Museum Core
จากบัญชีเลขที่บ้านถึงโรงเรียนการไปรษณีย์
Museum Core
31 ม.ค. 65 1K

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

          การไปรษณีย์ของสยามประเทศ ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และแสตมป์ชุดแรก ได้แก่ โสฬศ ก็มีวันแรกจำหน่ายในวันดังกล่าวด้วย

 

ภาพที่ 1 แสตมป์ชุดโสฬศ

แหล่งที่มาภาพ: ไปรษณีย์ไทย

 

         ทว่า จดหมายจะสามารถส่งจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้ ไม่ได้หมายความว่าเขียนข้อความเสร็จ ใส่ซองผนึกแสตมป์เป็นจบกัน หากแต่ต้องมีคนเป็นสื่อกลางจัดส่ง แล้วยังไม่นับว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าปลายทางผู้รับอยู่ตรงไหนของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะถ้าส่งไปต่างจังหวัดย่อมต้องยากขึ้นไปอีก

 

         นั่นเท่ากับต้องเตรียมการล่วงหน้า สำหรับการจัดทำบัญชีเลขที่บ้าน มีการฝึกสอนบุคลากรในการนำจ่าย ซึ่งเรียกกันติดปากว่าบุรุษไปรษณีย์ ตลอดจนกระบวนการทุกขั้นตอนเบื้องหลัง ทั้งหมดนี้การไปรษณีย์สยามดำเนินการมาอย่างเป็นขั้นตอน โดยในระยะแรกก่อตั้งไปรษณีย์สยาม ต้องอาศัยว่าจ้างบุคลากรต่างชาติมาร่วมทำงานกับข้าราชการไทย นัยว่าเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ เพราะชาติยุโรปมีกิจการไปรษณีย์มาก่อนนั่นเอง

 

         ในสมัยก่อนการทำบัญชีเลขที่บ้านนั้นต้องลงพื้นที่สำรวจพร้อมกำหนดหมายเลขบ้าน และออกประกาศให้ทราบล่วงหน้า เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากราษฎรในการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับบ้านและที่ตั้งว่าอยู่ตรอก ซอย ถนนใด และเมื่อเจ้าหน้าที่ติดหมายเลขไว้ก็ให้รักษาให้ดี แต่เรื่องของเรื่องคือ ยังมีคนเข้าใจผิดกลัวว่าการติดเลขที่บ้านจะเป็นการเก็บภาษีบ้าง เรียกเก็บเงินบ้าง จึงขลุกขลักอยู่ไม่น้อย

 

         อีกปัญหาที่การไปรษณีย์สยามเลี่ยงไม่พ้นคือราษฎรยุคนั้นยังไม่มีนามสกุล แถมชื่อก็ซ้ำกันมากมาย ทำให้ต้องใช้รายละเอียดอื่น ๆ มาประกอบ เช่น ชื่อบิดามารดา อาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ระบุได้ชัดเจน จะได้ไม่ส่งจดหมายผิด  กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาอยู่ราว 2 ปีกว่า

 

         บุคคลหนึ่งที่มีส่วนอย่างมาก เป็นชาวอังกฤษชื่อ เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ (Henry Alabaster) เข้ามารับราชการในสถานกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2399 สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านงานไปรษณีย์มาก่อน (มีส่วนร่วมร่างบันทึกเพื่อเสนอเรื่องการจัดส่งถุงเมล์ของกงสุลอังกฤษให้เป็นระบบ ต่อมาเปิดเป็นกิจการไปรษณีย์ขึ้นเพื่อให้บริการรับส่งจดหมายต่างประเทศ ในครั้งนั้นไปรษณีย์สยามยังไม่ถือกำเนิด)

 

         ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกเชิญเข้าร่วมการจัดตั้งไปรษณีย์สยาม การมาช่วยงานทำบัญชีเลขที่บ้าน นายอาลาบาศเตอร์ใช้เวลาวันละ 2 ชั่วโมง จากบ่ายสองถึงบ่ายสี่โมงเย็นทุกวัน เพราะมีงานอื่นต้องรับผิดชอบด้วย

 

 

ภาพที่ 2 เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์

แหล่งที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/eb/Henry_Alabaster.jpg

 

          ครั้นเมื่อนายอาลาบาศเตอร์ลาออกจากราชการอังกฤษ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการใช้นามสกุลเป็นครั้งแรก บุตรของนายอาลาบาศเตอร์ได้ขอพระราชทานนามสกุล และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “เศวตศิลา” ซึ่งมีที่มาจากนามสกุลเดิมในภาษาอังกฤษคืออาลาบาศเตอร์ แปลเป็นไทยว่าหินขาวนั่นเอง

 

          แต่จนแล้วจนรอดการจัดทำบัญชีเลขที่บ้านก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะลับหลังเจ้าหน้าที่แล้วราษฎรก็ดึงป้ายบ้านเลขที่ออก ต่างกลัวว่ามีเลขที่แล้วราชการจะมาเก็บภาษีง่ายขึ้น นั่นทำให้จดหมายในยุคแรกหลังเปิดการไปรษณีย์ การจ่าหน้ายังคงไม่มีบ้านเลขที่ ระบุเพียงชื่อผู้รับ และตามด้วยสถานที่ใกล้เคียงของบ้านหลังนั้น ๆ

 

การจัดทำบัญชีเลขที่บ้านดำเนินมาเป็นลำดับ จนล่วงเวลามาราวร้อยปี ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาไปอีกขั้น นั่นคือใช้รหัสไปรษณีย์ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างเป็นความเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525  โดยใช้รูปแบบของการไปรษณีย์ฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ รหัสไปรษณีย์ประกอบด้วย กลุ่มตัวเลข 5 หลัก โดย 2 ตัวแรกหมายถึงจังหวัด และ 3 ตัวหลังใช้แทนที่ทำการในจังหวัดนั้น

 

 โรงเรียนการไปรษณีย์

          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขขณะนั้น ทรงตระหนักว่าไปรษณีย์เป็นกิจการสำคัญ ควรดำเนินการโดยคนไทยทั้งหมด และจำเป็นต้องมีบุคลากรเฉพาะด้านในการปฏิบัติงาน จึงเป็นที่มาของการตราข้อบังคับสำหรับนักเรียนฝึกหัด เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์โทรเลข โดยรับผู้มีการศึกษาอ่านออกเขียนได้อย่างดี อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และไม่เกิน 25 ปี เข้าศึกษาใน “โรงเรียนไปรษณีย์โทรเลข” ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2432

 

          ส่วนตัวย่อ “คปท” หรือชื่อเต็มว่า คมนาคม ไปรษณีย์ โทรเลข ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ในยุคปัจจุบันนั้น เป็นการเริ่มต้นนับรุ่นของผู้สำเร็จการศึกษาเป็น คปท รุ่นที่ 1 ตรงกับปี พ.ศ. ­2485  ซึ่งย้ายมาเรียนกันที่บริเวณด้านหลังอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

 

          กระทั่งปี พ.ศ. 2522 การสื่อสารแห่งประเทศไทยจึงได้สร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ ณ บริเวณกองฝึกอบรม ถนนแจ้งวัฒนะ และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนการไปรษณีย์ในปัจจุบัน หลังเปลี่ยนสถานที่ตั้งมาหลายครั้งหลายครา ทั้งด้วยเหตุผลของสงคราม และการปรับเปลี่ยนองค์กร

 

          บุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการไปรษณีย์ มักถูกเข้าใจว่าคือบุรุษไปรษณีย์ เพราะเป็นความคุ้นเคยผ่านการรับส่งจดหมาย หากในความเป็นจริงแล้วผู้สำเร็จออกมายังปฏิบัติหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ ของไปรษณีย์ไทย ตั้งแต่รับฝากหน้าเคาน์เตอร์ ส่งต่อ นำจ่าย ตลอดจนกระบวนการจัดการอีกสารพัดที่อยู่เบื้องหลัง ก่อนจดหมายถึงมือผู้รับปลายทาง

 

 

ภาพที่ 3 บัญชีนักเรียนที่สมัครฝึกการไปรษณีย์โทรเลขยุคแรก

(แหล่งที่มาภาพ: ผู้เขียนถ่ายจากนิทรรศการ 135 ปี การไปรษณีย์ไทย)

 

         อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในปี พ.ศ. 2550 ไปรษณีย์ไทยได้เปิดรับนักเรียนหญิงเข้าศึกษาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถอันทัดเทียมกัน มีนักเรียนหญิงให้ความสนใจมากถึง 7,666 คน และสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนไปรษณีย์ได้จำนวน 62 คน

        ต้นทางการจัดระบบเมื่อกว่าร้อยปีผ่านมา พัฒนาเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย ส่งผลให้หลายภาคส่วนในสังคมได้รับความสะดวก แม้ทุกวันนี้อาจถูกมองผ่านเพราะเป็นสิ่งปกติ แต่การย้อนรำลึกถึงก็ทำให้เราตระหนักร่วมกันได้ในคุณูปการนั้น

 

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือที่ระลึกงานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ พ.ศ. 2544

 

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

 

หนังสือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย

 

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากรไทย เล่ม 1 – 4

 

นิตยสารแสตมป์และสิ่งสะสม ส.ค. และ ธ.ค. 2561

 

ลมล่องข้าวเบา

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ