ภาพ: รูปปั้นนูนต่ำ ถ่ายทอดปัญหาของรถบรรทุกโตโยต้ารุ่นแรก (G1)
สถานที่: Toyota Commemorative Museum of Industry and Technology (Toyoto Tecno Museum)
เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น
นานข้ามทศวรรษก่อนที่ “ระบบการผลิตแบบลีน” (Lean Production) ของบริษัทจะโด่งดังไปทั่วโลก น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “โตโยต้า” สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากการเป็นผู้ผลิตหูกทอผ้าอัตโนมัติ และผ่านประสบการณ์ล้มเหลวมามากมาย ล้มแล้วลุกใหม่ ลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วนก่อนที่ยี่ห้อ “โตโยต้า” จะติดปากคนทั้งโลกอย่างในปัจจุบันนี้
คว้าน้ำเหลวมามาก แต่บริษัทก็ไม่ต้องการปิดบังอะไร อยากป่าวประกาศให้ชาวโลกรู้ด้วยซ้ำว่าเจ็บมามากแค่ไหน ประวัติศาสตร์ความล้มเหลวถูกจารึกอย่างภาคภูมิใจเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบริษัท
ฉันมาถึงบางอ้อเรื่องนี้ก็ตอนไปเยือนพิพิธภัณฑ์โตโยต้าที่ญี่ปุ่น เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
ด้วยความเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก คิดค้นนวัตกรรมและกระบวนการผลิตใหม่ๆ มากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่พิพิธภัณฑ์ของบริษัทจะไม่ได้มีแห่งเดียว แต่มีถึงมีสามแห่ง(!) ตั้งอยู่ในหรือชานเมืองนาโกยา บ้านเกิดเมืองนอนของบริษัท ซึ่งก็สร้างความสับสนไม่น้อยสำหรับผู้มาเยือนหน้าใหม่อย่างฉัน
พิพิธภัณฑ์แห่งแรกชื่อตรงไปตรงมา “พิพิธภัณฑ์รถโตโยต้า” เน้นประวัติศาสตร์รถยนต์ ไม่ใช่เฉพาะยี่ห้อโตโยต้าเท่านั้นแต่รวมยี่ห้ออื่นๆ ทั้งรถอเมริกันและยุโรป แห่งที่สองชื่อ “พิพิธภัณฑ์โตโยต้าไคกัน” ตั้งอยู่ใน “เมืองโตโยต้า” ชานเมืองนาโกย่า (คิดดูละกันว่าบริษัทนี้ใหญ่จนมี “เมือง” เป็นของตัวเอง) เน้นการจัดแสดงรถยนต์และเทคโนโลยีรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด แฟนพันธุ์แท้รถยนต์ไม่น่าพลาดพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่ง
พิพิธภัณฑ์แห่งที่สามตั้งชื่อยืดยาว “พิพิธภัณฑ์โตโยต้าอนุสรณ์แห่งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี” (เว็บไซต์ https://www.tcmit.org/) ชื่อเล่น “ พิพิธภัณฑ์เทคโนโตโยต้า” อันนี้เน้นประวัติศาสตร์เทคโนโลยี ความเป็นมาของโตโยต้านับตั้งแต่ยังเป็นบริษัททอผ้ามาถึงปัจจุบัน มีนิทรรศการเรียกแขกหลายอันตั้งแต่เครื่องจักรไอน้ำตัวแรกๆ ที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น หูกทอผ้าระดับอุตสาหกรรมตัวแรกๆ ไปจนถึงเครื่องทอผ้าอัจฉริยะความเร็วสูง แขนกลประกอบรถยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย
ด้วยความที่ชอบประวัติศาสตร์ทุกแขนงมากกว่าจะเป็นแฟนพันธุ์แท้รถยนต์ (ครั้งแรกในชีวิตที่เปลี่ยนยางรถยนต์เองได้เป็นวันที่ตื่นเต้นมาก จำใส่กะโหลกว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตเลยทีเดียว!) พิพิธภัณฑ์เทคโนโตโยต้าจึงถูกโฉลกกับฉันมากกว่าพิพิธภัณฑ์รถยนต์ของบริษัทหลายเท่า
เข้าไปแล้วก็ตื่นตากับเทคโนโลยีล้ำๆ และอินไปกับการเล่าเรื่องที่ผูกโยงประวัติศาสตร์บริษัทเข้ากับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และก่อน-หลังสงครามโลกได้อย่างน่าสนใจ แถมยังมีรถยนต์ แขนกล และเครื่องทอผ้าหลายยุคหลายสมัยให้เปรียบเทียบ มีคนคอยนำเที่ยวในพิพิธภัณฑ์และสาธิตการทำงานของเครื่องทอผ้า (power loom) เครื่องแรกในญี่ปุ่น ประดิษฐ์โดย ซากิชิ โตโยตะ ผู้ก่อตั้งบริษัทโตโยต้า ในปี ค.ศ. 1896
แต่สิ่งที่เตะตาฉันมากที่สุดในพิพิธภัณฑ์เทคโนโตโยต้า หาใช่เทคโนโลยีล้ำสมัย เครื่องทอผ้ายุคแรก รถยนต์หน้าตาน่ารัก หรือแม้แต่หุ่นยนต์ที่คอยรับแขกด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าทั้งหมดนั้นจะน่าสนใจ สิ่งที่เตะตาและทำให้ฉันจดจำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้มากที่สุดกลับเป็นรูปปั้นนูนต่ำสีขาวโพลน ติดอยู่สูงบนผนัง มีไฟสปอตไลท์ส่องให้เห็นเด่นชัดทันทีที่ก้าวเข้ามาในห้องจัดแสดงประวัติรถยนต์โตโยต้า
รูปปั้นนูนต่ำนี้ดูแปลกตา เพราะมันแสดงรถบรรทุกโบราณหนึ่งคันกำลังอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน แทนที่จะทะยานไปข้างหน้าเหมือนโฆษณารถที่เราคุ้นตา ช่างหนึ่งคนง่วนกับการคลานเข้าไปใต้ท้องรถเหมือนจะหาว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ผู้บริหารผูกเทคไทสามคนรายล้อมรอบคันรถ หน้านิ่วคิ้วขมวด สีหน้าเต็มไปด้วยความกังวลระคนลุ้นให้ช่างซ่อมรถได้เร็วๆ
พอเข้าไปอ่านป้ายประกอบก็พบว่า รูปนูนต่ำนี้แสดงรถบรรทุกรุ่นแรกของโตโยต้า เรียกว่ารุ่น G1 ซึ่งเผชิญกับอุปสรรคและปัญหานานัปการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 เมื่อบริษัทเริ่มผลิตรถบรรทุกเป็นครั้งแรกตามคำร้องขอของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และกระทรวงสงครามของญี่ปุ่น ที่อยากสั่งซื้อรถบรรทุกจำนวนมากไว้ขนกำลังพล เตรียมพร้อมสำหรับสงครามที่กำลังจะปะทุ
ตอนนั้นโตโยต้าผลิตต้นแบบเครื่องยนต์สำหรับรถโดยสารรุ่นแรกแล้ว แต่ยังไม่มีประสบการณ์ผลิตรถบรรทุก บริษัทจึงใช้วิธีซื้อรถบรรทุกยี่ห้อ ฟอร์ด จากอเมริกามาหนึ่งคันในปี 1934 แล้วเริ่มออกแบบโดยใช้รถบรรทุกคันนั้นเป็นแม่แบบ ส่วนหนึ่งเนื่องจากต้องผลิตต้นแบบรถบรรทุกให้ได้ภายในหกเดือน และบริษัทไม่สามารถผลิตส่วนประกอบรถบรรทุกได้ทันเวลา ต้องใช้ชิ้นส่วนที่หาซื้อได้ในตลาดของรถยี่ห้ออื่นแทน
รถบรรทุก G1 คันแรกทำสำเร็จในเดือนสิงหาคม 1935 รูปนูนต่ำนี้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดระหว่างการทดสอบ จู่ๆ ระหว่างที่ขับ ท่อครอบปลายเพลาท้าย (ที่ยื่นมาติดกับวงล้อ) หักออกมาระหว่างทาง ทำให้ต้องหยุดซ่อมแซมนานหลายชั่วโมง ป้ายอธิบายว่าเพลาท้ายของรถรุ่นนี้มีปัญหามากมายเพราะตัวเชื่อมไม่แข็งแรง มักจะหักระหว่างการเดินทางเสมอๆ
คิชิโร โตโยดะ ลูกชายของซากิชิผู้ก่อตั้งบริษัท ผู้รับหน้าที่บุกเบิกการผลิตรถยนต์จากบิดา ค่อยๆ หาทางแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ จนสุดท้ายรถบรรทุก G1 ก็วางตลาดได้ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
ปีแรกโตโยต้าขายรถบรรทุกได้สิริรวมทั้งสิ้น 14 คัน
อุปสรรคที่โตโยต้าประสบไม่ได้จบลงแค่นั้น เมื่อเดินดูนิทรรศการต่างๆ ก็จะเจอว่าบริษัทต้องฝ่าฟันปัญหาอีกมากมาย กระทั่ง “ระบบการผลิตแบบลีน” (lean manufacturing system) ที่โตโยต้าเป็นต้นคิดและประสบความสำเร็จมหาศาล โด่งดังจนบริษัทอื่นๆ อีกมากมายทั่วโลกนำไปใช้ ก็ถือกำเนิดและพัฒนาอย่างรวดเร็วในยามคับขัน เมื่อโตโยต้าประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงในปี ค.ศ. 1949 ไม่กี่ปีนับจากที่สงครามโลกครั้งที่สองจบลงด้วยความปราชัยของญี่ปุ่น ยอดขายรถของบริษัทตกฮวบจนไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน สหภาพแรงงานตัดสินใจนัดหยุดงานประท้วง นำมาซึ่งการลาออกของ คิชิโร โตโยดะ ผู้นำองค์กร
นักธุรกิจหลายคนมักพูดกันติดปากว่า ในวิกฤติย่อมมีโอกาส แต่รูปปั้นนูนต่ำดูธรรมดา แต่แท้จริงไม่ธรรมดาเพราะทั้งบันทึกและประกาศความล้มเหลว ความผิดพลาดของบริษัทอย่างภาคภูมิใจ ก็คล้ายจะบอกกับเราว่า วิกฤติจะเป็นโอกาสได้ก็ต่อเมื่อเรายืดอกยอมรับความล้มเหลว และศึกษาเรียนรู้เป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต
ไม่ใช่ซุกส่วนเสี้ยวของอดีตอันไม่พึงปรารถนาไว้ใต้พรม เพียงเพราะคิดสั้นๆ ว่า อดีตนั้นจะทำให้เราเสียภาพพจน์
สฤณี อาชวานันทกุล