Museum Core
กลวิธีการตีผึ้ง ตามวิถีชาวกะหร่างแห่งบ้านแพรกตะคร้อ
Museum Core
21 มิ.ย. 65 334

ผู้เขียน : โสภา ศรีสำราญ

         

          เดือนเมษา ถ้ามีเวลามาเที่ยวที่บ้านนะ จะพาไปตีผึ้ง คำเชิญชวนซึ่งกลายเป็นเหมือนคำสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองว่า เมื่อเดือนห้าของปีหน้าเดินทางมาถึง จะต้องกลับมายังบ้านแพรกตะคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้อีกครั้ง เพื่อร่วมเดินทางไปตีผึ้งกับชาวกะหร่าง พร้อมเรียนรู้กลวิธีตามวิถีภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิม ตามที่น้าจำลอง โคสิน เกริ่นให้ฟังว่า เราจะตีผึ้งโดยไม่ทำลายต้นไม้และฆ่าผึ้งให้ตาย แต่เราจะหลอกให้ผึ้งบินออกไปตามแสงไฟจากเถาวัลย์กะโพ้มื่อ คำบอกเล่าดังกล่าวทำให้ฉันตัดสินใจบอกกำหนดวันเวลาและเริ่มออกเดินทาง

 

เริ่มต้นการเดินทาง

          ค่ายธนะรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำหน้าที่ส่งสัญญาณบอกให้เตรียมตัวเก็บข้าวของก่อนลงตรงแยกปราณบุรี น้าจำลอง ชายสูงวัยชาวกะหร่าง รูปร่างสันทัด รอต้อนรับพร้อมด้วยรอยยิ้ม ฉันยกมือไหว้ทักทายก่อนเหวี่ยงเป้ใบโตไว้ที่ท้ายกระบะแล้วจึงเดินไปนั่งด้านหน้าข้างคนขับ รอให้รถเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมาย

 

ภาพที่ 1 สภาพทางเข้าหมู่บ้าน

 

กะหร่างแห่งขุนเขาตะนาวศรี

           ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ประเทศเมียนมาร์เผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้คนเริ่มอพยพเข้ามายังประเทศไทยตามเส้นทางธรรมชาติและเขตพื้นที่ชายแดนบริเวณด่านสิงขร ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังที่น้าจำลอง ได้เล่าให้ฟังว่า ครั้งนั้นมีชาวกะหร่างและชาวไทยพลัดถิ่นจากบ้านสิงขร บ้านทรายขาวในเมืองมะริด พากันหลบหนีการเป็นทหารรับจ้างของอังกฤษ เข้ามาอาศัยอยู่กับญาติในชุมชนสวนทุเรียน ซึ่งห่างจากเทือกเขาตะนาวศรีที่กั้นพรมแดนไทยและเมืองตะเก๊ตในประเทศเมียนมาร์เพียง 15 กิโลเมตร เส้นทางนี้จึงมีความสำคัญเพราะช่วยให้พี่น้องชาวกะหร่างจากทั้ง 2 ประเทศสามารถใช้เดินทางไปมาหาสู่กันได้ ปัจจุบันชาวกะหร่างจากชุมชนสวนทุเรียนกระจายกันตั้งหลักแหล่งตามหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านแพรกตะคร้อ บ้านป่าหมาก ฟ้าประทาน (ห้วยแห้ง) โคนมพัฒนา ป่าละอู ป่าละอูน้อย/ป่าละอูบน ความผูกพันฉันญาติมิตรทำให้ทุกวันนี้เมื่อชุมชนใดจัดงานสำคัญขึ้น มักจะมีการบอกกล่าวเชื้อเชิญให้มาร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดดังเดิม

 

            ว่าไปแล้วชื่อเรียก กะหร่าง ก็ไม่คุ้นหูฉันเท่ากับคำว่า กะเหรี่ยง จึงทำให้อยากรู้ความแตกต่างของชนสองกลุ่มชาติพันธุ์ จนได้คำตอบตามความเข้าใจของน้าจำลอง ที่กล่าวว่า คนกะหร่างก็คือกลุ่มปกาเกอะญอ ส่วนคนกะเหรี่ยง คือ กลุ่มโปว์หรือโผล่ โดยคนกะหร่างจะพูดกับคนกะเหรี่ยงไม่เข้าใจเพราะศัพท์คนละความหมาย แต่จะสามารถสื่อสารกับคนปกาเกอะญอทางภาคเหนือของไทยได้ หากแต่มีสำเนียงต่างกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เหมือนคนไทยกลางพูดกับคนอีสานนั่นเอง”             

 

 

 ภาพที่ 2 สภาพของหมู่บ้านแพรกตะคร้อ

 

มุ่งหน้าสู่บ้านแพรกตะคร้อ     

          รถกระบะสีขาวแล่นมาเรื่อย ๆ จนพบป้ายชี้เส้นทางไปสู่ตำบลเขาจ้าว พื้นที่ซึ่งมีภูเขาสูงใหญ่โดดเด่นจนชาวบ้านต่างเรียกขานกันว่า เขาจ้าว สัญลักษณ์ที่บอกว่าใกล้ถึงบ้านแพรกตะคร้อ ชุมชนชาวกะหร่างซึ่งมีเรื่องราวตามที่น้าจำลอง เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 นายเพชร วชิระ ซึ่งเป็นชาวกะหร่างได้เข้ามาจับจองพื้นที่ทำมาหากินและเริ่มชักชวนญาติพี่น้องอพยพมาอาศัยอยู่ร่วมกับราษฎรชาวไทย ตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านเรียกว่า วังขุนแพร่ง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกกันว่า บ้านแพรกตะคร้อ ชื่อนี้น่าจะมาจากพื้นที่ตั้งมีลักษณะเป็นแพรก (ทางแยกของลำน้ำ) ที่มีต้นตะคร้อซึ่งคล้ายกับต้นตาลหรือต้นลานขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก่อนชาวบ้านนิยมใช้ใบมามุงหลังคา และนำผลสุกมาแช่น้ำเพื่อคั้นเป็นน้ำมันใช้สำหรับประกอบอาหารอีกด้วย”

 

          เมื่อรถแล่นเข้าสู่บ้านท่าไม้ลาย น้าจำลองชี้ให้เห็นต้นยวนขนาดใหญ่ข้างวัด พร้อมกล่าวว่า เห็นต้นยวนนั่นไหมที่มีรังผึ้งใหญ่ ๆ นั่น ถ้าวันมะรืนนี้ฝนไม่ตก เราจะมาตีผึ้งที่นี่กัน คำพูดเชิญชวนประโยคนี้เป็นเสมือนสัญญาณบอกให้รู้ว่าถ้าโชคดีก็จะได้มีโอกาสร่วมตีผึ้งกับน้า ๆ ชาวกะหร่าง กิจกรรมเปิดโลกในครั้งนี้ทำให้ฉันตั้งตารอ            

 

ภาพที่ 3 คบไฟจากเถาวัลย์กะโพ้มื่อ

 

คบไฟจากเถาวัลย์กะโพ้มื่อ

          เมื่อเข้าสู่หน้าร้อนราวเดือนสี่เดือนห้า นับเป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ชาวกะหร่าง ผ่านน้ำผึ้งแท้ที่เหล่าผึ้งน้อยใหญ่รวบรวมน้ำหวานจากสารพัดพรรณไม้มาเก็บไว้ในรวงรัง เป็นเสมือนของขวัญตอบแทนจากฤดูกาล และเพื่อให้มีน้ำผึ้งอยู่คู่ผืนป่าตะนาวศรีสืบทอดชั่วรุ่นลูกหลาน ชาวกะหร่างจึงใช้ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ในการตีผึ้ง

 

          เดือนมีนาคม-เมษายน เป็นเวลาที่เหมาะสมในการตีผึ้งเพราะเป็นช่วงที่น้ำผึ้งมีคุณภาพดีและหวานมากที่สุดที่เขาเรียกกันว่าน้ำผึ้งเดือนห้า เพราะเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมน้ำผึ้งจะหมดคุณภาพ และผึ้งทิ้งรังเพื่อไปสร้างที่อยู่ใหม่ น้าบุญยัง โจปะถา เล่าให้ฟังขณะกำลังเตรียมกะโพ้มื่อ ซึ่งเป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งมีขนาดประมาณท่อนแขนและหนามแหลม ตามลักษณะที่ชาวกะหร่างเรียกว่า หนามหืนหนามหัน หรือเถาวัลย์ที่มีหนามเล็ก ๆ ใช้เกี่ยวเพื่อไต่ขึ้นต้นไม้ใหญ่ มักขึ้นอยู่ตามชายป่าถล่มหรือป่าที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่

 

           ก่อนนำไปใช้จะต้องตัดให้มีความยาวประมาณ 2 เมตร ลิดหนามออกให้เรียบร้อย แล้วจึงทุบให้เป็นแผ่นแผ่ออกมา จากนั้นฉีกออกเป็นเส้น ๆ นำไปตากแดดโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 วันขึ้นไป แล้วแต่สภาพภูมิอากาศ เมื่อแห้งสนิทจึงใช้ตอกที่จักไว้มามัดรวมกันให้มีลักษณะเป็นปล้อง ๆ

 

          เนื่องจากเถาวัลย์ชนิดนี้เมื่อจุดไฟแล้วจะเผาไหม้ช้าและให้ประกายไฟมาก อันเป็นคุณสมบัติพิเศษสำหรับการล่อผึ้งให้บินไปตามประกายไฟได้เป็นอย่างดี เมื่อไปตีผึ้งแต่ละครั้งก็จะใช้แตกต่างกันไป หากเป็นผึ้ง 20 รังจะใช้ประมาณ 2 คบเพลิง หาก 40-50 รังจะใช้มากกว่านั้น การเตรียมกะโพ้มื่อเป็นคบเพลิงต้องเตรียมล่วงหน้า โดยต้องทำให้แห้ง เพราะหากไม่แห้งคบจะไม่ติดไฟและพะเนียงไฟจะไม่มี ดังนั้น จึงต้องตากให้แห้ง จึงค่อยมามัด เมื่อแห้งแล้วจะติดไฟและมีพะเนียงลอยไปเป็นสาย น้าบุญหลาย โคสิน อธิบายสำทับเมื่อคบเพลิงกะโพ้มื่อพร้อมออกโรงทำงาน

 

ออกโรงล่อลวงนางพญา

          เมื่อแสงแดดเริ่มอ่อนแรง น้าบุญหลายและน้าบุญยังขี่จักรยานคู่ใจพร้อมย่ามใบย่อม เข้ามาที่ลานหน้าบ้านของน้าจำลอง กระบะสีขาวถูกจัดเตรียมไว้รอท่าเพื่อพาสมาชิกเข้าสู่ป่าใหญ่

          เวลาประมาณ 4 โมงเย็น กลุ่มชาวกะหร่างร่วมแรงเตรียมลูกทอยที่ทำจากไม้ไผ่ตงหรือไผ่หวาน อุปกรณ์เสริมสำหรับใช้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ โดยน้าจำลองชี้ให้เห็นความแตกต่างตามหน้าที่ของลูกทอยให้ฟังว่า เราจะแบ่งลูกทอยออกเป็นชุด ๆ ส่วนที่ตอกกับต้นไม้จะมีความยาวประมาณครึ่งเมตร หากเป็นลูกทอยที่ใช้ตอกกิ่งที่ผึ้งทำรังอยู่จะมีความยาวประมาณ 1 คืบ เมื่อไปถึงจะใช้นอจากู้ (ค้อนไม้สำหรับตอกทอย) ตอกลูกทอยลงไปในเนื้อไม้

 

          พระอาทิตย์ใกล้ลาฟ้า ภารกิจล่อลวงนางพญาที่ใต้ต้นยวนใหญ่ ซึ่งมีความสูงประมาณ 50 เมตร จึงเริ่มต้นขึ้นจากการตอกทอยลงไปในเนื้อไม้ โดยเว้นระยะให้สามารถปีนได้อย่างสะดวก เมื่อแล้วเสร็จก็เป็นเวลาของการรอ กระทั่งบรรยากาศโดยรอบมืดสนิท น้าบุญยังผู้รับอาสาตีผึ้งในวันนี้ คว้าเชือกที่เตรียมไว้นำติดตัวขึ้นไปด้วย น้าจำลองบอกว่า เชือกนี้มีประโยชน์หลายอย่างเพราะเมื่อถึงกิ่งไม้ที่มีผึ้งอยู่จะใช้เชือกหย่อนลงมาเพื่อให้คนข้างล่างส่งคบไฟขึ้นไปให้ รวมถึงเมื่อผึ้งไปหมดแล้วจะใช้เชือกส่งปี๊ปตามขึ้นไปเพื่อลำเลียงนำผึ้งลงมา

 

          หลังจากปีนขึ้นไปบนต้นไม้ จนได้ระยะที่ห่างจากรังผึ้งพอประมาณ จุดคบจนไฟลุกได้ที่ เคาะให้เกิดพะเนียง เมื่อมีประกายไฟเป็นจำนวนมากจึงจะถือว่าใช้ได้

 

          จากนั้นเข้าใกล้รังผึ้งและเริ่มวีคบไฟ เมื่อผึ้งเห็นประกายไฟจะบินออกไปตามแสง ดังที่น้าบุญยังนักตีผึ้งผู้ชำนาญการเล่าให้ฟังว่า พอผึ้งเริ่มบินไปตามไฟก็ให้รอสักพักแล้วค่อย ๆ ใช้ไม้กวาดทางมะพร้าว กวาดผึ้งในรังที่เหลือให้ล่วงหล่นไปตามประกายไฟแต่ยังมีตัวอ่อนอยู่ เราจะไม่ใช้คบไฟกวาดเพราะจะทำให้ผึ้งตายได้

 

           เมื่อผึ้งออกไปจนหมด จะตัดส่วนที่ไม่กินเพราะไม่มีตัวอ่อนและเป็นเพียงรูว่าง ๆ ทิ้งลงดิน แล้วจึงแยกส่วนที่กินได้ออกเป็น 2 ส่วน คือหัวน้ำผึ้งและตัวอ่อน จากนั้นรอคนข้างล่างส่งปี๊ปขึ้นไปให้แล้วค่อยตัดเฉพาะส่วนที่เป็นตัวอ่อนหย่อนลงมา ตามด้วยส่วนสุดท้าย คือ หัวน้ำผึ้ง   

 

ภาพที่ 4 รวงผึ้งที่เก็บจากป่าก่อนส่งสู่ตลาด

 

ส่งความหวานสู่ตลาดปราณบุรี

          หลังจากได้นอนเพียง 4 ชั่วโมง เช้าตรู่ของวันถัดมาสมาชิกกลุ่มตีผึ้งต่างมารวมตัวกันเพื่อแยกเกสรผึ้ง (ขี้ผึ้ง) ออกมาจากน้ำผึ้ง เพราะหากมีปะปนจะทำให้น้ำผึ้งบูดเสียได้ง่าย จากนั้นจึงคั้นและกรองโดยใช้ผ้าขาวบางก่อนนำไปใส่ขวด ทั้งนี้น้าจำลอง เล่าว่า เกสรผึ้งนี้มีบางคนมาขอซื้อสำหรับนำไปใช้เป็นยา แต่สำหรับพวกเราชาวกะหร่างนิยมใช้น้ำผึ้งเป็นยาหรือใช้แทนน้ำตาล แต่ส่วนมากจะนำไปขาย เมื่อก่อนเวลาได้น้ำผึ้งมาปริมาณมากเกินกว่าจะใช้บริโภคในครัวเรือน ชาวกะหร่างแห่งบ้านแพรกตะคร้อจะนิยมนำไปขายยังตลาดหรือร้านขายยาจีนแผนโบราณในตัวอำเภอปราณบุรี

          น้ำผึ้งป่ารสหวาน ประสบการณ์รสแปลกใหม่ที่ได้รับผ่านการสัมผัสผืนป่าตะวันตกพร้อมกลวิธีการตีผึ้งช่วยเข้ามาฉายภาพให้เห็นภูมิปัญญาที่เคารพธรรมชาติของชาวกะหร่างได้แจ่มชัดเป็นอย่างยิ่ง   

 

 

ขอบคุณผู้ให้ข้อมูลสัมภาษณ์

จำลอง โคสิน ชาวกะหร่างบ้านแพรกตะคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

บุญยัง โจปะถา ชาวกะหร่างบ้านแพรกตะคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

บุญหลาย โคสิน ชาวกะหร่างบ้านแพรกตะคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

โสภา  ศรีสำราญ

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ