Museum Core
Singapore Night Festival เทศกาลแสงสีสุดสนุกแห่งพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
Museum Core
20 ธ.ค. 64 764
ประเทศสิงคโปร์

ผู้เขียน : นฤดม สินอุดม

          หลังจากภาพยนตร์ Night at the Museum ออกฉายเมื่อปีค.ศ. 2006 เด็ก ๆ ทั่วโลกต่างมีความฝันที่จะได้รับชมพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน หลายพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกต่างทยอยจัดอีเว้นท์กลางคืน ซึ่งในแถบอาเซียน สิงคโปร์น่าจะเป็นประเทศแรกที่จัดงานได้อย่างอย่างโดดเด่น และที่สำคัญสิงคโปร์มีการจัดการผังเมืองที่ดีมาก จัดให้โซนพิพิธภัณฑ์อยู่รายล้อมเขตบราส บาซาห์ (Bras Basah) ทั้งหมด สิงคโปร์ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมงาน Night Festival ขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 2008 โดยมีพิพิธภัณฑ์ 5-6 แห่งร่วมกันเปิดให้ชมในยามค่ำคืน ซึ่งทั้งหมดสามารถเดินเท้าถึงกันได้โดยง่ายดาย หลังจากนั้นก็เริ่มพัฒนาให้ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี เพิ่มการแสดงแสงสีเสียงและการแสดงผลงานของเหล่าศิลปินจากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งเวทีการแสดงมหรสพ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยว Singapore Night Festival แล้วรู้สึกประทับใจมาก จึงขอนำทั้งความสวยงามและแนวคิดในการนำเสนอมาเล่าสู่กันฟัง

 

         เทศกาล SG Night Fest จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคม (9 สิงหาคมเป็นวันชาติสิงคโปร์ เดือนสิงหาคมจึงเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง) โดยจัดที่บริเวณบราส บาซาห์-บูกิส (Bugis) ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกัน สามารถเดินถึงกันได้ตลอดในบรรยากาศแบบถนนคนเดิน การเดินทางก็แสนง่ายเพราะมี MRT เข้าถึงบริเวณดังกล่าว 3 สถานี ได้แก่ Bras Basah, Dhoby Ghaut และ City Hall ภายในงานเต็มไปด้วยแสงสี ความสนุกคึกคัก ได้รับสาระความรู้อย่างเต็มเปี่ยม และที่สำคัญพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดในบริเวณนั้นเปิดให้ชมฟรี!!! ตั้งแต่เวลาหนึ่งทุ่มเป็นต้นไป แต่ก่อนจะไปชมเหล่าพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายขอแนะนำว่าห้ามพลาดไฮไลท์ของงานนั่นก็คือ การฉายผลงานศิลปะบนผนังอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ (National Museum of Singapore) และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (Singapore Art Museum - SAM)

 

 

ภาพที่ 1 การแสดงการ์ตูนแอนิเมชันบนผนังของ Singapore National Museum

 

          การแสดงนี้ใช้ผนังของอาคารทั้งหลังแทนจอภาพจึงทั้งสวยงามและอลังการ เต็มไปด้วยเทคนิคมากมายเพื่อให้ได้ภาพที่สมจริงในการแสดงงานศิลปะทั้งรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ โดยนอกจากจะมีการสาดแสงไปที่ตัวอาคาร บริเวณโดยรอบยังมีการเล่นแสงสีของเหล่าศิลปินที่น่าประทับใจอีกจำนวนมาก ทำให้สัมผัสได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกใส่ลงมาเต็มที่แบบไร้ขีดจำกัด

 

ภาพที่ 2 การฉายภาพเคลื่อนไหวบนอากาศ และต้นไม้จริงกับนกจำแลง

 

          หลังจากได้ชื่นชมแสงสีจนอิ่มเอมแล้ว ก็มาเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันต่อ โดยขอหยิบยกขึ้นมาเพียง 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์เปอรานากัน (Peranakan Museum) และพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสิงคโปร์ (Singapore Philatelic Museum) ซึ่งทั้งสองแห่งนี้อยู่ใกล้ๆ กันบนถนนอาร์เมเนียน (Armenian Street) ตัวตึกไม่ใหญ่มากเดินต่อกันได้และใช้เวลาเดินชมไม่นาน

 

          เริ่มจากพิพิธภัณฑ์เปอรานากัน คำว่า Peranakan แปลตรงตัวว่า เกิดที่นี่ หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่ผสมผสานระหว่างจีน-มลายู พบได้ตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทยไล่ลงไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ “บ้าบ๋า-ย่าหยา” ส่วนตัวอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่ออิฐถือปูนและปูพื้นไม้คลาสสิค มีบันไดตรงกลางสวยงาม ภายในมิวเซียมถูกจัดคล้ายกับบ้านโบราณของชาวเปอรานากัน แต่ละห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เล่าเรื่องประเพณีต่าง ๆ ของชาวเปอรานากันตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ทำให้เราได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมของชาวเปอรานากัน รวมทั้งเข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรมของสิงคโปร์ด้วย

  

ภาพที่ 3 ห้องแสดงพิธีแต่งงานและห้องทานข้าวของชาวเปอรานากัน

 

          ถัดมาเดินเพียงไม่กี่ก้าวตามถนนอาร์เมเนียนก็มาถึงพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสิงคโปร์ หรือเรียกสั้นๆ ว่าพิพิธภัณฑ์แสตมป์นั่นเอง มิวเซียมมีขนาดไม่ใหญ่มากมีสองชั้น บรรจุเรื่องราวของแสตมป์ในทุกยุคสมัยตั้งแต่มีประเทศสิงคโปร์ (1965) เป็นต้นมา โดยใช้แสตมป์เป็นตัวนำในการบอกเล่าเรื่องราวของสังคมและเหตุการณ์สำคัญของสิงคโปร์ โดยชั้นล่างเน้นเล่าเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรม ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณี อาหารการกิน ทำให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของ 4 ชาติพันธุ์ (จีน อินเดีย มาเลย์ อังกฤษ) ที่ผสมผสานกันสอดแทรกอยู่ในความเป็นสิงคโปร์

 

ภาพที่ 4 ส่วนจัดแสดงเล่าเรื่องวัฒนธรรม ด้านนอกเป็นคำบรรยายที่เปิดเข้าไปจะเจอรูปแสตมป์

 

          ชั้นบนของอาคารเป็นการเล่าเรื่องที่เน้นถึงสิ่งแวดล้อมและความทันสมัย เช่น การบำบัดน้ำเสีย การดูแลธรรมชาติ รวมถึงการเปิดอาคารสิ่งก่อสร้าง และรถไฟฟ้า MRT ส่วนที่ผู้เขียนชอบที่สุดและน่าจะเป็นแลนด์มาร์คของที่นี่คือบริเวณที่มีภาพแสตมป์มาเรียงจ่อแบบสามมิติโดยแทรกจอทีวีเข้าไปด้วย (ภาพที่ 5 ซ้าย) เต็มทั้งผนังยาวต่อไปจนถุงเพดานสวยงามมากและมีการเปิดไฟสลับสี เรียกได้ว่าใครมาถึงก็ต้องมาถ่ายรูปจุดนี้ทุกคน นอกจากนี้บนชั้นสองยังมีห้องใช้จัดกิจกรรมสำหรับเด็ก (ภาพที่ 5 ขวา) เป็นห้องที่จัดแสดงแสตมป์รูปสัตว์และการ์ตูน เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มครอบครัวอย่างยิ่ง มิวเซียมขนาดกะทัดรัดทำให้เดินไม่เมื่อย สนุกเพลิดเพลินไปกับพร็อพต่าง ๆ ตลอดทาง รวมทั้งได้ความรู้เต็มเปี่ยม

 

ภาพที่ 5 (ซ้าย) มุมแสตมป์และจอภาพ และ (ขวา) ห้องจัดแสดงแสตมป์รูปสัตว์และการ์ตูน

 

          นอกจากการเดินชมแสงสี เดินชมมิวเซียม ภายในงานยังมีการแสดงทั้งร้องเล่นเต้น กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ตลอดทั้งท้องถนน หลายชุดการแสดงมีการใช้เทคนิคลีลาสวยงาม บางชุดก็มีการแสดงที่เสียดสีค่านิยมทางสังคม บางชุดเป็นการแสดงที่ใช้ทักษะความสามารถเฉพาะตัวสูง สรุปว่าเป็นงานที่เดินเพลินมาก สายอาร์ต สายมิวเซียม มาวันเดียวไม่พอแน่นอน ส่วนสายชิลล์สามารถเดินตามฮิลล์สตรีท (Hill Street) ไปไม่เกิน 5 นาทีก็ถึงคลาร์กคีย์ (Clarke quay) เป็นบริเวณริมแม่น้ำบรรยากาศคล้ายเอเชียทีคที่สามารถนั่งเล่นให้หายเมื่อยก่อนกลับ

 

           สุดท้ายสิ่งที่ผู้เขียนอยากแชร์จากประสบการณ์เรียนรู้ที่ได้รับจากการเที่ยวครั้งนี้ คือ หลายคนมักมองว่าพื้นที่พิพิธภัณฑ์ไม่เป็นมิตรกับเด็กเล็กที่อาจซุกซนจนเผลอทำข้าวของเสียหาย ทำพื้นสกปรกเลอะเทอะ หรือยังเล็กเกินไป ไปดูพิพิธภัณฑ์ก็ไม่เข้าใจเพราะยังอ่านหนังสือยังไม่ออก แต่พิพิธภัณฑ์ที่สิงคโปร์นั้นมีวิธีคิดที่ต่างออกไป ไม่ใช่แค่ในงาน Night Fest พิพิธภัณฑ์ในวันปกติล้วนแต่มีเด็กเล็กเข้าชมเป็นจำนวนมาก ทั้งแบบที่มาทัศนศึกษากับโรงเรียนและมากับครอบครัว อาคารพิพิธภัณฑ์ล้วนมีมุมสำหรับเด็ก ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์แสตมป์ เท่านั้น แต่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเองก็มีโซน PLAY ที่จัดไว้สำหรับเด็ก และอีกหลายพิพิธภัณฑ์ก็มีมุมสำหรับเด็กเล่นเช่นกัน จากการสอบถามเพื่อนและภัณฑารักษ์ จึงได้ทราบว่าสิงคโปร์มีแนวคิดสำคัญที่เน้นว่าควรทำมิวเซียมให้สนุก ยิ่งดึงให้เด็กเล็กเข้ามามากเท่าไหร่ยิ่งดี ต่อให้มาวิ่งเล่นซนก็ตาม เพราะอย่างน้อยเด็กก็จะต้องถามผู้ใหญ่ว่า “นี่อะไร นั่นอะไร” ตามประสาเด็ก เป็นการฝึกนิสัยใฝ่รู้สร้างรากฐานในการหมั่นศึกษาสิ่งรอบตัวให้กับเด็กเหล่านั้นตั้งแต่ต้น เป็นการปลูกฝังการเรียนรู้แบบไม่สิ้นสุด (Life Long Learning) ไปในตัว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปตลอดชีวิต

 

            ด้วยสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กนิดเดียว (เล็กกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ) พิพิธภัณฑ์จึงเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ในวันพักผ่อนเช่นเดียวกับ งาน Night Fest ที่พบเห็นได้ทั่วไป ทั้งคนที่มากับเพื่อน หรือมาคนเดียว โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวที่พบเจอได้มากที่สุด ซึ่งทุกคนที่มาในงานล้วนได้รับสิ่งที่มากกว่าแค่ความสนุกสนาน สำหรับผู้เขียนที่เป็นคนต่างบ้านต่างเมืองก็ยังประทับใจกับการจัดงานนี้มาก เพราะได้รับทั้งความสนุกบันเทิงและได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อน ได้เปิดโลกทัศน์สู่โลกแห่งศิลปะจินตนาการไร้พรมแดน และยังได้ความรู้ความเข้าใจต่อสังคมวัฒนธรรมสิงคโปร์แบบเต็มเปี่ยม  

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.indesignlive.sg/happenings/decade-singapore-night-festival

 

https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/116

 

 นฤดม สินอุดม

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ