Museum Core
พระอภัยมณี: ตะกอนคิดของสุนทรภู่ จากการเดินทางไปเกาะลังกา ในยุคล่าอาณานิคม
Museum Core
20 พ.ค. 65 1K

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

          รัฐไทยท่านกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น ‘วันสุนทรภู่’ ด้วยว่าหากเทียบปีเกิดของกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่นับจากปฏิทินแบบจันทรคติแล้ว ก็ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 (ส่วนจริงหรือเปล่านั่นเป็นอีกเรื่อง)

          ดังนั้นหากว่าสุนทรภู่มีอายุอยู่มาจนถึงขวบปีนี้ ท่านก็มีอายุถึง 236 ปีแล้วเลยทีเดียว

 

          หากพูดถึงสุนทรภู่เแล้ว วรรณกรรมชิ้นเอกของกวีท่านนี้ที่คนไทยต่างก็รู้จักกันดีนั้นก็ย่อมหนีไม่พ้นเรื่อง ‘พระอภัยมณี’  เพราะถึงขนาดว่า มีการเอาวรรณกรรมเรื่องนี้ไปแสดงเป็นละครนอกกันเลยทีเดียว แถมต่อมาเมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แพร่หลายเข้ามาแล้ว ก็ยังมีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ รวมถึงถอดเอาความบางตอนแยกไปสร้างเป็นภาพยนตร์เลยก็มี

 

         แต่ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ชื่นชอบเรื่องราวของพระอภัยมณีที่กลั่นมาจากสมองของสุนทรภู่ เพราะว่ามีการนำเอาวรรณกรรมเรื่องนี้ไปแปลเป็นภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาเขมร ภาษาไทยถิ่นเหนือ และแม้กระทั่งภาษาอังกฤษ (แม้ว่าผู้แปลเป็นคนไทยคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ก็ตาม)

 

         ส่วนเหตุว่าทำไมพระอภัยจึงเป็นที่นิยมนั้น ก็มีปราชญ์และนักวิชาการระบุเอาไว้ค่อนข้างตรงกันว่า ประการสำคัญอยู่ที่การที่พระอภัยมณีเป็นนิยายการเมืองที่เขียนขึ้นเพื่อเยาะเย้ยเสียดสีลัทธิล่าอาณานิคมของโลกตะวันตก ดังเห็นได้ชัดว่า สุนทรภู่แต่งให้นางละเวงวัณฬาเป็นเจ้าเมืองลังกา ไม่ต่างอะไรกับควีนวิคตอเรียที่เป็นราชินีของอังกฤษ และแผ่อำนาจในฐานะของเจ้าอาณานิคมไปค่อนโลก จนอังกฤษได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรนักถ้าพระอภัยมณีจะเป็นที่ถูกจริตกับชาติผู้ต้องเผชิญหน้ากับการล่าอาณานิคม

 

          และต้องอย่าลืมว่าในสมัยที่สุนทรภู่มีชีวิตอยู่นั้น เกาะลังกา (ซึ่งก็คือเกาะลังกาเดียวกับที่นางละเวงวัณฬาครองเมืองอยู่) นั้นได้ตกเป็นของควีนวิคตอเรียแล้ว ที่สำคัญก็คือเป็นไปได้ด้วยว่า สุนทรภู่จะเคยเดินทางไปยังเกาะลังกาในขวบปีก่อนที่อังกฤษจะยึดเกาะลังกาเพียงปีเดียวเท่านั้น จนทำให้สุนทรภู่น่าจะเข้าใจสถานการณ์ และความรู้สึกของชาวลังกาในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

 

ภาพที่ 1: อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่เมืองแกลง จ. ระยอง

แหล่งที่มาภาพ: http://www.sunthornphu.go.th/travels/travel.php?salb_id=4

 

 

ภาพที่ 2: อนุสาวรีย์พระอภัยมณี ที่เมืองแกลง จ. ระยอง

แหล่งที่มาภาพ: http://www.sunthornphu.go.th/travels/travel.php?salb_id=4

 

          ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสุนทรภู่ และกำเนิดของเรื่องพระอภัยมณีที่พูดคุยกันอยู่ในแวดวงนักวิชาการมาเนิ่นนานแล้วเป็นไปได้ไหมว่า สุนทรภู่เคยเดินทางไปเกาะลังกาเมื่อคราวที่รัชกาลที่ 2 ส่งสมณทูตไปยังลังกา โดยช่วงเวลานั้นสุนทรภู่ยังบวชเรียนเป็นสามเณรอยู่?

 

          เรามักมีภาพจำว่าเกาะศรีลังกาเป็นเพียงติ่งเล็กๆ ที่ห้อยลงมาจากผืนชมพูทวีป จนทำให้ลืมไปว่าอังกฤษนั้นยึดได้ลังกามาก่อนอินเดีย แถมยังมองแยกเกาะและภาคพื้นทวีปที่ว่านี้ออกจากกัน ซึ่งก็ได้ใช้นอมินีของรัฐบาลอังกฤษเข้าไปในดินแดนทั้งสองแห่งแยกกันอีกด้วย คือ อินเดียเป็นบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ส่วนลังกาตั้งเป็นรัฐในอารักขา (อาณานิคม) คือ บริติชซีลอน (British Ceylon)

 

          ในขณะที่อังกฤษถ่ายโอนอำนาจการปกครองอินเดีย จากบริษัทอินเดียตะวันออกมาเป็นราชอาณาจักรเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2401 ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 4 และก่อนที่ควีนวิคตอเรียจะประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2419 (ต้นสมัย ร. 5) เกาะลังกากลับถูกอังกฤษถ่ายโอนอำนาจจากบริษัทบริติชซีลอนให้มายอมรับอธิปไตยของสหราชอาณาจักรเหนือลังกาในปี พ.ศ.2358 หรือตั้งแต่สมัย ร. 2 เลยทีเดียว

          ตัวเลขนี้น่าสนใจเพราะ ร. 2 ได้ส่งสมณทูตเข้าไปในลังกาในช่วงใกล้เคียงกับเรือนปี พ.ศ. ดังกล่าว โดยได้เริ่มออกเดินทางกันเมื่อ พ.ศ. 2357 หรือหนึ่งปีก่อนหน้า

 

          ชาวยุโรปเข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในเกาะลังกาอยู่นานแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2172-2199) ซึ่งพวกที่มีบทบาทในศรีลังกาตอนนั้น คือ ชาวดัชต์ ที่ลังกา (หมายถึงรัฐศูนย์กลางที่เมืองแคนดี) ให้เข้ามาคานอำนาจกับอิทธิพลของพวกโปรตุเกส จนสุดท้ายกลายเป็นว่า พวกดัชต์สามารถเข้าไปมีอิทธิพลและครอบครองบางส่วนในเกาะแห่งนี้

 

          พระเจ้าปราสาททองก็ทรงใช้พวกดัชต์มาคานอำนาจโปรตุเกสแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่สมัยพระราชโอรส คือ สมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231) นั้น ได้ทรงนำพวกฝรั่งเศสมาคานอิทธิพลของชาวดัชต์ไว้อีกทอดหนึ่งด้วย ตรงนี้เองที่ต่างกันกับลังกา แม้พวกดัชต์จะไม่ได้ยึดเมืองแคนดีเป็นอาณานิคม แต่ก็ผูกขาดการค้า (ผ่านบริษัท VOC) ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

 

          ในช่วงปลายสมัยอยุธยาคาบเกี่ยวต่อกับสมัยกรุงธนบุรี และเรื่อยมาจนต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พวกดัชต์อ่อนแอลงจากการทำสงครามกับบริเตนใหญ่ และถูกฝรั่งเศสยึดครองหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1789 ของฝรั่งเศส ผู้นำพวกดัชต์ได้ลี้ภัยมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในลอนดอน พร้อมกับปกครองอาณาเขตของตนเองในลังกาจากที่นั่น จนสุดท้ายในปี พ.ศ. 2332 (ตรงกับสมัย ร.1) ก็จำต้องโอนถ่ายอำนาจในเกาะลังกาไปให้อังกฤษแทน จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก บริติชซีลอน หรือการตั้งลังกาเป็นรัฐในอาณานิคมของอังกฤษนั่นเอง

 

          แน่นอนว่า เมื่อได้มาแล้วอังกฤษก็อยากได้ศรีลังกาทั้งเกาะ ไม่จำเพาะอยู่แค่เฉพาะในเขตอิทธิพลของพวกดัชต์เท่านั้นจึงได้มีการเจรจากับรัฐบาลลังกาที่เมืองแคนดี แต่แคนดีไม่ยอมจนกลายเป็นสงครามขึ้นบนเกาะ

          อย่างไรก็ตาม อังกฤษไม่สู้มีสมาธิกับการรบครั้งนี้มากนัก เพราะในยุโรปก็รบกับนโปเลียนอยู่ เหตุการณ์เลยยืดเยื้อมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2358 คณะขุนนางในรัฐบาลเมืองแคนดีได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าศรีวิกรม ราชสิงหะ ซึ่งไม่ใช่ชาวพุทธสิงหลแท้ๆ แต่เป็นชาวอินเดียใต้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากนั้นก็มีการลงนามยอมรับอธิปไตยของบริเตนในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2358 ในที่สุด

 

          เราไม่มีรายละเอียดชี้เฉพาะลงไปว่า ร. 2 ส่งคณะสมณทูตไปลังกาวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร แต่ตามปฏิทินสากลวันที่ลังกายอมรับอธิปไตยของบริเตนเหนือแผ่นดินของตนเองนั้นยังอยู่ในปี พ.ศ. 2357 ของสยาม เพราะตอนนั้นเรายังนับวันขึ้นปีใหม่เมื่อถึงวันมหาสงกรานต์ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า มีโอกาสสูงทีเดียวที่คณะสมณทูตของ ร.2 จะไปเจอกับเหตุการณ์ที่ว่านี้เข้าพอดี

 

          หากสุนทรภู่ได้ร่วมเดินทางเข้าไปกับคณะสมณทูตนี้ด้วยจริงตามอย่างที่ใครหลายคนได้สันนิษฐานเอาไว้ (แน่นอนว่านอกเหนือจากพระสงฆ์ 8-9 รูปที่มีชื่อบันทึกไว้ในเอกสาร ไม่ได้มีการบันทึกชื่อคณะลูกศิษย์ สามเณร หรือพระสงฆ์อ่อนพรรษารูปอื่นๆ ที่ติดตามไปด้วย ซึ่งสุนทรภู่อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น) ท่านก็ย่อมอยู่ร่วมในเหตุการณ์ช่วงนั้นด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรถ้าสุนทรภู่จะมีความกระตือรือร้นกับเหตุการณ์ต่อจากนี้ทั้งที่เกิดขึ้นกับอินเดียและลังกา

 

          แต่สิ่งที่สุนทรภู่ได้จากคงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราว และความรู้สึกที่มีต่อลัทธิล่าอาณานิคมเพียงเท่านั้น ด้วยวิสัยของนักปราชญ์ก่อนการเดินทางย่อมมีการทำการบ้านก่อนว่าสถานที่ที่ตนเองกำลังจะไปเยี่ยมเยือนนั้นมีข้อมูลที่สำคัญอย่างไรบ้าง?

          ตัวอย่างเช่น ในพระอภัยมณีนั้น สุนทรภู่เรียก ‘ทะเลอันดามัน’ ว่า ‘นาควารินทร์สินธุ์สมุทร’ ซึ่งหมายถึง ‘หมู่เกาะนิโคบาร์’ หรือที่ในเอกสารโบราณของไทยเรียก ‘เกาะนาควารี’ อันเป็นจุดพักเติมน้ำจืดกลางทางเมื่อเดินเรือตัดข้ามสมุทรจากอุษาคเนย์ไปยังลังกา และอินเดีย

 

         ในขณะที่ตัวละครอย่าง ‘ผีเสื้อสมุทร’ นั้นก็ชัดเจนว่า สุนทรภู่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพงศาวดารของลังกาทวีปที่เรียกว่า ‘มหาวงศ์’ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า ยักษิณี (คือยักษ์ผู้หญิง) เฝ้าเกาะลังกา เป็นยักษ์ที่สัมพันธ์อยู่กับมหาสมุทร ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 มีการแปลพงศาวดารลังกาฉบับนี้แปลคำว่า ยักษิณีเป็นผีเสื้อน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นต้นเค้าที่กลายมาเป็น ‘ผีเสื้อสมุทร’ ของสุนทรภู่ (แนวคิดเรื่องผีเสื้อน้ำ หรือผีเสื้อเมืองที่เป็นผู้หญิงเฝ้าเกาะลังกานั้นเป็นความเชื่อแต่ดั้งเดิม และคงเป็นร่องรอยที่รู้กันดีเพราะในรามายณะฉบับวาลมิกิก็มีผีเสื้อเมืองลังกาที่ชื่อ ลังกินี เพียงแค่นางคนนี้ถูกรามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ 1 เรียกในชื่อ นางอากาศตะไล และเพิ่มบทบาทให้กลายเป็นนางยักษ์รูปร่างใหญ่โตปานภูเขา ซึ่งต่างไปจากรามายณะของอินเดีย)

 

          ส่วนตัวละครอีกตัวคือ นางเงือก ก็มีอยู่ในรามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ 1 เช่นกันคือ นางสุพรรณมัจฉาที่มีลูกกับหนุมานเป็น มัจฉานุ ซึ่งเรื่องราวส่วนนี้ก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นตอนที่พระราม ‘จองถนน’ เพื่อข้ามไปเกาะลังกา ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเกาะลังกาที่สุนทรภู่น่าจะได้ทำการศึกษาก่อนเดินทางไปเกาะลังกาแล้วตกตะกอนจนกลายเป็นพระอภัยมณีไปในที่สุด

 

          ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า สุนทรภู่น่าจะรู้จักลังกาเป็นอย่างดีแถมยังได้ติดตามข่าวสารของโลกเป็นอย่างดีด้วย ที่สำคัญก็คือร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าท่านใส่ใจกับเหตุการณ์บ้านเมืองในเกาะลังกา จนกระทั่งเอามาแต่งเป็นวรรณกรรมเรื่องยาวขนาดนี้ได้ แต่หากสุนทรภู่ไม่เคยไปลังกาก็ว่าน่าจะเป็นเรื่องแปลก

 

 

ภาพที่ 3: อนุสาวรีย์ผีเสื้อสมุทร ที่เมืองแกลง จ. ระยอง

แหล่งที่มาภาพ: http://www.sunthornphu.go.th/travels/travel.php?salb_id=4

 

 

 

ภาพที่ 4: อนุสาวรีย์นางเงือก ที่เมืองแกลง จ. ระยอง

แหล่งที่มาภาพ: http://www.sunthornphu.go.th/travels/travel.php?salb_id=4

 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ