กาญจีปุรัม (Kanchipuram) เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย กาญจีเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐ อยู่ห่างจากเจนไน เมืองหลวงทมิฬนาฑูราว 70 กิโลเมตร การเดินทางที่สะดวกสบายจากเมืองใหญ่ทำให้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาที่กาญจีในช่วงวันหยุด นอกจากนักท่องเที่ยวในประเทศแล้ว กาญจียังเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะกาญจีคือแหล่งท่องเที่ยวที่ครบครันในทุกด้าน หากคุณชื่นชอบประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม คุณจะได้สำรวจโบราณสถานมากมายเนื่องจากที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงราชวงศ์ปัลลวะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 หากคุณหลงใหลเสื้อผ้าและสิ่งทอ ที่นี่เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และหากคุณกำลังแสวงหาความสงบสุขในชีวิต กาญจีมีชื่อเสียงในฐานะเมืองแสวงบุญมาแต่โบราณและเป็นที่เป็นที่ตั้งของเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูกว่าร้อยแห่ง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มาเที่ยวกาญจีจึงได้รับทั้งความสนุกสนาน อิ่มเอมใจ หรือแม้แต่พรศักดิ์สิทธิ์จากเทวาลัยเป็นของฝากกลับบ้านกันถ้วนหน้า
หากใครมาเที่ยวกาญจีแล้ว คงจะไม่พลาดเยี่ยมชมสักการะเทวาลัยไกรลาสนาถ (Kailasanathar temple) เทวาลัยสมัยปัลลวะที่สร้างขึ้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 และเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง ทว่าหลายคนอาจไม่ทราบว่า ไม่ไกลจากเทวาลัย มีพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กตั้งอยู่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อว่ากาญจีกุฎิล (Kanchi Kudil) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดัดแปลงจากบ้านเก่าอายุกว่าร้อยปี และเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดในอินเดียจนต้องกลับไปซ้ำๆ ด้วยความหลงใหลในมนตร์เสน่ห์ข้ามกาลเวลาของสถานที่แห่งนี้
กาญจีกุฎิลอยู่ห่างจากเทวาลัยไกรลาสนาถราว 700 เมตร หากเดินตรงจากทางออกเทวาลัยจะตั้งอยู่ริมถนนฝั่งขวามือ กาญจีกุฎิลเป็นชื่อภาษาทมิฬ มีความหมายว่า กระท่อมหรือบ้านหลังเล็กของชาวกาญจี ตัวอาคารเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีระเบียงยกสูงไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ลักษณะที่ว่าเป็นเอกลักษณ์ของบ้านชาวทมิฬในอดีต ก่อนถึงทางเข้าประตูหน้า หากก้มมองที่พื้นจะพบโกลัม (Kolam) ลวดลายมงคลที่เขียนจากแป้งข้าว ลวดลายเหล่านี้จะเปลี่ยนไปในแต่ละวัน โกลัมถูกวาดบนพื้นบ้านหรือทางเข้าประตูแต่ละบานโดยมีความเชื่อว่า คนในบ้านและแขกผู้มาเยือนที่ก้าวผ่านสัญลักษณ์มงคลจะได้รับความเป็นสิริมงคลกลับไปเช่นกัน ปัจจุบันการวาดโกลัมยังคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสตรีอินเดียใต้ในทุกเช้า สำหรับที่กาญจีกุฎี ลวดลายที่ปรากฏจะมีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ที่ประยุกต์ขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
ภาพที่ 1: โกลัมที่ทางเข้ากาญจีกุฎิลและข้อความต้อนรับนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน
เมื่อก้าวเข้ามาในตัวบ้าน บางคนอาจต้องระวังศีรษะเนื่องจากเพดานบางจุดค่อนข้างต่ำ ด้านในจะมีกลุ่มคุณป้าชาวทมิฬคอยต้อนรับ คุณป้าผู้ดูแลเหล่านี้จะให้นักท่องเที่ยวเขียนชื่อและวันเวลาที่มาเข้าชมเพื่อเป็นหลักฐานเนื่องจากกาญจีกุฎิลเปิดให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ดูแลจะถามว่าต้องการให้นำชมเป็นภาษาอะไร สามารถเลือกได้ทั้งภาษาอังกฤษ ฮินดี และทมิฬ บริการดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน นักท่องเที่ยวจึงสามารถเลือกคุณป้าและภาษาที่ถูกใจ และเตรียมตัวเดินทางท่องอดีตเมืองกาญจีผ่านเรื่องเล่าจากสิ่งของจัดแสดงแต่ละชิ้น
บ้านหลังนี้แบ่งออกเป็นสัดส่วนได้แก่ ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ห้องเลี้ยงเด็ก ห้องน้ำ และลานกลางบ้าน เครื่องเรือนและสิ่งของจิปาถะทุกชิ้นเป็นของโบราณที่เจ้าของอนุญาตให้นำมาจัดแสดง ในห้องรับแขกตกแต่งด้วยภาพถ่ายขาวดำและเครื่องเรือนหาดูยากอย่างที่นั่งชิงช้าที่นิยมในหมู่เศรษฐีอินเดียใต้ ข้าวของชิ้นอื่นในห้องได้แก่ ตะเกียงโบราณ พัดลมโลหะ และเทวรูปสำริดที่ตั้งตามทิศมงคลต่างๆ
ภาพที่ 2: บรรยากาศภายในห้องรับแขก
ในส่วนห้องเด็กและห้องนอนได้จัดแสดงเครื่องเรือนไม้ ไม่ว่าจะเป็นเตียงนอน เปลเด็ก คันฉ่อง หรือแม้แต่หีบใหญ่ที่ใช้ใส่ของเวลาเดินทางไกล ในห้องนอนจัดแสดงเสื้อผ้าหาดูยากอย่างส่าหรีทอจากผ้าไหมแทรกดิ้นทองที่ขึ้นชื่อของกาญจีปุรัม เสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกสวมใส่ให้หุ่นที่ตั้งตามจุดต่างๆ ในบ้านเพื่อให้แขกที่มาเยี่ยมชมจินตนาการถึงผู้คนที่เคยใช้ชีวิต ณ ที่แห่งนี้ในอดีต สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบในห้องเด็กคือของเล่นนานาชนิดที่จัดแสดงในนั้น ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาคน ตุ๊กตาสัตว์ ม้าไม้ ฯลฯ ของใช้ทุกชิ้นถูกจัดวางด้วยความใส่ใจ ราวกับสมาชิกในบ้านยังคงอาศัยอยู่ไม่ไปไหน เสื้อผ้าและของเล่นในห้องดังกล่าวทำให้ผู้มาเยือนสัมผัสถึงความรักความอบอุ่นในครอบครัวชาวทมิฬที่มีสมาชิกทุกช่วงวัยได้เป็นอย่างดี
ภาพที่ 3: เปลไม้และของเล่นโบราณในห้องเด็ก
ห้องครัวได้จัดแสดงภาชนะไม้และโลหะที่ใช้ในการหุงหาอาหาร รวมถึงเตาไฟแบบโบราณที่ขุดลงไปบนพื้น การทำอาหารแบบดั้งเดิมของชาวอินเดียจะนั่งทำบนพื้นบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นจึงถูกจัดเรียงในระดับสายตาของผู้ประกอบอาหาร ทำให้ที่นี่คงความสมจริงเช่นเดียวกับห้องอื่นๆ ในบ้าน
อีกจุดหนึ่งในบ้านที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นอย่างมากคือลานกว้างกลางบ้าน หากใครเคยดูภาพยนตร์อินเดีย โดยเฉพาะภาพยนตร์ภาษาทมิฬ เตลูกู และมัลยาลัม จะสังเกตเห็นลานกว้างหน้าบ้านมีไว้ใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการละเล่น พิธีบูชา หรือแม้แต่พิธีวิวาห์ แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดที่นี่คือต้นกะเพรา (Holy Basil) หรือตุลสี (Tulsi) ที่ปลูกไว้กลางบ้าน การปลูกตุลสีของชาวอินเดียไม่ได้มีไว้เพื่อผัดกับเนื้อสัตว์เป็นอาหารจานโปรดเหมือนไทยเรา ใบตุลสีมีสรรพคุณทางยา ผู้คนจึงนำมาสกัดน้ำมันเพื่อปรุงยารักษาโรคต่างๆ และเหนือสิ่งอื่นใด ชาวอินเดียปลูกตุลสีไว้ในบ้านเพื่อบูชาพระวิษณุ หนึ่งในเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากชาวฮินดูเชื่อว่า ต้นไม้ดังกล่าวเคยเป็นสตรีนามว่าตุลสีมาก่อน ตุลสีเป็นอวตารหนึ่งของเทพีลักษมี ชายาของพระวิษณุ ดังนั้นการปลูกตุลสีไว้ในบ้านจึงเป็นทั้งการบูชาพระวิษณุและพระลักษมี เทพีแห่งเงินทองและโชคลาภในเวลาเดียวกัน ในอดีตชาวอินเดียใต้นิยมปลูกตุลสีในกระถางกลางบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ทว่าปัจจุบันด้วยขนาดของบ้านและที่ดินที่แคบลง ทำให้ผู้คนหันไปปลูกตุลสีหน้าบ้านซึ่งเสี่ยงต่อการถูกสัตว์รบกวนทำลาย ต้นตุลสีในกระถางที่ตั้งกลางลานบ้านที่กาญจีกุฎิลจึงเป็นตัวแทนขนบที่ปฏิบัติมาแต่โบราณของชาวอินเดียทั้งมวล
นอกจากเครื่องเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ ในห้องต่างๆ ของบ้านยังเต็มไปด้วยหนังสือเก่าหายาก ทั้งภาษาทมิฬ ฮินดี และอังกฤษ หากผู้เยี่ยมชมสนใจหยิบอ่านก็สามารถทำได้ หรือหากต้องการทราบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับประวัติของบ้าน เครื่องเรือน หรือแม้แต่รูปถ่ายก็สามารถถามคุณป้าผู้ดูแลได้ตลอดการนำชม สตรีสูงวัยเหล่านี้เป็นชาวกาญจีแต่กำเนิด ทุกคนจึงมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมของชาวทมิฬเป็นอย่างดี ผู้เขียนต้องยอมรับว่าหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้แวะเวียนมาที่กาญจีกุฎิลทุกครั้งที่มีโอกาสเยือนทมิฬนาฑูเป็นเพราะผู้นำชมที่นี่เช่นกัน คุณป้าทุกคนต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่นเป็นกันเองราวกับคนในครอบครัว ไม่มีการเรียกทิปหรือค่าบริการพิเศษใดๆ ทำให้สัมผัสได้ว่ากาญจีกุฎิลเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดขึ้นมาเพื่อรักษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเอาไว้ไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา และเป็นสาเหตุที่เจ้าของบ้านและผู้นำชมทุกคนบริการนักท่องเที่ยวด้วยใจเสมอมา
หลังสิ้นสุดวิกฤตโรคระบาลในครั้งนี้ หากใครสนใจเยี่ยมชมกาญจีกุฎิลก็สามารถเดินทางจากเจนไนด้วยรถไฟหรือรถประจำทางมาที่กาญจีปุรัม เมื่อมาถึงแล้วให้ใช้เทวาลัยไกรลาสนาถเป็นจุดตั้งต้น กาญจีไม่มีบริการแท็กซี่หรือแอพลิเคชันเรียกรถ ทำให้วิธีที่ดีที่สุดในการเยี่ยมชมโบราณสถานและเทวาลัยคือการเดินเท้า ในส่วนของพิพิธภัณฑ์กาญจีกุฎิล นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียใต้ที่จะได้รับกลับไปแล้ว หากใครสนใจรับประทานอาหารท้องถิ่นต้นตำหรับกาญจีก็สามารถติดต่อกลุ่มผู้ดูแลล่วงหน้าให้จัดเตรียมสำรับอาหารและของว่างไว้ให้ในวันเวลาที่ต้องการ เงินที่ได้จะนำไปเป็นค่าดูแลรักษาบ้านโบราณหลังนี้ให้คงอยู่คู่เมืองกาญจีในฐานะสถานที่เก็บรักษาความทรงจำของชาวทมิฬตราบนานเท่านาน
กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ