ภาพ: เสาหินรูปเมดูซา ตะแคงต้นหนึ่ง คว่ำหัวลงอีกต้นหนึ่ง
สถานที่: Basilica Cistern, Istanbul, Turkey
ในบรรดาเมืองทั้งหลายในโลกที่โชคดีได้ไปเยือน เมืองที่ฉันโปรดปรานเข้าขั้นหลงใหล ให้ไปใหม่ก็ไปได้กี่รอบไม่รู้เบื่อน้อยจนนับนิ้วได้ อันดับต้นๆ ในดวงใจหนีไม่พ้น “อิสตันบุล” เมืองโบราณในตุรกี อดีตเมืองหลวงอาณาจักรอ็อตโตมันอันโด่งดังนาม “คอนสแตนติโนเปิล”
จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช จักรพรรดิโรมันองค์แรกที่ประกาศเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ เปลี่ยนชื่อเมืองจาก
“ไบแซนติอุม” เป็นชื่อของตัวเอง เมื่อครั้งมันยังเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์ หรือที่หลายคนเรียกว่า “อาณาจักรโรมันตะวันออก” ที่พุ่งสู่ความรุ่งโรจน์หลังจากที่อาณาจักรโรมันตะวันตกเริ่มเสื่อมถอยในศตวรรษที่สาม
ความที่ตั้งอยู่บนปากอ่าว เอื้อต่อการเป็นทั้งเมืองท่าสำหรับการค้าขาย และจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการลำเลียงพลเพื่อยกทัพโจมตี ทำให้อิสตันบุลไม่เคยห่างหายจากหน้าประวัติศาสตร์โลก
ความที่ตั้งอยู่กึ่งกลางแทบจะพอดีเป๊ะระหว่าง “โลกตะวันตก” (ทวีปยุโรป) กับ “โลกตะวันออก” (ทวีปเอเชีย) แถมยังผ่านประวัติศาสตร์อันโชกโชนในฐานะฐานที่มั่นของอาณาจักรโรมันตะวันออกซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ และต่อมาอีกหลายศตวรรษ ก็ตกเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอ็อตโตมันซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ก็ทำให้อิสตันบุลโดดเด่นด้วยวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับอิทธิพลจากโลกทั้งสองใบ ไม่นับโบราณสถาน โบราณวัตถุ อีกมากมายหลายยุค โดยเฉพาะวัดวาอารามหลากหลายศาสนาที่ทำให้หัวใจเต้นแรงทุกครั้งที่ได้ไปเยือน
โบราณสถานโปรดของฉันแห่งหนึ่งในอิสตันบุลมองไม่เห็นจากผิวดิน ต้องเดินลงบันไดกว่า 50 ขั้น ลงไปใต้ดิน ทางเข้าบนผิวดินคับแคบ ไม่บ่งบอกอะไรเลยถึงความอลังการอัศจรรย์ที่รออยู่
“อ่างเก็บน้ำมหาวิหาร” (Basilica Cistern) คืออ่างเก็บน้ำใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดของอิสตันบุลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มันได้ชื่อนี้เพราะครั้งหนึ่งเคยมีมหาวิหาร (basilica) ในศาสนาคริสต์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม
อ่างเก็บน้ำใต้ดินแห่งนี้เป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำหลายร้อยแห่ง ที่ส่งน้ำให้ชาวเมืองคอนสแตนติโนเปิลใช้ โดยเฉพาะในเวลาฤดูร้อน อ่างนี้ส่งน้ำให้กับวังของจักรพรรดิโรมันตะวันออกด้วย ต่อมาอีกหลายร้อยปี อ่างนี้ก็เปลี่ยนไปส่งน้ำให้กับวังโทปกาปิอันเลื่องชื่อของอาณาจักรออตโตมัน
เชื่อกันว่าครั้งหนึ่งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เคยมีโถงกว้างและเสาหินอ่อนรายล้อม แต่ปัจจุบันไม่เหลือเค้าเดิมแล้วหลังจากที่เกิดไฟไหม้ในการจลาจลครั้งใหญ่ของเมือง สภาพปัจจุบันคือสิ่งที่หลงเหลือมาจากการซ่อมแซมโดยจักรพรรดิจัสติเนียน ราวปี ค.ศ. 532
กว่าหนึ่งพันห้าร้อยปีผ่านไป อ่างเก็บน้ำมหาวิหารยังคงตั้งตระหง่าน เรียกว่าสร้างครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชั่วกัลปาวสาน สมกับที่เป็นฝีมือของวิศวกรรมโรมัน
ส่วนหนึ่งด้วยความที่มันอยู่ใต้ดิน เป็นเพียงสถานที่ใช้สอยธรรมดาๆ ไม่มีราคาค่างวดอะไรในสายตาของผู้คน อ่างเก็บน้ำมหาวิหารจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน มาถูก “ค้นพบใหม่” อีกครั้งในศตวรรษที่ 15 เมื่อเปตรุส กิลเลียส
นักเดินทางชาวดัทช์ สังเกตว่าชาวเมืองหลายคนได้น้ำจากการหย่อนถังลงไปใต้ดินจากชั้นใต้ดินของบ้าน บางคนหย่อนถังลงไปแล้วได้ปลาติดขึ้นมาด้วย!
ความช่างสังเกตทำให้เขาค้นพบทางเข้าและเดินลงไปพบกับความอัศจรรย์ของวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมโรมัน จนต่อมามันถูกบูรณะซ่อมแซมและเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมในปี ค.ศ. 1987
น้ำในอ่างใต้ดินนี้ถูกขนมาจากป่าเบลเกรด ผ่านท่อส่งน้ำวาเลนซ์ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตรมายังอิสตันบุล มันจุน้ำได้ถึง 80,000 ลูกบาศก์เมตร มากพอที่จะใส่สระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก 27 สระ แต่น้ำทั้งหมดที่เรามองเห็นลึกแค่ประมาณหนึ่งเมตรเท่านั้น ในพื้นที่ขนาดยาว 143 เมตร กว้าง 65 เมตร
ตั้งใจมองดีๆ จะเห็นฝูงปลาแหวกว่ายไปมาอยู่ในน้ำด้วย
แน่นอน อ่างนี้ไม่ใช่ “ที่เก็บน้ำ” ธรรมดาๆ แต่มันสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้พบเห็นด้วยเสาหิน 336 ต้น เรียงกัน 12 แถว แถวละ 28 ต้นพอดี เสาเหล่านี้ทำจากหินอ่อนและหินแกรนิต สลักเสลาในสไตล์ดอริก ไอโอนิก และคอรินธ์ตามแบบฉบับโรมัน
นักโบราณคดีเชื่อว่าเสาบางต้นถูกยกมาจากที่อื่น และเราก็จะสังเกตเห็นว่าเสาหลายต้นสลักเป็นลายที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้รู้สึกฉงนว่ามันมาอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ก่อให้เกิดตำนานและข้อสันนิษฐานสนุกๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น เสาต้นหนึ่งสลักลายหยดน้ำตา ว่ากันว่าช่างที่สลักเสาต้นนี้อยากสลักเป็นอนุสรณ์ถึงทาส 7,000 คนที่ถูกใช้งานในการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ทาสหลายร้อยคนล้มตายระหว่างการก่อสร้าง
เสาสองต้นที่ฉันชอบที่สุดในอ่างเก็บน้ำมหาวิหารสลักหน้าเมดูซา หญิงผมงูในตำนานที่มองใครแล้วคนคนนั้นจะตัวแข็งเป็นหิน ช่างที่สลักจัดแจงให้เสาต้นหนึ่งวางให้หัวของเธอคว่ำลง อีกต้นวางหัวเธอตะแคงข้าง ถือเคล็ดว่าถ้าวางหัวของเธอคว่ำหรือตะแคง เมดูซาจะสาปให้ใครเป็นหินไม่ได้อีก
เชื่อกันว่าการสลักหน้าเมดูซาขนาดยักษ์ลงในตึกต่างๆ ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา ไม่ใช่เป็นเพราะรสนิยมด้านสุนทรียะอย่างเดียว แต่เพื่อประกาศว่าชาวโรมัน (ตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นต้นมา) เลิกเชื่อในพระเจ้าของชาวโรมันโบราณที่มีอยู่หลายสิบองค์แล้ว มองว่าพระเจ้าเหล่านั้น “นอกรีต” หลังจากที่จักรพรรดิคอสสแตนตินเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ อุปถัมภ์เผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอาณาจักรของพระองค์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะคอนสแตนติโนเปิลเมืองหลวง
ดังนั้น การที่เสาหน้าเมดูซาสองต้นนี้ในอ่างเก็บน้ำใต้ดินยังจับหน้าของเธอตะแคงและคว่ำ ก็อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเสาสองต้นนี้น่าจะถูกยกมาจากที่อื่นจริงๆ และมันก็น่าจะถูกสร้างขึ้นในยุคก่อนการเข้ารีตเป็นคริสต์ ยุคที่ชาวโรมันที่นี่ยังเชื่อในตำนานเทพปกรณัมโรมันโบราณ และบูชาเทพเจ้าต่างๆ อย่างเคร่งครัด
แต่นักโบราณคดีบางคนก็บอกว่า อย่าคิดมากไปเลย หน้าเมดูซาอาจจะถูกคว่ำและตะแคงเพียงเพราะ “ความสูง” ของเสามันไม่พอดีเท่านั้นแหละ ก็เพราะมันถูกยกมาจากที่อื่นไง!
อากาศเย็นสบายในอ่างเก็บน้ำใต้ดิน (ว่ากันว่าอากาศที่นี่น่าจะเย็นที่สุดในเมือง) แสงไฟเหลืองทองขรึมขลังมลังเมลืองที่ส่องเสาหินหลายร้อยต้น และลายเสาสนุกๆ ที่ทำให้เราได้ฉุกคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของความคิดความเชื่อ ก็ทำให้อ่างเก็บน้ำมหาวิหารเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ตัวแทนความปราดเปรื่องของวิศวกรรมโรมัน และสถานที่เร้นลับน่าค้นหาที่มากี่ครั้งก็ไม่มีวันเบื่อ
สฤณี อาชวานันทกุล