ภาพปก : สถานีเอาชวิทซ์ในเวลาใกล้ค่ำ รถไฟที่วิ่งเลยไปทางด้านโน้นคือเข้าไปยังค่ายสังหาร (เอาชวิทซ์ 2)
รูปภาพชุดเอาชวิทซ์-เบอร์เคเนา (Auschwitz-Birkenau) เป็นรูปที่ผู้เขียนกลับมาแล้วแทบไม่เคยเปิดดู เพราะแค่เปิดโฟลเดอร์ขึ้นมาเห็นรูปเล็กๆ ก็รู้สึกขนลุก เมื่อคลิกเปิดรูปแรกใจก็จะเริ่มเต้นรัวขึ้นมาด้วยความสยองขวัญ ประสบการณ์หกชั่วโมงที่นี่เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนความรู้สึกอย่างมาก บรรยากาศของ Site Museum อันเวิ้งว้างกว้างใหญ่นี้ มันช่างน่าสยดสยองจริงๆ
พวกเราเลือกที่เดินทางไปโดยรถไฟ คนส่วนใหญ่เลือกไปรถบัสเพราะสะดวกรวดเร็วกว่า แต่เราอยากลองเดินทางด้วยพาหนะประเภทเดียวกับในยุคนั้น ไปตามรางที่พวกเขาบางคนไปทั้งที่รู้ว่าไม่ได้กลับมา และยังอยากลองนั่งรถไฟโปแลนด์เพราะเขาว่ามันไม่ค่อยทันสมัยเหมือนประเทศยุโรปอื่นๆ จากสถานีเอาชวิทซ์มีรถเมล์ท้องถิ่นไปยังค่ายเอาชวิทซ์ 1 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้ามีเวลาพอเดินไปก็ได้
ภาพที่ 1 : รถไฟกำลังจอดที่สถานีเอาชวิทซ์
Auschwitz มาจากชื่อเมืองที่ในภาษาโปแลนด์เขียนว่า Oswiecim (ออกเสียงคล้ายๆ “ออชเวียชิม”) เมืองนี้ตั้งอยู่ 80 กิโลเมตรไปทางตะวันตกของเมืองคราคุฟ (Kraków) บริเวณที่ใช้สร้างค่ายเอาชวิตซ์-เบอร์เคเนา (Auschwitz-Birkenau concentration camp) อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านเบรซินกา (Brzezinka ซึ่งในภาษาเยอรมันคือ Birkenau) นาซีได้ขับไล่ชาวบ้านในหมู่บ้านออกไป เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับการก่อสร้างรวมทั้งกันพื้นที่โดยรอบค่ายให้เป็นที่ว่างเปล่า
กลุ่มค่ายเอาชวิทซ์ประกอบด้วยทั้งค่ายกักกัน (Concentration camp) และ ค่ายสังหาร (Extermination camp หรือ Death camp) ค่ายเอาชวิทซ์ 1 สร้างขึ้นก่อนในปีค.ศ.940 มีวัตถุประสงค์หลักเป็นค่ายกักกัน ประกอบด้วยอาคาร 22 หลัง ซึ่งรวมถึงโรงนอน ห้องทดลองทางการแพทย์ ห้องรมแก๊สและเตาเผา การทดลองใช้แก๊สไซโคลนบี (Zyklon B สารฆ่าแมลงที่มีไซยาไนต์เป็นส่วนประกอบ) ในการสังหารมนุษย์เริ่มขึ้นที่นี่ในปีค.ศ.1941 และผลของมันถูกนำไปใช้ในการออกแบบค่ายเอาชวิทซ์ 2 หรือเรียกอีกชื่อว่าเบอร์เคเนา (Birkenau) ซึ่งทำหน้าที่เป็นค่ายสังหาร (Extermination camp) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสงคราม โลกครั้งที่สอง ส่วนค่ายเอาชวิทซ์ 3 เป็นค่ายกักกันนักโทษที่ไม่ใช่ชาวยิวเพื่อใช้แรงงานในการผลิตยางสังเคราะห์และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันในโรงงานของอิเกฟาร์เบน (IG Farben) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยาและเคมีภัณฑ์ของเยอรมันที่มั่งคั่งที่สุดในยุโรปในขณะนั้น
อิเกฟาร์เบนเป็นบริษัทแม่ของ Degesch (ย่อมาจาก Deutsche Gesellschaft für Schädlingsbekämpfung => German Corporation for Pest Control) ผู้ผลิตยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกแก๊สไซโคลนบีให้กับเอาชวิทซ์ (Zyklon B ผลิตขึ้นในประเทศเยอรมัน)
พิพิธภัณฑ์เอาชวิทซ์-เบอร์เคเนา (Auschwitz-Birkenau State Museum) ไม่เก็บค่าเข้าชม ผู้เข้าชมบริจาคก็ได้ หรือจ่ายค่านำชมเพื่อเข้าชมเป็นกลุ่มโดยมีผู้บรรยาย มีหลายภาษาให้เลือก ราคา 60 ซโลตี (Zloty) หรือประมาณ 480-500 บาท ผู้เขียนเลือกจ่ายค่านำชม และคิดว่าตัดสินใจถูก ถ้าไม่มีคนนำชมคงรู้สึกว่าตัวเองไม่ต่างจากสัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนล่องลอยอยู่ในดินแดนกึ่งนรกที่กว้างใหญ่มาก
มาตรการสุดท้าย (Final Solution)
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 หลังจากบุกสหภาพโซเวียต นาซีเริ่มคิดถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวอารยันในโปแลนด์และคิดถึงแผนการกำจัดชาวยิวรวมถึงชนชาติอื่นและบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ออกจากพื้นที่อย่างจริงจัง นี่คือที่มาของมาตรการสุดท้ายหรือ Final Solution การออกแบบก่อสร้างค่ายสังหารอย่างเป็นระบบจึงเกิดขึ้น ค่ายสังหารในโปแลนด์มี 6 ค่าย คือ เคมโน (Chelmno), เอาชวิทซ์ 2 (Auschwitz II), เบลเซก (Belzec), ไมดาแนก (Majdanek), โซบิบอร์ (Sobibor) และเตรบลิงก้า (Treblinka) ในช่วงปลายสงครามค่ายเหล่านี้ทยอยปิดตัวลงจนหมด ค่ายเอาชวิทซ์ 2 เป็นค่ายสุดท้ายที่ยังคงดำเนินการอยู่จนเกือบสิ้นสุดสงคราม
เอาชวิทซ์ 1
ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ 1 ส่วนใหญ่ยังคงสภาพที่สมบูรณ์เพราะก่อสร้างไว้อย่างแข็งแรง ยกเว้นห้องรมแก๊สและเตาเผาของค่ายซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ยอมรับว่าถูกระเบิดทำลายและทำขึ้นใหม่ภายหลัง มันมีขนาดไม่ใหญ่โตอะไร รูปร่างหน้าตาถูกต้องตรงตามจริงหรือเปล่าก็ยังไม่มีผู้ใดยืนยัน เอาเป็นว่า...ขนาดไม่ได้ขัดแย้งกับข้อมูล คือการสังหารด้วยห้องรมแก๊สที่นี่ไม่ได้มีเป็นจำนวนมาก (คำว่า ”ไม่มาก” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า “น้อย” แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนนับล้านคนที่ถูกสังหารที่ค่ายเอาชวิทซ์ 2) ค่ายเอาชวิทซ์ 1 ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักในการเป็นค่ายสังหาร คนส่วนใหญ่ตายจากงานหนัก ขาดสารอาหารและขาดสุขอนามัย
ภาพที่ 2 : ซ้าย ห้องรมแก๊สที่เอาชวิทซ์ 1, ขวา กระเป๋าที่นักโทษนำติดตัวมา
มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ขอโทษที่ยังนึกไม่ออกว่าเรื่องอะไร ในชั้นเรียนที่กำลังสอนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีครูถามนักเรียนว่า "ถ้าจะต้องเลือกของติดตัว โดยใส่กระเป๋าใบเดียวนี้จะเลือกอะไร" คำถามนี้วนเวียนกลับมาอยู่เสมอ ในหลายสถานการณ์ สิ่งใดที่เราจะเลือกถ้าเราถูกบังคับให้จากบ้านไปพร้อมกระเป๋าหนึ่งใบ? สิ่งของที่รักที่สุด ของที่เป็นตัวแทนชีวิต เป็นความทรงจำถึงเหตุการณ์หรือบุคคลใด สิ่งของเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือเป็นของล้ำค่าที่สุดที่มี
เอาชวิทซ์ 2 (เบอร์เคเนา)
ค่ายเอาชวิทซ์ 2 ตั้งอยู่ห่างจากเอาชวิทซ์ 1 ประมาณ 3.5 กิโลเมตร ทางพิพิธภัณฑ์จัดรถรับส่งให้โดยไม่คิดค่าบริการ แต่เวลารถเข้าออกขึ้นอยู่กับฤดูกาล
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 ค่ายเอาชวิทซ์ 2 หรือเบอร์เคเนา เริ่มการก่อสร้างตามแบบแปลนของค่ายสังหารขนาดมหึมา ตามแบบแปลนค่ายจะแบ่งออกเป็น 6 ค่ายย่อย แต่ละค่ายย่อยมี 174 โรงนอน และแต่ละโรงนอนจุคน (อย่างแออัด) ได้ 700 กว่าคน หรือประมาณ 125,000 คนต่อหนึ่งค่ายย่อย การก่อสร้างทำไปได้เพียง 2 ค่ายย่อยก่อนจบสงคราม อาคารรมแก๊สขนาดใหญ่และอาคารเตาเผา 4 อาคาร ตั้งอยู่ทางด้านในสุดของค่าย เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1942
ภาพที่ 3 : แผนผังค่ายเอาชวิทซ์ 2
แหล่งที่มาภาพจาก: https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/gallery/auschwitz-maps
ฟรานชิเซก ไปเปอร์ (Franciszek Piper) นักประวัติศาสตร์ชาวโปแลนด์ประมาณการจากจำนวนเที่ยวของรถไฟไปยังค่ายว่าน่าจะมีผู้ถูกสังหารที่ค่ายเอาชวิทซ์ 2 ประมาณ 1.1 ล้านคน ในขณะที่จากคำให้การของทหารนาซีคิดว่ามากกว่านั้นหากคำนวณจากกำลังการทำงานของห้องรมแก๊สและเตาเผาถ้าดำเนินการเต็มที่ แต่ก็เป็นไปได้ว่าคนที่ถูกขนส่งมายังไม่ถึงจำนวนนั้น ข้อสันนิษฐานของฟรานชิเซกจึงยังเป็นที่ยอมรับได้
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 อุณหภูมิติดลบและหิมะตกหนา กองทัพโซเวียตรุกใกล้เข้ามาทุกที เหล่านาซีเริ่มอพยพจากค่ายพร้อมกับขนทรัพย์สมบัติของนักโทษที่ยังตกค้างอยู่ที่ค่ายไปด้วย ขณะนั้นยังมีนักโทษอยู่ในค่ายประมาณ 67,000 คน ในวันที่ 17 – 21 มกราคม ทหารเอสเอสเผาทำลายหลักฐานและต้อนนักโทษ 56,000 คน ให้เดินฝ่าหิมะไปทางตะวันตก (ที่เรียกกันว่าการเดินแถวมรณะ หรือ Death March ซึ่งเกิดกับค่ายกักกันอื่นๆ ด้วย ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจาก Death March ราว 250,000 คน) นักโทษที่คงเหลืออยู่ในค่าย 9,000 คนป่วยเกินกว่าจะเดินได้และถูกทิ้งไว้ให้ตาย ทหารโซเวียตมาถึงและปลดปล่อยกลุ่มค่ายเอาชวิทซ์ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1945
ภาพที่ 4 : ถนนนี้ คือถนนที่พวกเขาเคยเดินไปสู่ความตาย มันขรุขระเดินยากสิ้นดี
เมื่อเดินอย่างยากลำบากมาถึงด้านหลังของค่ายเอาชวิทซ์ 2 ตรงบริเวณแนวต้นไม้โน้น เป็นบริเวณที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผู้เขียน ทั้งที่ยังไม่เห็นอะไรเพราะยังเดินไปไม่ถึงดี สิ่งที่ทำให้รู้สึกเหมือนเลือดในกายเย็นเฉียบและเหือดแห้งคือ “กลิ่น” ที่รุนแรงมาก....พอได้กลิ่นก็รู้แน่ว่า ตรงนี้ต้องเป็นที่รวมของความสยดสยองที่นี่
ก่อนที่กองทัพโซเวียตมาถึง นาซีได้ทำลายกลุ่มอาคารรมแก๊สและเตาเผาศพจนเหลือแต่ซาก แต่นั่นมัน 70 กว่าปีมาแล้ว พื้นที่ผ่านร้อนหนาวฝนและหิมะมานานขนาดนั้น ทำไมจึงยังมีกลิ่นหลงเหลืออยู่ และที่สำคัญมันไม่ใช่กลิ่นไฟไหม้อาคารเฉยๆ แต่มันเป็นกลิ่นของการเผาศพซ้ำๆๆๆ กว่าล้านศพ
ภาพที่ 5 : :ซากอาคารในบริเวณที่เคยเป็นห้องรมแก๊สและเตาเผา
ถึงมันจะน่ากลัว แต่เราไม่ควรจบเรื่องนี้ด้วยความหวาดกลัว เราควรให้ความเคารพคนเหล่านี้....ผู้คนซึ่งได้ถูกพรากจากชีวิตประจำวัน อาหารและเตียงนอนที่อบอุ่น หน้าที่การงาน เพื่อนฝูงและคนที่รัก ให้มาทนทุกข์ทรมาน ถูกหลอกลวงและไล่ต้อนไปสู่ความตายอย่างอัปยศ ร่างไร้วิญญาณถูกจัดการเหมือนเศษขยะ ขอบอกว่าสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้มันผิวเผินมาก และถ้าให้เล่าละเอียดกว่านี้ก็ทำใจไม่ได้ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าความเลวร้ายของเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่จำนวนตัวเลขคนตาย รูปภาพศพและนักโทษที่ผอมโซ รูปภาพกองเส้นผมหรือกองรองเท้าของผู้เสียชีวิตที่แชร์กันไป ฯลฯ ซึ่งนั่นก็เลวร้ายมากอยู่แล้ว ถ้าเรายิ่งอ่านไปในรายละเอียด อ่านเรื่องเล่าของพยาน แล้วลองจินตนาการตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น อาจพบว่าที่เลวร้ายกว่าคือคนที่สามารถคิดและกระทำการทั้งหมดนี่ต่างหาก
ภาพที่ 6 : จารึกนี้อยู่ที่ท้ายค่ายเอาชวิทซ์ 2 บริเวณห้องรมแก๊ส เตาเผา และหลุมเถ้า
แหล่งที่มาของข้อมูล
เรื่องของ Auschwitz ยังมีอีกมาก แต่มันน่าหดหู่เกินกว่าจะพูดถึง เว็บไซต์ที่มีรายละเอียดเยอะมากได้แก่