Museum Core
Shitamachi Museum พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นใจ
Museum Core
30 ม.ค. 66 510
ประเทศญี่ปุ่น

ผู้เขียน : ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

               โดยทั่วไปแล้วนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังโตเกียว และใช้บริการรถไฟในการเดินทางย่อมต้องคุ้นหูกับชื่อ “อูเอโนะ” พื้นที่ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในย่านสังคมเศรษฐกิจและเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโตเกียว ภายในอาณาบริเวณสวนสาธารณะ (Ueno Park) เป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีกิจกรรมให้เลือกหลากหลายทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียนที่เปลี่ยนใหม่ตลอดของบรรดาพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ (Tokyo National Museum, National Western Art Museum,  The Ueno Royal Museum) ชมดอกซากุระที่ปลูกเป็นทิวยาวบนทางเดินช่วงฤดูใบไม้ผลิ เยี่ยมชมดูความน่ารักน่าเอ็นดูของแพนด้าที่สวนสัตว์อูเอโนะ ไปสักการะเทพที่ศาลเจ้าเก่าแก่ หรือแม้แต่การเดินเล่นพักผ่อนในสวนที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่

               สิ่งที่กล่าวไปนั้นเป็นกิจกรรมที่ผู้เขียนนิยมทำเสมอทุกครั้งมีโอกาสไปเที่ยวที่โตเกียว ไม่เคยรู้สึกว่าการกลับไปเที่ยวที่ซ้ำเดิมเป็นเรื่องน่าเบื่อหรือจำเจ และครั้งล่าสุดผู้เขียนก็บังเอิญค้นพบพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่น่าสนใจระหว่างรอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเปิด ผู้เขียนฆ่าเวลาด้วยการไปเดินเล่นถ่ายรูปรอบสระน้ำชิโนบาซุ (Shinobazu) หรือสระบัวขนาดใหญ่ที่มีความกว้างถึง 2 กิโลเมตร ช่วงที่เดินวนกลับก็รู้สึกสะดุดตากับอาคารหลังหนึ่งที่อยู่ติดกับสระน้ำ ในตอนแรกดูจากรูปลักษณ์ภายนอกคิดว่าเป็นร้านอาหาร แต่เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จึงเห็นป้ายชื่อว่า Shitamachi Museum (คำว่า shita = down, machi = town เมื่อรวมกันจึงแปลได้ว่า downtown ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นย่านใจกลางเมืองมาตั้งแต่สมัยเอโดะ) 

 

ภาพที่ 1 ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มองไกลๆ คล้ายร้านอาหาร

 

               “พิพิธภัณฑ์ชิตะมาจิ” เป็นมิวเซียมขนาดเล็กกะทัดรัดที่มีจัดแสดงไม่กี่ร้อยตารางเมตร จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคมและวิถีชีวิตของคนโตเกียวทั่วไปในช่วงสมัยเมจิ ไทโช และโชวะ (ค.ศ.1868-1989) เก็บค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ 300 เยนเท่านั้น การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ชั้นที่ 1 เน้นการสร้างจำลองฉากร้านรวง สภาพพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ภายในที่อยู่อาศัยขนาดเท่าจริง (life size) จากยุคสมัยเอโดะ ได้แก่ ตู้โทรศัพท์สาธารณะโบราณ ร้านค้าและผลิตฮานาโอะ อาคารห้องแถวไม้ ลานซักล้าง เป็นต้น ส่วนชั้นที่ 2 เป็นพื้นที่เน้นการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าที่เคยใช้กันทั่วไปเมื่อราว 60-70 ปีที่ผ่านมา เช่น จักรเย็บผ้า โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ นาฬิกา กล่องออมสิน ตุ๊กตากระดาษ ของเล่นไม้ หุ่นยนต์สังกะสี ฯลฯ

                 ผู้เขียนเริ่มเดินสำรวจพื้นที่จัดแสดงของร้านฮานาโอะ ซึ่งแยกสเปซเป็น 2 โซน คือ โซนพื้นที่โรงงานทำมือที่ผลิตและขายส่งหูคีบรองเท้าแตะแบบญี่ปุ่น และโซนหน้าร้านที่มีคอกไม้กั้นส่วนเคาเตอร์แคชเชียร์คล้ายกับร้านของคิเคียวยะที่เคยเห็นในการ์ตูนเรื่องอิกคิวซัง แค่เพียงส่วนแรกของนิทรรศการก็ทำให้ผู้เขียนตื่นตามาก แม้ว่าการจัดแสดงจะไม่มีป้ายคำอธิบาย หรือมีป้ายคำบรรยายเฉพาะภาษาญี่ปุ่น แต่พิพิธภัณฑ์ก็ได้พยายามให้ข้อมูลความรู้โดยการพิมพ์ใบปลิวย่อยทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นแจกสำหรับให้ผู้ที่สนใจหยิบคว้าไปอ่านเพิ่ม

 

 

ภาพที่ 2 (ซ้าย) ฮานาโอะ หรือหูคีบรองเท้าแตะที่ทำด้วยเชือกและผ้าหลากสี

(ขวา) หลังคอกไม้เป็นพื้นที่เฉพาะของแคชเชียร์

 

                ถัดออกมาเป็นโซนซักล้างที่คนในยุคโชวะมักใช้น้ำบาดาลจากปั้มโยกมือ มองเห็นกะละมัง แผ่นกระดานสบู่ซักผ้า ฝักบัวรดน้ำต้นไม้ กองไม้ฟืนและเตาหุงต้ม ใกล้กันก็มีราวตากผ้าทำจากลำไม้ไผ่ เมื่อขยับเท้าเดินเข้าไปในตรอกเล็กที่เป็นเส้นทางสัญจรของชุมชนเรือนแถวไม้ก็มองเห็นสิ่งต้องสงสัยเป็นพวงเปลือกส้มแห้งที่แขวนไว้หน้าบ้าน เก็บเปลือกส้มเอาไว้ทำไมกัน? ผู้เขียนได้รับคำตอบเมื่อขึ้นไปที่โซนนิทรรศการชั้นที่ 2 พยายามอ่านคำอธิบายจากแคปชันภาษาญี่ปุ่นด้วยการใช้แอพฯ google lens translation ช่วยจนได้ความว่า ชาวญี่ปุ่นสมัยโชวะนิยมเอาเปลือกส้มตากแห้งมาใช้ประโยชน์ได้สารพัด ทั้งชงกับน้ำร้อนดื่มเป็นยาช่วยลดอาการท้องอืด หรืออาบน้ำเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต รวมถึงจุดไล่ยุงและขจัดกลิ่น นับว่าเป็นความรู้ที่ค้นพบใหม่สำหรับผู้เขียนเลยทีเดียว

 

 

ภาพที่ 3 สรรพคุณของเปลือกส้มที่ไม่เคยรู้มาก่อน

 

                ระหว่างที่เดินซอกแซกในตรอกผู้เขียนตื่นเต้นมากรู้สึกเหมือนตัวเองได้ย้อนเวลา ด้วยบรรยากาศที่ห่อหุ้มรอบตัวช่วยกระตุ้นให้ปล่อยอารมณ์จม (immerse) ไปกับอดีต ค่อยๆ พินิจดูข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงไว้อย่างเพลิดเพลิน บางสิ่งบางอย่างก็เชื่อมโยงเข้ากับความทรงจำของผู้เขียนด้วย อย่างโซนห้องครัวที่เผยให้เห็นหลังคาที่มีช่องระบายอากาศที่ออกแบบให้สามารถเปิด-ปิดได้ด้วยการชักรอกที่จำลองแบบมาจากของจริงตามภาพถ่ายเก่า ช่วยกระตุกความทรงจำเก่าของผู้เขียนที่เคยเห็นหลังคาลักษณะนี้ที่ครัวบ้านเพื่อนเป็นครั้งแรกในวัยเด็กกลับมา

 

ภาพที่ 4 หลังคาเปิด-ปิดได้ง่าย ภูมิปัญญาแก้ปัญหาการระบายอากาศ

 

                อีกโซนหนึ่งที่น่าประทับใจมากเป็นร้านขายของเล่นในวันวานที่พิพิธภัณฑ์รวบรวมของเล่นยอดนิยมต่างๆ ที่ผู้เขียนคุ้นเคยเอาไว้เยอะพอสมควร ทั้งตุ๊กตากระดาษ ตัวต่อ หน้ากาก ลูกโป่ง สติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูน ขนมตังเม ว่าว อมยิ้ม ลูกข่างหมากฝรั่ง ฯลฯ ในขณะที่ผู้เขียนกวาดสายตาไปเห็นปฏิทินที่แขวนไว้บนเสาก็สังเกตเห็นว่าวันที่บนปฏิทินฉีกรายวันนั้นตรงกับวันที่ในปัจจุบัน รู้สึกทึ่งมากกับความละเอียดของผู้ดูแลที่แสดงความใส่ใจแม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจไม่มีใครสังเกตเห็นเลย

 

 

ภาพที่ 5 สิ่งละอันพันละน้อยที่เชื่อมโยงกับผู้ชมได้มากที่สุด

 

                เมื่อเดินขึ้นบันไดไปที่ชั้น 2 บริเวณชานพักมีภาพลายเส้นวาดเป็นรูปคนในกรอบ 24 ช่องที่สื่อให้เห็นถึงผู้คนที่รวมตัวอยู่ในเมืองหลวงและความหลากหลายของอาชีพต่างๆ ในโตเกียว เช่น ทำร่มกระดาษ พ่อค้าปลา พ่อค้าราเมนหาบเร่ ฯลฯ ถัดมาที่ห้องนิทรรศการชั้นบน มีพื้นที่จำลองโรงอาบน้ำสาธารณะ จำลองห้องที่แสดงไลฟ์สไตล์ของคนโตเกียวในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ถึง 60 โดยมีตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย หรือเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของคนในยุคสมัยนั้น อาทิ ทีวี วิทยุ โทรศัพท์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ฯลฯ

                 นอกจากนี้ โซนที่เหลือของห้องนิทรรศการชั้นบนจะเป็นตู้กระจกหลายใบที่มีแค่เพียงชิ้นวัตถุจริงและภาพถ่ายประกอบพร้อมกับป้ายคำอธิบายสั้นๆ เป็นวิธีการเล่าที่เรียบง่ายแสนธรรมดาแต่กลับทำให้เรื่องราวของผู้คนในสังคมแต่ละห้วงเวลามีพลังและเข้าใจได้ง่าย ในจำนวนนั้นมีข้าวของหลายชิ้นที่ผู้เขียนสนใจมากเป็นพิเศษ ได้แก่ ห่วงฮูลาฮูป ของเล่นใหม่จากประเทศตะวันตกที่มีรูปถ่ายแสดงภาพคนทุกเพศทุกวัยมาร่วมกันเล่นอย่างสนุกสนาน แผ่นตุ๊กตากระดาษ ของเล่นเด็กผู้หญิงที่แอบสอดแทรกค่านิยมเรื่องรูปแบบการแต่งตัวที่เหมาะสมในช่วงสงครามโลก หรือแฟชั่นร่มและรองเท้าเกี๊ยะที่ออกแบบส้นสูงหนาพิเศษสำหรับหนีน้ำท่วมขังในฤดูฝน หน้ากากผ้าสีดำ เล่าเรื่องโรคระบาดที่เรียกว่า “ไข้หวัดสเปน” ในปีพ.ศ.2461 และนำมาสู่การสวมหน้ากากเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น ในเวลานั้นมีการใช้หน้ากากสีขาวในโรงพยาบาล มีการกล่าวว่าหน้ากากสีดำจะสวมโดยกองทัพเมื่อออกไปข้างนอกและกรมตำรวจนครบาลก็ปฏิบัติตาม และชิ้นสุดท้ายเป็นของเล่นที่ผู้เขียนรู้สึกว้าวมากที่ได้รู้ว่าเด็กญี่ปุ่นรู้จักการเล่นหมากเก็บ หรือชิคาโกะ (kishako) มาตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1868 ร่วมยุคสมัยกับกรุงศรีอยุธยา) ในสมัยนั้นใช้หินก้อนเล็กๆ แล้วต่อมาใช้เปลือกหอยแทน พอถึงสมัยเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ก็เปลี่ยนวัสดุใหม่เป็นตัวแผ่นเบี้ยแก้ว (flat glass marbles) พร้อมกับชื่อเรียกใหม่ว่า โอฮาจิกิ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มใหม่อีกหนึ่งเรื่องว่าหมากเก็บเป็นของเล่นที่เก่าแก่โบราณและเป็นวัฒนธรรมที่มีร่วมกันในหลายประเทศแถบเอเชีย

 

ภาพที่ 6 หน้าตาหมากเก็บของเด็กญี่ปุ่นสมัยโบราณ

 

               หลังจากเดินดูนิทรรศการจนทั่วแล้ว พื้นที่สุดท้ายของห้องนิทรรศการจัดให้เป็นที่นั่งพักผ่อนริมบานหน้าต่างไม้สไตล์ญี่ปุ่นที่มองออกไปเห็นเป็นวิวสระน้ำชิโนบาซุที่เต็มไปด้วยสีเขียวสวยของกอใบบัวและมีตึกสูงละแวกนั้นซ้อนเป็นฉากหลังทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายตา

 

ภาพที่ 7 จุดสุดท้ายม้านั่งพักผ่อนทอดสายตาชมวิวสระน้ำ

 

                 ผู้เขียนนั่งอ่านประวัติความเป็นมาในแผ่นพับที่ได้รับแจกมาตอนแรก พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปลายตุลาคม ปีค.ศ. 1980 หรือมีอายุมากกว่า 40 ปีแล้ว ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ทุกสิ่งยังคงดูสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยความเก่าเสื่อมให้เห็นเลย พอคิดทบทวนถึงเนื้อหาที่จัดแสดงในนิทรรศการแล้วก็รู้สึกว่าเป็นเวลา 2 ชั่วโมงที่มีคุณภาพและคุ้มค่ามาก แม้ว่าเรื่องที่จัดแสดงจะเป็นการเล่าในบริบทของสังคมญี่ปุ่นแต่ก็ไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกแตกต่างเลยสักนิด มีหลายจุดในนิทรรศการที่เชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์เดิม หลายจุดที่ได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกประทับใจพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ที่แสดงให้เห็นว่าหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องการจัดการเนื้อหาหรือคอนเทนต์ วิธีการนำเสนอ หรือการเล่าที่สื่อสารได้ชัดเจน รวมถึงการดูแลรักษาวัตถุจัดแสดงให้คงอยู่ในสภาพที่ดี เท่านี้พิพิธภัณฑ์ก็ทำหน้าที่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่ให้ประโยชน์และมีคุณค่าต่อผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ