‘...นั่นคือเหตุที่ว่าทำไมจึงต้องมีพิพิธภัณฑ์ ก็เพื่อที่ย้ำเตือนว่า เรามาถึงตรงนี้ได้อย่างไร และด้วยเหตุผลใด เพื่อที่จะได้เริ่มต้นใหม่ และสร้างสถานที่ใหม่จากสิ่งที่เราได้เรียนรู้ และนำมาจากที่เก่า’*
(จากเรื่อง Messenger ของ โลอิส เลาว์รี่ นักเขียนหนังสือเด็กและเยาวชน)
ภาพ 1. นิล ทิพยพัฒนกุล
"ตรงนี้เขียนว่า ปี ค.ศ.1919 แผนที่นี้อายุร้อยกว่าปีแล้ว ฝรั่งที่เป็นเจ้าของเดิมทำไว้ ก่อนที่บริษัทจุติจะมาซื้อต่อ" นิล ทิพยพัฒนกุล หรือ ลุงนิล ผู้ดูแลและวิทยากรนำชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ปากถัก อธิบายรายละเอียดของแผนที่แสดงแหล่งแร่ ซึ่งทำขึ้นโดย บริษัทอีสต์เอเชียติก ผู้บุกเบิกการทำเหมืองแร่ แบบใช้เรือขุด บริเวณต้นแม่น้ำตะกั่วป่า เขตอำเภอกะปง จังหวัดพังงา ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ.1949) บริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด เข้ามาซื้อต่อกิจการ อาจเป็นด้วยเหตุนี้ บนแผนที่จึงมีการเขียนปี ค.ศ. เป็นภาษาไทย ข้างๆ ของเดิมที่เขียนไว้ว่า May 1919
ภาพ 2. แผนที่แสดงแหล่งแร่ของบริษัทอีสต์เอเชียติก จำกัด
อย่างไรก็ดี การทำเหมืองแร่ในเขตอำเภอกะปงมีมาก่อนหน้านี้ แต่เป็นการขุดหาแร่โดยใช้แรงงานคน ของชาวจีน จะเห็นได้จากแผนที่ระบุถึงเขตเหมืองเก่า ส่วนการขุดแร่โดยใช้เทคโนโลยีเรือขุด ซึ่งเริ่มขึ้นที่ จังหวัดภูเก็ต ในปี พ.ศ.2450 เป็นการทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง ระยะแรกดำเนินการ โดยชาวตะวันตก ที่เข้ามาหาทรัพยากรแร่ดีบุกจากในน้ำ เนื่องจากพื้นที่แหล่งแร่บนบกส่วนใหญ่ ถูกครอบครองโดยชาวจีนอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตามความต้องการแรงงานทำให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างทุนตะวันตกกับทุนท้องถิ่น รวมไปถึงการขายทอดกิจการให้ทุนท้องถิ่น เช่นในกรณีนี้
“ผมเข้ามาทำงานปี พ.ศ.2505 พ่อผมทำงานที่นี่อยู่ก่อนแล้ว พอผมเรียนจบชั้นมัธยม ตอนนั้นอายุ 17 ปี ก็มาทำงานที่นี่เป็นที่แรก และทำมาจนถึงวันนี้จะครบ 60 ปีแล้ว โดยตำแหน่งแรกของลุงนิลคือ ออฟฟิศบอย นั่งอยู่ตรงประตู คอยดูแลคนที่เข้ามาติดต่อ ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ในออฟฟิศ ตามแต่ที่เขาจะสั่ง ชงกาแฟบ้าง อะไรบ้าง ในระหว่างนั้นก็เรียนรู้เรื่องการแต่งแร่จากพ่อ ทำให้ได้ความรู้ขั้นตอนต่างๆ ของการ ทำเหมืองและการจัดการแร่ ต่อมาหลังจากพ่อเสีย ผมก็ทำรับผิดชอบหน้าที่ในส่วนของโรงแต่งแร่แทนพ่อ และทำเรื่อยมาจนเหมืองปิด ในปี พ.ศ. 2537"
ภาพ 3. หน้าประตู ที่นั่งของออฟฟิศบอย
ก่อนหน้านั้น ในส่วนของเรือขุดแร่หมดประทานบัตรไปในปี พ.ศ.2518 เหลือเพียงส่วนของเหมืองฉีด ที่ปิดตัวในเวลาข้างต้น แต่บริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด ยังคงอยู่ในสถานะดำเนินกิจการจนถึงปัจจุบัน และลุงนิลยังคงเป็นพนักงาน รับเงินเดือนเต็มจำนวนจนถึงทุกวันนี้ ทำหน้าที่ช่วยดูแลสถานที่ ไม่ให้รกร้าง ล่าสุดลุงนิลทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้มาเยี่ยมชมที่ทำการของบริษัทเรือขุดแร่จุติ ที่ปรับเปลี่ยนเป็น แหล่งเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์
ลุงนิลเป็นชาวกะปงโดยกำเนิดและไม่เคยจากไปไหน คลุกคลีกับเหมืองมาร่วม 6 ทศวรรษ สำหรับความรู้เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ ลุงขอใช้คำว่า พอตัว ทุกวันนี้ยังมีคนที่สนใจเรื่องแร่ดีบุก แวะเวียนมาหาอยู่เรื่อยๆ สำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ลุงนิลจะเล่าถึงขั้นตอนต่างๆ ในการทำเหมืองแร่ พร้อมนำชมอุปกรณ์และเครื่องมือที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น เครื่องชั่งแร่ ตู้เซฟ พิมพ์ดีด สมุดบัญชี เครื่องมือตรวจยาม ฯลฯ
ภาพที่ 4.ส่วนหนึ่งของเครื่องมือทำเหมืองแร่
“ก่อนทำเหมืองก็ต้องสำรวจสายแร่ก่อน แบบในแผนที่ที่ฝรั่งทำไว้ เพื่อดูความสมบูรณ์ของแร่ นำไปคำนวณจำนวนแร่ที่คาดว่าจะได้ เพื่อประเมินราคา แล้วกำหนดระยะเวลาที่จะทำเหมือง ถ้านานเกินไปก็ขาดทุน เพราะยิ่งนานค่าแรงที่จ่ายก็เยอะตามไปด้วย ถ้าประเมินแล้วว่าคุ้ม ก็ต้องดำเนินการขอประทานบัตร ซึ่งก็ขอยาก ได้ประทานบัตรแล้ว ถึงจะทำเหมืองได้ " ลุงนิลอธิบาย
ส่วนตัวอาคารที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ลุงนิลเล่าว่า “เดิมเป็นออฟฟิศ ที่ทำงานของพวกเสมียน พนักงานบัญชี ผู้จัดการ ฯลฯ ฝั่งตรงกันข้ามเป็นโรงแต่งแร่ แร่จากเหมืองจะถูกส่งไปยังโรงแต่ง ทำเปอร์เซ็นต์ และคำนวณราคาโรงแต่งแร่ทำหน้าที่แยกส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่แร่ออกให้มากที่สุด เพื่อให้เปอร์เซ็นต์ของแร่สูงขึ้น ทำให้สามารถคำนวณราคาแร่ได้ ก่อนที่จะส่งไปถลุงที่จังหวัดภูเก็ต"
ภาพที่ 5.ภาพวาดแสดงการทำเหมืองเรือขุด การร่อนแร่ของชาวบ้าน และเหมืองฉีด
ช่วงเวลาที่ลุงนิลเข้ามาทำงาน เป็นยุครุ่งเรื่องของเหมืองแร่ดีบุก (พ.ศ.2503 ถึง พ.ศ.2523) ราคาดีบุกในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเวลานั้น ที่ค่าแรงลุงนิล อยู่ที่ 8 บาทต่อวัน รวมค่าล่วงเวลาก็ราว 270-280 บาทต่อเดือน
“ฟังดูน้อยนะ แต่สมัยนั้นหมูกิโลกรัมละ 15 บาท ซื้อครั้งละ 3 บาท 5 บาทก็พอ ถั่วงอกก็แค่ห้าสิบสตางค์ ข้าวสารถังขนาด 16 กิโล 28 บาท บริษัทเข้าไปรับมาจากตลาดย่านยาว(ท่าเรือใหม่ของอำเภอตะกั่วป่า) เป็นกระสอบใหญ่ร้อยกิโลเอามาแบ่งขายให้คนงาน ที่พักอยู่ในบริษัทเป็นห้องแถวยาว เรียกกันว่า กงสี"
รายได้จากการทำงานกับบริษัทเหมืองแร่สูงพอจูงใจให้คนท้องถิ่น เปลี่ยนจากทำการเกษตร มาทำงานเหมือง รวมถึงดึงดูดแรงงานอพยพจากภาคอีสาน และ คำว่า นายเหมือง ไม่ได้มีความหมายแค่ เจ้าของกิจการเหมือง แต่มีนัยถึงความเป็นผู้มีฐานะเป็นปึกแผ่น
ภาพ 6. ตลาดปากถักปัจจุบัน
ความรุ่งเรืองของเหมืองส่งผลให้เกิดชุมชนขึ้นบริเวณรอบๆ ตลาดปากถัก หลังจากบรฺิษัทเรือขุดแร่จุติ เข้ามาดำเนินการได้ 5 ปี ในปี พ.ศ.2497 ที่ว่าการอำเภอกะปง ก็ย้ายจากตำบลกะปง มาอยู่ที่บ้านปากถัก ตำบลท่านา อันเป็นที่ตั้งของบริษัทเหมืองแร่ ด้วยเหตุผลที่ว่า บริเวณนี้เป็นจุดศูนย์กลางของอำเภอ
“คนงานในบริษัทมีร่วม 300 คน ซื้อขายหากินกันแถวๆ นี้ ตลาดก็ขยายใหญ่ขึ้น เงินจากเหมืองสะพัด ไม่ต่ำกว่าเดือนละแสนบาท หมุนกันอยู่ในนี้ ไม่ไปไหน ตลาดใหญ่(จุดศูนย์กลางของธุรกิจเหมืองแร่ ตั้งอยู่ในอำเภอตะกั่วป่า)อยู่ไกล ห่างไป 19 กิโลเมตร แต่ละวันมีรถสองแถวไปกลับเที่ยวเดียว ออกแต่เช้ามืด กลับมาก็บ่ายสอง ถนนหนทางก็ไม่ดี เป็นหลุม เป็นบ่อ เจอควนรถขึ้นไม่ไหว ก็ต้องช่วยกันเข็น"
เดิมกะปงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นกับอำเภอตะกั่วป่า ต่อมาในปี พ.ศ.2441 ได้รับการยกฐานะ ขึ้นเป็นอำเภอ (ไม่มีหลักฐานระบุถึงเหตุของการยกฐานะ คาดหมายว่าน่าจะสัมพันธ์กับการบุกเบิกพื้นที่ ทำเหมืองในบริเวณกะปงมากขึ้น) ก่อนหน้านั้น ในยุคประวัติศาสตร์ กะปงเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้า ระหว่างตะโกลา (ปัจจุบันคืออำเภอตะกั่วป่า) กับอินเดีย เรือเดินทะเลสามารถล่องตามแม่น้ำตะกั่วป่า ผ่านบริเวณตลาดใหญ่ในปัจจุบัน ขึ้นมาถึงกะปง ดังมีหลักฐานการค้นพบรูปปั้นพระวิษณุ ศิลปอินเดียใต้ ปัลลวะ-โจฬะ อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 14-17 (ประมาณ 800-1100 ปีก่อน) รวมถึงวัตถุโบราณอื่นๆ อีกมาก ที่ ตำบลเหล อำเภอกะปง
อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองแร่อย่างเข้มข้น ทำให้ลำน้ำตะกั่วป่าบริเวณตลาดใหญ่ตื้นเขิน เช่นเดียวกับ ที่กะปง ไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งอีกต่อไป
จากยุคเฟื่องฟู มาถึงปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา ราคาแร่ดีบุกเริ่มลดต่ำลง ต่อมาเกิดวิกฤตการณ์ ดีบุกโลก ในปี พ.ศ.2528 ราคาดีบุกตกต่ำลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ประกอบกับแหล่งแร่ที่มีความสมบูรณ์ ถูกทำเหมืองไปหมดแล้ว เหลือแต่แหล่งแร่ความสมบูรณ์ต่ำ เหมืองแร่จึงทะยอยกันปิด รวมทั้งเหมืองปากถัก
หลังเหมืองปิด คนงานเหมืองที่มีรายได้สะสมพอควร พากันหาซื้อหรือจับจองที่ดินทำการเกษตรต่อมา เรื่องราวการเป็นเมืองเหมืองแร่รางเลือนไป จนกระทั่งปีพ.ศ. 2562 ภายใต้กระแสการท่องเที่ยวแบบย้อนรำลึกอดีต อำเภอกะปงเปิดโครงการถนนคนเดินปากถัก เมืองเหมืองเก่า สำนักงานเหมืองที่ถูกปิดทิ้งไว้ ได้รับการฟื้นฟูเป็นแหล่งเรียนรู้ และลุงนิลได้ทำหน้าที่ส่งผ่านความทรงจำ จากเหมืองแร่ ถึงคนรุ่นหลัง
ภาพ 7. บ้านพักแพทย์ประจำบริษัท
"เรือนหลังนั้นเป็นบ้านหมอ ลุงนิลชี้เรือนหลังเล็กที่มีไม้เลื้อยคลุม และให้รายละเอียดว่า เป็นของเดิมตั้งแต่สมัยยังเป็นของบริษัทอีสต์เอเชียติก คือฝรั่งเวลาทำเหมือง ในเหมืองต้องมีพร้อมทุกอย่าง รวมถึงต้องมีหมอด้วย ส่วนที่เป็นเคยโรงแต่งแร่เหลือเพียงซากหักพัง และบนเนินมีบ้านหลังใหญ่ ลุงนิลบอกว่า เรือนนั้นเป็นเรือนรับรอง ที่พักของคุณจุติ (จุติ บุญสูง เจ้าของบริษัท) รวมทั้งใช้เป็นที่รับแขก เวลามีคนสำคัญๆ มาเยี่ยม"
ภาพที่ 8. เรือนรับรอง (ล่าสุดลุงนิลเล่าว่าพายุฝนพัดต้นทุเรียนโค่นทับบ้าน ทำให้เสียหายหนัก)
ปัจจุบันเรือนทั้งหมดอยู่ในสภาพทรุดโทรม ทั้งนี้หลังจากเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ไม่นาน ในปี พ.ศ.2563-64 ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ทำให้ถนนคนเดินต้องปิดเป็นระยะๆ ส่วนพิพิธภัณฑ์
“ทางบริษัทเกรงว่าจะเป็นอันตราย จากสภาพของสถานที่ที่ทรุดโทรม เวลาที่มีคนมาเยี่ยมชมจำนวนมาก อาจจะพังลงได้ อีกอย่างเขาเห็นว่าลุงอายุมากแล้ว มีความเสี่ยงต่อโรค และอยากให้ได้พักผ่อนดีกว่า"
พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ปากถักจึงปิดตัวลงอย่างถาวร ทว่าเรื่องเล่าจากเหมืองแร่ยังคงดำรงอยู่
หมายเหตุ
วันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชม ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2564 พิพิธภัณฑ์ได้ปิดตัวลงแล้ว แต่ลุงนิลยังคงใจดีและยินดีที่จะเล่าเรื่องเพื่อฟื้นความหลังยุครุ่งเรืองของเหมืองแร่
*“…That’s why we have the Museum, Matty, to remind us of how we came, and why: to start fresh and begin a new place from what we had learned and carried from the old.” – Lois Lowry
ข้อมูลอ้างอิง
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอกะปง. ประวัติอำเภอกะปง. https://district.cdd.go.th/kapong/about-us
สถานการณ์แร่/โลหะดีบุกของประเทศไทยในรอบ 5 ปี (2542-2546) https://www1.dpim.go.th//dt/pper/000001093248503.pdf
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. พระวิษณุบนคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย. https://www.finearts.go.th/promotion/view/23114
มิวเซียมภูเก็ต.เรือขุดแร่ดีบุกลำแรกของโลก. https://www.facebook.com/museumphuket/posts/1356451267899303/
สัมภาษณ์ นายนิล ทิพยพัฒนกุล วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
สุพิตา เริงจิต