Museum Core
เมื่อคนตายแต่งงานกัน: ธุระใหญ่ของคนเป็น
Museum Core
16 ก.พ. 66 13K

ผู้เขียน : ภาพิมล จันทวงษ์วาณิชย์

 

               เคยได้ยินเรื่อง “เจ้าสาวผี” กันไหม

               หนึ่งปีหลังจากหลี่เชาหลงชายหนุ่มจากมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของประเทศจีน เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในโรงพยาบาลท้องถิ่น แม่ของเขาก็ตามหาเจ้าสาวให้กับเขาและได้พบกับหลี่ซิวหยิง หญิงสาวจากหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการไตวายในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา หลังจากทั้งสองครอบครัวกอดกันร้องไห้ในงานศพแล้ว พวกเขาก็จัดงานแต่งงานและเฉลิมฉลองให้กับบ่าวสาวที่ไม่เคยพบกันในชีวิตจริงมาก่อนแต่กำลังจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันในโลกหลังความตาย ร่างของทั้งคู่ถูกฝังไว้ด้วยกันที่หลุมฝังศพของครอบครัวฝ่ายชาย

                การแต่งงานครั้งนี้มีความสำคัญกับครอบครัวทั้งสองฝ่ายอย่างยิ่ง ในปีแรกหลังจากหลี่เสียชีวิต ผู้อาวุโสในครอบครัวห้ามไม่ให้ฝังเขาในหลุมฝังศพของครอบครัวเพราะเขาเสียชีวิตโดยไม่แต่งงาน จากไปโดยไม่ได้สืบสายตระกูล จึงไม่คู่ควรที่จะอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษและเชื่อว่านั่นจะนำความโชคร้ายมาสู่ย่าของเขาที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นเดียวกับพ่อแม่ของฝั่งเจ้าสาว ในฐานะที่เป็นหญิงสาวที่เสียชีวิตโดยไม่ได้แต่งงาน เธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้ฝังศพอย่างเป็นทางการที่ไหนเลยด้วยซ้ำ

                “เจ้าสาวผี” (Ghost Bride) หรือ “การแต่งงานแบบผี” (Ghost Marriage) ไม่ใช่เรื่องผีสาง หรือสิ่งลี้ลับแต่อย่างใด แต่เป็นประเพณีความเชื่อเก่าแก่ตั้งแต่ยุคโบราณในประเทศจีนที่มีมายาวนานกว่า 3,000 ปี ซึ่งแท้จริงแล้วประเพณีนี้ถูกสั่งห้ามตั้งแต่ยุคจักรวรรดิ แต่ก็ยังมีการจัดอย่างลับ ๆ มาโดยตลอดจนถึงยุคปัจจุบัน ประเพณีก็ยังคงมีอยู่ในบางพื้นที่ในเขตชนบทของประเทศจีน

 

 

ภาพที่ 1 รูปจำลองที่ทำจากกระดาษ ไม้ไผ่ หรือผ้า รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ทำจากกระดาษ
และจะถูกเผาเพื่อส่งไปยังโลกวิญญาณ

แหล่งที่มาภาพ : https://www.abc.net.au/news/2018-04-07/ghost-marriages-in-rural-china-continue-to-thrive/9608624

 

               ประเพณีที่ว่านี้ ครอบครัวของชายหนุ่มหรือหญิงสาวที่เสียชีวิตไปโดยยังไม่ได้แต่งงานจะตามหาหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่เสียชีวิตไปแล้วเช่นกันมาจัดพิธีแต่งงานกับลูกหลานของตน พวกเขาเชื่อว่าหากคนเหล่านี้ตายไปทั้งที่ยังไม่บรรลุภารกิจสำคัญของชีวิต คือ การแต่งงาน วิญญาณจะไม่ได้พักผ่อนอย่างสงบสุขในโลกหน้า และจะกลับมาหลอกหลอนคนในครอบครัว ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะไม่มีลูกหลานคอยกราบไหว้บูชายามเมื่อตายไปแล้ว เพราะถือว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสายตระกูล ซึ่งโดยปกติในทุกครอบครัวจะมีการตั้งป้ายวิญญาณบนแท่นบูชา ป้ายของหญิงที่แต่งงานแล้วถูกวางไว้ที่แท่นบูชาของครอบครัวสามี หากหญิงที่ไม่ได้แต่งงานเสียชีวิตครอบครัวของเธอจะไม่สามารถวางป้ายวิญญาณไว้บนแท่นบูชาของครอบครัวได้ มีได้เพียงป้ายวิญญาณชั่วคราวที่ทำจากกระดาษและวางไว้ใกล้ประตูเท่านั้น ดังนั้น การแต่งงานแบบผีจะทำให้หญิงสาวมีที่วางป้ายวิญญาณบนแท่นบูชาในครอบครัวสามี มีที่ทางในโลกหลังความตายและได้รับการดูแลอย่าง
เหมาะสม

               กรณีลูกชายที่เสียชีวิตโดยไม่ได้แต่งงาน บางครั้งพ่อแม่จะจัดพิธีแต่งงานแบบผีเพื่อให้ลูกชายมีลูกหลานสืบเชื้อสายต่อไป หากครอบครัวมีฐานะดีร่ำรวยอาจชักจูงให้หญิงสาวที่ยังมีชีวิตอยู่มาแต่งงานด้วยได้ โดยหญิงสาวจะเข้ามาอยู่ในบ้านในฐานะสะใภ้และดูแลครอบครัวของสามี หรือแม้แต่อุปการะญาติจากฝ่ายผู้ชายที่ถือว่ามีสายเลือดเดียวกันมาเป็นลูกเพื่อสืบตระกูลสามีที่ตายไปด้วย นอกจากนี้ยังมีกรณีเจ้าสาวยังมีชีวิตและเต็มใจแต่งงานกับเจ้าบ่าวที่ตายไปแล้วเพื่อหลีกหนีการแต่งงานด้วยเช่นกัน แต่การแต่งงานแบบนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแต่งงานปลอม ๆ หรือแต่งงานกับป้ายวิญญาณเท่านั้น

               การแต่งงานแบบผีบางครั้งก็เกิดจากความฝันและการสื่อสารกับผู้ตาย ดังเรื่องราวของเด็กชายชาวกวางตุ้งวัย 14 ปีที่เสียชีวิตลง และหนึ่งเดือนต่อมาเขาปรากฏตัวในความฝันของผู้เป็นแม่ โดยบอกว่าเขาต้องการแต่งงานกับผู้หญิงที่เพิ่งเสียชีวิตในเมืองอีโปห์ รัฐเประ ทั้งนี้ ลูกชายไม่ได้บอกชื่อของหญิงสาวผู้นั้น แต่แม่ของเขาใช้ร่างทรงสื่อสารกับวิญญาณเพื่อค้นหาชื่อ สถานที่เกิดและอายุของหญิงสาวผู้นั้นจนเจอ พร้อมกับ ตรวจเช็ครายละเอียดดวงชะตาว่าเข้ากันได้กับดวงของลูกชาย

 

ภาพที่ 2 มีอุตสาหกรรมผุดขึ้นมากมายเพื่อสนับสนุนการแต่งงานผีในประเทศจีน

แหล่งที่มาภาพ: https://www.scmp.com/news/people-culture/social-welfare/article/3157492/explainer-chinas-ghost-marriages-still-see-dead

 

               โดยทั่วไป การแต่งงานจัดขึ้นโดยครอบครัวของชายหนุ่มที่เสียชีวิต มีการจ้าง “แม่สื่อ” ในการช่วยหาหญิงสาวที่เสียชีวิตไปแล้วที่มีเหมาะสมกันมาเป็นเจ้าสาว ทั้งนี้ มีการตรวจเช็คความเข้ากันได้ทั้งเรื่องอายุ อาชีพการงาน ภูมิหลังครอบครัว ดวงชะตา รวมถึงขอดูรูปถ่าย เมื่อตกลงกันได้แล้วทั้งสองครอบครัวจะจัดพิธีแต่งงานตามประเพณีที่ไม่แตกต่างจากปกติ มีพิธีการหลายอย่างเหมือนกับการแต่งงานทั่วไป ยกเว้นการใช้ตัวแทนเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยรูปจำลองที่ทำจากกระดาษ ไม้ไผ่ หรือผ้า รวมกับข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ทำจากกระดาษที่จะถูกเผาส่งไปยังโลกวิญญาณเพื่อให้ทั้งคู่ใช้สอยต่อไปด้วย นอกจากนี้ ศพของเจ้าสาวจะถูกขุดขึ้นมาและนำไปฝังเคียงข้างศพของเจ้าบ่าวในหลุมศพของครอบครัว

               ความเชื่อเบื้องหลังประเพณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการแต่งงานที่เป็นหน้าที่สำคัญของลูกทั้งชาย-หญิงต้องทำเพื่อครอบครัว และการจัดงานแต่งงานให้คนตายก็เปรียบเสมือนการชดเชยทางอารมณ์ของพ่อแม่และญาติพี่น้องสามารถทำให้กับผู้ตายที่ต้องด่วนจากไปตั้งแต่อายุยังน้อยได้

 

ภาพที่ 3  หลายปีที่ผ่านมามีรายงานการปล้นหลุมฝังศพเพื่อตอบสนองความต้องการศพของผู้หญิง
ในฐานะเจ้าสาวผี

แหล่งที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-asia-china-37103447

 

               ความนิยมในการจัดงานแต่งงานแบบผีนี้ ทำให้ธุรกิจการจัดหาเจ้าสาวผีมาแต่งงานด้วยเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก แม่สื่อรายหนึ่งที่ทำงานนี้มากว่า 30 ปีเปิดเผยถึงค่าใช้จ่ายในการจับคู่พุ่งสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในช่วงทศวรรษปี 1990 ราคาอยู่ที่ 5,000 หยวน และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 หยวนในช่วงปี 2000 ต่อมาในปีค.ศ. 2010 ก็เพิ่มสูงถึง 50,000 หยวน และตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการหาเจ้าสาวผีนั้นไม่ต่ำกว่า 150,000 หยวนเลยทีเดียว ความต้องการที่เพิ่งสูงขึ้น และรายได้จากธุรกิจนี้ทำให้เกิดการจัดพิธีแต่งงานกับเจ้าสาวที่ยังมีชีวิตอย่างลับ ๆ รวมไปถึงอาชญากรรมอื่นที่ตามมา ทั้งการลักลอบขโมยขุดศพจากสุสานเฉพาะในปีค.ศ. 2015 ก็มีรายงานว่ามีศพหญิงสาวถูกขโมยออกจากสุสานในหมู่บ้านแห่งหนึ่งถึง 14 ศพ และร้ายแรงไปกว่านั้นคือเกิดการฆาตกรรมเพื่อนำศพหญิงสาวไปเป็นเจ้าสาวผีที่มีรายงานคดีฆาตกรรมมากกว่า 12 คดีที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานแบบผี เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในมณฑลกานซู่ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน โดยชายคนหนึ่งได้ฆาตกรรมหญิงสาวที่มีอาการป่วยทางจิตสองรายเพื่อนำศพไปขายเป็นเจ้าสาวผี ซึ่งภายหลังชายคนดังกล่าวถูกจับกุมและศาลได้ตัดสินประหารชีวิต

              ความเชื่อเรื่องการแต่งงานแบบผียังพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในชุมชนชาวจีนบางแห่งและไต้หวันเฉพาะในไต้หวัน หากผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานเสียชีวิต ครอบครัวของเธอจะวางซองอั่งเปาใส่เงินสด เงินกระดาษ ปิ่นปักผม และเล็บมือไว้ในที่โล่ง ผู้ชายคนแรกที่หยิบซองนั้นขึ้นมาจะได้รับเลือกเป็นเจ้าบ่าว โดยเชื่อกันว่าหากปฏิเสธที่จะแต่งงานกับเจ้าสาวผี ชายคนนั้นจะต้องพบกับความโชคร้าย ในพิธีแต่งงานจะไม่มีการขุดกระดูกขึ้นมา และเจ้าบ่าวยังได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับผู้หญิงอื่นที่ยังมีชีวิตในภายหลังได้ แต่ให้เคารพนับถือว่าภรรยาที่ตายไปแล้วเป็นภรรยาหลัก ในปัจจุบันการปฏิบัติตามประเพณีความเชื่อดังกล่าวเลือนหายไปตามกาลเวลา หากยังคงหลงเหลือในปัจจุบันพบได้ในชนบทภาคเหนือและภาคกลางของจีน เช่น มณฑลส่านซี กานซู่ และเหอหนาน เป็นต้น

 

ภาพที่ 4 ซีรีส์เรื่อง The Ghost Bride เรื่องเล่าความเชื่อเรื่องการแต่งงานแบบผีในปัจจุบัน

แหล่งที่มาภาพ: https://www.cinemaescapist.com/2020/01/review-ghost-bride-netflix-malaysia/

 

               นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องการแต่งงานแบบผียังมีอิทธิพลต่อเรื่องเล่าในวัฒนธรรมป๊อบในปัจจุบัน เช่น นวนิยายเรื่อง The Ghost Bride ของ Yangsze Choo ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์แนวแฟนตาซีของเน็ตฟลิกซ์ในชื่อเรื่องเดียวกันในปีค.ศ. 2020 หรือภาพยนตร์เรื่อง The House that Never Dies ในปีค.ศ. 2014 เป็นต้น หากใครสนใจอยากรู้เรื่องการแต่งงานแบบผีให้มากขึ้น ก็ตามไปรับชมกันได้

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

https://www.scmp.com/news/people-culture/social-welfare/article/3157492/explainer-chinas-ghost-marriages-still-see-dead

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-37103447

https://factsanddetails.com/china/cat4/sub20/entry-4332.html

https://www.abc.net.au/news/2018-04-07/ghost-marriages-in-rural-china-continue-to-thrive/9608624

https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_ghost_marriage

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ