Museum Core
จูเลียนา บีบี: สุภาพสตรีผู้ภักดีต่อจักรพรรดิ
Museum Core
03 ต.ค. 65 2K

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               ความรักระหว่างชนชั้น... ความสัมพันธ์ของบุคคลที่แตกต่างเป็นเรื่องราวยอดนิยมทุกสมัย บางตำนานอาจจบลงด้วยความสุขตลอดไป ทว่าหลายครั้งที่ความเหมาะสมกลายเป็นอุปสรรคกั้นกลางไม่ให้ใครได้ครองคู่ ในบรรดาเรื่องรักอมตะแห่งฮินดูสถาน ตำนานรักแห่งจักรวรรดิมุฆัล (Mughal Empire) เป็นที่โจษขานในหมู่ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์อินเดียมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นความรักต่างศาสนาของจักรพรรดิอักบาร์ (Akbar) และโชธา ไบ (Jodha Bai) เจ้าหญิงฮินดูผู้กลายมาเป็นพระชายา ความรักต่างสถานะขององค์ชายซาลิม (Salim) และนางระบำ
อนารกลี (Anarkali) ที่จบลงด้วยความตายของฝ่ายหญิง หรือแม้แต่ความหลงใหลของจักรพรรดิจาหันกีร์ (Jahangir) ที่มีต่อเมห์รุนิสา (Mehr-un-Nissa) สตรีที่มีสามีแล้ว เรื่องราวเหล่านี้ถูกแต่งเสริมเติมอรรถรสจนกลายเป็นตำนานรักเลื่องชื่อ ในบรรดาเรื่องรักระหว่างชนชั้นสมัยมุฆัล ยังมีเรื่องราวของสตรีผู้หนึ่งที่ร่ำลือไปไกลถึงยุโรป เธอคนนี้คือผู้หญิงผิวขาวที่มีอิทธิพลต่อจักรพรรดิและราชสำนักมุฆัลในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชื่อของเธอคือจูเลียนา บีบี (Juliana Bibi) สุภาพสตรีผู้รับใช้บัลลังก์นกยูงกว่าค่อนศตวรรษ

 

ภาพที่ 1: จูเลียนา บีบี สตรีโปรตุเกสผู้รับใช้ราชสำนักมุฆัล

แหล่งที่มาภาพ: Malkarnekar, Gauree. Portuguese India: A Love Affair that saved Portuguese from Mughals. (2017). [Online]. Accessed 2021 Dec 25. Available from: https://timesofindia.indiatimes.com/city/goa/a-love-affair-that-saved-portuguese-from-mughals/articleshow/59719523.cms

 

 

               จูเลียนา บีบีมีชื่อเต็มว่าจูเลียนา ดิอาส ดา คอสตา (Juliana Dias da Costa) ประวัติของจูเลียนาในวัยเยาว์ค่อนข้างสับสนไม่มีผู้ใดทราบปีหรือสถานที่เกิดอันแน่ชัด บันทึกชาวยุโรปร่วมสมัยเห็นพ้องว่าจูเลียนาเป็นบุตรีของอะโกสตินโญ ดิอาส ดา คอสตา (Agostinho Dias da Costa) นายแพทย์โปรตุเกสที่เข้ามาแสวงโชคในแผ่นดินฮินดูสถานต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในปีค.ศ. 1633 อะโกสตินโญและภรรยาต้องตกระกำลำบากเมื่อจักรพรรดิชาห์จาหัน (Shah Jahan) ออกคำสั่งทำลายชุมชนคนขาวในฮุคลี (Hugli) หลังทหารโปรตุเกสจู่โจมเรือโดยสารผู้แสวงบุญ ทั้งคู่ถูกกวาดต้อนไปยังอักรา (Agra) เมืองหลวงมุฆัลในขณะนั้น ด้วยความสามารถทางการแพทย์ของอะโกสตินโญ เขาจึงถูกว่าจ้างให้รับราชการในฐานะแพทย์หลวง ในขณะที่ภรรยากลายมาเป็นข้ารับใช้สตรีชั้นสูงในราชสำนัก จูเลียนาและน้องสาว แองเจลีค (Angelique) จึงเกิดมาใต้เงามุฆัลระหว่างนั้น

                ครั้น ชาห์จาหันสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1666 อะโกสตินโญก็ถูกแต่งตั้งโดยจักรพรรดิออรังเซป (Aurangzeb) ให้เป็นหนึ่งในคณะแพทย์ประจำตัวองค์ชายมุอัซซัม (Mu’azzam) โอรสองค์รองของพระองค์ ในขณะเดียวกันภรรยาของเขาได้รับเลือกให้เป็นข้ารับใช้นะวาบ ไบ (Nawab Bai) มารดาของมุอัซซัม จูเลียนาในวัยสาวจึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดมุอัซซัมที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน เนื่องจากจูเลียนามีความสามารถด้านภาษา รวมถึงมีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ ออรังเซปจึงวางพระทัยให้หญิงสาวสอนหนังสือโอรสธิดาของพระองค์

                ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีจนกระทั่งเดือนมีนาคม ค.ศ. 1686 บิดาของจูเลียนาเสียชีวิตในครานั้น หนึ่งปีหลังบิดาจากไป องค์ชายมุอัซซัมที่ดำรงตำแหน่งผู้แทนพระองค์ประจำกาบูล (Kabul) ได้รับบัญชาจากจักรพรรดิให้ยกทัพปราบปรามกองกำลังของสุลต่านแห่งโกลโกณฑา (Golkonda) ทางตอนใต้ ทว่าแทนที่จะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มุอัซซัมกลับส่งสาส์นติดต่อกับอาบู หะซัน (Abu Hasan) ผู้ปกครองโกลโกณฑาอย่างลับๆ เมื่อออรังเซปทราบเรื่องก็พิโรธหนัก จักรพรรดิจึงสั่งคุมขังมุอัซซัมและมารดาด้วยข้อหากบฏ มารดาของจูเลียนาได้รับอิสรภาพพร้อมกับข้ารับใช้พระชายาคนอื่นๆ ทว่าจูเลียนากลับไม่อาจทนดูผู้สูงส่งทั้งคู่เผชิญชะตากรรมในคุก หล่อนยืนกรานที่จะปรนนิบัติรับใช้มุอัซซัมและมารดาต่อไป จูเลียนาจึงกลายมาเป็นข้ารับใช้องค์ชายไร้บัลลังก์นับแต่นั้น

                ความรักระหว่างสตรีผิวขาวและองค์ชายตกยากเริ่มผลิบานในปี ค.ศ. 1687 จูเลียนามาเยี่ยมมุอัซซัมในคุกเป็นประจำ ระหว่างนั้นหล่อนแอบนำของมีค่าและข้าวของที่จำเป็นมาให้องค์ชายและพระชายา มุอัซซัมซาบซึ้งในความดีของจูเลียนา องค์ชายในวัยสี่สิบเศษปฏิญาณว่า หากได้เป็นอิสระและขึ้นเป็นจักรพรรดิเมื่อใดจะตอบแทนสตรีผู้ภักดีให้สมกับที่หล่อนควรได้รับ ทว่าสิ่งที่จูเลียนาปรารถนากลับไม่ใช่แก้วแหวนเงินทองแต่อย่างใด ตรงกันข้ามในฐานะคริสตชนที่เคร่งศาสนา จูเลียนาเชื่อเสมอว่าเป้าหมายของตนในฮินดูสถานคือการเผยแพร่ศรัทธาที่มีต่อพระคริสต์ ด้วยเหตุนี้หล่อนจึงสนทนาธรรมกับมุอัซซัมทุกวัน โดยหวังว่าสักวันองค์ชายมุฆัลจะหันมาศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกันกับตน

                ในปีค.ศ. 1694 จักรพรรดิออรังเซปพระราชทานอภัยโทษและปล่อยตัวโอรสจากที่คุมขัง มุอัซซัมที่เป็นอิสระได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนพระองค์ตามเดิม องค์ชายทำตามสัญญาที่ให้ไว้ เขาประทานรางวัลแก่จูเลียนาผู้ซื่อสัตย์ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่งอกงามยิ่งกว่าเก่า นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า จูเลียนากลายมาเป็นคู่รักของมุอัซซัมในครั้งนั้น สตรีผิวขาวยังคงรับใช้ราชบัลลังก์จนกระทั่งเดือนมีนาคม ค.ศ. 1707 เมื่อจักรพรรดิออรังเซปสวรรคตโดยมิได้แต่งตั้งรัชทายาท สงครามชิงบัลลังก์ระหว่างพี่น้องจึงเริ่มต้น มุอัซซัมถูกท้าทายโดยน้องชายสองคน ได้แก่ มุฮัมหมัด อะซาม ชาห์ (Muhammad Azam Shah) และมุฮัมหมัด กัม บัคช์ (Muhammad Kam Bahksh) การต่อสู้อุบัติขึ้นที่หมู่บ้านจาเจา (Jajau) ไม่ไกลจากเมืองหลวงอักราในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1707 ผู้พันชองตีล (Colonel Gentil) ทหารฝรั่งเศสผู้อ้างตนว่าเป็นหลานเขยของจูเลียนาบันทึกถึงการรบครั้งนั้นว่าจูเลียนาผู้เฉลียวฉลาดได้ให้คำแนะนำในการศึกแก่องค์ชายมุอัซซัม ไม่เพียงเท่านั้น จูเลียนายังขี่ช้างติดตามมุอัซซัมไปสมรภูมิอยู่ไม่ห่าง การรบที่ยุทธภูมิจาเจาจบลงด้วยชัยชนะของมุอัซซัมที่ต่อมาได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ที่ 1 (Bahadur Shah I) จักรพรรดิองค์ที่ 8 แห่งจักรวรรดิมุฆัล ชองตีลและชาวยุโรปร่วมสมัยเชื่อว่าสติปัญญาและคำภาวนาของจูเลียนาทำให้บาฮาดูร์ ชาห์ได้ชัย เช่นเดียวกับแรงศรัทธาของนักบุญฌาน ดาร์ก (Jeanne d’Arc) ที่ต่อสู้เพื่อแผ่นดินฝรั่งเศสในอดีต

 

ภาพที่ 2: บาฮาดูร์ ชาห์ที่ 1 จักรพรรดิมุฆัลองค์ที่ 8

แหล่งที่มาภาพ: Eugene a. Bahadur Shah, ca. 1670. (2012). [Online]. Accessed 2021 Dec 25. Available from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Bahadur_Shah,_ca._1670,_Biblioth%C3%A8que_nationale_de_France,_Paris.jpg

 

                หลังจากบาฮาดูร์ ชาห์ขึ้นครองบัลลังก์ จักรพรรดิก็ตบรางวัลให้จูเลียนาเพื่อตอบแทนที่สนับสนุนพระองค์ จูเลียนาได้รับค่าตอบแทนหนึ่งพันรูปีต่อเดือน พร้อมกับคฤหาสน์เก่าที่เคยเป็นขององค์ชายดารา ศิโกห์ (Dara Shikoh) ในเดลี นอกจากนั้นจูเลียนายังได้หมู่บ้านเอาไว้เก็บภาษี หล่อนมีข้ารับใช้หกพันคนและช้างสองเชือกติดตามยามต้องการเดินทางไปที่ใด จูเลียนาถูกข้าราชสำนักเรียกอย่างยกย่องว่า “บีบี” เพื่อเป็นการให้เกียรตินับแต่นั้น หลายครั้งที่ชื่อของหล่อนถูกอ้างอิงในเอกสารว่า “ฟิดวี บาฮาดูร์ ชาห์ จูเลียนา (Fidvi Bahadur Shah Juliana)” ที่มีความหมายในภาษาเปอร์เซียว่า “จูเลียนา ข้ารับใช้ผู้เสียสละของบาฮาดูร์ ชาห์”

                ตลอดเวลากว่าห้าปีในรัชสมัยของบาฮาดูร์ ชาห์ จูเลียนามีอิทธิพลอย่างมากในราชสำนัก จักรพรรดิวางพระทัยให้จูเลียนาจัดงานเลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะชาวยุโรป หล่อนจึงเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวโปรตุเกส ดัตช์ และฝรั่งเศสอย่างกว้างขวาง ชาวยุโรปยกย่องในความภักดีที่จูเลียนามีต่อราชวงศ์ ในขณะเดียวกันหล่อนก็ไม่เคยลืมรากเหง้าของตัวเอง จูเลียนาเกลี้ยกล่อมให้บาฮาดูร์ ชาห์ละเว้นญิซยะห์ (Jizya) ภาษีคนต่างศาสนาที่เคยเรียกเก็บจากชุมชนชาวคริสต์ รวมถึงขออนุญาตองค์จักรพรรดิให้เรือสินค้าโปรตุเกสเข้าเทียบท่าที่สุรัต (Surat) โดยไม่เสียภาษีปากอ่าว การกระทำดังกล่าวทำให้ชาวต่างชาติหลั่งไหลมาทำการค้าในแผ่นดินมุฆัล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยซบเซาของจักรวรรดิ ทว่าแม้จะอยู่เบื้องหลังความสำเร็จมานักต่อนัก จูเลียนากลับใช้ชีวิตอย่างสมถะ หล่อนบริจาคเงินกว่าแสนรูปีให้คณะบาทหลวงเยสุอิตในเดลีและอักรา นอกจากนี้ยังสมทบทุนให้บาทหลวงเดซิเดอรี (Desideri) เดินทางไปเผยแพร่คริสต์ศาสนาในทิเบตในปีค.ศ. 1714 คณะเยสุอิตอ้างว่า แรงศรัทธาของจูเลียนาทำให้บาฮาดูร์ ชาห์หันมาเข้ารีตคริสต์ศาสนาก่อนสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1712 ทว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ทางฝั่งมุฆัลที่ยืนยันคำกล่าวนี้

 

ภาพที่ 3: สะราย จูเลนา ย่านเก่าแก่ในเดลี

แหล่งที่มาภาพ: Mehra, Amit. All that remains is a village in Juliana's name. (2019). [Online]. Accessed 2021 Dec 25. Available from: https://indianexpress.com/article/cities/delhi/all-that-remains-is-a-village-in-julianas-name-5695221/

 

               จูเลียนาเสียชีวิตที่เดลีในปี ค.ศ. 1734 ด้วยวัย 89 ปี ตลอดเวลากว่าค่อนศตวรรษ จูเลียนารับใช้จักรพรรดิมุฆัลหกพระองค์ด้วยกัน เรื่องราวความรักต่างชนชั้นของสตรีผิวขาวและจักรพรรดิแห่งดินแดนตะวันออกกลายเป็นที่โจษขานในหมู่นักเดินทางยุโรปนับแต่นั้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของจูเลียนาและบาฮาดูร์ ชาห์ยังคงเป็นที่กังขา เนื่องจากไม่มีบันทึกฮินดูสถานฉบับใดอ้างถึงเรื่องที่ว่า มีเพียงคำกล่าวของบาทหลวงและนักเดินทางร่วมสมัยที่ยกย่องในสติปัญญาและความสามารถทางการทูตของหล่อนเท่านั้น ทว่าแม้จะไม่มีผู้ใดล่วงรู้ข้อเท็จจริงในชีวิตสุภาพสตรีผิวขาว แต่นามของจูเลียนา บีบีก็ยังถูกจดจำในอินเดียสืบมา ย่านหนึ่งในกรุงเดลียังคงถูกเรียกว่า สะราย จูเลนา (Sarai Julena) โดยเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่จูเลียนาสร้างบ้านพัก (Sarai) สำหรับนักเดินทางและผู้แสวงบุญชาวยุโรป แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสุภาพสตรีต่างชาติที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดที่สุดของจักรพรรดิมุฆัลผู้ยิ่งใหญ่

 

หนังสือและบทความอ้างอิง

Johnson, Gordon (Editor). The New Cambridge History of India: The Mughal Empire. Cambridge:

Cambridge University Press, 1996.

 

Maclagan, Edward Sir. The Jesuits and the Great Mogul. London: Burns Oates & Washbourne Ltd.,

1932.

 

Zaman, Taymiya R. Visions of Juliana: A Portuguese Woman at the Court of the Mughals, Journal of

World History Vol. 23, No. 4: 761 – 791. Honolulu: University of Hawai'i Press, 2012.

 

กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ