Museum Core
ทำไมคนไทยเรียกชนชาวยุโรปว่า ฝรั่ง?
Museum Core
22 พ.ย. 64 784

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

           สงสัยกันไหมครับว่า ทำไมพี่ไทยเราถึงเรียกพวกชนชาวยุโรปว่า “ฝรั่ง”?

          อ. ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ (ล่วงลับ) ผู้แปลพระคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทยท่านแรก ได้เคยอธิบายไว้เมื่อนานมากกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว (พ.ศ. 2506) ว่า คำว่า “ฝรั่ง” อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า “Farangi” (อ่านว่า ฟะ-รัง-งิ) ที่พวกเปอร์เซียใช้เรียกชาวยุโรป

          ต้องขอบคุณอาจารย์ดิเรกที่ช่วยให้เราเข้าใจรากของคำมากขึ้นจากคำอธิบายดังกล่าว แต่ผมจะติดใจอยู่สักนิดก็ตรงที่อาจารย์ท่านได้อธิบายต่อไปว่า 

 

“คงไม่ใช่มาจาก Frank เพราะคนฝรั่งเศสไม่ได้เป็นชาติแรกที่เข้ามาในเมืองไทย”

 

          ผมติดใจในคำอธิบายข้างต้นของ อ. ดิเรก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพวกแฟรงก์ ในทางประวัติศาสตร์นั้นหมายถึงได้ทั้งพวกเยอรมนิค (Germanic) และพวกกัลโล-โรมัน (Gallo-Roman) คืออนารยชนโกล (Gaul) ที่เข้าไปผสมกับโรมันโดยมีชาวฝรั่งเศสปัจจุบันเป็นทายาทกลุ่มสำคัญที่สุด

          ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ พวกฝรั่งเศสไม่ได้เป็นชาติแรกที่เข้ามาเมืองไทยอย่างที่อาจารย์ดิเรกหมายถึง ดูเหมือนว่าจะมีเพดานความเก่าแก่อยู่กับแนวคิดที่ว่า ชาวตะวันตกพวกแรกที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยานั้นคือ ชาวโปรตุเกส 

          แต่ชาวยุโรป (ไม่ว่าจะหมายถึงพวกไหนก็ตาม) ได้เดินทางมาถึงผืนแผ่นดินแห่งนี้ ก่อนที่รัฐอยุธยา หรือสุโขทัยจะกำเนิดขึ้นเนิ่นนานมาแล้วไม่ใช่หรือครับ?

 

ภาพที่ 1: อ. ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ (ชุดสูทสีดำ) ผู้อธิบายว่าคำว่า “ฝรั่ง” มาจากคำว่า “Farangi” ที่พวกเปอร์เชียใช้เรียกยุโรป

แหล่งที่มาภาพ: https://smiana.wordpress.com/

 

 

          เอกสารของพวกแขกตะวันออกกลาง ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1640-1834 ที่เกิดสงครามศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพวกฝรั่งที่นับถือคริสต์ศาสนากับชาวตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมพื้นที่ (รวมถึงชาวคริสต์พื้นถิ่น ในพื้นที่ตะวันออกกลางด้วย) ไม่ได้เรียกสงครามครั้งนี้ว่า "สงครามครูเสด" อย่างที่เราคุ้นหูกันอยู่เลย

          คำว่า “ครูเสด” (Crusades) หมายถึง “ไม้กางเขน” สัญลักษณ์สำคัญในคริสต์ศาสนาอยู่แล้ว คำเรียกว่าสงครามครูเสดจึงเป็นคำที่พวกฝรั่งใช้เรียกเพียงฝ่ายเดียว

          และต่อมาการประดิษฐ์ประวัติศาสตร์ของพวกฝรั่ง ก็ทำให้ทั่วทั้งโลกรู้จักสงครามครั้งนี้ในชื่อดังกล่าวไปเสียทั้งหมด

          แน่นอนว่าชาวมุสลิมในฐานะคู่สงคราม ก็กลายเป็น “ผู้ร้าย” ในประวัติศาสตร์ประดิษฐ์ที่ว่านี้ไปพร้อมๆ กันด้วย ภาพของชาวมุสลิมที่ดูรุนแรงโหดเหี้ยมจึงเป็นผลมาจากการวาง “พล็อต” ของประวัติศาสตร์โลกฉบับ (เข้าข้าง) ฝรั่งอย่างไม่ต้องสงสัย
เราจึงรับเอาความเข้าใจผิดๆ นี้เข้ามาตามระเบียบทุกประการฐานะข้าอาณานิคมทางความคิดที่ดี และเชื่องเชื่อเป็นที่สุด

 

          เอกสารของชาวตะวันออกกลาง เรียกสงครามครูเสดว่า “สงครามของชาวยุโรปตะวันตก” หรือ “การรุกรานของชาวยุโรปตะวันตก” (ซี่งก็สะท้อนอะไรให้เห็นกันโต้งๆ เลยว่าสำหรับชาวมุสลิมในภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว สงครามครั้งนั้นใครเป็น
ผู้รุกราน?)

          แต่ที่สำคัญก็คือในเอกสารเหล่านี้เรียก "ผู้รุกรานจากยุโรป" เหล่านี้ว่า "ฝรั่ง" ด้วยคำเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละสำเนียง และเอกสาร ไม่ว่าจะเป็น ฟะรอนญ์ (Faranj) ฟะรอนญัท (Faranjat) อิฟรอนญ์ (Ifranj) อิฟรอนญัท (Ifranjat) และฟรอนญ์ (Franj)

           โดยเฉพาะคำสุดท้ายคือ “ฟรอนญ์” นั้นเป็นคำที่พวกอาหรับใช้เรียกชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศส มาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

ภาพที่ 2: สงครามครูเสด ภาพประกอบในเอกสารโบราณที่ชื่อ “Histoire d’ Outremer”

ของวิลเลี่ยม แห่งไทร์ (William of Tyre) ที่เขียนขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1900

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Crusades

 

 

           ยุโรปในยุคกลาง (แต่เดิมยุคดังกล่าวถูกเรียกด้วยคำที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์ว่า ยุคมืด) พวกแฟรงค์ (Frankish) ทางเหนือ และตะวันออกของลุ่มแม่น้ำไรน์ตอนใต้ สถาปนาตัวเองกลายเป็นอาณาจักรเรียกว่า อาณาจักรแฟรงค์ (Frank) มาตั้งแต่ราว พ.ศ. 750 เป็นอย่างน้อย และยิ่งใหญ่แทนที่อาณาจักรโรมัน (ฟากตะวันตก) ตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ. 1000 อาณาจักรที่ว่านี้นับเป็นอาณาจักรของพวกเยอรมนิคยุคโบราณก่อนเกิดสงครามครูเสดหลายร้อยปี และอาณาจักรที่ว่านี้ก็ส่งทหารเข้าร่วมในสงครามศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาเสียด้วย

 

           ผลจากการที่โรมันเสื่อมอำนาจลงในยุโรปตะวันตก อาณาจักรโรมันฟากตะวันออกที่เรียกว่า “ไบแซนไทน์” สร้างขึ้นที่
กรุงคอนสแนติโนเปิล (ตามชื่อพระจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1) เมื่อราว พ.ศ. 870 จึงเป็นปราการด่านสุดท้ายของวัฒนธรรมกรีก-โรมันโบราณ

 

           ชาวไบแซนไทน์ถือตัวว่าเป็นชาวโรมัน แต่ดั้งเดิมนับถือศาสนาเพแกน (pagan, สำหรับชาวคริสต์แล้ว ศัพท์คำนี้หมายถึงคนนอกศาสนา แน่นอนว่านอกศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ในที่นี้คือศาสนาดั้งเดิมของพวกกรีก-โรมัน) เพิ่งนับถือศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักรเมื่อราวหลัง พ.ศ. 920  แต่เดิมคนพวกนี้ก็ใช้ภาษาละตินเป็นภาษาราชการอย่างเดียวกับในกรุงโรม แต่ต่อมาในสมัยของจักรพรรดิ์เฮราคลิอุส ราว พ.ศ. 1150-1200 ก็ได้เปลี่ยนมาใช้ภาษากรีกแทน

 

           อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุของพวกอาหรับในสมัยสงครามครูเสดยังบอกให้เรารู้ว่า คนส่วนหนึ่งยังคงนับถือศาสนาของพวกเพแกนอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ชาวอาหรับเรียกคนพวกนี้ว่า “รูม” (Rum) ก็คือ “โรมัน” นั่นแหละ

 

            แต่พวก “รูม” ในสายตาชาวอาหรับก็ไม่ได้หมายถึงพวกที่นับถือศาสนาของชาวกรีก-โรมันไปเสียทั้งหมด เพราะต่อมาคำว่า รูม ก็หมายถึงชนชาวมุสลิมในพื้นที่ประเทศตุรกีปัจจุบันด้วย

 

ภาพที่ 3: กรุงคอนสแตนติโนเปิล ศูนย์กลางของจักรวรรดิไบแซนไทน์ นับเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ และมั่งคั่งที่สุดในยุโรปยุคกลาง

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Byzantine_Empire#/media/File:Bizansist_touchup.jpg

 

 

         ในสมัยหนึ่งพวกโรมันเคยถือครองดินแดนส่วนใหญ่ของพื้นที่อนาโตเลีย ภายใต้ชื่อ จักรวรรดิไบแซนไทน์ แต่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1620-1850 รัฐสุลต่านรูม (Sultanate of Rum) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า รัฐสุลต่านเซลจุค (Sultanate of Seljuk) ได้รุกคืบเข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของอนาโตเลียแทนไบแซนไทน์ ที่ช่วงขณะนั้นยังคงมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (หรืออิสตันบูล อดีตเมืองหลวงของประเทศตุรกี) หรือพื้นที่ติดต่อกันทางฟากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ (ก่อนที่จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่แห่งนี้จะสูญสลายลงเมื่อปี พ.ศ. 1996)

 

         ดังนั้นอันที่จริงแล้ว ดินแดนที่พวกอาหรับเรียกว่า รูม ส่วนใหญ่จะหมายถึงรัฐสุลต่านเซลจุค (รูม) ที่ได้ครอบครองดินแดนที่พวกโรมันเคยถืออำนาจบาตรใหญ่อยู่ต่างหาก

         ถึงแม้ว่า “รัฐสุลต่านเซลจุค” ที่ชาวอาหรับเรียกว่า “รูม” สูญสลายไปก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1893 เสียอีก คนไทยเราเรียกคนพวกนี้ซึ่งหมายถึงคนจากดินแดนที่เป็นประเทศ “ตุรกี” ในปัจจุบันว่า “หรุ่ม” ผ่านทางพวกอาหรับ (หรือเปอร์เซีย?) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง 2 ทาง คือ เราเรียกคนเหล่านี้ว่าหรุ่มมาก่อนปี พ.ศ. 1893 หรืออาจยังเรียกชื่อเดิมที่ติดมาจากปากของใครสักคนที่มาจากดินแดนแถบนั้น (ถึงแม้ว่ารัฐแห่งนั้นได้ล่มสลายไปแล้วก็เถอะ)

 

         ในกรณีนี้ จะเห็นได้ว่าการจำแนกสังกัดของคนตามทัศนะของคนโบราณ มีเงื่อนไขตัดสินใจผูกโยงอยู่กับภาษา และศาสนา (ที่ไม่ได้หมายถึงหลักคำสอน แต่เป็นเครื่องมือในการกำกับและจัดการทางสังคมมากกว่า) เพราะอย่างน้อย "ฝรั่ง" กับรูม หรือ "หรุ่ม" นั้น ก็เป็นคนละพวกเดียวกัน

         ผมเข้าใจว่าที่คนไทยเรียกชาวยุโรปตะวันตกว่า “ฝรั่ง” ก็คงเพราะเราเรียกตามแขก โดยเรียกอย่างที่ อ. ดิเรกได้เสนอไว้ว่าพวกแขกเปอร์เซีย คือ อิหร่าน เรียกว่า ฟะรังงิ ก็คงจะเป็นคำเดียวกับคำว่า ฟรอนญ์ ในภาษาปากของแขกอาหรับ คือ อิรัก หมายถึงพวกแฟรงค์คือ ฝรั่งเศสโบราณ แล้วก็เรียกเหมารวมชาวยุโรปนับถือคริสต์ศาสนาไปซะหมด ไม่ต่างอะไรไปจากที่ อ.ดิเรกเคยอธิบายว่า ฝรั่งเรียกชาวมุสลิมในตุรกีสถานว่า “เติร์ก” จีนออกเสียงว่า “เขียก” จนมาถึงคนไทยเราเรียกว่า “แขก” แล้วก็เรียกเหมารวมชาวมุสลิมจากส่วนอื่นๆ ว่าแขกไปเสียหมด

 

         ยิ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ว่า ตำแหน่ง “พระยาจุลาราชมนตรี” คือผู้ดูแลกรมท่าขวา หมายถึงการค้าฟากทะเลอันดามัน มาก่อนในสมัยอยุธยา ค่อยปรับกลายเป็น “จุฬาราชมนตรี” ตำแหน่งฝ่ายมุสลิมให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามอย่างในปัจจุบัน เมื่อยุคหลังแล้ว ก็ยิ่งไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่เราจะได้ศัพท์คำว่า "ฝรั่ง" มาจากแขกเปอร์เชีย ซึ่งก็มีรากฐานมาจากคำว่า "Frank" หรือชนชาวฝรั่งเศสโบราณ ที่อ.ดิเรกปฏิเสธ เพียงแต่เป็นคำที่เรียกตามศัพท์ของพวกแขกมาอีกทีหนึ่งนั่นแหละครับ

 

ภาพที่ 4: แผนที่แสดงขอบข่ายของรัฐสุลต่านเซลจุค ของพวกรูมในยุคต่างๆ 

แหล่งที่มาภาพ: https://www.britannica.com/topic/Sultanate-of-Rum

 

 

ศิริพจน์  เหล่ามานะเจริญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ