Museum Core
พาหัวใจเต้นตามเข็มนาฬิกา ที่พิพิธภัณฑ์เวลามัตสึโมโตะ
Museum Core
19 ม.ค. 66 814
ประเทศญี่ปุ่น

ผู้เขียน : สุวดี นาสวัสดิ์

               ก่อนที่โลกดิจิทัลจะลบเข็มนาฬิกาออกจากหน้าปัด จำได้ไหมว่านาฬิกาใกล้ตัวคุณมีเสียงดังแบบไหน

               เสียงเข็มวินาทีดัง ติ๊ก...ติ๊ก...ติ๊ก... ติ๊กต็อก!

               เสียงลูกตุ้มใสกังวานราวระฆังดัง แก๊ง...แก๊ง...แก๊ง!

               หรือเสียงนกฮูกตัวน้อยที่เปิดหน้าต่างออกมาร้อง กุ๊กกู! กุ๊กกู!

               ถ้าวันนี้พอมีเวลา ขอชวนมาฟังเสียงของนาฬิกาที่ Timepiece Museum ไปดูว่ามนุษย์เราเริ่ม “จับเวลา” กันตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเครื่องบอกเวลาแบบไหนกันบ้าง

 

ภาพ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์นาฬิกาเมืองมัตสึโมโตะตกแต่งด้วยนาฬิกาลูกตุ้มขนาดยักษ์

 

              Matsumoto Timepiece Museum หรือพิพิธภัณฑ์นาฬิกาเมืองมัตสึโมโตะ อยู่ห่างจากสถานีรถไฟ
มัตสึโมโตะ ในจังหวัดนางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น เพียง 10 นาที อาคาร 4 ชั้นตรงหัวมุมถนนหลังหนึ่งตั้งตระหง่าน
โดดเด่นด้วยการประดับนาฬิกาลูกตุ้มขนาดใหญ่ที่ผนังอาคาร เมื่อเดินเข้าไปด้านในจะพบโต๊ะวางแผ่นพับหลายภาษา พร้อมทั้งตราประทับรูปนาฬิกานกฮูกตาโตที่รอทักทายผู้มาเยือน ตรงผนังตกแต่งด้วยภาพนาฬิกาเล็ก ๆ หลายแบบเรียงกันเป็นแถว เรียกน้ำย่อยก่อนได้ชมนาฬิกาจริงกว่า 300 เรือนด้านใน

              เสียงเข็มนาฬิกาที่ดังเป็นจังหวะคล้ายกระซิบเรียกให้รีบเดินเข้าไปสำรวจ

              ห้องจัดแสดงชั้น 1 สร้างบรรยากาศให้เราทำความรู้จักกับเวลาและเครื่องบอกเวลาผ่านรูปภาพ วัตถุ และการ์ตูน การจัดแสดงนาฬิกาแบบต่าง ๆ ผสานกับภาพปราสาทเก่าแก่ จรวด ชินคันเซ็น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ฤดูหนาว และนักกีฬาวิ่งเข้าเส้นชัย นอกจากบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ยังบอกถึงความก้าวหน้าของมนุษยชาติผ่านกาลเวลาอีกด้วย

 

ภาพ 2 บรรยากาศภายในชั้น 1 จัดแสดงนาฬิกาและภาพเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาต่าง ๆ

 

              ห้องเล็ก ๆ ทางซ้ายมือฉายการ์ตูนเล่าความเป็นมาของวิธีการบอกเวลาตั้งแต่อดีต และวิวัฒนาการของเครื่องบอกเวลา มนุษย์หาวิธีบอกเวลาและจับเวลาโดยนำสิ่งใกล้ตัวที่จับต้องได้มาเป็นตัวช่วย นั่นคือธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด น้ำ ทราย และไฟ เช่น นาฬิกาแดดซึ่งเริ่มใช้ในอียิปต์เมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล มีการใช้ไม้เป็นแกนและบอกเวลาจากเงาของไม้ แต่นาฬิกาแดดก็มีข้อจำกัดตรงที่บอกเวลาได้เฉพาะช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นถึงตกดินเท่านั้น ส่วนนาฬิกาทรายก็ผลิตในอียิปต์เช่นกัน พัฒนามาจากนาฬิกาน้ำ มีข้อดีตรงที่ไม่กลายเป็นน้ำแข็งเมื่ออากาศหนาวเย็น และพกพาได้สะดวก นอกจากนี้สมัยก่อนยังมีการจุดเทียนบอกเวลาโดยทำเครื่องหมายไว้ที่ลำเทียน ใช้เวลาไปเท่าไรก็ดูจากเครื่องหมายและตัวเลขตรงปล้องลำเทียนที่มอดไหม้ลงไป

 

ภาพ 3 การ์ตูนฉายความเป็นมาของการบอกเวลาโดยใช้การจุดเทียน

ส่วนทางซ้ายมือในภาพคือเทียนที่ใช้บอกเวลา

 

              ภายในห้องฉายการ์ตูนยังจัดแสดงนาฬิกาทั้งของญี่ปุ่นและนานาชาติ มีนาฬิการูปร่างแปลกตามากมาย ทั้งนาฬิการูปอ่างใส่ปลาทอง นาฬิการูปกามเทพแผลงศรที่ใช้ลูกธนูแทนเข็มนาฬิกา แล้วก็ยังมีนาฬิกาสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น นาฬิกาพกจากสวิตเซอร์แลนด์สำหรับคนงานรถไฟ นาฬิกาสำหรับใช้ในการเดินเรือซึ่งต้องมีความเที่ยงตรงมาก และนาฬิกาสำหรับพยาบาล

              ต้องบอกว่าอยู่ที่นี่เราดูนาฬิกามากกว่าดูเวลา จึงได้สังเกตว่าหน้าปัดนาฬิกาแบบเข็มมักจะมีคำว่า quartz ปรากฏอยู่ เนื่องจากเมื่อ ค.ศ. 1927 นายวอร์เรน แมร์ริสัน ได้ประดิษฐ์นาฬิกาที่ใช้ผลึกแร่ควอตซ์ (quartz) หรือแร่เขี้ยวหนุมานเพื่อกำกับการเดินของเข็มนาฬิกา ซึ่งทำให้นาฬิกามีความเที่ยงตรงมากขึ้น ก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านการผลิตนาฬิกาควอตซ์ตามมาอย่างกว้างขวาง และมีคำนี้ปรากฏที่หน้าปัดนาฬิกาให้เห็นกันจนชินตา

              เสียงเข็มนาฬิกาที่ดังประสานกันนำพาเราไปที่ชั้น 2 ซึ่งบอกเล่าวิวัฒนาการของนาฬิกาในประเทศญี่ปุ่น พอพ้นบันไดทางขึ้นก็พบวงกลมขนาดใหญ่คล้ายหน้าปัดนาฬิกาอยู่ที่ผนัง รอบวงมีตัวอักษรและตัวเลขภาษาญี่ปุ่นกำกับอยู่ แสดงวิธีบอกเวลาตามแบบญี่ปุ่นในอดีตที่บอกเวลาแบบไม่เจาะจง (Unfixed Time Method) เมื่อนาฬิการะบบจักรกล (Mechanical Clock) เข้ามาในญี่ปุ่น จึงมีการแบ่งช่วงเวลากลางวันเป็น 6 หน่วย และกลางคืน 6 หน่วย ระยะเวลาของแต่ละหน่วยเรียกว่า ittoki ซึ่งไม่เท่ากันทั้งในเวลากลางวัน-กลางคืน รวมทั้งฤดูร้อน-ฤดูหนาว ดังนั้นจึงเรียกว่าเป็นการบอกเวลาแบบไม่เจาะจง ซึ่งไม่ได้ระบุหรือกำหนดเวลาที่ตายตัว

 

ภาพ 4 วิธีการบอกเวลาแบบไม่เจาะจงตามแบบญี่ปุ่น

 

               นาฬิการะบบจักรกลได้เข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1551 โดย ฟรานซิสโก ซาเวียร์ มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ได้มอบนาฬิกาให้แก่โยชิทากะ โออุจิ เจ้าเมืองซูโอะ นับจากนั้นชาวตะวันตกก็มีธรรมเนียมมอบนาฬิกาให้แก่ไดเมียวซึ่งเป็นเจ้าเมืองที่มีความสำคัญรองลงมาจากโชกุน ในสมัยเอโดะ โชกุนจะมีวิศวกรซึ่งทำหน้าที่ประดิษฐ์นาฬิกาโดยเฉพาะ และบอกเวลาแก่สาธารณชนด้วยการตีระฆัง เมื่อสิ้นสุดสมัยเอโดะคนทั่วไปจึงผลิตนาฬิกาที่ใช้วิธีบอกเวลาแบบไม่เจาะจงกับนาฬิกาข้อมือขนาดเล็กได้

              สองฝั่งทางเดินสู่ห้องด้านในมีนาฬิกาญี่ปุ่นโบราณตั้งเรียงรายชวนมอง ซ้ายมือเป็นนาฬิกาญี่ปุ่นยุคแรก มีทั้งลักษณะเหมือนโคมไฟเรียกว่า เรียกว่า ยากูระ โดเค (Yagura Dokei) และแบบที่มีรูปร่างเป็นทรงสูงเหมือนหอคอย เรียกว่า ได โดเค (Dai Dokei) ใช้บอกเวลาโดยอิงจากวิธีบอกเวลาแบบไม่เจาะจง และกำกับความเร็วของเข็มนาฬิกาโดยเจ้าเมือง

 

ภาพ 5 นาฬิกาโบราณของญี่ปุ่นตั้งเรียงรายชวนให้เข้าไปดูใกล้ ๆ

 

                นาฬิกาเรือนแรกสุดที่ผลิตในญี่ปุ่นถูกมอบเป็นของกำนัลแด่โทกูงาวะ อิเอยาซุ โชกุนผู้ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานภาพแผนผังของปราสาทมัตสึโมโตะที่มีห้องนาฬิกา เรียกว่า ontokeinoma ซึ่งจะมีผู้กำหนดเวลาและประกาศเวลาแก่ประชาชนโดยการยืนบนป้อมประตู นาฬิกาแบบอื่น ๆ เช่น นาฬิกาแบบ Scale Clock มีหน้าปัดบอกเวลาติดที่กล่องไม้และมีเข็มถ่วงลูกตุ้มใช้ชี้บอกเวลา นาฬิกาแบบ Pillow Clock เป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะที่ใช้สปริงและตกแต่งด้วยทองเหลือง รู้จักกันในชื่อ นาฬิกาไดเมียว ซึ่งระฆังบอกเวลาจะมีเสียงใสดังชัดเจน

 

ภาพ 6 แผนผังปราสาทมัตสึโมโตะที่ระบุชื่อห้องนาฬิกา

 

                พัฒนาการของนาฬิกาแบบตะวันตกเริ่มขึ้นเมื่อมีการประดิษฐ์นาฬิการะบบจักรกลขึ้น จากเดิมที่มนุษย์ใช้ชีวิตสัมพันธ์กับเวลาตามธรรมชาติ ก็กลายเป็นกำหนดเวลาขึ้นเองแบบตายตัว มีการใช้เข็มนาที และต่อมาจึงผลิตนาฬิกาขนาดเล็กและนาฬิกาข้อมือ

 

ภาพ 7 นาฬิกาลูกตุ้มตั้งเรียงรายเป็นแถว ทุกเรือนยังใช้การได้ตามปกติ

 

               ที่ชั้น 2 มีนาฬิกาแบบลูกตุ้มนับสิบเรือนตั้งอยู่ตามแนวผนังเป็นระยะ ทุกเรือนอยู่ในสภาพใช้การได้ปกติ ทุกย่างก้าวของเราจึงถูกกำกับด้วยจังหวะเข็มนาฬิกาที่ดังสะท้อนมาจากทุกทิศทาง พอครบชั่วโมง เสียงระฆังนาฬิกาก็ดังขึ้นพร้อมกันอีกเหมือนกับท่วงทำนองเพลง ทำให้เดินได้เพลิน ๆ นาฬิกาที่จัดแสดงเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นของสะสมของนายชิกาโซ ฮอนดะ วิศวกรชาวญี่ปุ่นบริจาคให้แก่เมืองมัตสึโมโตะเมื่อ ค.ศ. 1974 ต่อมามีผู้บริจาคเพิ่มเติมจนกระทั่งสามารถเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้ใน ค.ศ. 2002

 

ภาพ 8 ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบนาฬิกาให้มีรูปลักษณ์สวยงามแตกต่างกัน

 

              เสียงติ๊กต็อกของเข็มนาฬิกานับสิบเรือนทำให้รู้สึกเหมือนเข้าไปเดินเล่นอยู่ภายในตัวเรือนนาฬิกา และย้ำเตือนให้ระลึกว่า ทุกวินาทีที่เข็มนาฬิกาเคลื่อนที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกขณะ แม้แต่เครื่องบอกเวลาอย่างนาฬิกาก็เช่นกัน จากความจำเป็นในการบอกเวลา พัฒนามาเป็นนาฬิกาประเภทต่าง ๆ ตามการใช้งาน และการออกแบบที่สวยงาม นาฬิกาจึงเป็นมากกว่าเครื่องบอกเวลา คือเป็นเครื่องประดับเสริมคุณค่าความพิเศษให้แก่สถานที่หรือผู้สวมใส่ สะท้อนเทคโนโลยีรวมทั้งค่านิยมตามท้องถิ่นและยุคสมัย ตกทอดเป็นมรดกแห่งกาลเวลาในที่สุด

              ที่นี่เป็นสถานที่อีกแห่งที่ย้ำเตือนว่า 1 วินาทีในวันนี้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เวลาที่ล่วงเลยผ่านไปแล้วนั้นย้อนกลับมาไม่ได้

              อย่าดูนาฬิกาเพลิน จนลืมเวลา

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ