11 กันยายน พ.ศ. 2544 นับย้อนไป 21 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการโจมตีสหรัฐอเมริกาโดยกลุ่มก่อการร้าย 4 ครั้ง ในวันเดียวกัน เหตุเกิดที่ในนครนิวยอร์กและพื้นที่วอชิงตัน ดี.ซี. เช้าวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 มีกลุ่มผู้ก่อการร้าย 19 คนจี้เครื่องบินโดยสารสี่ลำ โดยบังคับให้เครื่องบินลำที่ 1 และ 2 พุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก ทำให้อาคารทั้งสองถล่มลงมาภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง ส่วนเครื่องบินลำที่ 3 ชนพุ่งชนอาคารเพนตากอนในอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย และเครื่องบินลำที่สี่ ตกลงในทุ่งใกล้กับแชงค์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนถึงเป้าหมาย คือ อาคารรัฐสภาสหรัฐ ในวอชิงตัน
ครอบครัวของผู้เขียนเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่กระวนกระวายใจมาก เนื่องจากไม่สามารถติดต่อญาติสนิทที่อยู่ใน นิวยอร์กได้เลย พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปที่บ้านและบ้านเพื่อนที่คาดว่าจะสามารถส่งข่าวสถานการณ์ทางโน้นได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถโทรติดต่อใครได้ ณ ช่วงเวลานั้นข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ดูจะเป็นความหวังเดียวที่มี หลังจากนั้น 2 วัน ความกังวลใจก็หายไปเมื่อได้รับการติดต่อจากคุณย่าโทรศัพท์บอกว่าปลอดภัยดี แม้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่ห่างจากบ้านที่พักมากพอสมควร แต่ก็มีคนที่รู้จักรวมถึงเพื่อนบ้านบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้หลายคน ในช่วงเวลานั้นโลกปกคลุมไปด้วยความเศร้าหดหู่ใจกับความสูญเสีย กระนั้น ทุกชีวิตต้องดำเนินต่อไปหลังจากเหตุการณ์นั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีมาตรการ เข้มงวดในเรื่องการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเหตุร้ายซ้ำขึ้นมาอีก
สำหรับพื้นที่บริเวณอาคารเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ที่เคยปกคลุมไปด้วยฝุ่นจากซากของอาคารที่ถล่มลงมา กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปีค.ศ. 2011 ในฐานะของพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานแห่งชาติ หรือ 9/11 Memorial Museum สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001
ในปีค.ศ. 2015 ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปนิวยอร์ก โดยมีความตั้งใจว่าจะต้องไปเยี่ยมชม 9/11 Memorial Museum เริ่มต้นออกเดินทางจากบ้านด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 2 จากสถานี Simpsom St. ไปยังสถานี Chambers St. และเดินต่อไปยังลานภูมิทัศน์ที่เคยเป็นที่ตั้งของอาคารเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ สิ่งที่เห็นได้ชัดบนลานแห่งนี้ คือ รายชื่อผู้จากไปจากเหตุการณ์จารึกอยู่บนแท่นที่แสดงอาณาเขตของตัวอาคาร จากนั้นก็เดินไปเข้าแถวเพื่อซื้อบัตรเข้าชมนิทรรศการ ผู้คนไม่เยอะมากอาจเพราะเป็นช่วงเวลาเช้า เมื่อก้าวเท้าเดินเข้าไปภายในตัวอาคาร ความตื่นเต้นก็หายไปมีแต่ความรู้สึกเศร้าหดหู่ใจเข้ามาแทนที่ มีผู้เข้าชมพอสมควรไม่ได้หนาแน่นมากนัก ที่น่าแปลกใจ คือ ด้วยจำนวนคนขนาดนั้นควรมีเสียงพูดคุยที่ดังพอควร แต่ก็เปล่าเลย คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในอาการนิ่งสงบมาก แล้วมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมาแนะนำส่วนต่างๆ ของการจัดแสดงที่ปรากฏในแผ่นพับนำชม
ภาพที่ 1 ส่วนหนึ่งของพื้นที่ Ground Zero ถูกปรับเป็นภูมิทัศน์ และมีแท่นที่แสดงอาณาเขต
ของตัวอาคารจารึกรายชื่อผู้ที่จากไปในเหตุการณ์ 911
ภายในโถงต้อนรับของอาคาร จัดแสดงชิ้นส่วนของอาคารที่ยังคงเหลืออยู่ ส่วนใหญ่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคาร ซึ่งมีหลายชิ้นที่มองดูแล้วรู้สึกสะเทือนใจมากอย่างบันไดทางหนีไฟที่นำมาจัดแสดงพร้อมภาพประกอบที่มีภาพผู้คนที่ทำงานในอาคารหลังนั้นกำลังใช้บันไดนี้เดินตามการนำของตำรวจ NYPD เพื่อหนีออกจากอาคาร หรือชุดเครื่องแบบและหมวกของพนักงานดับเพลิง FDNY ที่เข้าไปช่วยคนในตึกและไม่ได้กลับออกมาอีก รวมถึงเสียงสุดท้ายที่ผู้โดยสารโทรศัพท์จากเครื่องบินที่ถูก Hijack พูดกับครอบครัวด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ ผู้เข้าชมหลายคนหยุดฟังแบบไม่ทันจบก็เดินเลี่ยงไป นอกจากสิ่งของที่นำมาใช้จัดแสดงแล้วยังมีภาพถ่ายที่นำมาใช้จัดแสดง โดยส่วนใหญ่เป็นภาพที่ถ่ายจากเหตุการณ์ในวันนั้น ทั้งจากสำนักข่าวต่างๆ นักท่องเที่ยวและผู้คนที่อยู่ในบริเวณที่สามารถบันทึกภาพไว้ได้ ซึ่งภาพที่จัดแสดงสามารถบอกความรู้สึกของผู้คนในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผนังด้านหนึ่งที่อัดแน่นไปด้วยภาพถ่ายบุคคลที่จากไปในเหตุการณ์ 911 เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีผู้คนมายืนสงบนิ่ง ระลึกถึงและไว้อาลัย ผู้เข้าชมหลายคนยืนกอดกันและร้องไห้
ภาพที่ 2 รถดับเพลิงของ FDNY วัตถุจัดแสดงชิ้นสำคัญ
สภาพของรถแสดงให้เห็นถึงความสูญเสียของเหตุการณ์ในวันนั้น
แหล่งที่มาภาพ: https://www.911memorial.org
ภาพที่ 3 ภาพถ่ายสะพานบรูคลิน ณ เวลา 8:30 ของวันที่ 11 กันยายน 2001
มองเห็นตึกแฝดเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์เป็นฉากหลัง
ภาพที่ 4 ตึกแฝด ขณะกำลังก่อสร้าง ตึกที่ 1 เริ่มก่อสร้างปีค.ศ. 1968 และตึกที่ 2 เริ่มก่อสร้างในปีถัดมา
ภาพที่ 5 ภาพส่วนหนึ่งที่ถูกจัดแสดงบนจอ LED
เป็นภาพที่บันทึกไว้โดยนักเที่ยวขณะที่เครื่องลำที่ 1 กำลังพุ่งชนตึกที่ 1 (ตึกเหนือ)
จากการเข้าชม 9/11 Memorial Museum ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่า Memorial Museum มีการออกแบบที่ดี การเล่าเรื่องเป็นไปตามไทม์ไลน์ของเหตุการณ์จริงๆ ที่หลายคนอยู่ในช่วงเวลานั้น การเขียนบรรยายเนื้อหาในนิทรรศการไม่มีคำด่าทอหรือเขียนในแนวส่อเสียด และหลีกเลี่ยงการใส่ความรู้สึกเกลียดชังใดๆ ลงไปในนิทรรศการนี้ แม้บางส่วนของนิทรรศการจะไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ ผู้ชมก็ปฏิบัติตามข้อตกลงเป็นอย่างดี มีหลายครั้งที่ผู้นำชมพูดถึงวัตถุจัดแสดงบางชิ้นแล้วสะเทือนอารมณ์ ทำให้ทั้งผู้นำชมและผู้เข้าชมถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ต้องหยุดนิ่งเพื่อกลับมาตั้งสมาธิกันใหม่ รวมถึงการแสดง 2 ประโยคบนผนังภายในอาคารนิทรรศการก็เป็นประโยคที่กินใจและน่าจดจำจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
No Day Shall Erase You from the Memory of Time - Virgil
We came in as Individuals. And we’ll walk out together
ประโยคนี้ถ้าเป็นจริงได้ โลกเราคงอยู่กับแบบสงบสุข
ภาพที่ 6 สองประโยคประทับใจจากผนังภายในอาคารนิทรรศการ
ศราวัณ วินทุพราหมณกุล