สงครามและความสูญเสียเป็นของคู่กัน การวางแผนยุทธวิธีทางทหารจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรบ เสนาธิการทหารที่ดีจะวางแผนปฏิบัติการให้สูญเสียกำลังพลน้อยที่สุด หากทหารในแนวหน้าไม่ใช่พลเมืองประเทศตนแล้วเล่า พวกเขาจะถูกปฏิบัติอย่างไรก็ได้เช่นนั้นหรือ? เราทุกคนคงมีคำตอบในใจ ความเสมอภาคในหมู่ชนไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่ถึงศตวรรษ ยังคงมีพลทหารนับแสนนายที่รับใช้หนึ่งในสาธารณรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เขาเหล่านั้นถูกนำตัวจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อต่อสู้ในดินแดนโพ้นทะเล กลุ่มนักรบต้องฝ่าฟันอันตรายในการศึกที่พวกตนไม่ได้ก่อ และทันทีที่สงครามได้ยุติ พวกเขากลับจำต้องก้มหน้ารับความอยุติธรรมมานานนับทศวรรษ เขาเหล่านี้คือกองพลทหารราบเซเนกัล (Senegalese Tirailleurs) นักรบแอฟริกันที่สู้ศึกแทนเจ้าอาณานิคม พลทหารเหล่านี้เป็นใคร และเหตุใดพวกเขาจึงรับใช้กองทัพฝรั่งเศสมากว่าร้อยปีนั้น เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ภาพที่ 1 ทหารแอฟริกันในสงครามโลกครั้งที่ 1
แหล่งที่มาภาพ: Mr.Nostalgic. Le fanion du 43e bataillon de tirailleurs sénégalais décoré de ka fourragère. (2012). [Online]. Accessed 2022 June 20. Available from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Le_fanion_du_43e_bataillon_de_tirailleurs_s%C3%A9n%C3%A9galais_d%C3%A9cor%C3%A9_de_ka_fourrag%C3%A8re.jpg
กองพลทหารราบเซเนกัลเป็นชื่อเรียกกองกำลังแอฟริกันที่รับใช้กองทัพฝรั่งเศสระหว่างค.ศ. 1857 ถึงค.ศ. 1964 แม้จะมีชื่อว่าเซเนกัล ทว่าทหารเหล่านี้ถูกเกณฑ์มาจากทั่วทั้งจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส (French Colonial Empire) สาเหตุที่กำลังพลแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางถูกเรียกรวมว่าเซเนกัลเป็นเพราะหน่วยรบพิเศษถูกก่อตั้งครั้งแรก ณ ดินแดนชายฝั่งประเทศเซเนกัล อาณานิคมจักรวรรดิฝรั่งเศสในขณะนั้น
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เกือบ 4 ศตวรรษ ฝรั่งเศสได้ก่อตั้งสถานีการค้าแห่งแรกในแอฟริกาตะวันตกที่เมืองแซงต์หลุยส์ (Saint – Louis) ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเซเนกัล ก่อนขยายเขตปกครองไปยังเกาะโกเร (Gorée) ดาการ์ (Dakar) และรูฟิสก์ (Rufisque) ตามลำดับ เป็นเวลากว่า 2 ศตวรรษที่ผู้รุกรานจากยุโรปทำได้เพียงยึดครองชายฝั่งกาฬทวีป การล่าอาณานิคมที่แท้จริงเริ่มต้นขึ้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังเภสัชกรฝรั่งเศสค้นพบยาควินินที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย บวกกับเทคโนโลยีเรือกลไฟที่ช่วยให้นักเดินทางลัดเลาะตามแม่น้ำสายย่อยในแผ่นดินใหญ่ ฝรั่งเศสจึงเริ่มต้นขยายอำนาจในแอฟริกาตั้งแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม การยึดครองยังคงมีอุปสรรคอยู่มาก กองทัพฝรั่งเศสต้องเผชิญหน้ากับชนพื้นเมืองที่ไม่ยอมศิโรราบ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากสภาพอากาศที่ไม่เคยคุ้น ตอนนั้นเองที่นายพลหลุยส์ เฟแดร์บ (Louis Faidherbe) ผู้วาการฝรั่งเศสแห่งเซเนกัลได้ริเริ่มกลยุทธ์รูปแบบใหม่ แทนที่จะส่งทหารของตนไปตาย เฟแดร์บได้ก่อตั้งกองกำลังแอฟริกันที่รวบรวมอดีตทาส เชลยศึก และแรงงานไว้ด้วยกัน กองพลพิเศษถูกก่อตั้งในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1857 เฟแดร์บให้ชื่อกองกำลังนี้ว่า กองพลทหารราบเซเนกัล ทหารเหล่านี้มีหน้าที่สู้ศึกแทนฝรั่งเศสในสงครามขยายดินแดนในแอฟริกา ในไม่ช้าคนขาวก็ตระหนักว่ากองกำลังแอฟริกันมีค่ามากกว่าที่คาดไว้ คนท้องถิ่นมีความทรหดอดทน พวกเขาคุ้นชินกับสภาพอากาศและรู้จักภูมิประเทศเป็นอย่างดี นอกจากนี้หากทหารผิวดำสิ้นชีพในการรบ กองทัพก็ไม่จำเป็นต้องเผชิญเสียงคัดค้านจากรัฐสภาแผ่นดินแม่ ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมด ฝรั่งเศสจึงจัดตั้งกองกำลังคนท้องถิ่นในดินแดนอาณานิคมหลายแห่งนับแต่นั้น
ระหว่างค.ศ. 1857 ถึงค.ศ. 1910 กองพลทหารราบเซเนกัลได้พิสูจน์ฝีมือในสมรภูมิหลายครั้ง พวกเขาถูกส่งไปประจำการณ์ทั้งในแอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันออก และมาดากัสการ์ และในต้นทศวรรษที่ 1910 เมื่อกลิ่นอายสงครามเริ่มคุกรุ่นในยุโรปภาคพื้นทวีป ชาร์ลส์ มองแกง (Charles Mangin) นายพลฝรั่งเศสก็ได้เสนอความคิดให้นำกองพันแอฟริกันมาร่วมรบเพื่อป้องกันชายแดนฝรั่งเศส มองแกงอ้างว่าอัตราการเกิดของประชากรฝรั่งเศสลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับสมรรถภาพร่างกายคนดำที่เหนือกว่า พวกเขาจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการสู้ศึกใหญ่ในครั้งนี้ รัฐสภาเห็นด้วยกับข้อเสนอของมองแกง ด้วยเหตุนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้นในค.ศ. 1914 กองพลทหารราบเซเนกัล 5 กองแรกจึงถูกส่งไปประจำการในแนวรบด้านตะวันตก (Western Front) เขตสงครามที่รุนแรงที่สุดในขณะนั้น
ฝรั่งเศสสูญเสียไพร่พลจำนวนมากในการรบปีแรก กองทัพจึงรวบรวมกำลังรบจากแอฟริกาอีกกว่า 93 กองพัน กว่าครึ่งในนั้นถูกส่งตัวไปประจำการณ์ในฝรั่งเศสเพื่อสู้ศึกกับทัพเยอรมันในแนวหน้า พลทหารแอฟริกันต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศหนาวเย็นหรือการรบในสงครามสนามเพลาะ อย่างไรก็ตาม ทหารแอฟริกันได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญในการรบครั้งสำคัญ ทั้งในสมรภูมิฟลานเดอร์ส (Battle of Flanders) ค.ศ. 1914 สมรภูมิแวร์เดิง (Battle of Verdun) ค.ศ. 1916 สมรภูมิเชอแมงเดส์ดามส์ (Battle of Chemin des Dames) ค.ศ. 1917 และสมรภูมิแรงส์ (Battle of Reims) ค.ศ. 1918 ตลอดระยะเวลา 4 ปีของสงคราม พลทหารแอฟริกันที่ร่วมรบกับฝรั่งเศสในครั้งนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 170,891 นาย
แม้การใช้ทหารจากอาณานิคมในการรบจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทว่าชาวฝรั่งเศสบางส่วนกลับไม่พอใจ พวกเขาอ้างถึงธรรมชาติของทหารแอฟริกันที่ควบคุมยากและไม่มีระเบียบวินัย ฝรั่งเศสไม่ชอบใจความคิดที่ว่าต้องติดหนี้กลุ่มคนที่พวกตนมองว่าต้อยต่ำกว่า แต่แล้วเมื่อสงครามโลกอุบัติขึ้นอีกครั้ง รัฐบาลฝรั่งเศสก็ไม่รั้งรอที่จะเรียกใช้กองกำลังแอฟริกัน เมื่อครั้งที่ทัพนาซีบุกยึดตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศสในค.ศ. 1940 กองพลทหารราบเซเนกัลที่ประจำการณ์ในเมืองชายแดนขณะนั้นได้สู้รบเพื่อต่อต้านทัพเยอรมัน ทว่าก็ไม่อาจต้านทานแสนยานุภาพกองกำลังศัตรูได้ ทหารแอฟริกันมากมายถูกจับเป็นเชลยศึกในค่ายทหารเยอรมัน แต่แทนที่จะถูกควบคุมตัวเหมือนเชลยสงครามทั่วไป ทหารผิวดำกลับกลายเป็นเหยื่อความเกลียดชังของเหล่านาซีที่มีแนวคิดเชื้อชาตินิยมสุดโต่ง เชลยเหล่านั้นถูกสำเร็จโทษอย่างโหดร้าย หลายคนถูกทรมานก่อนประหารชีวิต การยึดครองฝรั่งเศสของนาซีในครั้งนั้นจึงถือเป็นนรกบนดินของเชลยแอฟริกันอย่างแท้จริง
ภาพที่ 2 เชลยแอฟริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2
แหล่งที่มาภาพ: Stéphanie TROUILLARD. The Nazi massacre of African soldiers in French army, 80 years on. (2020). [Online]. Accessed 2022 June 20. Available from: https://www.france24.com/en/20200621-the-nazi-massacre-of-senegalese-soldiers-in-french-army-80-years-on
เช่นเดียวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสเกณฑ์ทหารร่วมแสนนายจากอาณานิคมเพื่อรบในแนวหน้า ในจำนวนนี้มีชาวแอฟริกันที่สมัครใจเข้าร่วมรบด้วยตนเอง ฝรั่งเศสให้คำมั่นสัญญาว่าทหารที่ร่วมรบในสงครามจะได้รับเงินตอบแทนที่เหมาะสม นักรบเหล่านั้นจึงปักใจเชื่อว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับคนขาวเมื่อสงครามยุติ ทว่าในฤดูใบไม้ร่วงค.ศ. 1944 หลังฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยจากกองกำลังสัมพันธมิตร นายพลชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle) ผู้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐในเวลาต่อมากลับออกคำสั่งส่งกองพลทหารราบเซเนกัลเกือบทั้งหมดขึ้นเรือกลับกาฬทวีป เดอ โกลล์อ้างว่าเหตุที่สั่งถอนกำลังสายฟ้าแลบเป็นเพราะไม่ต้องการให้ทหารแอฟริกันต้องเผชิญฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ทว่าคำสั่งในครั้งนั้นยังคงเป็นที่ครหามาจนถึงปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเดอ โกลล์มั่นใจว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะได้ชัย กำลังพลจากแอฟริกาจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เหล่านักรบจึงไม่มีโอกาสได้สัมผัสชัยชนะในสงครามที่พวกตนร่วมต่อสู้
ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อทหารแอฟริกันกลับถึงบ้านเกิดเมืองนอน พวกเขากลับไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ฝรั่งเศสเสนอไว้ในตอนต้น ทหารแอฟริกันกว่า 1,300 นายจึงรวมตัวกันประท้วงที่ค่ายติอารัว (Thiaroye) ณ กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัลในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1944 พวกเขาต้องการเพียงค่าตอบแทนที่ควรได้เท่านั้น ทว่าเมื่อทหารฝรั่งเศสเห็นว่าการประท้วงยังคงดำเนินต่อไป ในรุ่งเช้าของวันที่ 1 ธันวาคม เหล่าคนขาวจึงเปิดฉากยิงปืนใส่ผู้ประท้วง ฝรั่งเศสเผยว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง 35 คน ทว่าทหารแอฟริกันในเหตุการณ์ยืนยันว่ามีผู้ประท้วงที่ถูกฆ่าไม่ต่ำกว่า 300 คน โศกนาฏกรรมครั้งนั้นถูกเรียกในเวลาต่อมาว่าการสังหารหมู่ที่ติอารัว (Thiaroye Massacre) ผู้ประท้วงที่รอดชีวิตถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปีด้วยข้อหากบฏต่อสาธารณรัฐ แม้จะถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา ทว่าเหล่าทหารผ่านศึกกลับล้มเหลวในการเรียกร้องค่าตอบแทนที่ตนสมควรได้ ถือเป็นจุดจบที่น่าเศร้าของทหารอาณานิคมที่หลั่งเลือดเพื่อประเทศมหาอำนาจมาช้านาน
ภาพที่ 3 อนุสรณ์ในประเทศมาลี สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงทหารที่ถูกฆ่าในการสังหารหมู่ที่ติอารัว
แหล่งที่มาภาพ: Rgaudin. Place des martyrs de Thiaroye - Bamako. (2008). [Online]. Accessed 2022 June 20. Available from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Place_des_martyrs_de_Thiaroye_-_Bamako.jpg
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองพลทหารราบเซเนกัลยังคงต่อสู้ร่วมกับทัพฝรั่งเศสในการรบที่แอฟริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม แนวคิดชาตินิยมในประเทศอาณานิคมแพร่สะพัดเมื่อสงครามใหญ่สิ้นสุด หลายประเทศพากันเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสในทศวรรษที่ 1960 ครั้นฝรั่งเศสเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องรบพุ่งเพื่อขยายดินแดนอีกต่อไป ในค.ศ. 1964 กองพลทหารราบเซเนกัลที่รับใช้สาธารณรัฐมานานกว่า 100 ปีจึงยุติบทบาทลงอย่างสมบูรณ์ เหลือไว้เพียงตำนานความกล้าหาญของทหารกาฬทวีปที่ยังคงถูกเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน และเรื่องราวความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องแบกรับมานานปี จากผู้คนที่เห็นว่าเขาเหล่านี้เป็นเพียงอาวุธสงครามที่มีลมหายใจ
แหล่งค้นคว้าอ้างอิง
Echenberg, Myron. Colonial Conscripts: The Tirailleurs Senegalais in French West Africa, 1857 –
Ginio, Ruth. The French Army and its African Soldiers: The Years of Decolonization. Lincoln: University of Nebraska Press, 2017.