Museum Core
จากโพยก๊วนถึงออฟฟิศไปรษณีย์ที่ 8
Museum Core
19 ม.ค. 66 457

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

               ร้อยกว่าปีก่อน ก่อนสยามมีกิจการไปรษณีย์ในปี พ.ศ. 2426 ชาวจีนจำนวนมากอาศัยอยู่บนแผ่นดินสยาม โดยอพยพเข้ามาทำมาหากินตั้งรกรากมีครอบครัวและด้วยความกตัญญูรู้คุณต่อวงศ์ตระกูล ชาวจีนในสยามจึงส่งเงินแนบจดหมายกลับไปให้ญาติพี่น้องยังแผ่นดินเกิดอย่างล้นหลาม

               ดั้งเดิมมักฝากไปกับคนเดินเรือเมล์ ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนมากให้แก่ผู้รับฝาก เพราะไม่มีทางเลือกอื่น และออกไปทางไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไร บ่อยครั้งเงินไปถึงล่าช้า และหนักสุดคือเงินนั้นสูญหาย ต่อมามีพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ ตั้งตัวเป็นเอเย่นต์รับฝากเงินจากสยามไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ โดยตั้งร้านรับฝากขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

               นี่คือที่มาของ “โพยก๊วน” หรือ “โรงโพย” สถานที่รับฝากเงินพร้อมจดหมายเพื่อฝากส่งไปยังเมืองจีน

                สำหรับขั้นตอน พ่อค้าจะนำจดหมายซึ่งระบุที่อยู่พร้อมจำนวนเงิน ฝากไปยังญาติพี่น้องที่เมืองจีน นำมารวมห่อเรียกว่า “ห่อโพย” หรือ “โพยเปา” ส่งจากกรุงเทพฯ ไปทางเรือเมล์ยังท่าเรือเมืองซัวเถา ทางเอเย่นต์เมืองจีนก็จะนำไปจ่ายตามที่อยู่หน้าซอง พ่อค้าทั้งฝ่ายกรุงเทพฯ และเมืองจีนมีข้อตกลงกัน เมื่อญาติทางเมืองจีนได้รับเงินแล้วจะตอบกลับมาเป็นรหัส เอเย่นต์ทางกรุงเทพฯ ก็จะนำไปแจกจ่ายแก่ญาติผู้ฝากส่ง นับเป็นกระบวนการที่น่าเชื่อถือ ตลอดจนค่าฝากส่งอยู่ในเกณฑ์แน่นอนและยุติธรรม

 

ภาพที่ 1 ซองโพยก๊วนติดแสตมป์ส่งไปรษณีย์ไปยังเมืองจีน

แหล่งที่มาภาพ https://www.venusstamps.com/products_detail/view/2792921

 

               ช่วงหนึ่ง กรมไปรษณีย์โทรเลขสยาม ได้เข้าควบคุมการส่งห่อโพยไปเมืองจีน โดยเอเย่นต์ต้องนำห่อโพยไปตรวจชั่งและติดแสตมป์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงภาษีเก่า ถนนเจริญกรุง โดยการชั่งน้ำหนักห่อโพยคิดอัตรา 2 อัฐต่อน้ำหนัก 1 บาท (15 กรัมหรือครึ่งออนซ์) จากนั้นติดแสตมป์ด้านหน้าห่อ พร้อมประทับตราประจำวัน นำลงถุงเมล์ส่งทางเรือกลไฟ

               กระทั่งปี พ.ศ. 2449 ทางกรมไปรษณีย์โทรเลขจีน มีหนังสือแจ้งมายังรัฐบาลสยามว่า ประเทศจีนสามารถส่งไปรษณียภัณฑ์ไปได้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งแผ่นดินจีนแล้ว นั่นเป็นที่มาให้กรมไปรษณีย์โทรเลขสยาม เริ่มจัดตั้งสำนักงานส่งเงินไปยังเมืองจีน ทว่าเบื้องต้นถูกต่อต้านจากพ่อค้าชาวจีนผู้เสียผลประโยชน์อยู่พอสมควรเหมือนกัน

               จนมาลงตัว โดยให้ร้านโพยก๊วนส่งเงินและจดหมายมาให้กรมไปรษณีย์โทรเลขสยามตรวจ และคิดค่าฝากส่งฉบับละ 12 อัฐ จากนั้นรวมห่อพัสดุติดแสตมป์ด้านนอกห่อตามอัตราจำนวนซองที่บรรจุ ทำให้ห่อโพยแต่ละห่อมีซองเงินหลายร้อยซอง แสตมป์ที่ติดจึงราคาสูงขึ้นตามจำนวนซอง นับเป็นอีกรายได้เพิ่มขึ้นของกรมไปรษณีย์โทรเลขสยามในเวลานั้น

               ล่วงเวลามาถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสำหรับชาวจีนขึ้นเป็นการเฉพาะ เป็นที่มาของ “ออฟฟิศไปรษณีย์ที่ 8” ตั้งอยู่บริเวณตรอกข้าวสาร ถนนเยาวราช (ระหว่างถนนทรงวาดกับตรอกพระยาไพบูลย์) ย่านสำเพ็งของบางกอก

               หนึ่งวันก่อนเปิดที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8 กรมไปรษณีย์โทรเลขสยามได้เชิญตัวแทนโรงโพยก๊วนจำนวน 40 ร้าน มารับประทานอาหารเลี้ยงแบบธรรมเนียมจีน หรือโต๊ะจีนนั่นเอง โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมไปรษณีย์โทรเลขสยามเข้าร่วมด้วย หนึ่งในนั้นได้แก่ แฮรร์ เธโอดอร์ โคลล์มันน์ ชาวเยอรมันผู้เข้ามารับราชการและเป็นเรี่ยวแรงสำคัญให้การไปรษณีย์สยามก้าวหน้าอย่างเป็นระบบในเวลาต่อมา

 

ภาพที่ 2 ที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8

แหล่งที่มาภาพ https://www.silpa-mag.com/history/article_67624

 

               ปรากฏว่าบรรดาพ่อค้าชาวจีนที่มาร่วมเลี้ยงโต๊ะจีนพอใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นการสมานฉันท์แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ระหว่างกรมไปรษณีย์โทรเลขสยามและตัวแทนโรงโพยก๊วน

               สำหรับที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8 นั้น ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งอีกหลายครั้ง เคยอยู่บริเวณโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิในปัจจุบัน (ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์) แล้วย้ายไปอยู่บริเวณโรงภาพยนตร์พัฒนาการ (ถูกไฟไหม้ไปแล้ว) กระทั่งปี พ.ศ. 2488 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขป้อมปราบ และยังมีหน้าที่ส่งห่อโพยหรือโพยเปาไปยังเมืองจีนเหมือนเดิม

                จนราว พ.ศ. 2515 การส่งเงินไปยังเมืองจีนแบบเดิมได้หมดหน้าที่ไปตามยุคสมัย ร้านโพยก๊วนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ทยอยปิดกิจการลง เพราะโลกสมัยต่อมามีช่องทางการโอนเงินระหว่างประเทศที่สะดวก ประหยัดค่าใช้จ่าย และรวดเร็วปลอดภัยขึ้นนั่นเอง

 

ภาพที่ 3 โพยก๊วนประทับตราประจำวันจากที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8

แหล่งที่มาภาพ http://www.oknation.net/blog/nukpan/2010/03/06/entry-1

 

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1

หนังสือตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม, พ.ต.อ.นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช

วารสารสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ฉบับ 22 ก.ค. – ก.ย. 2556

นิตยสารแสตมป์และสิ่งสะสม ฉบับ พ.ย. 2561

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ