การมาเยือน ณ สถานที่ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมเดิมในประเทศใดประเทศหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ก็เป็นสถานที่ทางเลือกที่ดีในการเรียนรู้ในวัฒนธรรมนั้นในระยะเวลาอันสั้น รวมไปถึงการพักผ่อนในช่วงเวลาที่สภาพอากาศภายนอกไม่เป็นใจ เช่น ฝนตก แดดร้อนจัด ลมหนาวพัดเย็น เป็นต้น ดังเช่นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสกอตแลนด์ (National Museum of Scotland) ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศ คือเมืองเอดินเบอระ (Edinburgh) เดินชิลล์ๆ ลมเย็นๆ ขึ้นเนินเขามาเล็กน้อยจากสถานีรถไฟเอดินเบอระ (Edinburgh Station) ไม่เกิน 10 นาที และตั้งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (University of Edinburgh) เพียงแค่ 4 นาที ในใจยังนึกอิจฉานักศึกษาที่นี่ไม่ได้ที่มีโอกาสได้มาเดินหาความรู้ในพิพิธภัณฑ์นี้ที่อยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อม
ภายนอกพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารตึกหินทรายทรงสูง ตามสไตล์อาคารกลุ่มประเทศตะวันตก ค่าเข้าชมฟรี เมื่อเดินเข้าไปข้างในต้องทึ่งในความสวยงามของอาคารที่เห็นอยู่ตรงหน้า ห้องโถงของอาคารแรกเป็นอาคารโครงสร้างเหล็กสีขาวและหลังคาเรือนกระจก อนุญาตให้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับอาคารและผู้ชม แม้อุณหภูมิในฤดูร้อนของประเทศสกอตแลนด์ก็มีไม่มากไปกว่า 20 องศาเซลเซียส ห้องโถงตรงกลางมีการนำซุ้มน้ำพุสีเขียวเด่นสำหรับจัดวางภายในสวน และไฟประภาคารอันมหึมามาวางให้เห็นใกล้ๆ เมื่อยืนอยู่จุดนี้ก็อดไม่ได้ที่จะต้องถ่ายรูปสักหลายๆ รูปกับอาคาร และอุปกรณ์จัดแสดงสวยๆ
ถ่ายรูปเสร็จก็ต้องทำเวลาเดินชมการแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เพราะเค้าอนุญาตให้เดินชมตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. เท่านั้น (ก่อนการระบาดของโควิด-19) ซึ่งมีการแสดงอยู่หลายห้องทีเดียว เช่น ห้องแสดงวิวัฒนาการของสัตว์ต่างๆ ห้องแสดงรถยนต์ รถจักรยาน ยานพาหนะ เครื่องจักรต่างๆ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องจักสานจากวัสดุธรรมชาติ การจัดแสดงทั้งหมดมีป้ายสื่อความหมายเป็นภาษาอังกฤษให้ผู้ชมได้อ่านอย่างชัดเจน
ภายในอาคารมีความสูง 3 ชั้น บางห้องมีการจัดแสดงแขวนสิ่งของต่างๆ จากหลังคา เช่น โครงกระดูก สัตว์สตัฟฟ์ และเครื่องบิน มีทางเดินเชื่อมต่ออาคารเป็นชั้นๆ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเดินชมสิ่งของที่จัดแสดงในมุมมองจากด้านล่าง ตรงกลาง และด้านบนได้อย่างชัดเจน เหมาะสำหรับผู้ชมที่สนใจทั่วไปและครอบครัวที่มีลูกเล็กอยู่ในวัยแห่งการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้ทดลองทำกิจกรรมไปกับมุมจัดแสดงต่างๆ
เดินไปเดินมาก็มาสะดุดกับการจัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับ นกพัฟฟิน (Puffin) และอาหารที่นกพัฟฟินกิน ซึ่งนกพัฟฟินเป็นนกประจำถิ่นที่อพยพไปมาระหว่างเกาะบางเกาะที่ห่างไกลผู้คนในประเทศสกอตแลนด์ และกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เช่น ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์
จริงๆ แล้วการเห็นนกพัฟฟินได้ด้วยตาเปล่าก็ยากมากๆ เนื่องจากนกพัฟฟินตัวจริงมีขนาดเล็กเท่าอุ้งมือ เป็นนกที่มีลักษณะเด่นที่ปากและมีเท้าสีส้มจัด อาศัยอยู่ในโพรงดินเล็กๆ บริเวณหน้าผาริมชายฝั่งทะเลหรือเกาะ รูปถ่ายสวยๆ ที่เห็นมักเป็นรูปที่ต้องใช้กล้องเลนส์ซูมพิเศษถึงจะได้รูปนกพัฟฟินระยะใกล้ และรูปที่เห็นโดยทั่วไปมักเป็นรูปที่นกพัฟฟินคาบปลา อาหารของมันไว้เต็มปาก อะไรจะอร่อยขนาดนั้น ในพิพิธภัณฑ์นี้ได้แสดงให้เห็นว่าปลาที่นกพัฟฟินกินก็คือปลาชนิดเดียวกับที่นกเทิร์น (Tern) กิน นั่นก็คือปลาไหลทราย (Sand-eel)
จุดแสดงอีกจุดหนึ่งที่น่าทึ่ง เป็นมุมเล็กๆ ในห้องสี่เหลี่ยม ไม่เด่นและไม่ใหญ่มากที่กล่าวถึงประวัติการล่าปลาวาฬ เพื่อเอาไขมันปลาวาฬมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในอดีต เช่น การใช้เป็นเครื่องหล่อลื่นเครื่องจักรอุตสาหกรรมการทอผ้า ณ จุดนี้อธิบายถึงความต้องการใช้ไขมันปลาวาฬอย่างมากจนกลุ่มนักล่าปลาวาฬล่องเรือไปไกลถึงบริเวณขั้วโลกใต้ และทำให้ปลาวาฬถูกล่าเกือบสูญพันธุ์ มาถึงจุดนี้ต้องร้องโอ้ว!!! เข้าใจเหตุผลว่าทำไมนักอนุรักษ์ถึงมีการโจมตีกลุ่มนักล่าปลาวาฬกันมากนัก
นอกจากนี้ ยังมีห้องแสดงการแผ่อิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นๆ มาสู่ประเทศสกอตแลนด์ เช่น ถ้วยชามลวดลายนกจากประเทศจีน สีฟ้า-ขาว ในช่วงศตวรรษที่ 14 (ค.ศ. 1301-ค.ศ. 1400) รวมไปถึงถ้วยชามลวดลายมังกรที่วาดด้วยสีอื่นๆ นอกเหนือจากสีฟ้า-ขาว ซึ่งเป็นสีที่เกิดตามมาภายหลัง แสดงถึงวิวัฒนาการการผลิตและใช้สีที่มีเพิ่มมากขึ้น
เดินไปเดินมาจนเหนื่อยแต่การจัดแสดงยังไม่หมด แต่อาจหมดแรงไปซะก่อน เพราะอากาศหน้าร้อนที่เย็นสบายชวนให้ง่วงนอน ที่นี่ก็มีบริการเก้าอี้พับไว้ให้นั่งพักเป็นจุดๆ ด้วยนะ เดินมาจนถึงโซนสุดท้ายที่จัดแสดงเกี่ยวกับประเทศสกอตแลนด์โดยเฉพาะ เช่น การจัดแสดงอาคารบ้านเรือนต่างๆ วัฒนธรรมสกอตแลนด์ รวมไปถึงชุดประจำชาติที่เรียกว่า คิลต์ (Kilt) ท่อนล่างเป็นกระโปรงลายตารางความยาวประมาณเข่าที่อดอมยิ้มไม่ได้หากเห็นผู้ชายใส่ เมื่อเดินมาครบก็คิดว่าถ้าจะให้แนะนำ ก็คงต้องบอกว่าควรมาเดินตั้งแต่พิพิธภัณฑ์เปิด จนพิพิธภัณฑ์ปิด ถึงจะจุใจ หรือถ้ายังไม่จุใจคงต้องมาเยือนใหม่อีกหลายๆ วันจึงจะเรียนรู้หมดโดยละเอียด