นอกจากทำหน้าที่ผนึกจดหมาย และไปรษณียภัณฑ์เพื่อเป็นค่าฝากส่งแล้ว แสตมป์ยังทำหน้าที่อื่นแทรกอยู่ด้วย แม้ไม่ใช่หน้าที่หลักก็ตาม และอาจเป็นงานเบื้องหลังในแนวทางปิดทองหลังพระด้วยซ้ำ แสตมป์ทำหน้าที่ในงานสาธารณกุศลครั้งแรกตั้งแต่ยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ทว่า แนวทางนั้นได้ทำต่อเนื่องมาตามวาระ กระทั่งถูกต่อยอดแตกขยายไปยังขอบข่ายอื่น ๆ อีกสารพัด แต่ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะนั่นเอง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีการนำแสตมป์ชุดลอนดอนมาพิมพ์ทับเป็น “ชุดกาชาด” เพื่อเป็นที่ระลึกในการร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมทั้งเป็นการเก็บเงินบำรุงสภากาชาดจึงมอบหมายให้โรงพิมพ์ เค โอยามา พิมพ์ทับตรากาชาดดวงกลมสีแดงออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2460
โดยขายเพิ่มราคาช่วยกาชาด เช่น ชนิดราคา 2 สตางค์ จำหน่ายดวงละ 5 สตางค์ ชนิดราคา 3 สตางค์ จำหน่ายดวงละ 5 สตางค์ ชนิดราคา 5 สตางค์ จำหน่ายดวงละ 10 สตางค์ และชนิดราคา 10 สตางค์ จำหน่ายดวงละ 15 สตางค์ เป็นต้น
กล่าวสำหรับสภากาชาดไทยเป็นองค์กรการกุศลเพื่อมนุษยธรรม กำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) เนื่องจากกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสจนเกิดการสู้รบเป็นผลให้มีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ จึงชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของเพื่อส่งไปช่วยเหลือทหารเช่นเดียวกับองค์กรกาชาดของต่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2436 ใช้ชื่อว่า สภาอุณาโลมแดง
ภาพที่ 1 แสตมป์ชุดลอนดอนพิมพ์ทับเป็น “ชุดกาชาด”
แหล่งที่มาภาพ https://www.venusstamps.com/products_detail/view/7414417
การนำแสตมป์มาพิมพ์ทับเพื่อนำเงินมอบให้สาธารณกุศลยังดำเนินไปและมิได้จำกัดเพียงกับสภากาชาดไทยเท่านั้น มีกรณีอื่นอีกดังเช่น นำแสตมป์บางชนิดจากชุดวัดแจ้ง ชุดเวียนนา ชุดลอนดอน และชุดปีกครุฑมาพิมพ์ทับภาพหัวเสือและข้อความภาษาไทย “บำรุงเสือป่า” ข้อความภาษาอังกฤษ “Scout’s Fund” จัดเป็นชุดรวม 3 ชุด ราคาจำหน่ายเกินราคาหน้าดวงเพื่อนำส่วนที่เกินมาบำรุงกิจกรรมเสือป่า โดยออกจำหน่ายระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 – ธันวาคม พ.ศ. 2464
สำหรับกองเสือป่าเป็นกองกำลังกึ่งทหารจัดตั้งขึ้นในลักษณะกองอาสารักษาดินแดนหน่วยงานแรกในประเทศไทย ซึ่งรัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการและพลเรือนโดยเสือป่าทำหน้าที่ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่รักษาความสงบทั่วไปในบ้านเมือง ส่วนกิจการลูกเสือไทยที่จัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมาถือเป็นสาขาหนึ่งของเสือป่า
ภาพที่ 2 แสตมป์บางชนิดจากชุดวัดแจ้ง ชุดเวียนนา ชุดลอนดอน และชุดปีกครุฑ
พิมพ์ทับภาพหัวเสือ และข้อความภาษาไทย “บำรุงเสือป่า” ข้อความภาษาอังกฤษ “Scout’s Fund”
แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/11688
ภาพที่ 3 แสตมป์บางชนิดจากชุดวัดแจ้ง ชุดเวียนนา ชุดลอนดอน และชุดปีกครุฑ
พิมพ์ทับภาพหัวเสือ และข้อความภาษาไทย “บำรุงเสือป่า” ข้อความภาษาอังกฤษ “Scout’s Fund”
แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/10200
ภาพที่ 4 แสตมป์บางชนิดจากชุดวัดแจ้ง ชุดเวียนนา ชุดลอนดอน และชุดปีกครุฑ
พิมพ์ทับภาพหัวเสือ และข้อความภาษาไทย “บำรุงเสือป่า” ข้อความภาษาอังกฤษ “Scout’s Fund”
แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/11690
ต่อมาในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2482 วันครบ 75 ปีของกาชาดสากลได้มีการนำแสตมป์ชุดลอนดอน 3 ชนิดราคามาพิมพ์ทับเครื่องหมายกาชาด พร้อมข้อความ “๗๕ ปี” ที่โรงพิมพ์หินบุญครองพาณิชย์ ดังนี้ ชนิดราคา 1 บาท พิมพ์ทับราคา 5 ส.ต. + 5 ส.ต. (494,000 ดวง) ชนิดราคา 2 บาท พิมพ์ทับราคา 10 ส.ต. + 5 ส.ต. (384,000 ดวง) และชนิดราคา 3 บาท พิมพ์ทับราคา 15 ส.ต. + 5 ส.ต. (330,000 ดวง) ราคาที่บวกคือส่วนที่นำไปมอบให้สภากาชาดไทย
ภาพที่ 5 ครบ 75 ปีของกาชาดสากล ได้มีการนำแสตมป์ชุดลอนดอน 3 ชนิดราคา
มาพิมพ์ทับเรื่องหมายกาชาด พร้อมข้อความ “๗๕ ปี”
แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com
ล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) การนำแสตมป์มาพิมพ์ทับเพื่อนำราคาที่เพิ่มบนหน้าดวงไปช่วยงานสาธารณกุศลยังคงทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2495 นำแสตมป์ชุดประชาธิปก ภาพพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 ภายในกรอบ ชนิดราคา 80 สตางค์ สีเทาอ่อนทับสีครามอ่อน มาพิมพ์ทับราคาเพิ่ม โดยบนดวงแสตมป์ปรากฏภาพพานรัฐธรรมนูญ และข้อความ “+ 20 ส.ต.” พิมพ์ทับด้วยสีแดง
ภาพที่ 6 แสตมป์ชุดประชาธิปก พิมพ์ทับข้อความ “+ 20 ส.ต.” ด้วยสีแดง
ออกจำหน่ายในงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2495
แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/20594
แสตมป์ชุดดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 3 แสนดวงออกจำหน่ายในวันงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี พ.ศ. 2495 ณ บริเวณสวนลุมพินีและตามที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขในพระนครจนกว่าจะหมดจำนวน โดยนำเงินรายได้ที่ได้เพิ่มดวงละ 20 สตางค์ บำรุงองค์กรสาธารณกุศล ดังนี้ โรงพยาบาลสงฆ์ จำนวน 2,000 บาท โรงพยาบาลเด็ก จำนวน 5,000 บาท โรงเรียนคนตาบอด จำนวน 2,000 บาท และโรงพยาบาลสมเด็จฯ ศรีราชา จำนวน 2,000 บาท
สำหรับแสตมป์สาธารณกุศลดวงแรก ซึ่งจัดสร้างขึ้นโดยตรง ไม่ได้มีการนำแสตมป์อื่นมาพิมพ์ทับดังที่ผ่านมา คือ วาระครบรอบ 60 ปี สภากาชาดไทย กรมไปรษณีย์โทรเลข (ชื่อขณะนั้นของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด) ได้ออกแสตมป์ชุดที่ระลึกฉลอง 60 ปี สภากาชาดไทยเป็นภาพเทพธิดากาชาดบนเครื่องหมายกาชาด ด้านบนภาพเครื่องหมายกาชาดเป็นภาพธงไตรรงค์ ด้านล่างมีตัวอักษร “THAILAND” และ “พ.ศ. 2436 – 2496”
ภาพที่ 7 แสตมป์ชุดที่ระลึกฉลอง 60 ปี สภากาชาดไทย
แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/10978
แสตมป์ชุดนี้ออกแบบโดยนายเกลา แสงชูโต และพิมพ์ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มี 3 ชนิดราคา ได้แก่ 25 + 25 สตางค์ 50 + 50 สตางค์ และ 1 + 1 บาท ออกจำหน่ายวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2496 และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติคือ ราคาหน้าดวงส่วนที่บวกนั้นมอบให้กับสภากาชาดไทย
แสตมป์ไทยมีบทบาทต่องานสาธารณกุศลผ่านราคาหน้าดวงที่บวกเพิ่ม โดยเฉพาะกับแสตมป์ชุดกาชาดที่จัดสร้างออกมาตามวาระ เป็นพื้นที่ให้ผู้ซื้อแสตมป์ทั้งเพื่อใช้งาน หรือสะสมได้ร่วมทำบุญไปในตัว
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย
หนังสือ 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย
หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1
https://redcross.or.th/aboutus/history/