Museum Core
อุปมานิทัศน์เรื่องรัฐบาลที่ดี
Museum Core
29 ก.ค. 64 517
ประเทศอิตาลี

ผู้เขียน : สฤณี อาชวานันทกุล

 

ภาพ: “Allegory of the Good Government” (อุปมานิทัศน์เรื่องรัฐบาลที่ดี) โดย Ambrogio Lorenzetti, ปี ค.ศ. 1338-1339, จิตรกรรมบนผนังปูนปลาสเตอร์เปียก (fresco)

สถานที่: “นวศาลา” (Salon of Nine) ในอาคารสภาสาธารณะ (Palazzo Pubblico), เมืองเซียนา อิตาลี

 

         ในบรรดาประเทศทั้งหมดที่ผู้เขียนชอบไปเยือน “อิตาลี” เป็นขวัญใจอันดับต้นๆ ไม่ต่างจากใครหลายคน ความที่อากาศดี อาหารอร่อย รุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แถมผู้คนก็มีลักษณะนิสัยสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้ ชอบเข้าสังคมคล้ายคนไทย

 

          ย้อนไปช่วงต้นศตวรรษที่ 14 คำว่า “อิตาลี” ยังไม่มีใครรู้จัก ดินแดนประเทศนี้แบ่งเป็น “นครรัฐ” (city states) ย่อยๆ มากมายนับร้อยแห่งทั่วเขตคามรูปรองเท้าบูท นครรัฐเซียนา (Siena) โด่งดังมาช้านานในฐานะคู่แข่งของนครรัฐฟลอเรนซ์ (Florence) ในแคว้นใกล้เคียง

 

          เซียนาเป็นนครรัฐแรกๆ ที่ใช้ระบบ “แมยิสแตร็ด” (magistrate ข้าราชการประเภทหนึ่งในสมัยโบราณ มีทั้งอำนาจบริหารและตุลาการ) ผู้มีอำนาจปกครองนครรัฐเก้าคน ทั้งเก้าคนนี้ต้องมาจากการเลือกตั้ง (ถึงแม้จะมีแต่ขุนนางและพ่อค้าตระกูลดังที่มีสิทธิเลือกตั้งก็ตามที) นครรัฐเซียนาไม่ต่างจากนครรัฐอื่นๆ  ถูกรุมเร้าด้วยสงครามและการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของตระกูลดังต่างๆ ไม่หยุดหย่อน ผู้ปกครองรัฐวันนี้มีอำนาจ วันหน้าอาจถูกโค่นลงเมื่อไรก็ไม่รู้ด้วยน้ำมือของตระกูลคู่อริ หรือคนทรยศที่แปรพักตร์จากตระกูลตัวเอง

 

          นครรัฐเซียนาดำรงอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ก็ทรงอิทธิพลและอู้ฟู่กว่านครรัฐอื่นๆ ในสมัยเดียวกันอีกมากมาย ความที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายและการธนาคารนานาชาติ

 

          ในยุคแห่งความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจแต่ปั่นป่วนทางการเมืองนี้เอง แมยิสแตร็ตเซียนาว่าจ้าง อัมโบรโจ โลเรนเซตตี (Ambroglio Lorenzetti) ให้รังสรรค์จิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่โดยใช้ปูนปลาสเตอร์เปียก หรือ fresco ในห้องประชุมคณะแมยิสแตร็ต อยากให้ศิลปินวาดภาพที่จะย้ำเตือนผู้ปกครองรัฐทั้งเก้าคนตลอดเวลาที่นั่งหารือกันในห้องนี้ว่า เดิมพันของพวกเขาและประชาชนชาวเซียนาคืออะไร

 

           โลเรนเซตตีใช้เวลาทำงานนาน 15 เดือน ผลงานที่แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1339 ชื่อ “อุปมานิทัศน์และผลลัพธ์ของรัฐบาลที่ดี และรัฐบาลที่เลว” (The Allegory and Effects of Good and Bad Government) เป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งในศตวรรษนั้น และเป็นงานศิลปะชิ้นแรกๆ ที่ธีมงานเป็นเรื่องของพลเมืองล้วนๆ ไม่ใช่ประเด็นทางศาสนาหรือตำนานพื้นบ้านใดๆ

 

           ผลงานของโลเรนเซตตีประกอบด้วยจิตรกรรมฝาผนังขนาดยักษ์เต็มผนังสามด้านในห้องประชุม ผนังด้านเดียวที่ไม่มีภาพวาดก็เป็นเพราะเป็นด้านเดียวที่มีกระจกส่องออกไปด้านนอก ผนังทางทิศตะวันออกฉายภาพ “ผลลัพธ์ของรัฐบาลที่ดี” ผนังทิศตะวันตกฉายภาพ “ผลลัพธ์ของรัฐบาลที่เลว” ส่วนผนังทางทิศเหนือ เหนือภาพทั้งสองใบ โลเรนเซตตีวาด “คุณธรรมของรัฐบาลที่ดี”

 

 

ภาพที่ 2 ซีรีส์อุปมานิทัศน์ของโลเรนเซตตีในห้องประชุมที่ถูกรักษาไว้สืบมา

 

          “รัฐบาลที่ดี” ในความคิดของคนเซียนาสมัยศตวรรษที่ 14 เป็นอย่างไร? ในภาพ “คุณธรรมของรัฐบาลที่ดี” ศิลปินวาดภาพพลเมืองที่รับตำแหน่งต่างๆ ในการบริหารรัฐ ยืนออกันใกล้ตาชั่งแห่งความยุติธรรม บนเวทีหลังพวกเขามีบุคลาธิษฐานของคุณธรรมต่างๆ นั่งเรียงกัน บุคลาธิษฐานของประชาคมเซียนาคือชายชราหน้าเคร่งขรึม ผมขาวไว้หนวดนั่งบัลลังก์ ถือไม้คทาและลูกโลกจิ๋ว (orb) อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางโลก แต่งตัวอาภรณ์สีเดียวกันกับตราประจำนครรัฐเซียนา รอบศีรษะของเขาปรากฏตัวอักษรสี่ตัว C S C V ย่อมาจาก “Commune Saenorum Civitatis Virginis” แปลว่าประชาคมพลเมืองเซียนา

 

           ประชาคมเซียนาตัดสินใจภายใต้การแนะนำของเทพสามองค์เหนือศีรษะ นั่นคือ ศรัทธา ความหวัง และความกรุณา ส่วนคุณธรรมของ “รัฐบาลที่ดี” สะท้อนผ่านบุคลาธิษฐานในร่างผู้หญิงสวมมงกุฎหกคนที่นั่งขนาบข้างประชาคมเซียนา ข้างละสามคน คุณธรรมทั้งหกได้แก่ สันติภาพ ความทรหด ความสุขุมรอบคอบ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การควบคุมอารมณ์ตัวเอง และความยุติธรรม – ความยุติธรรมถูกขยายความซ้ำอีกทางด้านซ้ายมือ เมื่อเธอพยายามรักษาสมดุลของตาชั่งที่ถือโดยปัญญา (wisdom)

 

            ชาวเซียนาคาดหวังผลลัพธ์อะไรจาก “รัฐบาลที่ดี” ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมทั้งหก? คำตอบแสดงบนจิตรกรรมฝาผนังเช่นกัน ศิลปินฉายภาพเมืองเซียนายามสงบ รวมถึงบริเวณชนบทใกล้เคียง (นี่คือภาพมุมกว้างของเซียนาที่เที่ยงตรง เต็มไปด้วยรายละเอียด ภาพแรกในประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมาถึงเรา นานหลายร้อยปีก่อนกำเนิดของกล้องถ่ายรูป) โลเรนเซตตีไม่ได้วาดเมืองยุคกลางดาดๆ เมืองไหนก็ได้ แต่วาดให้เห็นชัดว่านี่คือเซียนา เต็มไปด้วยวัง ตลาด หอคอย โบสถ์ ถนนหนทาง และกำแพงเมือง บรรยากาศในเมืองคึกคักเมื่อมีสันติภาพ การค้าขายรุ่งเรือง ผู้คนสัญจรไปมา ช่างอาชีพต่างๆ ขยันขันแข็ง เรามองเห็นงานแห่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวที่เต็มเปี่ยมด้วยความสุข สาวๆ ในภาพเต้นรำอย่างเบิกบาน เป็นสัญลักษณ์ของเทพีแห่งศิลปะหรือไม่ก็สันติสุข ภาพ “ผลลัพธ์ของรัฐบาลที่ดี” บอกเราว่า ถ้ารัฐบาลมีคุณธรรมและปกครองอย่างเปี่ยมความยุติธรรม เมืองนั้นก็จะรุ่งเรืองเฟื่องฟู ผู้คนมีความสุข

 

          แล้ว “รัฐบาลที่เลว” เป็นอย่างไรล่ะ? ภาพนี้ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงมากนัก เพราะสภาพของมันในปัจจุบันเสื่อมลงมากกว่าภาพ “รัฐบาลที่ดี” (ความที่วาดบนผนังด้านนอกที่เจอกับสภาพดินฟ้าอากาศมากกว่า) จนรายละเอียดหลายส่วนหายไป แต่เราก็ยังมองเห็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะคนประหลาดหน้าขาววอก ตาขวาง มีเขาและเขี้ยวงอก นี่คือบุคลาธิษฐานของ เผด็จการ (tyranny) เขานั่งอยู่บนบัลลังก์ มือกำมีดสั้น เท้าวางบนแพะสีดำ แพะตัวนี้คือสัญลักษณ์ของความหรูหราฟุ้งเฟ้อ

 

           ด้านล่างของเผด็จการเราเห็นบุคลาธิษฐานของความยุติธรรม แต่เธอถูกจับมัดไว้ เผด็จการถูกรายล้อมด้วยบุคลาธิษฐานของความชั่วร้ายทั้งหก แทนที่จะเป็นคุณธรรมทั้งหก นั่นคือ ความโหดร้ายทารุณ ความสับปลับ ความหลอกลวง ความเดือดดาล ความแตกแยก และสงคราม บนหัวของเผด็จการไม่มี ศรัทธา ความหวัง และความกรุณา คอยให้คำแนะนำอีกแล้ว แต่เป็น ความโลภ ทิฐิ และความหยิ่งทะนงแทน ชาวเซียนายุคนั้นมองว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ศัตรูของชีวิตมนุษย์” ที่ร้ายแรงเป็นอันดับต้นๆ (ถ้าสังเกตดีๆ ในภาพมีเผด็จการชื่อดังจากประวัติศาสตร์หลายคนด้วย อย่างเช่นจักรพรรดินีโรจากยุคโรมันโบราณ ราวกับว่าโลเรนเซตตีกลัวคนดูจะไม่ถึงบางอ้อว่าเผด็จการเลวร้ายเพียงใด!)

 

           แล้ว “ผลลัพธ์” จาก “รัฐบาลที่เลว” ล่ะเป็นอย่างไร รอบนี้เมืองเซียนาล่มสลาย บ้านเรือนกำลังถูกทุบทำลาย มองไม่เห็นธุรกิจอะไรอีกต่อไปแล้วยกเว้นช่างตีเหล็ก (เพราะในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวายเต็มไปด้วยการจลาจล ผู้คนอดอยากจนออกปล้นชิง อย่างน้อยคนก็ยังต้องการอาวุธและโล่มาป้องกันตัว) ถนนในเมืองว่างเปล่า ส่วนในชนบทนั้นเล่า กองกำลังสองกองทัพก็กำลังจะเข้าห้ำหั่นกัน

 

           ซีรีส์อุปมานิทัศน์ของโลเรนเซตตีในห้องประชุมที่ถูกรักษาไว้สืบมา จึงมีความเป็นอมตะและสากล ไม่ต้องเป็นคนเซียนาหรือชาวอิตาลีก็สัมผัสได้

 

           เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่ร้อยปี ภาพวาดในห้องนี้ของโลเรนเซตตีก็เตือนใจเราได้เสมอ ถึงสิ่งที่เราควรคาดหวัง “ถ้าการเมืองดี” และ “ถ้าการเมืองไม่ดี”

 

สฤณี  อาชวานันทกุล

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ