Museum Core
แสตมป์สมัยรัชกาลที่ 5 ในเรื่องราวและมุมมองนักออกแบบชาวต่างชาติ
Museum Core
27 เม.ย. 65 2K

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

         ตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) การไปรษณีย์สยามได้จัดสร้างแสตมป์ออกมาทั้งสิ้น 6 ชุด (ไม่นับแสตมป์พิมพ์ทับ) ได้แก่ ชุดโสฬศ, ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 (ชุด 2), ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 (ชุด 3), ชุดวัดแจ้ง, ชุดที่ระลึกพระบรมรูปทรงม้า และชุดครุธพาหนะ (สะกดตามแบบเดิม) แสตมป์ทุกชุดพิมพ์โดยโรงพิมพ์ต่างประเทศทั้งสิ้น

 

ภาพที่ 1 โรงพิมพ์วอเตอร์โลว์ แอนด์ ซันส์ จำกัด

แหล่งที่มาภาพ https://www.gracesguide.co.uk/File:Im1936v162-p655.jpg

 

         จากข้อมูลยังลงลึกไปได้อีกว่า แสตมป์ดังกล่าวออกแบบโดยนักออกแบบชาวต่างชาติ ทั้งในฐานะนักออกแบบของโรงพิมพ์นั้น ๆ และในฐานะชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง โดยมีนักออกแบบอยู่ 3 ท่าน ฝากผลงานไว้ในแสตมป์ยุคแรกเริ่มของการไปรษณีย์สยามอย่างน่าสนใจ

 

          นายวิลเลียม ริดจ์เวย์ (William Ridgeway) ชาวอังกฤษ ช่างออกแบบและแกะสลักแม่พิมพ์ของบริษัทวอเตอร์โลว์ แอนด์ ซันส์ จำกัด แห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้ออกแบบแสตมป์ “ชุดโสฬศ” แสตมป์ชุดแรกแห่งสยามประเทศ ภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์เบื้องซ้ายภายในกรอบรูปไข่ นับเป็นลวดลายในเชิงศิลปะตะวันตกอันงดงาม

 

ภาพที่ 2 แสตมป์ชุดโสฬศ

แหล่งที่มาภาพ: ไปรษณีย์ไทย

 

          พิมพ์ด้วยวิธีสตีล เอนเกรฟ (Steel Engraving) หมายถึง แม่พิมพ์แกะสลักโลหะ โดยแกะสลักลายเส้นลงบนแผ่นเหล็กขณะยังมีความอ่อนตัว ต้องใช้ศิลปินผู้มีความชำนาญด้วยเครื่องมือขนาดเล็กพร้อมแว่นขยาย เพราะต้องแกะสลักเท่าขนาดแสตมป์จริง ตัวที่เป็นแม่พิมพ์จริงนั้นจะเป็นลูกกลิ้งเหล็กอ่อน ซึ่งรับลวดลายด้วยการกดปั๊มจากแม่พิมพ์แกะอีกทีหนึ่ง ลูกกลิ้งเหล็กอ่อนทำหน้าที่รับหมึกส่งต่อลงสู่กระดาษ งานที่ออกมาจะละเอียดและคมกริบตามลายเส้นต้นแบบ การพิมพ์วิธีนี้นิยมใช้กับแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์และบุคคลสำคัญ

 

          ศาสตราจารย์เซซาเร แฟรโร (Cesare Ferro) ชาวอิตาลี ในวัย 24 ปี เดินทางมายังสยามในปี พ.ศ. 2447 เป็นผู้มีพรสวรรค์ด้านการวาดรูปมาตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งยังศึกษาด้านศิลปะมาจากวิทยาลัยศิลปะอัลแบร์ตินา แฟรโรพำนักอยู่ในกรุงสยามเพียง 3 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2447 – 2450 ในคาบเวลาดังกล่าวสยามอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามคลองด้วยเหล็กและคอนกรีตเสริมเหล็ก สถานสงเคราะห์ ตลอดจนโรงพยาบาล

 

ภาพที่ 3 ศาสตราจารย์เซซาเร แฟโร

แหล่งที่มาภาพ https://www.compro-antiquariato.it/cesare-ferro-milone-valutazioni-dipinti/

 

 

          งานประจำของแฟรโร ได้แก่ การวาดภาพตกแต่งพระราชวังต่าง ๆ อาทิ พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งมีทั้งหมด 40 กว่าห้องที่แฟรโรวาดภาพตกแต่ง สำหรับงานชิ้นเอกวาดขึ้นในปี พ.ศ. 2449 นั่นคือภาพกินรีเจ็ดนางกำลังเล่นน้ำอยู่ที่สระอาโนดาด

          ทว่ายังมีอีกผลงานสำคัญ และนับเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่บนดวงแสตมป์สยาม ผ่านการออกแบบแสตมป์ “ชุดวัดแจ้ง” จากเดิมพระบรมรูปของพระเจ้าแผ่นดินพิมพ์อยู่บนดวงแสตมป์ในกรอบรูปไข่ พร้อมราคาหน้าดวงและชื่อประเทศเท่านั้น แต่แฟรโรได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ แม้ยังใช้พระบรมรูปดังเดิม แต่ขนาดเล็กลง และมีภาพทิวทัศน์พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พร้อมเรือใบและเรือแจวเพิ่มเข้าไป

 

ภาพที่ 4 แสตมป์ชุดวัดแจ้ง

แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/8097/

 

          ศาสตราจารย์แฟรโร เขียนจดหมายส่งถึงเพื่อนว่า เมื่อเช้านี้ฉันเห็นเด็กเล่นน้ำในคลอง ผิวสะท้อนแสงเห็นเป็นสีบรอนซ์ อำพันแล้วก็เปลี่ยนเป็นสีม่วงเขียวมะกอก คนที่ไม่เคยจับพู่กันวาดรูปก็คงนึกอยากวาดรูปเด็กพวกนั้นจริง ๆ

          สำหรับรูปเด็กสองคนไว้จุก เชิญกรอบพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผินพระพักตร์เบื้องซ้าย เด็กทั้งคู่เพิ่งขึ้นจากเล่นน้ำในคลองหรือแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดอรุณราชวราราม โดยยืนระหว่างเสาสองต้น ซึ่งเป็นศิลปะแบบกรีกผสมสยาม มีรูปช้างเอราวัณสามเศียรปรากฏบนเสา เป็นแสตมป์ชุดเดียวที่แฟรโรออกแบบ พิมพ์ที่โรงพิมพ์กีเซกเก แอนด์ เดฟะเรียงต์ เมืองไลพซิก ประเทศเยอรมัน

 

          ซินยอร์ มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) ชาวอิตาลี สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะอัลแบร์ตินา และก่อนเดินทางมาสยามก็ยังเป็นอาจารย์สอนวิชาด้านทัศนียภาพวิทยา ณ วิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษา จากนั้นด้วยการแนะนำของเพื่อนได้เดินทางมายังกรุงสยาม ทำสัญญาเป็นเวลา 25 ปี และด้วยผลงานอันโดดเด่นจึงได้รับตำแหน่งหัวหน้านายช่างสถาปนิกของกรมโยธาธิการ

          ตามาญโญสร้างผลงานชิ้นเอกไว้มากมาย อาทิ ออกแบบสะพานมัฆวานรังสรรค์ นับเป็นผลงานชิ้นแรก นอกจากนี้ยังมีผลงานร่วมออกแบบอีก ได้แก่ พระที่นั่งอัมพรสถาน สถานีรถไฟหัวลำโพง ห้องสมุดเนสสัน เฮย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นประจักษ์พยานผ่านประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมของชาติตราบปัจจุบัน

 

ภาพที่ 5 ซินยอร์ มาริโอ ตามาญโญ

แหล่งที่มาภาพ: https://commons.m.wikimedia.org/wiki/File:Mario-BW.jpg#

 

 

          ช่วงเวลาสองทศวรรษครึ่งบนแผ่นดินสยาม ตามาญโญยังได้ออกแบบแสตมป์ชุดสำคัญไว้อีกหลายชุด กล่าวเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีด้วยกัน 2 ชุด ได้แก่ “ชุดที่ระลึกพระบรมรูปทรงม้า” และ “ชุดครุธพาหนะ” โดยแสตมป์ทั้งสองชุดพิมพ์ที่โรงพิมพ์กีเซกเก แอนด์ เดฟะเรียงต์ เมืองไลพซิก ประเทศเยอรมนี

 

          ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2456 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ตามาญโญได้เขียนไปรษณียบัตรถึงนายเปาโล ปิคคา เพื่อนที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ข้อความบางส่วนสะท้อนมิตรภาพบนความคิดต่างผ่านดวงแสตมป์

 

          ฉันพึ่งได้รับบทความของเธอ “il francobollo e la filatelia” (แสตมป์กับการสะสมแสตมป์) ขอบคุณที่เธอเขียนบทความนี้ แต่ยากที่จะทำให้ฉันเปลี่ยนความคิดและจะเริ่มสะสมแสตมป์ได้ อย่างไรก็ตาม ฉันจะไม่ลืมเธอเพื่อนที่รักของฉัน แม้ความคิดของเราไม่ตรงกัน เธอสะสมแสตมป์ ฉันออกแบบแสตมป์ ก็มีส่วนคล้ายกัน...

 

          จดหมายอีกฉบับที่ตามาญโญเขียนถึงนายปิคคา ข้อความบางส่วนกล่าวถึงพระบรมรูปทรงม้าบนดวงแสตมป์ที่ออกแบบ นับเป็นมุมมองและความเข้าใจที่สถาปนิกชาวอิตาลีมีต่อสังคมชาวสยาม ผ่านความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อพระพุทธเจ้าหลวง

 

           ...เมื่อฉันมีโอกาสพบกับหัวหน้ากรมไปรษณีย์ที่ฉันรู้จักดี และเป็นนักสะสมแสตมป์ที่มีความกระตือรือร้นในการสะสมแสตมป์เป็นอย่างมาก ฉันจะขอแสตมป์ใช้แล้วสำหรับเธอพร้อมแสตมป์ที่ฉันได้ออกแบบด้วย เช่น แสตมป์พระรูปทรงม้าของกษัตริย์องค์ก่อน ฉันได้วาดเหมือนอนุสาวรีย์ที่มีรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำลังขี่ม้า ซึ่งอนุสาวรีย์นี้ชาวสยามทุกคนได้บริจาคเงินคนละเล็กคนละน้อยเพื่อสร้างอนุสาวรีย์นี้...

 

 

ภาพที่ 6 แสตมป์ชุดที่ระลึกพระบรมรูปทรงม้า

แหล่งที่มาภาพ: http://lovestamp.lnwshop.com/product/445/

 

ภาพที่ 7 แสตมป์ชุดครุธพาหนะ

แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/10234/

 

 

          แสตมป์ทุกชุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งสะสมทรงคุณค่า หายาก และมีมูลค่าสูง ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งเรียนรู้อันไพศาล โดยเฉพาะการออกแบบผสมผสานศิลปะตะวันตกกับสยามไว้อย่างกลมกลืน ด้วยฝีมือนักออกแบบชาวต่างชาติ

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือที่ระลึกงานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2544

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1 และ 4

หนังสือตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม, พ.ต.อ.นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช

 

ลมล่องข้าวเบา

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ