กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดียเป็นสถานที่ที่มีประวัติยาวนานย้อนกลับไปไกลถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม โฉมหน้าของเดลีเปลี่ยนไปตลอดกาลในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 เมื่อกุตุบ อัล – ดิน ไอบัก (Qutb al – Din Aibak) ผู้ปกครองมุสลิมแห่งวงศ์มามลูก (Mamluk) จากเอเชียกลางได้ผนวกนครเดลีเข้าเป็นส่วนหนึ่งในเขตปกครองของตนในปี ค.ศ. 1206 ยุคสมัยอันรุ่งโรจน์ของสุลต่านแห่งเดลีจึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้น ภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษ เดลีที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญแห่งชมพูทวีปก็กลายมาเป็นศูนย์กลางรัฐสุลต่านที่มีอาณาเขตทอดยาวจากแม่น้ำสินธุทางตะวันตกเฉียงเหนือไปจนถึงแม่น้ำคงคาทางตะวันออกของอนุทวีป ทว่าแม้มามลูกจะเป็นราชวงศ์แรกที่ปกครองเดลีเกือบหนึ่งศตวรรษ แต่ยุคสมัยรุ่งเรืองที่สุดของสุลต่านแห่งเดลีกลับเป็นยุคของราชวงศ์คิลจี (Khilji) ที่ปกครองเดลีตั้งแต่ ค.ศ. 1290 ถึง 1320 แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่รัฐสุลต่านภายใต้การนำของคิลจีก็มีอาณาเขตกว้างไกลไปถึงที่ราบสูงเดคข่าน (Deccan Plateau) และดินแดนบางส่วนทางตอนใต้ของอินเดีย ความสำเร็จในการขยายดินแดนที่ว่านี้เกิดขึ้นได้เพราะความสามารถของแม่ทัพและนักปกครองที่มีวิสัยทัศน์ ทว่าน้อยคนนักที่รู้ว่า หนึ่งในแม่ทัพที่มีฝีมือที่สุดในยุคคิลจีเคยเป็นอดีตทาสที่ถูกตอนเป็นขันทีเพื่อสนองกามารมณ์ ชายผู้นั้นไต่เต้าจากจุดต่ำสุดของสังคมมาอยู่บนยอดพีระมิด เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้นำทัพที่กล้าหาญ แต่ยังเป็นนักปกครองผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนานัปการของสุลต่านที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งราชวงศ์คิลจี นามของเขาคือมาลิก กาฟูร์ (Malik Kafur) ขันทีผู้มีอิทธิพลที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์อินเดีย
ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดถึงประวัติของกาฟูร์ก่อนรับใช้สุลต่าน นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่ากาฟูร์เกิดในครอบครัวชาวมราฐา (Maratha) ที่นับถือศาสนาฮินดูปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 เช่นเดียวกับเด็กชายมากมายในยุคนั้น กาฟูร์ถูกคนต่างศาสนาจับตัวมาเป็นทาส เขาถูกตัดเครื่องเพศจนกลายเป็นขันที ก่อนถูกขายต่อให้นายทาสที่บังคับให้เขาเข้ารับอิสลาม เด็กชายถูกเรียกขานด้วยนามกาฟูร์นับแต่นั้น ไม่มีใครรู้ชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริงของเขาก่อนเปลี่ยนศาสนา ในปี ค.ศ. 1299 ขณะที่กาฟูร์เป็นทาสรับใช้ครูสอนศาสนาที่เมืองขัมภาต (Khambhat) ในรัฐคุชราตทางตะวันตกของอินเดีย ชีวิตของเด็กหนุ่มก็เปลี่ยนไปเมื่อถูกขายต่อให้นุสรัต ข่าน (Nusrat Khan) แม่ทัพคนสนิทของอะลาอุดดิน คิลจี (Alauddin Khilji) สุลต่านองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์คิลจี
ภาพที่ 1: สุลต่านอะลาอุดดิน คิลจี
แหล่งที่มาภาพ: Chavan, Akshay. Sultan Alauddin Khilji. (2018). [Online]. Accessed 2021 October 21. Available from: https://www.livehistoryindia.com/story/snapshort-histories/malik-kafurs-betrayal/
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี อาลี กุรชาส์ป (Ali Gulshasp) ได้สถาปนาตนเป็นสุลต่านอะลาอุดดินหลังสังหารพ่อตาของตัวเองในปี ค.ศ. 1296 สุลต่านองค์ใหม่ต้องการสร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งในชมพูทวีป อะลาอุดดินก่อสงครามกับอาณาจักรข้างเคียงหลายครั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดนและทรัพย์สิน การบุกยึดแคว้นคุชราตก็เช่นกัน ขัมภาตเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย สุลต่านจึงรับสั่งให้แม่ทัพข่านโจมตีขัมภาตเพื่อปล้นสะดมของมีค่าส่งกลับมายังเดลี ทว่าแม่ทัพข่านต้องการเอาใจสุลต่านองค์ใหม่ยิ่งกว่านั้น เขาจึงซื้อตัวขันทีรูปงามในราคาหนึ่งพันดินาร์เพื่อเป็นของกำนัลแก่อะลาอุดดิน ทว่าสิ่งที่แม่ทัพข่านไม่คาดคิดก็คือ ขันทีผู้นี้มีดียิ่งกว่ารูปร่างหน้าตา กาฟูร์มีสติปัญญาปราดเปรื่องหาผู้ใดเทียบ หลังมาถึงเดลีได้ไม่นาน เขาจึงกลายเป็นคนสนิทและที่ปรึกษาองค์สุลต่านอย่างรวดเร็ว
อะลาอุดดินหลงใหลในรูปลักษณ์และไหวพริบของกาฟูร์เป็นอย่างมาก พระองค์แต่งตั้งขันทีหนุ่มให้ดำรงตำแหน่งมหาดเล็กและแม่ทัพในปี ค.ศ. 1306 ในปีเดียวกันนั้นเองที่กาฟูร์มีโอกาสได้พิสูจน์ความสามารถในสนามรบเป็นครั้งแรก สุลต่านรับสั่งให้เขานำกองกำลังสกัดกั้นการรุกรานของทัพมองโกลที่ปัญจาบ (Punjab) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ กาฟูร์นำทัพต่อสู้กับศัตรูอย่างกล้าหาญที่แม่น้ำรวี (Ravi) เขาได้รับชัยชนะอย่างงดงามในครั้งนั้น อะลาอุดดินจึงวางพระทัยมอบหมายให้ขันทีคนสนิททำศึกขยายดินแดนต่อไป
ภาพที่ 2: แผนที่แสดงเส้นทางเดินทัพของมาลิก กาฟูร์ระหว่างค.ศ. 1308 ถึง 1311
ที่มา: Chavan, Akshay. Map Showing Malik Kafur's Campaigns in the South. (2018). [Online]. Accessed 2021 October 21. Available from: https://www.livehistoryindia.com/story/snapshort-histories/malik-kafurs-betrayal/
ในปี ค.ศ. 1307 การ์ฟูร์ยกทัพไปยังที่ราบสูงเดคข่านเพื่อปราบปรามการลุกฮือของพวกยาทวะ (Yadava) ราชารามจันทร์ (Ramachandra) ปฏิเสธการส่งบรรณาการถวายสุลต่านแห่งเดลีเป็นเวลาสี่ปี กาฟูร์จึงเปิดศึกกับทัพยาทวะจนสามารถยึดครองเทวคีรี (Devagiri) เมืองหลวงของพวกยาทวะได้สำเร็จ และจับตัวราชารามจันทร์กลับเดลีเพื่อบังคับให้สวามิภักดิ์ต่อองค์สุลต่าน กษัตริย์ยาทวะยอมตกลงส่งบรรณาการและเป็นพันธมิตรกับองค์สุลต่านจนกว่าชีวิตจะหาไม่ วีรกรรมในครั้งนี้ทำให้กาฟูร์ถูกเรียกขานว่ามาลิก (Malik) ที่มีความหมายว่าผู้ปกครองหรือผู้เป็นใหญ่นับแต่นั้นเป็นต้นมา
การยึดครองเทวคีรีเป็นการเปิดทางให้มาลิก กาฟูร์รุกรานเดคข่านและอินเดียใต้ต่อไป ในปี ค.ศ. 1309 เขานำทัพไปยังดินแดนอานธระ (Andhra) เพื่อต่อสู้กับทหารของราชาประตาปรุทระ (Prataprudra) แห่งราชวงศ์กากติยะ (Kakatiya) กาฟูร์เอาชนะประตาปรุทระอย่างง่ายดายจากการช่วยเหลือจากราชารามจันทร์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับกากติยะมาช้านาน เขายึดเอา
วรังคัล (Warangal) เมืองหลวงของกากติยะและทรัพย์สินจำนวนมากมาเป็นของกำนัลถวายองค์สุลต่าน หนึ่งในของมีค่าที่มาลิก กาฟูร์ได้มาจากศึกในครั้งนั้นคือโคห์อินูร์ (Koh – i – Noor) เพชรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่กลายมาเป็นสมบัติของราชวงศ์อังกฤษในเวลาต่อมา
ของมีค่าที่ได้จากกากติยะทำให้มาลิก กาฟูร์เชื่อว่าอินเดียใต้ต้องเป็นแหล่งขุมทรัพย์มหาศาล เขาโน้มน้าวสุลต่านจนพระองค์อนุญาตให้กาฟูร์นำทัพรุกรานดินแดนต่างๆ ตามสมควร ขันทีหนุ่มยกทัพออกจากเดลีปลายปี ค.ศ. 1310 เพื่อขยายดินแดนทางตอนใต้ เขายึดครองทวารสมุทระ (Dwarasamudra) เมืองหลวงของอาณาจักรโหยสละ (Hoysala) ในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1311 และในเดือนเมษายนปีเดียวกัน มาลิก กาฟูร์ก็ยึดครองมทุไร (Madurai) เมืองหลวงอาณาจักรปาณฑยะ (Pandya) อย่างง่ายดายเช่นเดียวกัน ไม่เพียงแต่ทวารสมุทระและมทุไรเท่านั้น แม่ทัพขันทีได้รุกรานและปล้นชิงสมบัติจากเมืองน้อยใหญ่มากมายระหว่างทาง ความสำเร็จทางการทหารทำให้รัฐสุลต่านแห่งเดลีขยายอาณาเขตกว้างไกลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มหาราชาทั้งหลายต่างยอมสวามิภักดิ์ต่อสุลต่านด้วยความหวาดกลัว ท้องพระคลังเดลีมั่งมีด้วยสมบัติที่ปล้นชิงจากดินแดนใต้อาณัติ และในปี ค.ศ. 1313 สุลต่านอะลาอุดดินแต่งตั้งให้มาลิก กาฟูร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประจำเทวคีรี ขันทีหนุ่มจึงใช้เวลาสองปีหลังจากนั้นไปกับการสร้างฐานอำนาจของตนในอินเดียใต้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาลิก กาฟูร์จะพิสูจน์ความสามารถในสมรภูมิหลายครั้ง แต่เขาก็ยังเป็นที่ชิงชังในราชสำนัก ขุนนางเก่าแก่ไม่พอใจที่อะลาอุดดินไว้ใจคนไร้หัวนอนปลายเท้าอย่างกาฟูร์ สถานะอดีตทาสและขันทีทำให้เขาโดนดูถูกจากเครือญาติขององค์สุลต่าน ปัญหาระหว่างขันทีคนสนิทและข้าราชบริพารดำเนินมาถึงจุดแตกหักเมื่ออะลาอุดดินประชวรหนักในปี ค.ศ. 1315 สุลต่านเรียกตัวกาฟูร์กลับมายังเดลีทันที ขันทีหนุ่มกลายมาเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุดของสุลต่านในวาระสุดท้าย เขาห้ามไม่ให้ใครเข้าเฝ้าพระองค์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากตน และเมื่ออะลาอุดดินไม่สามารถรับสั่งใดๆ อีกต่อไป มาลิก กาฟูร์ก็กลายมาเป็นผู้แทนพระองค์อย่างสมบูรณ์ เขาสั่งประหารขุนนางมากมายโดยอ้างนามสุลต่าน รวมถึงคุมขังโอรสองค์โตทั้งสามของอะลาอุดดินที่เขาคิดว่าเป็นเสี้ยนหนาม กาฟูร์แต่งตั้งชะฮาบุดดิน อุมาร์ (Shahabuddin Umar) โอรสองค์สุดท้องของสุลต่านเป็นรัชทายาทต่อไป อะลาอุดดินสิ้นพระชนม์ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1316 ส่งผลให้ชะฮาบุดดินได้ขึ้นเป็นสุลต่านด้วยวัยเพียงหกปี โดยมีมาลิก กาฟูร์ ชักเชิดอยู่เบื้องหลังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนสุลต่านวัยเยาว์
ทว่าความทะเยอทะยานของอดีตทาสขันทีก็ดำเนินมาถึงจุดจบเมื่อมุบารัก ชาห์ (Mubarak Shah) โอรสของอะลาอุดดินที่กาฟูร์สั่งคุมขังและทรมานซ้อนแผนขันทีด้วยการติดสินบนทหารของกาฟูร์ให้ลอบสังหารเจ้านายตัวเอง มาลิก กาฟูร์จึงถูกทหารองครักษ์ตัดศีรษะในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1316 หลังจากแต่งตั้งสุลต่านองค์ใหม่ได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น มุบารัก ชาห์สถาปนาตนเป็นกุตุบุดดิน มุบารัก คิลจี (Qutubuddin Mubarak Khilji) สุลต่านองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์คิลจีและปกครองเดลีสืบต่อมา
ภาพที่ 3: ความสัมพันธ์อันเป็นที่ครหาของสุลต่านอะลาอุดดินและกาฟูร์
แหล่งที่มา: Stars Unfolded. Alauddin Khilji: Life - History and Story. (2021). [Online]. Accessed 2021 October 21. Available from: https://starsunfolded.com/alauddin-khilji-life-story-history/
แม้ว่ามาลิก กาฟูร์จะเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูงเพียงใด แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธความสำเร็จทางการทหารและเกมการเมืองของเขาได้ กาฟูร์ถีบตัวเองจากสถานะทาสไร้นามจนกลายเป็นผู้กุมอำนาจราชบัลลังก์ในเวลาอันสั้น ทว่าเรื่องราวของเขากลับถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสายตาเปี่ยมอคติของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ไม่ใช่เพราะความทะเยอทะยานแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวของเขาและสุลต่านเป็นสิ่งที่สังคมไม่อาจยอมรับได้ แม้กระทั่งในปัจจุบัน บทบาทของกาฟูร์ในราชสำนักก็ยังเป็นที่ครหาในหมู่ชาวอินเดีย หลายคนเชื่อว่าเขาใช้เสน่ห์ของตนชักเชิดสุลต่านให้เต้นตามจังหวะที่ต้องการ ทว่าต่อให้เป็นเช่นนั้น ความสำเร็จในชีวิตเขาก็ยังคงเป็นเรื่องจริง อะลาอุดดินไม่อาจมีอำนาจล้นฟ้าหากปราศจากสติปัญญาของกาฟูร์ เรื่องราวของเขาจึงควรค่าแก่การบอกเล่าเพื่อให้คนรุ่นหลังจดจำบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์รัฐสุลต่านแห่งเดลีตราบนานเท่านาน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Eton, Richard M. and Wagoner, Phillip B.. Power, Memory and Architecture: Contested Sites on India's Deccan Plateau, 1300-1600. New Delhi: Oxford University Press, 2014.
Niazi, Ghulam Sarwar Khan. The Life and Works of Sultan Alauddin Khalji. Delhi: Atlantic Publishers
and Distributors, 1992.
Sen, Sailendra Nath. A Textbook of Medieval Indian History. New Delhi: Primus Book, 2013.
กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ