนแบบโขดหินธรรมชาติตามแบบอิทธิพลศิลปะจีน ภายในหอแก้วประดิษฐานรูปเจว็ดหรือแผ่นไม้ทรงเสมาเขียนรูปเทวดา อันเป็นที่เคารพของผู้คนที่เข้ามาอาศัย และทำงานในพื้นที่วังหน้าตลอดมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หนึ่งประจำกรมศิลปากรด้วย แม้แต่ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่เดินผ่านไปมาต่างก็ยกมือขึ้นไหว้สักการะ นอกจากนี้ยังมีผู้ศรัทธาที่เข้ามาเพื่อกราบบูชาขอพรโดยเฉพาะ ซึ่งท่านอาจช่วยบันดาลให้คำขอสัมฤทธิ์ผลจึงมีการจัดเครื่องสักการะมาถวายให้ ทั้งอาหารคาวหวาน น้ำแดง และดอกไม้ธูปเทียน ดังเช่นวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ก็เจอผู้นำเครื่องสักการะชุดใหญ่มาเซ่นสรวงบวงพลี

 

 

ภาพที่ 3 หอแก้วศาลพระภูมิพระราชวังบวรสถานมงคล

 

                ทั้งนี้ ความเชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามที่กล่าวไปข้างต้นก็ล้วนมีศิลปกรรมที่ทรงคุณค่า สะท้อนรูปแบบศิลปะในยุคสมัยต่าง ๆ รวมถึงมีเรื่องราวบางส่วนบางตอนที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ดังนั้นแล้ว แม้ผู้อ่านไม่ใช่คนที่มีความเชื่อแบบมูเตลูก็สามารถไปเยี่ยมชมความงามและศึกษาเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามได้โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้บริการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 8.30 - 16.00 น.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ